รัชกาลที่ 5 ทรงเล่าตำนานเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จากสระทั้งสี่ เมืองสุพรรณ

แผนที่แสดงที่ตั้งโบราณสถานตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี [จากหนังสือ โบราณวิทยาเรื่องเมืองอู่ทอง กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2509 หน้า 114]

ความสำคัญของสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 แห่ง เมืองสุพรรณ คือ สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา ที่มีต่อการทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทำให้มีเรื่องเล่าในลักษณะตำนานถึงกษัตริย์จากแว่นแคว้นต่างๆ ทั้ง กรุงกัมพูชา กรุงละโว้ และกรุงสุโขทัย ต่างก็ตักน้ำจากสระน้ำเหล่านี้ใช้ในพระราชพิธี จนถึงกับยกทัพมาทำสงครามเพื่อให้ได้ครอบครองสระดังกล่าว หรือแม้แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีกษัตริย์บางแว่นแคว้นมาลักตักน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำอภิเษกในการขึ้นครองราชสมบัติซึ่งมีความผิดฐานเป็นกบฏ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกในพระราชหัตถเลขาเมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี ลงวันที่ 21 ตุลาคม ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ว่ามีกษัตริย์หลายองค์ในตำนาน เชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จากสี่สระของเมืองสุพรรณไปทำพิธีราชาภิเษก ได้แก่

  1. พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ กรุงกัมพูชา บางตำนานเรียก ท้าวพันชุม ตรงกับ ชัยวรมัน 7
  2. พระเจ้าสินธพอำมรินทร์ กรุงละโว้-อโยธยา เดิมชื่อ แกรก หรือ พญาแกรก
  3. พระร่วง กรุงสุโขทัย
  4. พระเจ้ากาวิโลรส เมืองเชียงใหม่ ให้คนมาลักลอบตักน้ำไปทำพิธีกรรม
สระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกษ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ เมืองสุพรรณบุรี

ปรากฏข้อความจดหมายคราวเสด็จประพาสต้นเมืองสุพรรณบุรีของรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2451 ความว่า

“ในการพระราชพิธีอภิเษกต่างๆ ต้องใช้น้ำสี่สระนี้ พระเจ้าสินธพอมรินทร พระยาแกรก ราชาภิเษกกรุงละโว้ ประมาณ ๑๔๐๐ ปี ก็ว่าใช้น้ำสี่สระนี้ราชาภิเษก พระเจ้าอรุณมหาราชกรุงสุโขทัย จะทำการราชาภิเษกก็ต้องลงมาตีเมืองเหล่านี้ให้อยู่ในอำนาจแล้วจึงตักน้ำไปราชาภิเษก จึงเป็นธรรมเนียมเจ้าแผ่นดินสยามทุกพระองค์สรงมุรธาภิเษกแรกเสวยราชย์ และตลอดมาด้วยน้ำสี่สระนี้ มีเลขประจำเฝ้าสระอย่างกวดขันเพราะเหตุที่มีพระเจ้าแผ่นดินเมืองใกล้เคียงมาลักตักน้ำไปกระทำอภิเษก จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ พระเจ้ากาวิโลรสเป็นพระเจ้าขึ้นใหม่ๆ ได้ให้มาลักน้ำสี่สระนี้ขึ้นไปกระทำอภิเษกเป็นข้อหนึ่งในคำที่ต้องหาว่าเป็นกบฏ”

ชื่อสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ 

สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ มีชื่อสมมติเรียกสมัยหลังเมื่อไหร่ไม่รู้? ทั้งหมดไม่ชี่อดั้งเดิม (และไม่ใช่บารายในวัฒนธรรมเขมร ตามที่มีผู้พยายามบอก)

สระแก้ว คำพื้นเมือง หมายถึง สิ่งมีค่าของพระราชา เช่น ช้างแก้ว, ม้าแก้ว เป็นต้น

แก้วมักใช้คู่กับขวัญ เช่น นายแก้ว นายขวัญ (ในพระลอ)

อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี มีสระแก้ว สระขวัญ,

อำเภอเมืองฯ จังหวัดสระแก้ว มีสระแก้ว สระขวัญ

สระคา กร่อนจาก คงคา แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ในอินเดีย

สระยมนา กร่อนจาก ยมุนา แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ในอินเดีย

สระเกษ หมายถึง ล้างน้ำเส้นเกศ เป็นสิริมงคล มีชื่อวัดสระเกษ เป็นต้น

แผนที่แสดงที่ตั้งโบราณสถานตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี [จากหนังสือ โบราณวิทยาเรื่องเมืองอู่ทอง กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2509 หน้า 114]

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 7 เมษายน พ.ศ.2562