ท่าทีของราชสำนักชิง ต่อการอพยพย้ายประเทศของคนจีนโพ้นทะเล

พ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลเมืองไทยก่อตั้งมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ในภาพเป็นคณะกรรมการชุดแรก (จากซ้าย) คนแรก-แต้โหงวเล้า (อุเทน เตชะไพบูลย์) คนที่ 5-เหียกวงเอี่ยม อดีตนายกสมาคมพาณิชย์จีนแห่งประเทศไทย และประธานมูลนิธิปอเต็กตึ้งคนแรก

“อพยพ” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายความหมายว่า “ย้ายครอบครัวจากถิ่นหนึ่งไปอยู่อีกถิ่นหนึ่ง, ยกพวกย้ายจากถิ่นเดิมไป” บรรดาการอพยพของคนชาติต่างๆ “จีน” เป็นชนชาติหนึ่งที่มีการอพยพผู้คนจำนวนมาก เห็นได้จากชุมชนของชาวจีนที่เรียกว่า “ไชน่าทาวน์” ในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นชุมชนของ “คนจีนโพ้นทะเล”

แอนดรูว์ นาธาน นักวิชาการจีนศึกษาชาวอเมริกัน เคยกล่าว คนจีนโพ้นทะเล 30 ล้านคน กระจายกันไปใน 109 ประเทศทั่วโลก นับเป็นชนชาติที่อพยพแผ่กว้างไพศาลและยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา

สาเหตุการอพยพหลักก็คือ ปัญหาจากภัยธรรมชาติรุนแรงต่อเนื่องที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตเสมือนใบไม้ร่วง, ปัญหาทางการเมือง ฯลฯ หากการอพยพของคนจีนจำนวนไม่น้อย ยังเป็นการอพยพโยกย้ายออกแผ่นดิน โดยเฉพาะเมืองที่อยู่ตามชายฝั่งทะเล ที่เลือกไปตายเอาดาบหน้า ในฐานะ “คนจีนโพ้นทะเล”

หลินปัน ชาวจีนโพ้นทะเลในอังกฤษ ที่กำเนิดในเมืองเซี่ยงไฮ้ ค้นคว้าและเรียบเรียงเรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลกไว้ในหนังสือของเธอที่ชื่อว่า “อึ่งตี่เกี้ย : เรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก” แปลโดยเกษียร เตชะพีระ (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2540) บางตอนของหนังสือดังกล่าวแสดงถึงท่าทีของรัฐบาล และผู้นำประเทศต่อคนจีนโพ้นทะเล พอสรุปได้ดังนี้

ค.ศ. 1740  รัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลง ชาวจีนโพ้นทะเลในเมืองปัตตาเวียถูกชาวดัตช์สังหารหมู่ เมื่อชาวดัตช์ส่งสาสน์มาถวายจักรพรรดิแมนจู เพื่อกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษต่อเหตุการณ์ดังกล่าว หากพระองค์ทรงตอบกลับไปว่า “ไม่ค่อยห่วงกังวลชะตากรรมของไพร่กะเลวกะราดเหล่านี้นัก ด้วยพวกนี้ถึงแก่ผละจากบ้านเมืองและทอดทิ้งฮวงซุ้ยบรรพชนไปเพียงเพราะเห็นแก่เงิน”

ค.ศ. 1858 รัชกาลจักรพรรดิเสียนเฟิง รัฐบาลแมนจูยังคงดูแคลน และละเลยสินทรัพย์มูลค้ามหาศาลที่อาจได้มาจากจีนโพ้นทะเล ดังบทสนทนาระหว่างอุปราชจีนกับกัปตันดูปองต์ ผู้แทนที่มีอำนาจเต็มของรัฐบาลอเมริกันตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชนจีนหลายหมื่นคนบนชายฝั่งแปซิฟิก พวกเขาเหล่านี้ส่วนมากที่ฐานะร่ำรวยจากทองที่เก็บได้ในเหมือง น่าจะมีค่าควรแก่การใส่ใจดูแลของรัฐบาลชิง หากอุปราชตอบว่า

“เมื่อองค์พระจักรพรรดิทรงปกครองไพร่พลเมืองมากมายหลายล้านถึงปานนี้ จะทรงสนพระทัยอะไรกับพวกจรจัดไม่กี่คนที่ระเหเร่ร่อนไปยังต่างแดน?พระราชสมบัติขององค์พระจักรพรรดิมีมากล้นพ้นเหลือคณานับ ไฉนพระองค์จึงจะทรงไปใส่พระทัยกับสมบัติของไพร่ข้าที่ทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนหรือกรวดทรายที่พวกมันโกยเก็บมาไว้ด้วยเล่า?

แน่นอนว่า ราชสำนักชิงประเมินผิด เพียงชั่วอายุคนสั้นๆ รุ่นเดียว จีนโพ้นทะเลส่งเงินกลับบ้าน (โพยก๊วน) ก็มีจำนวนสูงถึงหลายสิบล้านดอลลาร์สเปนในแต่ละปี เป็นความช่วยเหลือที่หากรัฐบาลปิดกั้นเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้งกับฟูเจี้ยนก็สะเทือนแทบจะทันที

ค.ศ. 1909 รัฐบาลจักรพรรดิปูยี จึงเริ่มกลับลำ ด้วยการออกกฎหมายสัญชาติ โดยยึดหลักสัญชาติสืบสายโลหิต (jus sanguinis) ในสายตาราชสำนักแมนจู ใครก็ตามที่เกิดจากบิดาหรือมารดาที่เป็นคนจีน ไม่ว่าเกิดแห่งใดก็ล้วนเป็นไพร่พลเมืองจีนทั้งสิ้น

เซี่ยกวง นักหนังสือพิมพ์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองกล่าวไว้ในหนังสือ “กิจกรรมทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ. 1906-1939”  (ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2546) ว่า ถึงสมัยของก๊กมินตั๋ง ดร. ซุนยัดเซ็นยังกล่าวชื่นชมการสนับสนุนของชาวจีนโพ้นทะเลว่า “ชาวจีนโพ้นทะเลคือมารดาผู้ให้กำเนิดการปฏิวัติ”

ล่าสุดสมัยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ รายงานข่าวจากเซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป ชาวต่างชาติที่มีเชื้อสายบรรพบุรุษจากประเทศจีน ซึ่งก็คือลูกหลานของชาวจีนโพ้นทะเลนั้นเอง ซึ่งไม่จำกัดจำนวนหรือลำดับของรุ่นสืบทอดเชื้อสาย เพียงสามารถพิสูจน์ชาติกำเนิดจีนก็เพียงพอ จะได้รับอนุญาตให้ยื่นขอวีซ่าเพื่ออนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลา 5 ปี หรือเข้าออกประเทศหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว (Multiple Entry) หากพวกเขามีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหน คนจีนโพ้นทะเลที่ย้ายประเทศอาจดูถูกได้ แต่ทรัพย์สินของพวกเขาดูแคลนไม่ได้จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2564