กบฏขรัวผู้วิเศษวัดพระปรางค์ กบฏผู้มีบุญ แห่งเมืองสวรรคโลก ที่ถูกลืม

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง เชลียง เมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง หรือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2450 (ภาพจาก เที่ยวเมืองพระร่วง)

กบฏ “ขรัวผู้วิเศษวัดพระปรางค์” เมืองสวรรคโลก มีศูนย์กลางความเคลื่อนไหวอยู่บริเวณใกล้กับพระธาตุมุเตา ภายในบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง หรือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ ปูชนียสถานที่เคารพสักการะของชาวเมืองสวรรคโลกและใกล้เคียง (บริเวณนี้แต่เดิมอยู่ในเขตปกครองของเมืองสวรรคโลก) เหตุการณ์กบฏนี้เกิดขึ้น ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2443-44

“ขรัวผู้วิเศษวัดพระปรางค์” คือใคร?

ขรัวผู้วิเศษวัดพระปรางค์ เมืองสวรรคโลก เป็นพระภิกษุ แต่ไม่ทราบว่าเป็นชาวเมืองอะไร พบข้อมูลเพียงว่า เป็น “ขรัว” อยู่วัดพระปรางค์ เมืองสวรรคโลก ซึ่งในขณะนั้นเป็นวัดที่ถูกทิ้งร้าง โดยขรัวผู้วิเศษได้ปรารภว่าจะยกเมืองสวรรคโลกให้รุ่งเรือง จะซ่อมวัดพระปรางค์ [1]

เมืองสวรรคโลก ที่ขรัวผู้วิเศษกล่าวถึง คือบริเวณเมืองโบราณศรีสัชนาลัยในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน อันเป็นที่ตั้งของเมืองสวรรคโลกในอดีต ซึ่งอยู่ในสภาพเป็นชุมชนร้างมาตั้งแต่หลังการกวาดต้อนเทครัวชาวหัวเมืองฝ่ายเหนือลงไปอยู่กรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พ.ศ. 2127 [2] และจะซ่อมแซมบูรณะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ ให้ทั้ง 2 แห่งกลับมารุ่งเรืองสมบูรณ์เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

เมื่อมีผู้ถามว่า จะเอาเงินที่ไหนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบูรณะ ขรัวผู้วิเศษตอบว่า “ถ้าทำเงินก็มีเอง” และ “มักจะพูดอะไรให้ไม่ใคร่จะได้ความชัดเจนมาก ๆ” นอกจากนี้ ยังมีเสียงเล่าลือว่า ขรัวผู้วิเศษนี้ “เป็นพระร่วงมาเกิด” ทำให้ราษฎรพากันแตกตื่นนิยมมาเป็นศิษย์มากมายหลายพันคน [3]

ขรัวผู้วิเศษวัดพระปรางค์ พยายามที่จะแสดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนเลื่อมใสมากขึ้น โดยคิดจะยกเสาปั้นจั่นสูงขึ้นปักคู่หนึ่งเพื่อเป็นเสาธงใหญ่ และเพื่อ “เปนผเดิมให้สมควรแก่ฤทธิเดช” สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับเสาธง และเหตุการณ์การยกปั้นจั่นของขรัวผู้วิเศษวัดพระปรางค์ไว้ว่า

“…มีเสาปั้นจั่นสูงปักอยู่คู่หนึ่ง พระสีหสงครามบอกว่า เสาธงนี้เป็นของพระผู้วิเศษ ทำขึ้นเพื่อจะสำแดงปาฏิหารให้คนนิยม แต่เมื่อยกปั้นจั่น คนตายสามคน จึงยังเปนการที่จะต้องจัดแก้วิธีการยกเสาใหม่ พอประจวบท้องตรามีไปให้จับตัวผู้วิเศษส่งมากรุงเทพ ก็จับส่งมาเสีย การจึงค้างอยู่ เมื่อได้พิจารณาดูเสาธงนั้น ก็เห็นว่าจะยกขึ้นไม่ได้ ด้วยใช้ไม้เสายาวประมาณต้นละ 4 วา โตประมาณ 4 กำ ต่อกันอย่างนี้เป็นหลายต่อ ถึงยกขึ้นได้ก็หัก…

ท่านผู้วิเศษนั้นจึงจะได้ทำการยกเสาธงใหญ่ เปนผเดิมให้สมควรแก่ฤทธิเดช เกณฑ์ศิษย์หาอุบาศกช่วยกันทำ พอยกปั้นจั่นก็ล้มทับตายสามคน ผู้วิเศษว่าให้เอาใส่โลงทิ้งไว้เถิด แล้วมันก็เปนขึ้นเอง กิติศรัพท์ที่คนตื่นแตกเข้ามาหามากนั้นลงไปถึงกรุงเทพ” [4]

ภาพเสาปั้นจั่นหรือเสาธงใหญ่ของขรัวผู้วิเศษวัดพระปรางค์ เมืองสวรรคโลก ที่พยายามทำขึ้นเพื่อแสดงฤทธิ์เดช ฝีพระหัตถ์สมเด็จเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ภาพจาก จดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก พ.ศ. 2506)

กบฏขรัวผู้วิเศษวัดพระปรางค์

การรวมกลุ่มและดําเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของ “ขรัวผู้วิเศษวัดพระปรางค์” เมืองสวรรคโลก และบรรดาศิษย์ จะไม่เป็นที่ผิดสังเกตหรือผิดกฎหมายใด ๆ หากกิจกรรมนั้น ไม่ทำให้ราษฎรเสียชีวิตถึง 3 คน และที่สำคัญคือ “…พวกเหล่านั้นล้วนพากันกระด้างกระเดื่อง ไม่ฟังบังคับเจ้าเมืองกรมการ…” [5] ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เจ้าเมืองและขุนนางกรมการเมืองสวรรคโลกต้องมีใบบอกส่งไปยังรัฐส่วนกลาง เพื่อให้ส่งกำลังขึ้นมาช่วยเหลือในการจับกุมตัวขรัวผู้วิเศษไปพิจารณาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองต่อไป

แต่การที่จะจับกุมตัวขรัวผู้วิเศษนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะขรัวผู้วิเศษมีลูกศิษย์และผู้เลื่อมใสเป็นบริวาร หลายพันคน รัฐส่วนกลางเมื่อทราบเรื่องทั้งจากใบบอกของเจ้าเมืองสวรรคโลก และกิตติศัพท์ของขรัวผู้วิเศษที่ร่ำลือไปจนถึงกรุงเทพมหานคร จึงมีตราสั่งขึ้นมาให้จับตัวขรัวผู้วิเศษส่งลงไป แต่การที่จะจับตัวขรัวผู้วิเศษนั้น หากจะเข้าจับกุมที่วัดพระปรางค์โดยตรงเป็นเรื่องไม่ถนัด เพราะกลัวลูกศิษย์ของขรัวผู้วิเศษจะฆ่าเจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมตาย เพราะขรัวผู้วิเศษสั่งว่าอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น [6]

ท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่ต้องออกอุบายหลอกให้ขรัวผู้วิเศษลงไปที่เมืองสวรรคโลกใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านวังไม้ขอน ริมฝั่งแม่น้ำยมทางทิศใต้ของวัดพระปรางค์ อันเป็นตัวอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน แล้วจับกุมตัวขรัวผู้วิเศษที่นั่น [7] ก่อนที่จะส่งตัวลงไปกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาลงโทษต่อไป

แต่เป็นที่น่าเสียดาย ในพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ไม่ได้กล่าวถึงการลงโทษขรัวผู้วิเศษไว้ ผู้เขียนจึงไม่สามารถนำเสนอผลการพิจารณาคดีดังกล่าวนี้ได้ หากมีโอกาสศึกษาสืบค้นข้อมูลในเอกสารจดหมายเหตุอย่างละเอียด อาจจะทำให้เราทราบข้อมูลเกี่ยวกับกรณี กบฏขรัวผู้วิเศษวัดพระปรางค์ เมืองสวรรคโลก มากกว่านี้

เชื่อมโยงความศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อ 

การที่ขรัวผู้วิเศษเลือกใช้วัดพระปรางค์ เมืองสวรรคโลก เป็นศูนย์กลางของความเคลื่อนไหวนั้น เห็นได้ชัดเจนว่า มีความพยายามในการดึงเอาความศักดิ์สิทธิ์ ความเป็นศูนย์กลางทางความเชื่อ และความเป็นปูชนียสถานที่เคารพนับถือของชาวเมืองสวรรคโลกมาเป็นฐานในการเคลื่อนไหว เพื่อที่จะโน้มน้าวให้ราษฎรเข้าร่วม โดยเฉพาะการเลือกที่ตั้งเสาธงใหญ่อยู่ใกล้กับพระธาตุมุเตาหรือโมคคัลลาน์เจดีย์

ประวัติของพระโมคคัลลาน์นั้นก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในพุทธประวัติระบุว่าเป็นพระอรหันตสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า เป็นเอตทัคคะในด้านการแสดงอิทธิฤทธิ์ ผู้เขียนสันนิษฐานว่า การเลือกสถานที่ดังกล่าวเป็นความตั้งใจของขรัวผู้วิเศษที่จะดึงเอาสัญลักษณ์ความเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ของพระโมคคัลลาน์มาใช้เพื่อการสร้างอำนาจบารมีของตน ดังจะเห็นว่าขรัวผู้วิเศษได้พยายามที่จะแสดงฤทธิ์เดชให้ราษฎรได้เห็นเพื่อเรียกศรัทธา แต่ทว่าการแสดงฤทธิ์เดชนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ

นอกจากนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยังทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า ขรัวผู้วิเศษได้ปักฉัตรยอดไว้ที่ส่วนบนของพระธาตุมุเตาด้วย [8] ลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ขรัวผู้วิเศษน่าจะได้ประกอบพิธีกรรมใดพิธีกรรมหนึ่งขึ้นมาเกี่ยวกับการบูชาหรือขอพรเพื่อเสริมบารมีจากพระธาตุมุเตาหรือโมคคัลลาน์เจดีย์นี้แล้ว

การเลือกใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือศูนย์กลางทางความเชื่อในลักษณะเช่นนี้ เคยมีปรากฏในหลักฐานประวัติศาสตร์ เช่น กรณีเจ้าพระฝาง (พระพากุลเถระ-เรือน) ที่ใช้วัดมหาธาตุ เมืองฝาง (หรือวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ จังหวัดอุตรดิตถ์) เป็นศูนย์กลางการปกครองชุมนุมเจ้าพระฝาง หลังเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 [9] เป็นต้น

นอกจากนี้ สภาพภูมิประเทศบริเวณวัดพระปรางค์ ยังมีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ กล่าวคือ ตำแหน่งที่ตั้งวัดพระปรางค์อยู่ในบริเวณที่แม่น้ำยมคดงอเป็นไส้ไก่ เป็นพื้นที่แคบ ๆ มีแม่น้ำขนาบทั้ง 2 ข้าง การที่จะเดินทางจากภายนอกเข้าสู่ตัววัดทางบกโดยสะดวกนั้น มีอยู่ทางเดียว คือเข้าทางทิศตะวันตก เพราะอีก 3 ด้านนั้นมีแม่น้ำยมล้อมรอบอยู่ การจะเข้าสู่พื้นที่วัดจึงมีความยากลำบาก เพราะต้องข้ามแม่น้ำ

ดังนั้น การที่จะตรวจตราผู้คนเข้าออกบริเวณวัดพระปรางค์ของกลุ่มศิษย์ขรัวผู้วิเศษ ก็สามารถทำได้ง่ายและค่อนข้างรัดกุม หากเจ้าหน้าที่รัฐจะเข้ามาดำเนินการตรวจสอบหรือจับกุมก็ย่อมไม่พ้นการตรวจตราหรือสังเกตเห็นความผิดปกติจากบรรดาศิษย์ขรัวผู้วิเศษเป็นแน่

การที่กลุ่มกบฏขรัวผู้วิเศษวัดพระปรางค์ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบทางยุทธศาสตร์เช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ขุนนางกรมการเมืองสวรรคโลกไม่ถนัดที่จะนำกำลังทหารตำรวจเข้าจับกุมตัวขรัวผู้วิเศษภายในบริเวณวัด จนต้องใช้อุบายหลอกให้ขรัวผู้วิเศษออกมาจากบริเวณวัดพระปรางค์ ห่างจากบรรดาศิษย์ทั้งหลายก่อน จึงเข้าจับกุมตัวขรัวผู้วิเศษ

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีการเล่าลือว่า ขรัวผู้วิเศษวัดพระปรางค์ เมืองสวรรคโลก คือพระร่วงกลับชาติมาเกิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อเรื่องพระร่วงจะกลับชาติมาเกิด ยังมีอิทธิพลอยู่ในสังคมท้องถิ่นเมืองสวรรคโลกในขณะนั้น

การอ้างตัวของขรัวผู้วิเศษว่า ตนเองคือพระร่วงกลับชาติมาเกิด ถือเป็นการอ้างความชอบธรรมที่ยากที่จะพิสูจน์ได้ของราษฎรผู้เคารพนับถือ และเป็นการสร้างความชอบธรรม ที่จะยกตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำของราษฎรในการเคลื่อนไหว เพื่อต่อต้านนโยบายที่เห็นว่าถูกกดขี่จากรัฐส่วนกลางและความทุกข์ยากต่าง ๆ ซึ่งคล้ายกับบรรดาผู้นำกบฏผู้มีบุญในภาคอีสาน ที่มักอ้างว่าตนเองคือ พระศรีอาริย์ หรือพระยาธรรมิกราช ที่ลงมาเกิดเพื่อปราบยุคเข็ญ ความลำบากแร้นแค้นและความเดือดร้อนต่าง ๆ ของราษฎร หรืออ้างว่าเป็นขุนเจือง วีรบุรุษในตำนานของชนเผ่าบนที่สูงกลับชาติมาเกิด เพื่อปลดแอกการถูกกดขี่ข่มเหงรังแกจากรัฐส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร [10] เป็นต้น

การอ้างตนเองว่าเป็น “พระร่วง” กลับชาติมาเกิดของขรัวผู้วิเศษวัดพระปรางค์ เมืองสวรรคโลก ถือเป็นกรณีที่น่าสนใจ ที่ยังไม่มีการศึกษาอย่างละเอียด เพราะส่วนใหญ่ถ้าพูดถึงกบฏผู้มีบุญหรือกบฎผีบุญ เรามักจะนึกถึงกบฏผู้มีบุญในภาคอีสาน ที่มักจะอ้างตัวว่าเป็นพระศรีอาริย์หรือพระยาธรรมิกราชมาเกิด ซึ่งแต่เดิมเคยอยู่ในเขตปกครองของราชอาณาจักรล้านช้าง

หากแต่ไม่ค่อยมีใครจะนึกถึงเลยว่า ในพื้นที่เมืองสวรรคโลก ซึ่งอยู่ในเขตปกครองของราชอาณาจักรสยามมาช้านานจะเกิดกรณีกบฏผู้มีบุญขึ้นมาด้วย และอ้างว่าเป็น “พระร่วง” วีรบุรุษในตำนานของท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างจากกรณีกบฏผู้มีบุญอื่น ๆ ที่สะท้อนถึงความเชื่อทางศาสนาหรือได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมทางศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เช่น ไตรภูมิพระร่วง พระมาลัย [11] เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการฉลองวันประสูติครบ 100 ปี วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2506), น. 75.

[2] “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม),” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3. (กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2542), น. 287-288.

[3] สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก. น. 75.

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดิม.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดิม.

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดิม.

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดิม.

[8] เรื่องเดียวกัน, น. 73.

[9] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2550), น. 169-172.

[10] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล และ อัจฉราพร กมุทพิสมัย (บรรณาธิการ). “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ” ในสังคมไทย. (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์, 2527). และ กำพล จำปาพันธ์, ข่าเจือง : กบฏไพร่ ขบวนการผู้มีบุญหลังสถาปนาพระราชอาณาเขตสยาม-ล้านช้าง. (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555).

[11] ฉลอง สุนทรวาณิชย์. “ความเชื่อในเรื่องพระศรีอาริย์และกบฏในภาคอีสาน ข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับอุดมการณ์และผู้นำ,” ใน พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล และ อัจฉราพร กมุทพิสมัย (บรรณาธิการ). “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ” ในสังคมไทย. น. 26-28


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ ขรัวผู้วิเศษวัดพระปรางค์ เมืองสวรรคโลก : กบฏผู้มีบุญ “พระร่วง” ที่ถูกลืม เขียนโดย ธีระวัฒน์ แสนคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2557, จัดย่อหน้าใหม่และเพิ่มหัวข้อย่อย โดย กอง บก. ออนไลน์ เพื่อความสะดวกในการอ่าน


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2564