ต้นธารสกุลวงศ์ “ณ สงขลา” จากพ่อค้าชาวจีน สู่เจ้าเมืองสงขลา สืบตระกูลนานกว่า 300 ปี

ขออนุญาตเก็บ “สะเก็ดพงศาวดาร” ฉบับชาวบ้านมาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟัง เพื่อน้อมรำลึกถึงบุคคลผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการก่อตั้งเมืองสงขลา ยุคที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2312 หลัง “พระเจ้าตาก” พิชิตศึกปราบก๊กเจ้าพระยานครศรีธรรมราชเรียบร้อยแล้ว ก็เคลื่อนพลมาตั้งมั่นที่สงขลาฝั่งแหลมสน-บ่อยาง

สำหรับ “สงขลา” ยุคที่ 1 อันมีเขาเขียว-เขาแดงอ้อมโอบเป็นปราการธรรมชาติ และมีกำแพงเมืองค่ายคูประตูหอรบอันแข็งแกร่งที่สุดในภาคใต้นั้นถูกเผาทำลายพินาศย่อยยับ “สงขลา”สิงขะระนะคะราสิงขรนครSingora สิงหนครแหลกลาญไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2223 โดยกองทัพศรีอยุธยา พระนารายณ์ใช้กำลังรบของ ออกญารามเดโช (ชู) มุสลิมแขกจามจากนครศรีธรรมราชประสานกับหน่วยจารชนเผาสิงขรนคร-พัทลุงของ “สุลต่านมุสตาฟา” ผู้สืบอำนาจต่อจาก “สุลต่านสุไลมานชาห์” (Sultan Sulaiman Shah) ผู้บิดา เมืองอันแข็งแกร่งเหลือแต่เพียงเศษซากปรากฏให้เห็นจนบัดนี้

Advertisement

เหตุด้วยเมืองพินาศผู้คนจึงแตกฉานซ่านเซ็น ส่วนหนึ่งข้ามทะเลสาบไปตั้งมั่นฝั่งตะวันตก เขาเมือง เขาชัยบุรีที่เตรียมการรองรับไว้ก่อนแล้วด้วยความคิดอันหลักแหลมของ “สุไลมาน” และเฟริซีผู้น้อง ทั้งสองสืบสายเลือดมาแต่ดะโต๊ะโมกอลล์ (Governor of Singora) ข้าหลวงใหญ่แห่งสงขลาคนแรกในยุค “พระเจ้าทรงธรรม” จะไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้ แต่ขอเล่าแต่เพียงว่า “สุไลมาน” และ “เฟริซี” สองพี่น้อง คือ มะระหุ่ม มัวระหุ่ม ทวดหุมหรือทวดโหมของชาวสงขลา-พัทลุง เป็นต้นธารแห่งสายสกุล “ณ พัทลุง” และอีกนับพันตระกูลในสยาม

เอาล่ะ! ทีนี้ขอกลับไปสู่ 300 ปี รำลึกต้นวงศ์ “ณ สงขลา”

สงขลาฝั่งแหลมสน มีผู้คนจำนวนมากที่อพยพข้ามฟากจากฝั่งเขาแดงค่อย ๆ รวมตัวเป็นชุมชนใหญ่ เป็นเมืองใหญ่ตั้งแต่ยุคปลายรัชสมัยพระนารายณ์เข้าสู่ยุควงศ์บ้านพลูหลวง สงขลาก็เจริญรุดหน้าเป็นเมืองท่าที่สำคัญเหนือนครศรีธรรมราชและปัตตานี แต่การปกครองยังอยู่ใต้อำนาจนครศรีธรรมราช

จนกรุงแตก พ.ศ. 2310 สงขลาก็ย่อมได้รับผลกระทบพอสมควร เพราะเจ้าเมืองอยู่ใต้อำนาจนครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งตนเป็นหนึ่งในก๊กอันสำคัญ ดังนั้นเมื่อ “พระเจ้าตาก” ยกพลมาพักทัพที่สงขลาใน พ.ศ. 2312 มีผู้คนเข้าเฝ้าถวายตัวจำนวนมาก หนึ่งในนั้นเป็น “ขรัวแป๊ะ” วัย 50 ต้น ๆ ขอเก็บมาเป็นสะเก็ดพงศาวดารฉบับชาวบ้านพอสังเขป

“ขรัวแป๊ะ” “ตั้วแป๊ะ” แซ่เฮา หรือหวู ชื่อเหยี่ยง เฮาเหยี่ยง หวูเหยี่ยง ได้จัดทำบัญชีทรัพย์สิน เงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งบุตร-ภรรยา ข้าทาสบริวาร พร้อมยาแดง 50 หีบ ถวายแก่ “พระเจ้าตาก” ทั้งสิ้น ตั้วแป๊ะขอรับภาระเป็น “นายอากร” เกาะรังนก เกาะสี่เกาะห้า ในทะเลสาบพัทลุง-สงขลา โดยจะจัดเก็บอากรถวายปีละ 50 ชั่ง ในการนี้ “พระเจ้าตาก” ทรงรับไว้เพียงยาแดง 50 หีบ และแต่งตั้งให้ขรัวแป๊ะเป็น “หลวงอินทคีรีสมบัติ” นายอากรเกาะรังนก พร้อมกับขอรับบุตรชายคนที่ 3 ชื่อบุญชิ้น ไปเป็นมหาดเล็ก

“เฮาเหยี่ยง” หลวงอินทคีรีสมบัติ รับภาระนายอากรไม่ขาดตกบกพร่องนำเงินอากรไปประจำสม่ำเสมอ อีก 2 ปีต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็น “หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ” เจ้าเมืองสงขลา

“เกาะรังนก” เป็นแหล่งผลประโยชน์อันสำคัญของ “เจ้าเมือง” กรมการประจำเมืองตลอดไปจนขุนนางและราชสำนักมายาวนานนับร้อยปี แม้จนบัดนี้ก็ยังเป็นแหล่งเงินแหล่งทองของผู้บริหารงานท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นจังหวัด ผู้บริหารองค์การส่วนจังหวัด ข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

ขออนุญาตเก็บสะเก็ดเพิ่มเติมอีกสักนิด ตั้วแป๊ะ ขรัวแป๊ะ เป็นคำเรียกขานยกย่องคหบดีชาวจีนผู้มั่งคั่งในระดับเศรษฐี

ขรัวแป๊ะ เฮาเหยี่ยง พื้นเพเดิมเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ทางตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง (Canton) เมืองเอ้หมึง (Amoy) ปัจจุบันก็คือเมืองเซียะเหมิน (Xiamen) เป็นเมืองท่าและเมืองยุทธศาสตร์สำคัญตรงข้ามเกาะไต้หวัน (Taiwan) หรือฟอร์โมซา (Formosa) คำนี้เป็นภาษาโปรตุกีส แปลว่า “งามจริง ๆ” สวยจริง ๆ สวยสุด ๆ สวยอะไรอย่างนั้น มาจากคำอุทานของลูกเรือโปรตุเกส เมื่อแล่นเรือผ่านเห็นท้องทะเลทิวทัศน์อันสวยงามจึงตะโกนอุทานออกมา ฟอร์โมซา..ฟอร์โมซา…Formosa จึงเป็นที่มาของชื่อเกาะและช่องแคบแห่งนี้ (Formosa Strait) ฟอร์โมซาไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น

“เฮาเหยี่ยง” เกิดราว ๆ พ.ศ. 2259-60 สมัย “หย่งเจิ้นฮ่องเต้” เจริญวัยในยุค “เฉียนหลงฮ่องเต้” (ครองราชย์ยาวนานถึง 60 ปี)

“เฮาเหยี่ยง” เดินทางเข้าสยาม-สงขลาในยุค “พระบรมโกศ” (พ.ศ. 2275-2301) เข้ามาในฐานะพ่อค้า ไม่ใช่ประเภทนักเผชิญโชคผจญภัยแบบเสื่อผืนหมอนใบ แต่มาอย่างผู้มีฐานะในทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นใน พ.ศ. 2293 อายุราว ๆ 33-34 ปี ก็สามารถลงหลักปักฐานมั่นคงที่เมืองเก่าหัวเขาแดง ต่อมาขยับขยายกิจการไปทางด้านเกษตรในเขตทุ่งอาหวัง (ทุ่งหวัง) แขวงเมืองจะนะ ทำสวนผัก ปลูกหมาก ปลูกพลู ทำไร่ยาสูบ จากนั้นก็มุ่งสู่ทะเลสาบ ทำการประมง โพงพาง มีข้าทาสบริวารใช้สอยเต็มที่ ฐานะก็เข้าขั้นเศรษฐียิ่ง ๆ ขึ้น ขรัวแป๊ะ ตั้วแปะ จึงเป็นคำยกย่องที่ไม่เกินจริง

บ้านเจ้าเมืองสงขลา ถ่ายราว พ.ศ. 2437 โดยหลวงวิเศษภักดี (ชม ณ สงขลา)

สำหรับทางด้านครอบครัว “ตั้วแป๊ะ” มีภรรยาเป็นชาวพัทลุงสองศรีพี่น้อง คนแรกมีลูก 2 คน หลังมีลูก 3 ทั้ง 5 คนล้วนแต่เจริญรุ่งเรืองดีมีศักดิ์ศรีฐานะชั้นพระยาและเจ้าพระยา บุญหุ้ย ลูกชายคนโต เป็นเจ้าพระยาอินทคีรี ครองสงขลานาน 33 ปี (พ.ศ. 2322-55 จากพระเจ้าตาก-รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2) สาวเมืองลุง 2 นางที่เป็นภรรยานั้นเชื่อกันว่าเป็น “ธิดา” ของบุคคลสำคัญของสหายสกุล “ณ พัทลุง” อันสืบสายโลหิตมาแต่พระเจ้าสงขลา “สุลต่านสุไลมานชาห์” มุสลิม-สุหนี่ จากเปอร์เซียชวากลาง

“เฮาเหยี่ยง” หลวงสุวรรณคีรีสมบัตินับเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล หลักแหลมทั้งในทางการเมือง การทหาร และการเศรษฐกิจ คนระดับนี้ย่อมตระหนักดีถึง “สภาวะของกองทัพ” ที่กรำศึกมายาวนานจึงยอม “เทหมดหน้าตัก” จากยาแดง 50 หีบ ให้เป็นนายอากร เป็นเจ้าเมือง

ขอขยายความ “ยาแดง” ที่ว่านี้คือยางแดง อันเป็นยาสูบ ยาเส้นที่หั่นฝอยอย่างประณีตตามกรรมวิธีจีน เป็นเส้นฝอยสีน้ำตาลอมแดง ใช้มวนสูบกับกระดาษบาง ๆ หรือใบจากอย่างดี และถ้าพิเศษก็ต้องมวนด้วย “กลีบบัวหลวง” ผึ่งแดดอ่อน ๆ ไม่ใช่ตากแดด จะให้รสชาติทั้งใบยา-กลีบบัวและเกสรบัว

“ยาแดง” ก็เสมือน “บุหรี่” ในยุคนี้ เหมาะสำหรับแจกจ่ายแก่แม่ทัพนายกองในกองทัพ สำนวน “เส้นยาแดงผ่าแปด” ก็มาจากเส้นยาที่ว่านี้

ขอเก็บสะเก็ดอีกประเด็น “เฮาเหยี่ยง” เกิดราว ๆ พ.ศ. 2259-60 อายุมากกว่า “พระเจ้าตาก” ราว ๆ 17-18 ปี (พระเจ้าตากเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2277) “เจ้าขรัว” เป็นนายอากร-เจ้าเมืองสงขลานาน 15 ปี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง พ.ศ.2327 อายุ 68 ปี ผู้ได้รับโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ 1 ให้เป็นเจ้าเมืองสงขลาคนต่อมาคือ “บุญหุ้ย” ครองเมืองนาน 33 ปี (3 แผ่นดิน พระเจ้าตาก-รัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 2) มีความชอบมากได้เลื่อนบรรดาศักดิ์สูงขั้นเจ้าพระยา “เจ้าพระยาอินทคีรี”

พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) เจ้าเมืองสงขลาสมัยรัชกาลที่ 5

ตระกูล “ณ สงขลา” ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็น “เจ้าเมืองสงขลา” ต่อเนื่องถึง 8 คน ยาวนาน 120 กว่าปี

“ณ สงขลา” เป็นสกุลอันดับที่ 108 ที่ได้รับพระราชทานจาก “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

นับแต่ปีชาตกาลของต้นธารสายสกุล “ท่านเฮาเหยี่ยง” พ.ศ. 2259-60 จนบัดนี้ พ.ศ. 2560 รวมเวลาก็ร่วม 300 ปี ที่บุคคลสายสกุลนี้มีคุณูปการต่อเมืองสงขลาในหลากหลายรูปแบบ การได้บ้าง-เสียบ้าง ระหว่างรัฐ-ราษฎร์ เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมแบบไทย ๆ 300 ปี รำลึกวาระชาตกาลของต้นธารสกุลวงศ์ “ณ สงขลา” จึงควรแก่การยกย่องเขียนถึงมิใช่หรือ?

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “300 ปี รำลึกชาตกาล ต้นธารสกุลวงศ์ ‘ณ สงขลา'” เขียนโดย ปรีชา สามัคคีธรรม ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2560


 เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2564