ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“เทวกุล” เป็นตระกูลดังของไทย ตระกูลนี้อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน มีลูกหลานที่ปัจจุบันมีชื่อเสียงมากมาย เช่น เชฟป้อม หรือ หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล, คุณพราว รัมภาสิริ เทวกุล ณ อยุธยา เป็นต้น ตระกูลนี้มีต้นตระกูลคือ “มหาอำมาตย์นายก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ”
สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 42 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม (ภายหลังรัชกาลที่ 6 สถาปนาอัฐิขึ้นเป็นสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา) เมื่อปีมะเมีย วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2401 โดยรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามให้ว่า “พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์”
พระองค์ทรงมีพระเชษฐา พระอนุชา และพระขนิษฐา ร่วมสายพระโลหิต 5 พระองค์ ได้แก่
1. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย
2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
3. สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
4. สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
5. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
6. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ต้นราชสกุล “สวัสดิวัตน์”
พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม
พระองค์ทรงศึกษาเบื้องต้นในสำนักของพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงกฤษณา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งยังทรงศึกษาภาษามคธกับพระยาปริยัติธรรมดา (เปี่ยม)
ต่อมาทรงสมัครเข้าเรียนเป็นนักเรียนนายร้อย และทรงศึกษาภาษาอังกฤษในโรงเรียนภาษาอังกฤษ ที่ตั้งขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ประมาณ 3 ปี
เมื่อพระองค์เจริญพระชันษา 17 ปี ทรงรับราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในตำแหน่งพนักงานตรวจสอบบัญชี ใน “ออดิต อ๊อฟฟิศ” มีหน้าที่ตรวจสอบผลประโยชน์ของแผ่นดินและจัดเก็บภาษีอากรของกระทรวงต่าง ๆ
หลังจากที่ทรงรับราชการทำตำแหน่งตรวจสอบบัญชีและผนวชเรียบร้อยแล้ว พระองค์ก็ทรงรับราชการอีกหลายตำแหน่ง เช่น ราชเลขาธิการ, พระองค์เจ้าต่างกรม จนได้พระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ” พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ และทรงเป็นผู้บัญชาการกรมบัญชีกลาง สังกัดหอรัษฎากรพิพัฒน์ ซึ่งปัจจุบันคือกระทรวงการคลัง
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ขณะมีพระชันษา 27 ปี ต่อมาได้เลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น “กรมหลวง” เป็น สมเด็จฯ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ 5 ในการทำกิจการบ้านเมืองต่าง ๆ มากมาย อย่างงานฉลองพระราชสมบัติที่ประเทศอังกฤษ พระองค์ก็ทรงเป็นผู้แทน ทั้งยังทรงรับภาระในการศึกษาดูงานระเบียบแบบแผนการปกครองของนานาอารยประเทศ
เมื่อกลับมาก็กราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงปรับใช้ในสยาม
กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จฯ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ก็ทรงได้เลื่อนพระอิสริยยศ เป็น “กรมพระ” หรือ “สมเด็จฯ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ”
นอกจากจะได้เลื่อนพระอิสสริยยศแล้ว ใน พ.ศ. 2458 รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศพระราชทานนามสกุล สำหรับสืบเชื้อพระวงศ์พระบรมวงศ์เธอชั้น 4 ซึ่ง “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทวะวงษ์วโรประการ” (เขียนตามประกาศ) ทรงได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “เทวกุล” สะกดภาษาอังกฤษคือ “Devakula”
จนใน พ.ศ. 2459 รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ”
เรื่องชีวิตส่วนพระองค์ พระองค์ทรงเสกสมรสกับ “หม่อมใหญ่ เทวกุล ณ อยุธยา” (สกุลเดิมคือสุจริตกุล) และทรงมีพระโอรส-พระธิดาหลายพระองค์ เช่น หม่อมเจ้าหญิงอับสรสมาน, หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา, หม่อมเจ้าชายพงศทินเทพ เป็นต้น
พระองค์ประชวรพระยอดหัวใหญ่ และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ปีกุน ด้วยพระชันษา 64 ปี และเป็นองค์ต้นของราชสกุล “เทวกุล” ราชสกุลสำคัญของไทยที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “16 มหาสาขา” จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ มีราชสกุลใดบ้าง พระองค์ใดเป็นต้นราชสกุล?
- “ณ อยุธยา” คำสร้อยท้ายราชสกุล ใช้อย่างไร ทำไมบางคนมี บางคนไม่มี?
- เส้นทางนามสกุลพระราชทาน “ณ อยุธยา” ถึงประวัติราชสกุล “กุญชร” แห่ง “วังบ้านหม้อ”
- “นามสกุล” สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ละนามสกุลเป็นมาอย่างไร บ่งบอกถึงอาชีพ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เล็ก พงษ์สมัครไทย. พระญาติ ราชสกุล กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556.
https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2567