ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ตระกูล “ณ ราชสีมา” เป็นหนึ่งตระกูลเก่าแก่ของ จ. นครราชสีมา หรือ โคราช โดยมีต้นตระกูลคือ “พระยานครราชสีมา” หรือ “ปิ่น ณ ราชสีมา”… ท่านคือใคร เหตุใดจึงได้ขึ้นมาเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา
จากหลากข้อมูลกล่าวว่า ปิ่น ณ ราชสีมา เป็นญาติกับพระยาพิชัยดาบหัก เจ้าเมืองพิชัย คาดว่าท่านเป็นขุนนางจากเมืองหลวงกรุงธนบุรี มีความดีความชอบจากการจับกุมตัวกรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ก่อนจะดำรงตำแหน่งเป็นยกกระบัตรประจำเมืองพิมาย (ตำแหน่งข้าราชการสังกัดกระทรวงวัง มีหน้าที่ออกไปประจำอยู่ตามหัวเมืองเพื่อสอดส่องอรรถคดี) ช่วงต้นสมัยธนบุรี
ต่อมา ปิ่น ณ ราชสีมา ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา (ไม่ปรากฏข้อมูลว่าเมื่อใด) ท่านเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญมาก ทำหน้าที่แม่ทัพสมทบกรุงธนบุรี เมื่อยกไปปราบนครเวียงจันทร์ เมื่อเจ้านครเวียงจันทร์ล้ำพระราชอาณาเขต เมื่อ พ.ศ. 2321
ครั้งนั้นท่านทำความดีความชอบไว้มาก ดังที่ปรากฏอยู่ในใบบอกของเจ้าพระยานครราชสี (ทองอินท์ ณ ราชสีมา) ว่า…
“เดิมบิดา (พระพิมาย (ปิ่น ณ ราชสีมา)) ข้าพเจ้า (เจ้าพระยานครราชสีมา) ทองอินท์ ณ ราชสีมา ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าพระพุทธเจ้าอยู่หัวบรมราชอัยกาธิราช (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งในเวลานั้นทำหน้าที่เป็นแม่ทัพใหญ่) ยกขึ้นไปตีเวียงจันทน์ บิดาข้าพเจ้าตีได้เพี้ยอุปราชา ท้าวเพี้ย ครัวชายหญิงไพร่นายพันเศษ
ครั้นสำเร็จราชการเมืองเวียงจันทน์แล้ว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเพี้ยอุปราชา อุปราชท้าวเพี้ย ครอบครัวให้บิดาข้าพเจ้าเอามาไว้เมืองนครราชสีมา บิดาข้าพเจ้าจึงให้เพี้ยอุปราชาพาครอบครัวได้ตั้งรักษาด่านกะโปะ”
ต่อมาด่านกะโปะ ที่มีกลุ่มคนอยู่มากมายกลายมาเป็น “เมืองปักธงไชย” และเพี้ยอุปราชก็กลายเป็นพระยาวงศาอัครราช เจ้าเมืองคนแรกของปักธงไชย
ชีวิตรักของเจ้าเมืองนครราชสีมานี้ ท่านมีภรรยา 3 คน ได้แก่ ท่านผู้หญิงเดิม มีบุตร ได้แก่ พระยาภักดีสงคราม เจ้าเมืองนางรอง, พระยานครราชสีมา (เที่ยง ณ ราชสีมา) และพระยาสุริยเดช (ทัศน์ ราชณสุข)
อีกท่านคือ เจ้าหญิงยวนหรือจวน ราชธิดาพระเจ้านครศรีธรรมราช โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาพระราชทานเจ้าหญิงยวน (ขณะนั้นรับราชการฝ่ายใน ณ ราชสำนักสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ให้แก่ท่าน ขณะนั้นเจ้าหญิงยวนกำลังท้องอ่อน ๆ อยู่ จึงทำให้ทั้งสองมีบุตรบุญธรรม 1 คน นั่นคือ “ทองอินท์” หรือเจ้าพระยานครราชสีมาในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ยังมีบุตรที่เกิดกับอนุภริยา คือ พระราชานุชิต
ในช่วงบั้นปลายชีวิตท่านจักษุมืดมัวลง คนจึงมักเรียกท่านว่า “เจ้าคุณตามืด” แทนนามบรรดาศักดิ์ และได้รับพระราชเป็นจางวางกำกับราชการเมืองนครราชสีมาจนถึงอสัญกรรม
เชื้อสายท่านได้สืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองนครราชสีมาอีก 2 คน ได้แก่ เที่ยง ณ ราชสีมา และ ทองอินท์ ณ ราชสีมา ก่อนที่ทางการกรุงเทพฯ จะเข้าควบคุมอำนาจ และแต่งตั้งสายตระกูลสิงหเสนี เข้าดำรงตำแหน่งแทน
เป็นอันจบเส้นทางอำนาจของตระกูล ณ ราชสีมา
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มา “นามสกุล” ชาว “โคราช” หลักฐานสำคัญบ่งชี้ภูมิประเทศถิ่นกำเนิด
- นครราชสีมา ไม่ได้มาจาก “โคราช” และ “เมืองเสมา” แล้วมาจากไหน?
- คนโคราช ไม่ใช่ “ลาว” แล้วคนโคราชเป็นใคร? มาจากไหน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
จดหมายเหตุนครราชสีมา. [ม.ป.ท.]:ม.ป.พ., 2497. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:48317.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2567