นครราชสีมา ไม่ได้มาจาก “โคราช” และ “เมืองเสมา” แล้วมาจากไหน?

สถานีรถไฟ ชานชะลา รถไฟ นครราชสีมา โคราช
สถานีรถไฟ นครราชสีมา (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

มีความเชื่อว่าชื่อจังหวัดในอีสานอย่าง “นครราชสีมา” มีที่มาจากคำว่า “โคราช” และ “เมืองเสมา” รวมกัน เนื่องจากนครราชสีมาได้ย้ายถิ่นฐานออกมาจาก 2 เมืองแห่งนั้น แต่ความจริงแล้วอาจไม่ใช่…

ในหนังสือ “โคราชของเรา” โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้อธิบายถึงที่มาของชื่อ “นครราชสีมา” เอาไว้ รวมถึงบอกเหตุผลไว้ว่าทำไมนครราชสีมา ถึงไม่ได้มาจากโคราชและเมืองเสมาอย่างที่เราเข้าใจกัน ดังนี้…

“ชื่อเมืองว่านครราชสีมา ไม่พบหลักฐานว่ามีขึ้นเมื่อไหร่? แต่น่าเชื่อว่าแรกมีในเรือน พ.ศ. 2000 เมื่อตรากฎมณเฑียรบาลครั้งแรก มีชื่อเมืองนครราชสีมาเป็นหนึ่งในแปดเมืองพระยามหานครที่ต้องถือน้ำพระพัทธ์

เจ้าเมืองนครราชสีมา มีศักดินา 10,000 มีในพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองว่า ‘ออกญากำแหงสงครามรามภักดีพิรียภาหะ’

(กฎมณเฑียรบาล ตราขึ้นครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1991-2031)

นครราชสีมา หมายถึงเมืองอันเป็นพระราชอาณาเขต (ของกรุงศรีอยุธยา)

นครราชสีมา เป็นคำบาลี-สันสกฤต

นครแปลว่า เมือง, ราช แปลว่า พระราชา, สีมา แปลว่า เขต หรือแดน

ภาษาปากชาวบ้านเรียกเมืองนครราชสีมาว่า ครราช (อ่าน คอน-ราช) แล้วเพี้ยนเป็น โคราช

สรุปว่า โคราช (อ่านว่า โค-ราด) เพี้ยนจากคำกร่อนว่าครราช (อ่านว่า คอน-ราด) จากชื่อเต็มของ นครราชสีมา”

ส่วนเหตุที่ “นครราชสีมา” ไม่ได้มาจากโคราชและเมืองเสมาอย่างที่เข้าใจมาเนิ่นนานนั้น สุจิตต์กล่าวไว้ว่า…

“เชื่อกันสืบมานานแล้วว่า เมืองนครราชสีมา ย้ายจากเมืองโคราชเก่า กับเมืองเสมา (ทั้งสองแห่งอยู่บริเวณลุ่มน้ำลำตะคอง อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา)

โดยเอาชื่อโคราช รวมกับชื่อเสมา เป็นโคราชเสมา แล้วกลายเป็นนครราชสีมา

เมืองโคราชเก่า ไม่ใช่ชื่อดั้งเดิม แต่เป็นคำภาษาปาก จากชื่อเต็มว่านครราชสีมา

บริเวณเมืองเก่าโคราช ไม่เคยพบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีว่าเป็นเมืองเก่า เพียงเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเมืองเสมา

เมืองเสมา เป็นคำภาษาปากที่ชาวบ้านราวยุค ร.4, 5 เรียกเมืองโบราณที่ลุ่มน้ำลำตะคอง ซึ่งมีเสมา สลักจากหินปูนถูกทิ้งไว้

เมืองดั้งเดิมมีพัฒนาการมาราวหลัง พ.ศ. 1000 ครั้นหลัง พ.ศ. 1400 อาจมีชื่อตามที่พบในจารึกว่า เมืองศรีจนาศะ ไม่ใช่เสมา”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2567