สมัย ร.7 เศรษฐกิจตกต่ำ แต่เสนาบดีกลาโหมกลับทรงขอขึ้นเงินเดือนให้ นายทหาร

พระองค์เจ้าบวรเดช กบฏบวรเดช
นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ฉากหลังคือสถานีรถไฟหลักสี่ในอดีต (ภาพจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช)

ผลกระทบจาก “เศรษฐกิจตกต่ำ” ทั่วโลกระหว่างปี 2472-2475 และการพังทลายของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาในปี 2472  ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยในช่วงรัชกาลที่ 7 ซึ่งพระองค์ทรงแก้ ปัญหาเศรษฐกิจ อย่างเต็มกำลัง

โดยทรงดำเนินนโยบายตัดทอนรายจ่ายอย่างเข้มงวด และการหารายได้ใหม่ๆ เพิ่ม เช่น โปรดให้ลดเงินงบประมาณรายจ่ายส่วนพระองค์จากเดิมปีละ 9 ล้านบาท เหลือปีละ 6 ล้าน, ปลดข้าราชการออกจากตำแหน่ง, ยุบมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศ, งดจ่ายเบี้ยเลี้ยงและเบี้ยกันดารแก่ข้าราชการ, ประกาศเพิ่มภาษีราษฎรบางรายการ, เรียกเก็บภาษีเงินเดือนจากข้าราชการ ฯลฯ แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีนัก

แต่ในการจัดทํางบประมาณปี 2474 (ซึ่งเริ่มต้น 1 เมษายน) ก็ยังเกิดปัญหาของการขาดดุล ดังนั้นรัฐบาลจึงใช้มาตรการตัดเงินเดือนข้าราชการ แม้ว่าจะมีการถกเถียงและคัดค้านอย่างรุนแรงในคณะเสนาบดีสภา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรี ทรงไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว ด้วยทรงเห็นว่าทําให้ขวัญและกําลังใจของข้าราชการตกต่ำ แต่ที่ประชุมเสนาบดีสภาก็ลงมติด้วยคะแนน 7 ต่อ 4 รับมาตรการดังกล่าว

หากกลางปี 2474 กระทรวงกลาโหมกลับทำเรื่องเลื่อนขั้นเงิน นายทหาร

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน 2474 สาเหตุมาจาก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหมทรงเสนอเลื่อนขั้นเงินเดือนนายทหาร 322 นาย เป็นการเลื่อนขั้นเงินเดือนตามการเลื่อนยศ 231 นาย ซึ่งเป็นไปตามระเบียบราชการ แต่อีก 91 นาย ที่มิได้มีการเลื่อนชั้นยศอย่างใด แต่พระองค์ทรงต้องการให้เลื่อนขั้นเงินเดือนด้วยทรงให้เหตุผลว่า นายทหาร ดังกล่าวอยู่ในตําแหน่งสําคัญ

พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร) เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ก็ยอมตามข้อเสนอของเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เนื่องจากมีการเบิกจ่ายล่วงหน้าไปแล้ว แต่ขอหลักการว่ากระทรวงอื่นๆ จะไม่ดำเนินการตาม

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงประท้วงไม่เห็นด้วย ว่าหากกระทรวงกลาโหมดำเนินการเช่นนี้ได้แล้ว กระทรวงอื่นกระทำตามเช่นกัน นอกจากนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ-อภิรัฐมนตรี และสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต-ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ (ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เสด็จสหรัฐฯ-แคนาดา ระหว่างวันที่ 28 เมษายน-28 กันยายน 2474 ) ก็ทรงไม่เห็นด้วย การเลื่อนขั้นเงินเดือนนายทหารทั้ง 91 นายจึงเป็นอันต้องระงับไป

การเสียพระพักตร์ครั้งนี้ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม จบลงด้วย “การลาออก”  ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เสนาบดีลาออก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติศาสตร์การเมือง พ.ศ.2475-2500, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 3, ตุลาคม 2544


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤษภาคม 2564