ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2556 |
---|---|
ผู้เขียน | พอพันธ์ อุยยานนท์ |
เผยแพร่ |
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ท่ามกลางเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 2470 ซึ่งนำโดยคณะทหารและพลเรือนนั้น มีความคาดหวังว่า “คณะราษฎร” จะนำอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะบทบาทของรัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป แต่ปัจจัยหลายอย่างมีผลต่อข้อจำกัดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของคณะราษฎรที่สำคัญคือ ข้อจำกัดจากสนธิสัญญาเบาว์ริง แนวนโยบายอนุรักษ์ทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมและเสถียรภาพเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะก่อนปี 2484
เศรษฐกิจได้ตกต่ำทั่วโลก โดยเริ่มจากสหรัฐอเมริกา ในปี 2472 เข้าสู่ยุโรปและประเทศอื่น ๆ หลังจากนั้น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลให้ธุรกิจปิดตัวลงและล้มละลาย การว่างงานเพิ่มขึ้นระดับสูง ราคาสินค้าทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง หนี้สินต่างประเทศเพิ่มขึ้น หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศชั้นนำทางอุตสาหกรรมได้ใช้นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม โดยการตั้งกำแพงภาษีและโควตานำเข้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรม และบรรเทาการขาดดุลการค้าและดุลการชำระเงิน
เศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 2470 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอันมาก ที่สำคัญคือ ราคาข้าวได้ตกต่ำลงถึง 2 ใน 3 ชาวนาสูญเสียที่ดิน และภาวะหนี้สินเพิ่มขึ้น โรงงานและธุรกิจทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดปิดตัวลง การว่างงานเพิ่มขึ้น [2]
เศรษฐกิจตกต่ำยังมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของอำนาจทางการเมืองเพื่อแสวงหาแนวทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งประเทศอุตสาหกรรม และประเทศด้อยพัฒนาโดยทั่วไป เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และหลายประเทศในอเมริกาใต้
ที่สหราชอาณาจักร เศรษฐศาสตร์ของเคนส์ (Keynesian Economics) ได้ถือกำเนิดในปี 2478 หนังสือของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) คือ The General Theory of Employment, Interest and Money (หรือภาษาไทยเรียกว่า ทฤษฎีทั่วไปเกี่ยวกับการจ้างงาน, ดอกเบี้ย และเงินตรา) ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ครั้งสำคัญ
โดยแกนกลางของเศรษฐศาสตร์เคนส์ คือ ได้ปฏิรูปทฤษฎีเงินตรา บทบาทของรัฐบาลในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายการคลังแบบขยายตัวหรือแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์เคนส์ได้แผ่ขยายแนวคิดไปแทนที่ เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกและสำนักนีโอคลาสสิกที่ใช้ “กลไกราคา หรือ “พลังตลาด” เป็นตัวแบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยฐานความคิดเชื่อว่า “เศรษฐกิจในระบอบทุนนิยมจะปรับตัวเข้าสู่สมดุลและมีการจ้างงานเต็มที่ในที่สุด”
เศรษฐศาสตร์เคนส์เน้นการใช้นโยบายงบประมาณแบบขาดดุล และได้รับการยกย่องเปรียบเสมือนการปฏิวัติทางเศรษฐศาสตร์หรือที่เรียกว่า การปฏิวัติเคนส์ (Keynesian Revolution)
ในสหภาพโซเวียต ต้นทศวรรษ 2470 ใช้นโยบายวางแผนโดยรัฐบาลจากส่วนกลางและนโยบายเศรษฐกิจ 5 ปี (Five-Year Plans) เร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจของรัสเซียแปรรูปจากเศรษฐกิจที่มีฐานการผลิตเป็นเกษตรสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจทางอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ในเยอรมนี ในทศวรรษ 2470 ฮิตเลอร์ใช้นโยบายเศรษฐกิจวางแผนจากส่วนกลางอัดฉีดงบประมาณมหาศาล เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อผลิตอาวุธและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในการเป็นแสนยานุภาพทางทหาร รวมทั้งจัดสรรงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อการก่อสร้างกิจการสาธารณะของรัฐ โดยมีผลให้การว่างงานได้ลดลงเป็นจำนวนมาก
ที่สหรัฐอเมริกา แผนการนิวดีลของประธานาธิบดี รูสเวลต์ (Roosevelts New Deal) ในปี 2476 สนับสนุนให้มีการกระตุ้นการใช้งบประมาณเพื่อเพิ่มสวัสดิการของประชาชนโดยผ่านเงินโอนและเงินกู้ และเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ว่างงาน รวมทั้งกระตุ้นงบประมาณในกิจการสาธารณะของรัฐ เช่น การสร้างถนนหลวง เขื่อน กิจการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ตลอดจนให้เงินชดเชยเกษตรกรเพื่อให้ลดเนื้อที่การเพาะปลูกสินค้าเกษตรกรรมเพื่อลดอุปทานของสินค้าเกษตรลง
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 2470 มีผลกระทบต่อสถานะการเงินของราชสำนักของไทยทั้งในสถานะส่วนบุคคลและกรมพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์
แท้ที่จริงแล้ว ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินของราชสำนักได้ก่อตัวนับแต่ทศวรรษ 2460 ความยุ่งยากทางเศรษฐกิจภายในประเทศและของโลก ในทศวรรษ 2460 คือ ความอ่อนแอของฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ การลดลงของรายรับของรัฐบาล การเพิ่มขึ้นการใช้จ่ายเกินตัวของราชสำนักในกิจการที่ไม่ก่อให้ผลิตภาพทางการผลิต ผลของการล้มละลายของธนาคารจีนสยามและการขาดทุนอย่างมหาศาลของธุรกิจการเดินเรือและธุรกิจอื่น ๆ (ตอนกลางทศวรรษ 2450)
นอกจากจะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นแล้ว กรมพระคลังข้างที่ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนเงินลงทุนในกิจการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ส่งผลให้การลงทุนได้ซบเซาลง เงินของกรมพระคลังข้างที่ในธนาคารฝรั่งเศสลดลงอย่างรวดเร็ว ช่วงปี 2453-60 พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเล่าว่า ในช่วงระหว่างปี 2466-67 กรมพระคลังข้างที่ใช้เงินสูงถึง 11.5 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่พอ และราชสำนักใช้เงินเกินงบประมาณตั้งแต่ปี 2466-68 ในอัตราร้อยละ 19 14 และ 115 ตามลำดับ จากการใช้เงินเกินพระองค์มากเช่นนี้ ทำให้กรมพระคลังข้างที่ต้องประกาศขายที่ดิน 293 แปลง [3]
หนี้ทั้งหมดของกรมพระคลังข้างที่ในปี 2468 มีเท่ากับ 15 ล้านบาท [4] และเมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2468 หนี้สินส่วนพระองค์มีประมาณ 5.5 ล้านบาท ซึ่งนอกเหนือจาก 4.6 ล้านบาทซึ่งท่านได้ยืมจากเงินคงคลัง [5]
สถานการณ์ความยุ่งยากทางเศรษฐกิจยังคงมีต่อไปโดยเฉพาะวิกฤติการณ์การเงินและการคลังของรัฐบาล เมื่อรัชกาลที่ 7 เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 2468 ภาวะการเงินและการคลังของประเทศได้เริ่มตึงตัวอีกครั้งหนึ่ง ในปี 2469 มีการตัดทอนงบประมาณของราชสำนักหรืองบประมาณที่จัดสรรแก่กรมพระคลังข้างที่ลงถึงร้อยละ 37 รวมทั้งมีการลดข้าราชการและกำลังคนลง มีการตัดทอนงบประมาณของกระทรวงกลาโหมสงเท่ากับ 1.83 ล้านบาท และกระทรวงมหาดไทยลงเท่ากับ 1.45 ล้านบาท [6]
แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการคลัง โดยการเพิ่มภาษีโดยเฉพาะภาษีของผู้อาศัยอยู่ในเขตเมือง แต่ทว่าการเพิ่มขึ้นของภาษีก็ไม่พอเพียงต่อการเพิ่มขึ้นของรายจ่าย รัฐบาลจึงต้องลดงบประมาณรายจ่าย ข้าราชการและลูกจ้างจำนวนมากได้ถูกปลดออก เช่น ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน 2472 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2472 มีจำนวนถึง 1,292 คน [7] นโยบายการคลังที่เข้มงวดสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้คนเป็นจำนวนมาก และเมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้อุบัติขึ้นในตอนต้นทศวรรษ 2470 เหตุการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การปฏิวัติการเปลี่ยนการปกครอง ในปี 2475
คณะราษฎรกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย พ.ศ. 2475-84
เจตจำนงของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ในทางเศรษฐกิจ (หนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร) คือ การนำพาประเทศไปสู่ความอุดมสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยจะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
แม้ว่าคณะราษฎรจะยึดคุมอำนาจทางการเมือง แต่ก็ขาดฐานอำนาจทางเศรษฐกิจ จึงได้ขยายฐานอำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มตน โดยแทรกแซงทางเศรษฐกิจในเบื้องต้นช่วงปี 2475-80 วิธีการที่สำคัญคือ การก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ สนับสนุนคนไทยมีบทบาททางเศรษฐกิจโดยเฉพาะพ่อค้ารายย่อย สงวนอาชีพให้คนไทย กีดกันและต่อต้านชาวจีน
มาตรการเพื่อจำกัดบทบาททางเศรษฐกิจคนจีนและสงวนอาชีพให้กับคนไทย เช่น ออกกฎหมายสงวนการให้สัมปทานรังนกแก่องค์การของรัฐบาลหรือตัวแทน ออกกฎหมายเพิ่มภาษีคนเข้าเมืองกับคนจีน ออกกฎหมายควบคุมอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ เพื่อให้อาชีพการขายเนื้อสัตว์นี้อยู่ในการดำเนินการของคนไทย ฯลฯ หลังจากนั้น ในทศวรรษ 2480 ขยายการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ การก่อตั้งและยึดกุมธนาคารพาณิชย์ การผูกขาดอุตสาหกรรมสีข้าว และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง การผูกขาดกิจการนำเข้า การกระจายและการขนส่งสินค้า บริโภค นำเข้า รวมทั้งสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศ ตลอดจนไปถึงอำนาจทางการเมืองในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะการเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยรัฐมีบทบาทนำเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและธนาคารพาณิชย์ขยายตัว [8]
ในช่วงปี 2475-84 คณะราษฎรกลับเข้าไปมีบทบาท ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ช่วงระยะเวลาดังกล่าวสังคมเศรษฐกิจไทยแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย เศรษฐกิจข้าวยังเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ ทั้งการส่งออกและเป็นแหล่งการจ้างงานขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศสูงถึงมากกว่าร้อยละ 80 ของกำลังแรงงานของประเทศ ภาคอุตสาหกรรมยังมีขนาดเล็กและแรงงานจีนก็ยังเป็นแรงงานสำคัญในการผลิต
นอกจากโรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานไม้ขีดไฟ โรงงานผลิตเบียร์แล้ว โรงงานเกือบทั้งหมดเป็นโรงงานขนาดเล็ก ผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ ในปี 2481 มีโรงงานในกรุงเทพฯ และธนบุรีมีทั้งสิ้น 285 โรง โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานเครื่องหนัง 32 โรง โรงสีข้าวและโรงเลื่อย 27 โรง โรงงานทอผ้า 26 โรง โรงงานผลิตขวดและกระป๋อง 21 โรง และโรงงานทำเครื่องจักรกล (12 โรง) [9]
ปัจจัยสำคัญที่มีผลให้รัฐบาลโดยคณะราษฎรมีบทบาทค่อนข้างจำกัดในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างปี 2475-84 คือ
ประการแรก ข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ ในปี 2476 แกนนำคนสำคัญของคณะราษฎร เรื่อง “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ได้ถูกยับยั้ง โดยสาระสำคัญในเรื่องการเพิ่มพลังการผลิต โดยรัฐเป็นผู้วางแผนและบริหารจัดการทางเศรษฐกิจเสียเอง โดยมีการโอนทุนและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นของรัฐ โดยให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าของปัจจัยการผลิตในรูปพันธมิตรและหุ้นกู้สามัญ และควบคุมให้มีการลงทุนในกิจการที่เป็นประโยชน์ระยะยาวอย่างแท้จริง มีการเก็บภาษีมรดกและกระจายที่ดินถือครอง [10] รัชกาลที่ 7 ก็คัดค้านเพราะเห็นว่าเค้าโครงเศรษฐกิจจะทำลายเสรีภาพของราษฎรบังคับกดขี่เหมือนทาส และจะนำประเทศไปสู่การปกครองแบบคอมมูนิสต์ที่เกิดขึ้นในรัสเซีย
แนวคิดของนายปรีดีได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีของฟรีดริช ลิสต์ (Friedrich List ค.ศ. 1789-1846) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ที่เห็นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมรัฐควรมีบทบาทในทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศผลิตสินค้าเองทุกอย่าง ลิสต์สนับสนุนให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนนำเข้าที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กำแพงภาษี เมื่อโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีถูกยับยั้ง นายปรีดีได้ถูกบังคับให้ลี้ภัยไปต่างประเทศ และต่อมาได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยโดยในปี 2476 หลังจากนั้นก็ไม่มีการฟื้นฟูเค้าโครงเศรษฐกิจอีกเลย
หากข้อเสนอของนายปรีดีประสบความสำเร็จ บทบาทรัฐในทางเศรษฐกิจทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมย่อมมีมากขึ้น รวมทั้งมีการกระจายทรัพย์สินที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะประชาชนได้มีส่วนร่วมและได้รับผลตอบแทนจากการผลิตอย่างเป็นธรรม
ประการที่ 2 นโยบายการเงินและการคลังแบบอนุรักษ์ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทยก็ยังคงเป็นแบบอนุรักษนิยม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากที่ปรึกษาทางคลังชาวต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษ ซึ่งมีภูมิหลังแนวคิดแบบการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าจะเป็นการเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เน้นบทบาทของรัฐไปมีบทบาททางเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยระมัดระวังพิเศษที่จะไม่อยู่ตรงกันข้ามกับสหราชอาณาจักรหรือประเทศยุโรปอื่น ๆ เช่น ฝรั่งเศส เพราะกลัวอิทธิพลจากประเทศมหาอำนาจนั่นเอง โดยเฉพาะนโยบายที่ยกเลิกหรือไม่สนับสนุนการค้าเสรีซึ่งผลมาจากสนธิสัญญาเบาว์ริง
แนวนโยบายของอนุรักษนิยมของที่ปรึกษาทางการคลังที่สำคัญ คือ ไม่สนับสนุนการก่อหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศดำเนินนโยบายแบบเมินเฉยหรือ passive ที่เน้นการรักษาเสถียรภาพ รักษาเศรษฐกิจระหว่างประเทศและในประเทศ คือ ธำรงไว้ซึ่งการรักษาค่าเงิน เพื่อไม่ให้ก่อให้ภาวะดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการชำระเงินขาดดุล ตลอดจนใช้นโยบายงบประมาณแบบสมดุล เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อและหนี้สาธารณะ เป็นต้น
ที่ปรึกษาการคลังชาวอังกฤษที่สำคัญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 คือ นาย ซี. ริเวตต์คาร์แนค (C. Rivett Carnac) นาย ดับบลิว.เจ.เอฟ. วิลเลียมสัน (W.I.E. Williamson) และเซอร์เอดเวิร์ด คุก (Sir Edward Cook) และนายฮอลล์-แพตช์ (Hal-Patch) ในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ต่อช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 7 ที่เศรษฐกิจเริ่มส่อเค้าลางความยุ่งยากทางเศรษฐกิจและเข้าสู่เศรษฐกิจตกต่ำต่อมา
ที่ปรึกษาทางการคลังได้เสนอให้ตัดรายจ่ายงบประมาณแผ่นดิน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศ และค่าใช้จ่ายของราชสำนักทั้งในส่วนที่เป็นของกรมพระคลังข้างที่ และงบรายจ่ายเพื่อราชสำนักอื่น ๆ เพราะเห็นว่าเป็นที่มาของการคลังขาดเสถียรภาพด้วย โดยเฉพาะงบของราชสำนัก ซึ่งในปี 2468 คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 10.7 ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งสูงกว่าญี่ปุ่น (ร้อยละ .25) เดนมาร์ก (ร้อยละ 0.9) เนเธอร์แลนด์ (0.1) สเปน (ร้อยละ 0.3) และนอร์เวย์ (0.1) [11] รัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 7 ก็ได้ตัดทอนงบประมาณรายจ่ายลงเพื่อให้งบประมาณสมดุล
ประการที่ 3 รัฐบาลไทยมีบทบาทค่อนข้างจำกัดในการพัฒนาอุตสาหกรรมส่วนหนึ่งเกิดจากการลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริง ในปี 2398 ไทยไม่สามารถกำหนดอัตราภาษีนำเข้าได้เกินร้อยละ 3 ไทยค่อย ๆ ได้รับสิทธิหรืออำนาจในการกำหนดภาษีในปี 2469 และได้รับคืนอย่างสมบูรณ์ในปี 2479 แม้ว่าไทยจะเพิ่มอัตราภาษีนำเข้า หรือตั้งกำแพงภาษีเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมและการแสวงหารายได้ แต่การเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าก็เพิ่มเพียงเล็กน้อย และระดับอัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำย่อมไม่เป็นแรงจูงใจในการสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมภายในประเทศ [12]
นายอินแกรมได้แสดงทัศนะว่า จุดประสงค์ของการจัดเก็บภาษีอากรนำเข้าเหล่านี้เพื่อที่จะเพิ่มรายได้ของรัฐบาลมากกว่าจะเป็นเครื่องมือกระตุ้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีอากรนำเข้าย่อมมีผลทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศขยายตัวได้เช่นกัน อาทิ อุตสาหกรรมบุหรี่ สบู่ และไม้ขีดไฟ [13] ไม่เพียงแต่อัตราภาษีอากรนำเข้าอยู่ในระดับต่ำ รัฐบาลไทย ณ ขณะนั้นไม่มีนโยบายและมาตรการใดในการกระตุ้นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม นโยบายของรัฐต่อการสนับสนุนอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้ายังคงมีบทบาทจำกัด และเงินตราต่างประเทศของไทยยังคงใช้ระบบเทียบค่าในระบบมาตรฐานทองคำและยังคงผูกติดค่าเงินอยู่กับเงินปอนด์สเตอร์ลิงเป็นสำคัญ [14]
อัตราภาษีนำเข้าของไทยจึงค่อนข้างต่ำ และไม่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเท่าที่ควรมีผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในทศวรรษ 2470 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยค่อนข้างจะไม่รุนแรงเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ตลอดช่วงเวลาของทศวรรษ 2470 ประเทศพึ่งพารายได้จากการส่งออกมีความจำเป็นต้องตั้งกำแพงภาษีนำเข้าอยู่ในระดับสูง
เนื่องจากการส่งออกสินค้าและบริการตกต่ำลง บางประเทศได้ออกจากระบบการเงินระหว่างประเทศที่เทียบค่าเงินตราสกุลท้องถิ่นกับเงินตราสกุลหลัก ซึ่งมีผลต่อความไร้เสถียรภาพของการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวและผลจากการตั้งกำแพงภาษีในระดับสูง ส่งผลให้หลายประเทศสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะเริ่มต้น (nascent industrialization) ในทศวรรษ 2470 นอกจากนี้รัฐบาลหลายประเทศได้ส่งเสริมให้มีการลดการนำเข้าซึ่งป้องกันการไหลออกของเงินตราต่างประเทศในที่สุด [15]
ในขณะที่หลายประเทศประสบกับปัญหาการขาดดุลการค้าและบริการ เศรษฐกิจไทยกลับไม่ประสบกับปัญหาดังกล่าว แม้ว่าราคาส่งออกข้าวจะลดต่ำลง แต่ระดับการลดต่ำลงของราคาข้าวของไทยยังลดลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกเกษตรขั้นปฐมอื่น ๆ อาทิ กาแฟ ยางพารา ข้าวสาลี รวมทั้งระดับราคาของข้าวยังลดลงไม่มาก เมื่อเทียบกับราคาสินค้าอุตสาหกรรมนำเข้า
ผลที่ตามมาก็คือสถานการณ์ของดุลการค้าและบริการของไทย ไม่ประสบกับปัญหาเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสามารถรักษาภาวะเกินดุลตลอดทศวรรษ 2470 ด้วยแรงกดดันที่จะเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าหรือมาตรการอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมจึงยังไม่เกิดขึ้น
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในทศวรรษ 2470 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีมากมาย ซึ่งไม่สามารถกล่าวได้ทั้งหมดในที่นี้ โดยผลกระทบที่สำคัญบางประการ 1. ประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกสินค้าขั้นปฐมจะถูกกระทบมากจากการถดถอยอย่างมากของการค้าระหว่างประเทศและของโลกโดยรวม รวมทั้งการลดลงของราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งมีผลให้การลดลงของราคาและปริมาณสินค้าเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน)
2. ประเทศเหล่านี้มักจะพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมด้วย ระดับราคาของสินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดต่ำลงน้อยกว่าสินค้าขั้นปฐม
3. ประเทศผู้ผลิตสินค้าขั้นปฐมดังกล่าวมักจะมีภาระเป็นหนี้ต่างประเทศในระดับสูง และเป็นการลำบากที่จะใช้หนี้ต่างประเทศคืนได้หมด หากรายได้จากการส่งออกได้ตกต่ำลง 4. ประเทศผลิตสินค้าขั้นปฐมมักจะมีการพึ่งพาตลาดส่งออกเพียงไม่กี่แห่ง (ประเทศ) และหากประเทศคู่ค้าประสบกับความผันผวนทางเศรษฐกิจหรือล้มละลายย่อมมีผลให้ประเทศที่ผลิตสินค้าขั้นปฐมดังกล่าวมาแล้วประสบกับปัญหาอย่างมาก [16]
เช่น ในปี 2472 มีจำนวน 18 ประเทศได้ส่งออกสินค้าถึง 1 ใน 3 หรือมากกว่านั้นไปยังสหรัฐ (มาเลเซียส่งออกยางพารา ส่วนบราซิลส่งออกกาแฟเกือบทั้งหมดไปยังสหรัฐ) ราคาส่งออกได้ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะราคายางพาราและกาแฟได้ลดลงถึงมากกว่าร้อยละ 75 ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่สินค้าขั้นปฐม อันประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กลุ่มประเทศดัตช์ อีสต์ อินดีส (Dutch East Indies) อาร์เจนตินา บราซิล และมาเลเซีย ประสบกับปัญหาดุลการค้าและปัญหาการล้มละลายของการชำระหนี้คืนระหว่างประเทศในระยะต่อมา
เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ในหลายประเทศได้พยายามแก้ไขปัญหาในทศวรรษ 2470 โดยใช้มาตรการที่สำคัญ อันประกอบด้วยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าในอัตราสูง การจำกัดการนำเข้า การลดค่าเงิน การสร้างการค้าระดับทวิภาคี และยกเลิกการชำระหนี้ระหว่างประเทศ เพื่อที่จะส่งผลให้ในการแก้ปัญหาดุลการค้าขาดดุล นโยบายและมาตรการดังกล่าวข้างต้นได้ส่งผลสนับสนุนการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเป็นอันมาก
ในงานของ Malcolm Falkus ได้กล่าวว่า “ในอาร์เจนตินา บราซิล แอฟริกาใต้ และประเทศอื่น ๆ ได้จุดประกายของการพัฒนาอุตสาหกรรมและผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ในอินเดียผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้น และในปี 2476 ผลผลิตได้ก้าวล้ำผลผลิต ในปี 2472 และได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าเดิมถึงร้อยละ 50 ประมาณ ปี 2481” [17]
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การดำเนินนโยบายภาษีเพื่อจำกัดการนำเข้า รวมทั้งการปกป้องการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ มีผลให้การบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจตกต่ำและกระตุ้นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของหลายประเทศ
บูมการ์ดและบราวน์ชี้ให้เห็นว่า การกีดกันทางการค้า เช่น ตั้งกำแพงภาษีในระดับสูง และแรงงานราคาถูก มีผลต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในหลายประเทศ [18] เช่น ในกรณีของอินโดนีเซียหรือที่เรียกว่า เดอะ เนเธอร์แลนด์ อินดีส แคลเรนซ์-สมิธได้บันทึกว่า “หนึ่งในผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดของเศรษฐกิจตกต่ำ [ในคริสต์ศตวรรษ 1930 – ผู้เขียน] คือ การผลักดันให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ค่อย ๆ ผลักดันให้มีกิจกรรมการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งโดยได้มีการตั้งโรงงานทอผ้าสมัยใหม่เพื่อแข่งขันกับการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากญี่ปุ่น” [19]
อ่านเพิ่มเติม :
- สมัย ร.7 เศรษฐกิจตกต่ำ แต่เสนาบดีกลาโหมกลับทรงขอขึ้นเงินเดือนให้นายทหาร
- หลังม่านการสัมภาษณ์เจ้าพระยาธรรมาฯ เผยชีวิต-ความในใจเมื่อว่างงานห้วงเศรษฐกิจตกต่ำ
- “น้ำตาลไม่หวาน” ของคณะราษฎร : การร่วมทุนธุรกิจ ระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรและเอกชน
เชิงอรรถ :
[2] Wyatt, D. (1984). Thailand : A Short History, Pasuk Phongpaichit and Baker, Chris (1995). Thailand : Economy and Politics
[3] ทวีศิลป์ (2528 : 141).
[4] กจช. ร.7 คลัง 19/6 (2468/69).
[5] Greene, S.L.W. (1999 : 169). Absolute Dreams Thai Government Under Rama VI.
[6] Seksan Prasertkul. (1989 : 480). The Formation of the Thai State and Economic Change.
[7] Seksan Prasertkul. (1989).
[8] โปรดดู Suehiro, Arira. (1996). Capital Accumulation in Thailand, Pasuk (1995).
[9] อ้างใน Hewison, Kewin. (1989 : 402). “Industry Prior Industrialisation,” in Journal of Contemporary Asia. 18 (4)
[10] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (2527 : 554-555). “การแสวงหาระบบเศรษฐกิจใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย,” ใน ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจนถึง พ.ศ. 2484.
[11] พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล. (2527 : 488). “การใช้จ่ายเงินแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2468),” ใน ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจนถึง พ.ศ. 2484.
[12] Ingram, J.C. (1971). Economic Change in Thailand. 1850-1970.
[13] ในประเด็นนี้ โปรดดูใน Ingram, J.C. (1971 : 182-184).
[14] Ingram, J.C. (1971).
[15] Porphant Ouyyanont. (2012). “Underdevelopment and Industrialisation in Pre-War Thailand,” in Australian Economic History Review.
[16] Ibid.
[17] Falkus, M.E. (1975 : 79). The World Depression.
[18] Boomgaard, P. and Ian Brown. (2000 : 8). “Surviving the Slump : Developments in Real Income during the Depression of the 1930s in Indonesia. particularly Java,” in Weathering the Storm : The Economies of Southeast Asia in the 1930s Depression.
[19] Clarence-Smith, W.G. (2000 : 234). “Hadhrami Arab entrepreneurs in Indonesia and Malaysia : facing the challenge of the 1930s recession,” in Weathering the Storm : The Economies of Southeast Asia in the 1930s Depression.
หมายเหตุ : คัดบางส่วนจากบทความ คณะราษฎรกับเศรษฐกิจไทย เขียนโดย พอพันธ์ อุยยานนท์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2556 โดยเป็นบทความที่ปรับปรุงและเรียบเรียงจากบทความชื่อเดียวกัน ซึ่งเสนอต่อที่ประชุมสัมนาทางวิชาการ เรื่อง “จาก 100 ปี ร.ศ. 130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย” 22 มิถุนายน 2555 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ห้อง 304 อาคารมหาจักรีสิรินธร
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2564 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ