หลังม่านการสัมภาษณ์เจ้าพระยาธรรมาฯ เผยชีวิต-ความในใจเมื่อว่างงานห้วงเศรษฐกิจตกต่ำ

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดี ถูกดุน
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ภาพจากหนังสือ แต่งตั้งเจ้าพระยาฯ)

ห้วงเวลารอยต่อระหว่างรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 เศรษฐกิจผันแปร มีสื่อไปสัมภาษณ์ “เจ้าพระยา” 6 ท่าน ที่ “ว่างงาน (ประจำ)” หลังต้อง “ถูกดุน” ออกจากราชการ หนึ่งในนั้น คือ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี

ลดเจ้าพระยาเสนาบดี เพราะเศรษฐกิจไม่คล่องตัว

สถิตย์ เสมานิล นักหนังสือพิมพ์มากประสบการณ์สมัยนั้น เล่าผ่านหนังสือชื่อ “วิสาสะ” ว่า ช่วงระหว่างนั้น มีข่าวเรื่องปัญหาการเงินซึ่งไม่เป็นสิริมงคลต่อบ้านเมือง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยุบหน่วยงานหรือลดฐานะลงเป็นหน่วยราชการย่อยเป็นอันมาก

เมื่อมีการยุบหน่วยงาน คนทำงานก็พลอยลดลงไปด้วย ข่าวคราวในช่วงนี้เป็นข่าวใหญ่ของบ้านเมืองเลยทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อการค้าขายที่ตั้งเค้าฝืดเคืองในยุโรปและอเมริกาเริ่มลามเข้าสู่สยามด้วย ผลกระทบจากสถานะการเงินในแผ่นดินก่อนก็ยังส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระปกเกล้าฯ สถิตย์ เล่าว่า บรรดาข้าราชการทุกกรมและกระทรวงที่เจ้ากระทรวงเห็นเกินจำเป็นก็ต้องออกกันมาก คนที่ต้องถูกให้ออกก็มักพูดกันว่า “ถูกดุน” ออกเสียแล้ว

ขณะที่ข้าราชการผู้ใหญ่ที่อายุรับราชการนานก็มีบ้างที่ลาออก บุคคลที่เป็นข่าวใหญ่คือ “พระยาศรีบัญชา” ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ แม้ท่านไม่เข้าข่าย “ถูกดุน” แต่เมื่อท่านทราบว่าเสมียนหลายรายที่มีเงินเดือน 25-30 บาท ต้องถูกให้ออก สถิตย์เล่าว่า ท่านเป็นผู้ขอออกจากราชการโดยขอให้กระทรวงคงเสมียนพนักงานเหล่านี้อยู่ในหน้าที่ตามเดิม

ยุคนี้นักหนังสือพิมพ์ก็เรียกกันว่า “เศรษฐกิจตกต่ำ” เมื่อได้ข่าวคราวในวงราชการ ข่าวนี้ก็ทำให้นักวิจารณ์ นักหนังสือพิมพ์ต่างแสดงความคิดเห็นแนะนำต่างๆ นานา

ครั้งหนึ่งบรรณาธิการผู้มีอายุของหนังสือพิมพ์ “ไทยหนุ่ม” มีโอกาสอ่านเรื่องราชาธิราชวิลเฮล์ม หรือไกเซอร์ ในหนังสือ “เคอเรนท์ ฮิสตอรี่” รายเดือน เล่าพระจริยวัตรของกษัตริย์นอกราชสมบัติในเยอรมนี โดยผู้เขียนไปเฝ้าสัมภาษณ์ที่ดูร์น แห่งวิลันดา กลายเป็นไอเดียในช่วง พ.ศ. 2471 ว่า หากได้สัมภาษณ์ “เจ้าพระยา” ที่ออกจากตำแหน่งราชการแล้วมาลงพิมพ์ น่าจะมีผู้อ่านชื่นชอบเมื่อไม่เคยมีใครในไทยทำด้วย

“ไทยหนุ่ม” ได้ตีพิมพ์บท “สัมภาษณ์” (ใช้คำนี้แทนคำว่า “อินเตอร์วิว”) พาดหัวหน้าแรกเหนืออักษร “ไทยหนุ่ม” ว่า “4 เสนาบดีนอกราชการของไทย ทำอะไรแก้รำคาญกันบ้าง”

6 เจ้าพระยา เสนาบดีที่เป็นเป้าหมายการสัมภาษณ์ ได้แก่ 1. เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย 2.  เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ และคมนาคม 3. เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม 4. เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหม 5. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ 6. เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวัง

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี กับชีวิตหลัง “ถูกดุน” 

เนื้อความที่สถิตย์ เขียนเล่าในหนังสือ “วิสาสะ” ตอนหนึ่งอธิบายถึงบรรยากาศการสัมภาษณ์เจ้าพระยาเสนาบดีทั้งหลาย เมื่อมาถึงช่วง เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี สถิตย์ บรรยายว่า ท่านเป็นคนสุดท้ายในชุดสัมภาษณ์ 6 เจ้าพระยา สัมภาษณ์ ณ เคหาสน์ริมคลองผดุงกรุงเกษม ติดกับสะพานกษัตริย์ศึก สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งชื่อเคหาสน์ว่า “พิบูลธรรม” ใช้เป็นที่พักแขกของรัฐบาล ภายหลังก็เป็นสำนักงานพลังงานแห่งชาติ

“บ้านท่านเจ้าพระยาธรรมาฯ ผิดกับบ้านเจ้าพระยาทุกท่านที่ผมได้ไปเห็นมาแล้ว ในความเป็นระเบียบ สนามหญ้าราวกะพรมปูไว้ ถนนจากประตูบ้านถึงตัวตึก และสนามหญ้าวงกลมหน้าตึก ดูราวกะว่าไม่มีสิ่งรกแม้กระทั่งก้นบุหรี่ และก้านไม้ขีดไฟเป็นต้น…” สถิตย์ บรรยายสภาพบ้านของเจ้าพระยาธรรมาฯ

ผู้เขียนยังเล่าว่า ได้ยินกิตติศัพท์ว่า เจ้าพระยาธรรมาฯ ไว้ยศศักดิ์ยิ่งกว่าขุนนางในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 จนเป็นที่โจษจันกันทั่ว เมื่อได้เห็นบริวารชายในบ้านนั้นซึ่งนุ่งผ้าพื้นสีน้ำเงิน สวมเสื้อกระบอก ยิ่งทำให้เสียงเล่าลือเพิ่มน้ำหนักขึ้น

ผู้เขียนบรรยายเหตุการณ์ตอนพบกับเจ้าพระยาธรรมาฯ ว่า

“ขณะเหลียว และก้าวตามผู้พา เห็นท่านผู้ใหญ่ร่างใหญ่หนวดงามนั่งเป็นสง่าอยู่ที่โต๊ะกลมกลางกระโจม เมื่อผมจะก้าวขึ้นบนนั้นได้คารวะท่านอย่างนอบน้อม ท่านรับไหว้พร้อมกับบอกเชิญ มือขวาทอดไปที่เก้าอี้ตัวที่ตั้งอยู่ตรงข้ามท่านนั่ง…”

สถิตย์ กราบเรียนเหตุที่มาสัมภาษณ์ โดยอ้างหนังสือพิมพ์ฝรั่งดังที่กล่าวข้างต้น ดังเช่นกับที่กราบเรียน 5 เจ้าพระยา มาก่อนแล้ว พร้อมอธิบายต่อว่า “ได้รับงานมาคิดอยากทราบความสบาย ไม่สบายของใต้เท้า”

เจ้าพระยาธรรมาฯ ตอบว่า “ว่าถึงความสบายมันก็สบาย เพราะไม่ต้องทำอะไร กินกับนอนเท่านั้นนี่นะ จะไม่สบายยังไง!”

ผู้สัมภาษณ์เล่าว่าต้องพยายามอธิบายว่า ข้อความใดที่เจ้าพระยาเกรงว่าจะก่อมลทิน จะไม่เขียนข้อความนั้น พร้อม “ชักแม่น้ำทั้งห้า” เอ่ยถึงบรรพบุรุษแห่งสกุลของเจ้าพระยาฯ ที่รับราชการมาแต่เก่าแก่ เพื่อสอบถามถึงสภาวะพ้นจากหน้าที่แล้ว “ไม่ทำให้โทมนัสบ้างหรือ?”

เจ้าพระยาธรรมาฯ ตอบว่า “ต้นตระกูลฉันสมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า รัชกาลที่ 4 ทรงชุบเลี้ยง รับราชการใกล้ชิดพระองค์ กรมหมื่นปราบฯ ลูกสมเด็จกรมพระยาบำราบฯ คือพ่อฉัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ทรงชุบเลี้ยง ต่อมาถึงรัชกาลที่ 6 ท่านก็ทรงชุบเลี้ยงฉัน แปลงปู่เลี้ยงปู่ พ่อเลี้ยงพ่อ ลูกเลี้ยงลูก แต่ฉันก็ถูกไล่ออก ที่ท่านก็รู้เห็นอยู่นี่แหละ ท่านนึกว่าเป็นใครมั่งจะไม่เสียใจ มีไหม”

สถิตย์ เล่าว่า ได้เลียบเคียงเพิ่มเติมอีกว่า “ใต้เท้ากรุณาคงทราบเรื่องจะต้องออกไว้ก่อน—“

เจ้าพระยาธรรมาฯ ว่า “ทราบซี พอพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ สวรรคตแล้ว ก็ทราบ กระทรวงวังทราบกันทั้งนั้นว่าใครจะอยู่ใครจะไป”

(ข้อมูลหลายแห่งบันทึกว่า หลังเสร็จงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 6 ท่านก็ลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง)

ผู้สัมภาษณ์ ถามเพิ่มเติมว่า “ใต้เท้ากรุณาคงจะทราบด้วยว่าเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ จะเข้าไปแทน”

ตอนหนึ่งของบันทึกมีใจความว่า

“ท่านว่า ‘ท่านคนนี้’—ท่านกล่าวเหมือนสะดุดอะไรอยู่ แล้วจึงต่อไปว่า ‘ก็ทราบ แต่ฉันไม่เชื่อไม่นึกว่าผู้ไม่รู้พระราชพิธีพระราชสำนักจะมาเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง’

ผมแสดงความสงสัยคล้อยตามท่าน ‘อ้อ, ท่านเสนาบดีกระทรวงวังปัจจุบันไม่สู้ช่ำชองราชการในพระราชฐาน!’

ท่าน ‘ก็จะเป็นไรไป จะมีพระราชพิธีสำคัญไม่รู้จะทำอะไรก็เที่ยวถามเขาเอา ก็คงพอรอดตัวไปได้ละกระมัง'”

ในการสัมภาษณ์ เจ้าพระยาธรรมาฯ ยังเอ่ยว่า ขอให้รับปากว่าจะไม่เปิดเผยคำที่ขอให้ปิดเอาไว้ ซึ่งข้อความข้างต้นที่ว่า “ปู่เลี้ยงปู่ พ่อเลี้ยงพ่อ ลูกเลี้ยงลูก” สถิตย์เผยว่า คือข้อความที่ท่านขอนั่นเอง

สถิตย์ เล่าในหนังสือ “วิสาสะ” ภายหลังว่า แปลงสารนี้กลายเป็นลักษณะ ระลึกย้อนหลังไปถึง เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้าปิ๋ว ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฎลทิพยวดี เป็นพระชนนี ในรัชสมัย เมื่อชนกคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิสหล้าฯ ยังทรงพระชนม์อยู่นั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงมอบเจ้าฟ้ากลาง (สมัยต่อมาได้เฉลิมพระนามเจ้าฟ้ามหามาลา) กับเจ้าฟ้าปิ๋ว เป็นศิษย์สุนทรภู่ขณะบวช เป็นภิกษุอยู่วัดราชบุรณะ เป็นมูลให้สุนทรภู่เมื่อจะจากวัดนั้นไป แต่งเพลงยาวถวายโอวาทเจ้าฟ้าศิษย์สองพระองค์”

การแปลงสารนี้ประสบผลสำเร็จ ไม่ได้ทำให้ผู้พูดถือสา เนื่องจาก เนื้อแห่งเพลงถวายโอวาทที่ท่านอาจารย์ ผู้จะอำลาวัดราชบุรณะแต่งจะจากวัดไปนั้น สำแดงอาลัยอย่างที่สุด…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สถิตย์ เสมานิล. วิสาสะ. สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2514

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “การทำความสะอาด เครื่องนุ่งห่มของชาววัง”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 26 ฉบับที่ 6 (เมษายน 2548)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤษภาคม 2562