ร.5 ทรงเล่าเรื่องเจ้านายอิตาลีว่า “เจ้าแผ่นดินนั้น ไม่สู้ฉลาด แต่ใจดี”

ภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ภาพตกแต่งเพิ่มเติมจากไฟล์ต้นฉบับของ AFP PHOTO)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ภาพตกแต่งเพิ่มเติมจากไฟล์ต้นฉบับของ AFP PHOTO)

เป็นที่ทราบกันว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2440 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศในภูมิภาคยุโรปเนื่องด้วยพระราชประสงค์นำความเจริญกลับมาสู่บ้านเมืองและปกป้องเอกราชของประเทศ

การเดินทางครั้งนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงมีพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เนื้อหาในพระราชหัตถเลขานี้ไม่เพียงเป็นทั้งข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงพระทัยแน่วแน่ของพระองค์ ยังเป็นหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเช่นกัน

Advertisement

พระราชหัตถเลขา ที่ทรงพระราชทานเป็นการส่วนพระองค์นั้นเป็นส่วนที่แยกต่างหากจากพระราชหัตถเลขาในทางราชการ มีลักษณะเป็นจดหมายเหตุรายวัน ทรงบันทึกสิ่งที่ทอดพระเนตรอย่างละเอียด ตั้งแต่ลักษณะสิ่งของไปจนถึงลักษณะนิสัยบุคคลต่างๆ พระราชหัตเลขานั้นจะจารึกวันที่ ชื่อเมืองแต่ละแห่งที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาไว้ และขึ้นต้นด้วยคำว่า “ถึงแม่เล็ก”

ขณะที่คำลงท้ายบางฉบับยังไม่มี มีเพียงพระประมาภิไธย “จุฬาลงกรณ์ ปร.” และตั้งแต่ฉบับที่ลง 12 มิ.ย. ร.ศ. 116 เป็นต้นไปถึงลงท้ายว่า “ผัวที่รักของแม่เล็ก”

เรือพระที่นั่งมหาจักรีออกจากท่าวรดิฐ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2440 มาถึงเมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ใช้เวลาประมาณ 5 สัปดาห์ ทั้งนี้ระหว่างเดินทาง พระองค์แวะเมืองตามเส้นทางหลายแห่ง อาทิ สิงคโปร์ ลังกา เอเดน อียิปต์

การเสด็จประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2440 โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี ระหว่างทางทรงมีพระราชปรารภเล่าว่า ผู้ติดตามมีท่าทีเบื่อหน่าย ดังนี้

“…แต่คนไทยทั้งหมดไม่มีใครชอบใจในความประพฤติของฉัน และเหนื่อยหน่ายในความลำบากที่ต้องติดตามฉันไป…”

ประเทศแรกในยุโรปที่ทรงเสด็จฯ มาถึงคืออิตาลี ทรงมีพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับลักษณะของเจ้านายในราชสำนักอิตาลีตอนหนึ่งว่า

“ในพวกเจ้านายที่เป็นอย่างมีสติปัญญาดีมาก พระมเหสีเป็นคนงามด้วย มีความรู้มากด้วย คนก็นับถือมากรักมาก แต่เจ้าแผ่นดินนั้น เป็นคนไม่สู้ฉลาด แต่ใจดีแลตั้งใจจะเมตตาอารีแต่สังเกตดูไม่สู้ทรงนึกอะไรมากนัก ท่าทางเรียกได้ว่า น่ากลัว แต่เมื่อเข้าใกล้เห็นได้ว่าเป็นคนใจดีหัวเราะได้อี๋ๆ เป็นคนซื่อ ไม่แปดเหลี่ยมแปดคมเลย

ปรินซ์ออฟเนเปิลนั้น เป็นคนมีความรู้มากกว่าพ่อ พูดถึงอะไรก็เคยรู้อะไรก็เคยรู้เคยอ่านทั้งนั้น เช่น ยาวา เป็นอย่างไร คุยได้แต่เป็นคนขี้อุทัดอึก ๆ อัก ๆ แลไม่ใคร่อยากจะพบหน้าคนนัก รูปร่างเตี้ยเล็กไม่งาม กิริยาอาการไม่เปิดเผยองอาจ ยากที่จะคบเป็นมิตรสนิทได้ แต่เจ้าหญิงนั้นเป็นคนฉลาด มีดวงหน้าในระหว่างตากับจมูกงาม แต่ช่วงล่างแลแขนเป็นกล้ามมีขนเป็นทางแลเป็นแขนผู้ชายแท้ มีอาการกิริยาที่จะเป็นมิตรสหายกับผู้ใดก็เป็นได้…”

กษัตริย์อิตาลีในพ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) คือพระเจ้าอุมแบร์โต้ที่ 1 (ครองราชย์ ค.ศ. 1878-1900) ส่วนเจ้าชายแห่งเนเปิลส์ในยุคนั้นคือ วิคเตอร์ เอ็มมานูเอล ภายหลังคือพระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 (ครองราชย์ ค.ศ. 1900-1946)

ทั้งนี้ การเสด็จประพาสยุโรปพ.ศ. 2440 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระจริยวัตรแตกต่างจากธรรมเนียมตะวันออกแท้ๆ ดังที่หนังสือพิมพ์ Le Monde Illustre’ ฉบับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) บรรยายว่า

“แม้ว่าธรรมเนียมประเพณีของราชสำนักในประเทศตะวันออกเป็นธรรมเนียมประเพณีที่เคร่งครัดมาก แต่เราก็สามารถเชื่อไปในทางตรงข้ามได้อย่างแท้จริง โดยสังเกตขณะที่ทรงขึ้นลิฟต์ เพราะพระเจ้าแผ่นดินชาวเอเชียพระองค์นี้มิได้คำนึงถึงขนบธรรมเนียมที่เคยระบุบังคับมิให้บรรพบุรุษของพระองค์ทรงพระสรวล ยิ้ม หรือหัวเราะต่อหน้าคนทั่วไปเลย”
(ชุมพล รักงาม และสุธี เทียนคำ, 2555: 69)

ไม่เพียงหนังสือพิมพ์ฉบับข้างต้น ยังมีสื่อสิ่งพิมพ์อีกหลายฉบับในยุโรปที่กล่าวถึงพระจริยวัตรซึ่งแตกต่างจากธรรมเนียมตะวันออก ดังนั้น ข้อมูลข้างต้นนี้ย่อมเป็นหลักฐานที่สะท้อนถึงพระจริยวัตรตามความนิยมในตะวันตก

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ทรงเป็นที่ “ฮือฮา” ของชาวต่างชาติขนาดไหน?

คลิกอ่านเพิ่มเติม : อิตาลีมุง แห่ “รุมดูไม่ปราณีปราไสย” และอุปนิสัยชาวเมืองในสายพระเนตรรัชกาลที่ 5


อ้างอิง :

ทวีศักดิ์ ญาณประทีป. วรรณกรรมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2532.

ชุมพล รักงาม และสุธี เทียนคำ. สยามประเทศ ในมุมมองของฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ : บุ๊คไดมอนด์, 2555.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2564