ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2547 |
---|---|
ผู้เขียน | ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช |
เผยแพร่ |
เมอซิเออร์ เดอ ลามาร์ (M. de la Mare) นายช่างใหญ่ประจำราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เดินทางมาประเทศสยามพร้อมกับคณะราชทูต เดอ โชมองต์ เมื่อ พ.ศ. 2228 คือผู้วาดผัง เมืองละโว้ ชิ้นนี้
ข้อมูลจากจดหมายเหตุ เดอ ชัวซี (11 ธันวาคม พ.ศ. 2228) ระบุว่า ราชทูต เดอ โชมองต์ ได้ทูลเสนอสมเด็จพระนารายณ์ ขอให้ เมอซิเออร์ เดอ ลามาร์ อยู่รับราชการในสยาม เพื่อปรับปรุงป้อมเมืองบางกอก ป้อมเมืองสงขลา และที่นครศรีธรรมราช สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นชอบด้วย และรับนายช่างฝรั่งเศสเข้าประจำการ
ในช่วงเวลาที่ เดอ ลามาร์ อยู่ในสยาม เขาได้สำรวจหัวเมืองสำคัญที่ขึ้นต่ออยุธยาในสมัยนั้น และวาดแผนผังหัวเมืองดังกล่าวเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2230
ผังเมืองฉบับลายมือเขียนโดยเดอ ลามาร์ ที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน มีผังเมืองอยุธยา เมืองละโว้ มะริด พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช แผนที่สยามและแผนที่แม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ (Du Royaume de Siam par monsieur de la Loubere, Paris, 1691) ก็เป็นผลงานของนายช่างผู้นี้
นอกจากนี้ เขายังได้วาดแผนผังป้อมเมืองบางกอกและป้อมปราการที่หัวเมืองอื่นๆ ต้นฉบับจริงของแผนผังโดย เดอ ลามาร์ ขณะนี้เก็บรักษาไว้ที่ประเทศฝรั่งเศส ภาพถ่ายและรายละเอียดของแผนผังชุดนี้ หาดูได้จากหนังสือ L’Europe et le Siam du XVle XVllle siecle : Apports culturels เขียนโดย Michel Jacq-Hergoualc”h (Paris, 1993)
Plan de la ville de Louvo par Lamare…1687 หรือผังเมืองละโว้ฉบับลายมือ เขียนโดยเดอ ลามาร์ เป็นผังเมืองที่ทำขึ้นเพื่อใช้งานจริง ไม่ใช่เพื่อประดับผนังห้องโถง จึงไม่ประดิดประดอยด้วยรูปช้าง วัดวาอาราม หรือคนพื้นเมือง เหมือนอย่างแผนที่ฉบับพิมพ์ที่ขายกันในยุโรปในสมัยนั้น
ผังเมืองละโว้ นอกจากแสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถันของการสำรวจโดยนายช่างหลวงผู้นี้ ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยข้อมูลประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
ที่กรอบด้านซ้ายของแผนผัง เดอ ลามาร์ ให้ข้อมูลละเอียดยิบ ความยาว 82 บรรทัด เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ในเมืองละโว้ พร้อมทั้งระบุตำแหน่งสถานที่สำคัญ อาทิ (A) พระราชวัง (B) วัดหลวง (C) วัดอื่นๆ (D) บ้านคอนสแตนติน ฟอลคอน (เจ้าพระยาวิชาเยนทร์) (E) บ้านทูตอิหร่าน (G) สวนหลวง (H) บ้านพระคลัง (N) สวนฟอลคอน และ (P) ศาสนสถานของนักบวชเยซูอิต
ผังเมืองละโว้ที่ปรากฏในศิลปวัฒนธรรม เป็นผังเมืองที่ เบลแลง (Jacques Nicolas Bellin) ช่างแผนที่หลวงชาวฝรั่งเศส คัดลอกและจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ โดยอาศัยต้นแบบจากเดอ ลามาร์ ผังเมืองโดยเบลแลงตีพิมพ์ครั้งแรกในสารานุกรมประวัติศาสตร์การเดินทาง Historie générale des voyages เล่มที่ 9 (เรียบเรียงโดย Prevost พิมพ์ที่กรุงปารีส เมื่อ พ.ศ. 2294 ตรงกับสมัยพระเจ้าบรมโกศ)
Historie générale เล่มที่ 9 เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่ายิ่ง เพราะนอกจากจะประมวลบันทึกของชาวต่างชาติในสยาม อาทิ เมนเดซ ปินโต และ กี ตาชารด์ แล้ว ยังมีแผนที่และภาพลายเส้นที่เกี่ยวข้องกับสยามอีกกว่า 10 ภาพ แผนที่สำคัญที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้คือ แผนที่สยามและอาณาจักรใกล้เคียง แผนที่แม่น้ำเจ้าพระยา ผังเมืองอยุธยา และผังเมืองละโว้ ภาพลายเส้นที่น่าสนใจคือ ภาพขุนนางสยาม และเรือราชพิธีสมัยอยุธยา
Historie générale เป็นที่นิยมมากในหมู่นักอ่านชาวยุโรปสมัยนั้น และได้รับการแปลเป็นภาษาดัตช์ สเปน และเยอรมัน และนี่คือเหตุผลว่าทำไม ผังเมืองที่วาดโดยชาวฝรั่งเศส จึงกลายพันธุ์ออกมาเป็นภาษาเยอรมัน!!
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดบันทึกพระราชพงศาวดารฯ ถึงที่มาออกหลวงสุรศักดิ์ “โอรสลับ” ในสมเด็จพระนารายณ์?
- แผนปลงพระชนม์ และยึดราชบัลลังก์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- “พระปีย์” ราชบุตรบุญธรรมสมเด็จพระนารายณ์ ผู้ตกเป็นเหยื่อรัฐประหาร?
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 สิงหาคม 2560