เปิดเหตุผล ทำไมมนุษย์ต้องทำ “สงคราม” ทั้งทีเต็มไปด้วยความสูญเสีย

ทหาร สงครามโลกครั้งที่ 2 สงคราม
ทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ภาพจาก “บันทึกภาพประวัติศาสตร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2”, สนพ.มติชน สิงหาคม 2552 )

คุณคิดว่า “มนุษย์” ทำ “สงคราม” กันมานานแต่ไหน นักวิชาการอธิบายว่าหลักฐานจากหลุมศพของชนเผ่าในยุคหิน มนุษย์ตายด้วยถูกอาวุธเป็นจํานวนมาก ทั้งยังแจงว่าสงครามการสู้รบในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีความรุนแรงมากกว่าที่คิด ประมาณว่า 1 ใน 4 ของชายนักรบเสียชีวิตในสงคราม ซึ่งเป็นสัดส่วนต่อประชากรสูง เมื่อเทียบกับการเสียชีวิตของผู้คนราว 50 ล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ยุคหินใหม่พบหลักฐานการทำสงครามกันระหว่างมนุษย์ โดยนักวิชาการด้านโบราณคดีของสหรัฐฯ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชี้ว่า น่าจะเกิดจากการที่ชุมชนต่างๆ มีประชากรเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งระบบนิเวศไม่สามารถรองรับความต้องการได้ มนุษย์ จึงต้องทำสงครามเพื่อแย่งพื้นที่ทำมาหากินและทรัพยากรกันอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ

Advertisement

ในหนังสือ สงครามเย็นในแดนโสม วิกฤตที่ยังไม่สิ้น (มติชน, 2558) อาจารย์อนุช อาภาภิรม อธิบายเรื่อง “เหตุใดมนุษย์จึงทำสงครามกัน” ไว้ดังนี้


 

การทํา สงคราม ที่ไม่รู้จบเพื่อแย่งพื้นที่และทรัพยากรในการเลี้ยงปากท้องของผู้คนดังกล่าวนี้ ได้เป็นรากฐานของวัฒนธรรมที่ปฏิบัติคล้ายคลึงกันทั่วโลก ในระดับต่างๆ กัน วัฒนธรรมและคุณค่าทั่วไปที่มาจากรากฐานการทําสงคราม ที่สําคัญได้แก่

(1) ลัทธิชายเป็นใหญ่ เนื่องจากชายมีร่างกายใหญ่และพละกําลังมากกว่า ปลอดจากภาระในการตั้งครรภ์และให้นมลูก เหมาะสมที่จะเป็นนักรบ วัฒนธรรมนี้ยังคงดํารงอยู่อย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งในจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ในอีกด้านหนึ่งของลัทธินี้ก็คือการกําหนดให้สตรีเป็นพลเมืองชั้นสอง มีที่อยู่สําคัญในบ้านเรือน ทํางานบ้านและงานหัตถกรรมประเภท ทอผ้าเย็บปักถักร้อย…ความต่ำต้อยของสตรีมีสูงถึงขั้นว่า พ่อแม่ต้องการลูกชายมากกว่าลูกสาว เกิดปฏิบัติการฆ่าทารกหญิงทั้งในยามปกติและในยามเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร

(2) การสั่งสมกําลังพลที่พอเพียงแก่การป้องกันพื้นที่และทรัพยากรของตน รวมทั้งที่สําคัญคือการจัดลําดับชั้นในสังคมขึ้น เพื่อความเป็นระเบียบและความมีประสิทธิภาพในการผลิต การบริหารปกครอง และในการสงคราม…

การจัดลําดับชั้นในสังคมนั้นมีต่างกันไป แต่อาจกล่าวได้ว่ามี 2 ชนชั้นใหญ่ คือ ชนชั้นผู้ปกครองกับชนชั้นผู้ถูกปกครอง ในชั้นผู้ปกครองของเกาหลีโบราณ ได้แก่ กษัตริย์และขุนนางชั้นสูง นอกจากนี้ ในช่วงหนึ่งน่าจะรวมเอาพระชั้นสูงในพุทธศาสนาด้วย เนื่องจากวัดเป็นแหล่งฝึกวิทยายุทธ์ให้แก่นักรบ ทั้งมีทรัพย์สินและทาสจํานวนมาก สําหรับชนชั้นผู้ถูกปกครองที่เป็นส่วนใหญ่ของสังคม ได้แก่ ชาวนา คนยากจนและพวกทาส ระหว่างชนชั้นผู้ปกครองและถูกปกครองยังมีชนชั้นกลางอยู่ ได้แก่ พวกพ่อค้า ช่างฝีมือ ที่ค่อยๆ มากขึ้นตามการขยายตัวของเมือง

การจัดลําดับชั้นทางสังคมนั้น โดยทั่วไปจะมองจากแง่การผลิตการเมือง-สังคม แต่ก็สามารถพิจารณาจากมุมมองของการบริโภคได้ด้วย นั่นคือ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มผู้ปกครองนั้นเป็นผู้บริโภคแบบหรู เช่น ในสังคมเกาหลีโบราณจะมีที่ดินผืนใหญ่ มีทาสและลูกนาช่วยสร้างผลผลิตและให้บริการต่างๆ ทําให้ชีวิตมีความสะดวกและหรูหรา นอกจากนี้ ยังได้เสพสินค้าจากการค้าต่างแดน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยสําหรับชนชั้นสูง ส่วนผู้ถูกปกครองโดยเฉพาะผู้อยู่ในระดับล่างสุดมีทาสและชาวนายากจน เป็นต้น จะได้บริโภคเพียงแค่พอยังชีพเท่านั้น

การจัดลําดับชั้นแบบนี้มีข้อดีที่สามารถรวมกําลังคนได้มาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่บริโภคน้อย และถูกควบคุมตามลําดับชั้นอย่างทั่วถึง สามารถปกป้องพื้นที่และทรัพยากรในอาณาเขตของตนหรือกระทั่งออกไปรุกราน ที่ชิงดินแดนอื่นได้ แต่ก็มีข้อเสียว่าทําให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นสูงอย่างรุนแรงยากที่จะปรองดอง

(3) การกําจัดปากท้องที่ไม่จําเป็น โดยเฉพาะในยามเกิดภัยแล้ง ขาดแคลนอาหาร จนกระทั่งเกิดเป็นประเพณีขึ้น เช่น การบูชายัญผู้คน การออกไปทําสงครามจับชนเผ่าอื่นมาเป็นทาส การฝังทาสทั้งเป็นพร้อมกับนายที่สิ้นชีวิต การฆ่าทารกหญิง หรือการเลี้ยงเด็กหญิงแบบปล่อยปละละเลยจนเสียชีวิต

(4) การฉุดคร่าสตรีต่างเผ่า สตรีนั้นแม้ว่าจะถูกกดขี่เป็นพลเมืองชั้น 2 แต่ก็มีบทบาทสําคัญในการผลิตและเลี้ยงคนรุ่นต่อไป นอกจากนี้ ยังเป็นกําลังสําคัญในการดูแลบ้านเรือนและการผลิตอื่นๆ จัดว่าเป็นทรัพยากรที่สําคัญมากของชุมชน ขณะที่สตรีในวัยเจริญพันธุ์ก็หายาก เนื่องจากลัทธิชายเป็นใหญ่ การฉุดคร่าหรือเข้าโจมตีเพื่อกวาดจับสตรีมาก็ปฏิบัติกันทั่วไป ตามโวหารที่ว่า “ฆ่าผัวเสียเอาเมียมันมา” ของสงครามเมืองทรอย อาจนับได้ว่าเป็นการกล่าวเชิงสัญลักษณ์ว่าศึกชิงนางอาจกลายเป็นสงครามใหญ่ที่ยืดเยื้อได้ จากเหตุนี้ทําให้มีมาตรการอารักขาสตรีอย่างง่ายๆ เป็นต้นว่า ห้ามสตรีไปไหนต่อไหนตามลําพัง หรือห้ามออกจากบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต

(5) การพัฒนาทางเทคโนโลยีและการจัดการทางการเกษตร ที่กล่าวมาข้างต้นออกไปในเชิงด้านลบ ประเด็นท้ายนี้เป็นเชิงบวก นั่นคือ เมื่อผู้คนต้องเผชิญกับปัญหาการผลิตอาหารเลี้ยงดูผู้คน ก็มีทางออกสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีและการจัดการทางการเกษตรขึ้น

เทคโนโลยีและการจัดการดังกล่าว เริ่มต้นจากความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับธรรมชาติของธัญพืช สัตว์ ดินและลมฟ้าอากาศ จากนั้นเริ่มรู้จักการหว่านเมล็ดธัญพืชป่า การทํายุ้งฉางเก็บธัญญาหาร จนในที่สุดก็รู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เมื่อ 10,000 ปีมาแล้วที่ให้ผลผลิตสูง ผู้คนสามารถตั้งหลักแหล่งค่อนข้างถาวร สร้างชุมชนหมู่บ้าน ขยายเป็นเมืองและประเทศตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

การเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ที่เรียกว่าการปฏิวัติการเกษตรในยุคหินใหม่นั้นมีจุดอ่อนหลายประการที่สําคัญคือ

(1) เป็นงานที่กินแรงงานมากในการเตรียมที่ดิน ตั้งแต่โค่นต้นไม้ ขุดรากถอนโคน ปรับพื้นที่ให้ราบ การตามบํารุงรักษา การหาน้ำและรดน้ำ

(2) เกิดการติดเชื้อโรคหลายอย่างจากสัตว์เลี้ยง ได้แก่ วัณโรค ฝีดาษ ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดธรรมดา หัด เป็นต้น แต่ที่ยังฝืนทําไป เนื่องจากสามารถผลิตอาหารเลี้ยงผู้คนได้จํานวนมากที่ป้องกันพื้นที่ของตน และเข้ารุกชิงดินแดนผู้อื่นได้

เมื่อมีชนเผ่าหนึ่งเริ่มทําการเกษตร ในไม่ช้าชนเผ่าที่อยู่ใกล้เคียงก็ต้องทําตาม หาไม่แล้วก็ไม่มีกําลังพอที่จะป้องกันตัวเอง และอาจต้องถูกริบไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรือสตรี

จากการใช้เทคโนโลยีและการจัดการดังกล่าว ทําให้จํานวนประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากราว 5-8 ล้านคนเมื่อเริ่มปฏิบัติการเกษตร เป็นราว 60-70 ล้านคนใน 4,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และเป็นกว่า 7,000 ล้านคนในปัจจุบัน

แต่ความก้าวหน้าทั้งหมดนั้น ก็ไม่ช่วยให้มนุษย์พ้นจากสงครามต่อเนื่องในการแย่งชิงพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติได้ แม้ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2564