นัยของการเวนคืนที่สองฝั่งถนน ห้วงปรับปรุงถนนราชดำเนินกลาง 2482 ยุคคณะราษฎร

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่สร้างขึ้นใหม่บน ถนนราชดำเนินกลาง ถูกมองว่าเป็นหัวใจสำคัญของการปรับปรุงเมืองภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลคณะราษฎร เนื่องมาจากจุดที่สร้างนั้นเป็นการสร้างทับบนถนนสายเดิมที่สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปเป็นเวลาหลายเดือน ภายหลังจากนั้นก็เกิดการก่อสร้างถนนขึ้นหลายแห่งในไทยช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 และถนนที่พระองค์มีพระราชประสงค์สร้างให้ยิ่งใหญ่กว่าถนนอื่น ทรงพระราชทานชื่อว่า ถนนราชดำเนิน การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ถนนราชดำเนินนอก ถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชดำเนินใน

ชัย เรืองศิลป์ ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทย สมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านสังคม” อธิบายในหนังสือเล่มนี้ว่า เริ่มสร้างจากถนนราชดำเนินนอก ส่วนทางคนเดินสองข้างถนนสายกลาง ปลูกต้นไม้สายละสองแถวเพื่อเป็นที่ร่มเย็นแก่คนเดินทาง ถนนราชดำเนินกลางเริ่มลงมือสร้างเมื่อ พ.ศ. 2444 มีถนนสามสาย ทางคนเดินริมถนนกลางสองสาย และทางคนเดินริมถนนสายนอกอีกสองสาย

เมื่อประเทศผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไปแล้ว จึงปรากฏการปรับปรุงถนนราชดำเนินซึ่งถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ ในห้วงการปรากฏขึ้นของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รายละเอียดของการปรับปรุงถนนเคยถูกตีความในเชิงสัญลักษณ์ อัตลักษณ์ และอุดมการณ์ทางการเมืองโดยผู้ค้นคว้าประวัติศาสตร์ ดังเช่นบทความ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย : โฆษณาการความสำเร็จของคณะราษฎร” โดย พินัย สิริเกียรติกุล เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2559 เนื้อหาส่วนหนึ่งในบทความพูดถึงความแตกต่างระหว่างแผนการปรับปรุงถนนราชดำเนินกลาง กับแบบที่ก่อสร้างจริง เนื้อหาส่วนหนึ่งมีดังนี้


 

…มาลินี คุ้มสุภา กล่าวไว้ในหนังสืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น ว่า ได้ปรากฏแผนการปรับปรุงถนนราชดำเนินกลางก่อนหน้าที่จะมีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาแล้ว คือ โครงการที่ประชุมกันในเดือนกรกฎาคม 2480 [9] หากแต่มีรายละเอียด ลักษณะ และวิธีคิดต่างไปจากแบบที่ก่อสร้างจริง

ความแตกต่างกันของโครงการทั้งสองจึงมีความน่าสนใจ เพราะโครงการที่ไม่ได้ถูกนำไปสร้างย่อมมีนัยยะบางประการที่ไม่ปรากฏให้เห็นในงานที่สร้างจริง และเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการปรับปรุงถนนในครั้งนี้เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกันกับการพยายามสถาปนาความชอบธรรมทางการเมืองของคณะราษฎรให้เป็นที่รับรู้ของประชาชน การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการปรับปรุงถนนจึงมิใช่การกระทำที่ไร้ซึ่งความหมาย แต่แฝงไว้ด้วยอุดมการณ์ ตัวตน และความทะเยอทะยานทางการเมืองของคณะราษฎร

ในแผนการปรับปรุงถนนราชดำเนินปี 2480 ปรากฏหลักฐานอย่างน้อย 2 ประการ ที่ชี้ให้เห็นว่าคณะกรรมการร่างแผนดังกล่าวนี้ได้เคยวางแผนปรับปรุงถนนราชดำเนินกลางให้มีความกลมกลืนกับกายภาพ และความหมายของถนนราชดำเนินที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ประการแรก

ณ สี่แยกระหว่างถนนราชดำเนินกลางและถนนดินสอ ได้มีการกำหนดให้เป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 (ไม่ใช่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างที่เห็นในปัจจุบัน) โดยคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาตำแหน่งของอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ให้มีความสัมพันธ์กับอนุสาวรีย์ของกษัตริย์อีก 2 รัชกาล นั่นคือ พระบรมรูปทรงม้าของรัชกาลที่ 5 และสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 “ต่อไปควรจะมีถนนผ่านมาจากสะพานพระพุทธยอดฟ้า การที่จะทำนั้นไม่สู้ยาก ถ้าเมื่อมีถนนประกอบด้วยแล้ว จะทำให้พระบรมรูป [อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 – ผู้เขียน] เด่นขึ้น” [10]

หากโครงการนี้ถูกสร้างขึ้นจริงย่อมสร้างความหมายพิเศษแก่ถนนราชดำเนิน เพราะถนนที่วิ่งตรงมาจากอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 กับถนนที่พุ่งตรงมาจากสะพานพระพุทธยอดฟ้าจะตัดกัน ณ บริเวณวงเวียนของอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 พอดี และจะทำให้เกิดความต่อเนื่องของ “อนุสาวรีย์สามกษัตริย์” ขึ้นบนถนนที่เชื่อมถึงกัน

ประการที่ 2

ในพื้นที่บริเวณระหว่างสะพานผ่านพิภพลีลาถึงถนนตะนาวได้มีการเสนอให้สร้างเป็นสถานที่สำคัญ (ซึ่งอาจเป็นสถานที่ราชการ) ลักษณะเป็นอาคาร 3 หลังวางเรียงขนานไปกับถนน โดยมีการออกแบบที่สอดคล้องกับถนนเดิม เนื่องจากต้นมะฮอกกานีตลอดถนนราชดำเนินกลางยังถูกคงไว้ (ตามที่ปรากฏในแบบ) หรือหากจำเป็นต้องตัดออกไปเพราะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของถนนก็ต้องมีการปลูกต้นไม้ใหม่ขึ้นทดแทนด้วย ทั้งนี้เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของถนนราชดำเนินให้เต็มไปด้วยต้นไม้ปลูกเรียงรายดังในอดีต เช่น ในบริเวณที่ต้องขยายถนนเพื่อทำเป็นวงเวียนของอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 จากแบบร่างจะเห็นได้ว่ามีการวางแนวต้นไม้ใหม่ล้อมรอบวงเวียนต่อเนื่องกับแนวต้นไม้เดิม หรือในบริเวณทางเข้า-ออกของพื้นที่ตั้งอาคาร แนวต้นมะฮอกกานีเดิมจะถูกตัดเฉพาะส่วนที่จะทำเพื่อเป็นช่องให้รถวิ่งเข้า-ออกเท่านั้น

แบบร่างการปรับปรุงถนนราชดำเนินในปี 2480 นี้แสดงให้เห็นเจตนาในการปรับปรุงถนนให้มีความกลมกลืนต่อเนื่องกันไปกับภูมิสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอการสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 และการคงรูปแบบของถนนให้มีต้นไม้เรียงรายดังเก่า นับว่าโครงการปรับปรุงถนนปี 2480 นี้ถูกออกแบบให้มีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันกับถนนสายเดิมทั้งในแง่กายภาพและความหมาย

อย่างไรก็ตาม แบบร่างการปรับปรุงถนนราชดำเนินในปี 2480 กลับไม่ได้ถูกนำไปใช้ก่อสร้างจริง รูปแบบของถนนราชดำเนินกลางที่เริ่มสร้างขึ้นในปี 2482 แตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญจากแบบร่างในปี 2480 เป็นอย่างมาก เพราะภาพลักษณ์ใหม่ของถนนราชดำเนินกลางไม่ใช่ภาพของการจรรโลงของเก่า หากแต่เป็นความพยายามตัดขาดจากอดีต

การปรับปรุงถนน

ในการปรับปรุงถนนครั้งนี้ ต้นมะฮอกกานีบนถนนราชดำเนินกลางตั้งแต่สะพานผ่านพิภพลีลาถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศที่ปลูกมาตั้งแต่การสร้างถนนครั้งแรกได้ถูกโค่นลง พร้อมๆ กับการเวนคืนพื้นที่สองริมฝั่งถนนเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับสร้างอพาร์ตเมนต์และอาคารทันสมัยอื่นๆ

และเมื่ออาคารอพาร์ตเมนต์ทั้ง 10 หลังสร้างเสร็จ ขนาดอันใหญ่โตของตึกแถว 4 ชั้นที่เรียงรายสองฝั่งถนนก็ได้บดบังอาคารบ้านเรือนเดิมที่อยู่ทางด้านหลังเสียหมดจด ภาพลักษณ์ของถนนที่เคยร่มรื่นมีต้นไม้เรียงรายปกคลุมให้ร่มเงาถูกกลบด้วยความกว้างใหญ่ของถนนคอนกรีต ที่ตลอดความยาวขนาบไปด้วยอาคารสูงใหญ่รูปทรงแปลกตาทันสมัยซึ่งถูกออกแบบมาให้เป็นหนึ่งเดียวกับถนน [11]

กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การปรับปรุงถนนในครั้งนี้คือการสร้างความแตกหักกับภูมิสถาปัตยกรรมของถนนสายเดียวกันในสมัยรัชกาลที่ 5 ภาพลักษณ์ของถนนใหม่นี้ช่วยสร้างตัวตนของคณะราษฎรให้เกิดขึ้นในเมืองอย่างชัดเจนว่า เขาคือใคร และเป็นอะไรในยุคการเมืองสมัยใหม่

พิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2482 จะเห็นแนวต้นมะฮอกกานีปลูกเรียงรายสองข้างถนน ก่อนจะถูกโค่นลงทั้งหมดในระหว่างการปรับปรุงถนน ช่วงปี 2483-85 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการปรับปรุงถนนราชดำเนินจากแบบปี 2480 มาเป็นแบบที่สร้างจริงปี 2482 นี้ แม้ไม่มีการบันทึกถึงเหตุผลที่ชัดเจน แต่หากหันไปพิจารณางานสร้างสรรค์อื่นๆ ที่ถูกผลิตขึ้นโดยคณะราษฎรในช่วงเวลาเดียวกันก็จะทำให้ทราบว่า เพราะเหตุใดแบบการปรับปรุงถนนแห่งปี 2480 จึงถูกทำให้ตกไป นั่นคือ “ความสำเร็จในการก่อตั้งระบอบรัฐธรรมนูญ” และ “ความสำเร็จจากการเจรจาสนธิสัญญากับมหาอำนาจที่นำมาสู่การได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ของประเทศ”

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลคณะราษฎรได้พยายามอย่างยิ่งที่จะโฆษณาความสำเร็จดังกล่าวผ่านงานสร้างสรรค์ต่างๆ ที่ผลิตขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน การพิจารณาโฆษณาการความสำเร็จของคณะราษฎรที่แฝงอยู่ในงานสร้างสรรค์ที่ผลิตขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับการก่อสร้างถนนราชดำเนินดังจะกล่าวต่อไปนี้ จะทำให้เข้าใจแนวคิดเบื้องหลังโครงการปรับปรุงถนนราชดำเนินกลาง และนัยยะความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมากกว่าที่รับรู้กัน…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความโดยจัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่ คงเชิงอรรถไว้ดังเดิม


เชิงอรรถ :

[9] มาลินี คุ้มสุภา. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น. (กรุงเทพฯ : วิภาษา, 2548), น. 110-111.

[10] “รายงานการประชุมพิจารณาเรื่อง การสร้างพระบรมรูปพระมงกุฎเกล้า ครั้งที่ 1 ณ กระทรวงการคลัง,” 13 กรกฎาคม 2480. กระทรวงการคลัง. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. อ้างถึงใน เรื่องเดียวกัน, น. 110.

[11] ดูรายละเอียดการปรับปรุงถนนราชดำเนินกลางระหว่างปี 2484-88 ได้ใน Pinai Sirikiatikul. “Remaking Modern Bangkok : Urban Renewal on Rajadamnern Boulevard, 1939-1941,” ใน เอกสารประกอบการประชุมวิชาการนานาชาติสถาปัตยปาฐะ : เก่า-ใหม่ : ศึกษา ทบทวน วิพากษ์ ปรากฏการณ์สถาปัตยกรรมในเอเชีย Old-New : Rethinking Architecture in Asia. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552), น. 277-295.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มีนาคม 2564