ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
การเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรไทย โดยเฉพาะการทดลองใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ อย่าง “เครื่องจักรกลการเกษตร” เช่น เครื่องเกี่ยวข้าว ในประเทศไทย ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัย รัชกาลที่ 5 บริบทซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวช้าหรือเร็ว มีทั้งปัจจัยโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
1. กรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการทำเกษตรได้ดี คือพื้นที่สองฟากคลองที่ขุดใหม่สมัยรัชกาลที่ 4-5 ส่วนมากตกเป็นของเจ้าขุนนาง คนรวย เช่น พื้นที่บริเวณคลองรังสิต คนเพียง 43 ราย หรือร้อยละ 6.2 ครอบครองพื้นที่ตั้ง 121,031 ไร่ หรือร้อยละ 51.32 โดยครอบครองรายละ 1,000 ถึง 17,945 ไร่ ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่คือชาวนา ต้องเป็นผู้เช่านาจากเจ้าขุนนาง คนรวย เมื่อเป็นผู้เช่านา จึงไม่กล้าปรับปรุงการผลิต เพราะผู้เช่าไม่มีความมั่นคงในการใช้พื้นที่
2. ชาวนาถูกขูดรีดมากเกินไป บ้างจากรัฐและนายทุน จากรัฐคือ การเข้าเดือน ซึ่งแม้จะลดลงเหลือปีละ 3 เดือนก็ยังเป็นภาระที่หนักหนามากสำหรับไพร่หลวง นอกจากนี้ ยังถูกเก็บภาษีนานาชนิด ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นมรดกตกทอดมาจากรัชกาลก่อนๆ ส่วนการขูดรีดจากนายทุนก็คือ เจ้าของนา กับเจ้าของเงินกู้ เจ้าของนาขูดรีดผ่านระบบเช่านา ซึ่งขูดรีดตั้งแต่ร้อยละ 12.5 ถึง 50 ของผลผลิต ส่วนเจ้าของเงินกู้ที่ชาวนาต้องกู้มาลงทุน ชาวนาจะต้องเสียดอกเบี้ยถึงร้อยละ 37.5 ต่อปี หากเกิดภาวะฝนแล้ง หนี้สินก็จะพอกพูนเป็นดินพอกหางหมู ยิ่งกว่านั้นชาวนาที่จ่ายหนี้เป็นข้าว เมื่อคิดเป็นเงินแล้วเขาต้องเสียดอกเบี้ยถึงร้อยละ 60-120 ต่อปี ผลจากการถูกขูดรีดดังกล่าว ทำให้ชาวนาไม่มีผลผลิตส่วนเกินมากพอที่จะไปพัฒนาการผลิตของตนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
3. ปัจจัยด้านประชากรและโรคระบาด สองสิ่งนี้สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โรคระบาดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในยุคนั้น โดยเฉพาะอหิวาต์ ไข้ทรพิษ ไข้ป่าหรือมาลาเรีย และกาฬโรค ทำให้ประชากรล้มตายลงคราวละมากๆ ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นช้ามาก เมื่อประชากรน้อย แต่ในขณะนั้นพื้นที่ของประเทศมีมาก ความจำเป็นในการที่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่จึงมีน้อย แต่ถ้าจำเป็นต้องเพิ่มผลผลิตก็ใช้วิธีขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไปในที่ป่า
4. ปัจจัยด้านการขนส่ง ก่อนมีการสร้างทางรถไฟในสมัย รัชกาลที่ 5 อุปสรรคอย่างยิ่งของการผลิตและการค้าคือค่าขนส่งที่แพงมาก แพงกว่าปัจจุบัน 27-40 เท่า แต่เมื่อมีการสร้างทางรถไฟค่าขนส่งถูกลงมาก ยังผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น สินค้าจากโคราชมาสระบุรีได้เพิ่มจากปีละ 1,800-2,400 ตัน เป็นปีละ 18,873-28,580 ตัน หลังจากสร้างทางรถไฟ ค่าขนส่งที่ถูกลงส่งผลให้การค้าขยายตัวทั้งสินค้าเข้าและออก
5. ปัจจัยด้านการค้า การค้าที่ขยายตัวนอกจากเป็นเพราะค่าขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศถูกลงแล้ว ยังเป็นเพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวในปี พ.ศ. 2407 ไทยส่งข้าวออก 2.4 ล้านหาบ พ.ศ. 2433 เพิ่มเป็น 8.1 ล้านหาบ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 237.5 ข้าวที่เคยเป็นสินค้าออกอันดับ 11 ก็กลายเป็นสินค้าออกอันดับ 1 ของไทย ใน พ.ศ. 2450 สินค้าออกข้าวมีปริมาณถึงร้อยละ 50 ของผลผลิตข้าวทั้งหมดของไทย ในเวลา 53 ปี (2400-2453) ปริมาณข้าวส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 15.4 เท่า ปริมาณข้าวเพิ่มขึ้นอย่างมากมายเป็นผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตร
6. นโยบายของรัฐ มีนโยบายอยู่ 2 เรื่องที่กระทบต่อการผลิตทางเกษตร นโยบายแรกคือ การยกเลิกการควบคุมการส่งออกข้าว ปล่อยให้มีข้าวออกโดยเสรีตามสนธิสัญญาเบาริ่ง นโยบายที่ 2 คือ การลดภาษีที่เป็นผลดีต่อชาวนาคือ ลดภาษีนำเข้าออกจากเกวียนละ 8 บาท เหลือเกวียนละ 4 บาท…นอกจากนั้นยังลดอากรสมพัตสรจากไร่ละ 1 บาท เหลือ 0.375 บาท อากรทุเรียน จากต้นละ 1 บาท เหลือ 0.375 บาท…ซึ่งการลดภาษีดังกล่าวล้วนต่อส่งผลดีต่อชาวนาในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ลดลง ผลผลิตส่วนเกินจึงน่าจะมากขึ้น
การที่ความต้องการข้าวจากต่างประเทศสูงขึ้น มีผลให้ราคาข้าวในประเทศสูงขึ้น ทำให้ชาวนาขายข้าวได้สูงขึ้น เป็นผลให้เกิดการขยายที่นา สำหรับเจ้าขุนนางและคนรวยที่เห็นว่ากิจการทำนาทำเงินได้ดี ก็พากันซื้อที่ดิน จับจองที่ดินเอามาให้ชาวนาเช่า บางรายก็ลงทุนทำนาเองโดยการจ้างลูกจ้างมาทำนา บางส่วนก็พยายามนำเครื่องจักรมาใช้ในการทำนา และทำไร่อ้อยเป็นครั้งแรก
กล่าวคือ ใน พ.ศ. 2423 กัปตันฮิก ชาวอังกฤษ ได้นำเอารถไถมาใช้ไถไร่อ้อยในเมืองไทยเป็นครั้งแรก แต่ไม่มีใครนิยมทำตามเพราะต้นทุนของการใช้รถไถสูงกว่าการทำแบบเดิมมาก ต่อมาในราว พ.ศ. 2433-2434 พระยาสมุทบุรารักษ์ได้นำเครื่องจักรไถนามาใช้เป็นครั้งแรกที่สมุทรปราการ แต่ปรากฏว่าต้องใช้แรงคนมากเกินไป และยังต้องขุดคูให้เรือที่บรรทุกเครื่องจักรแล่นจึงเพิ่มต้นทุนและความยุ่งยากกว่าวิธีเก่าๆ ในช่วงเวลาใกล้ๆ กันพระยาวิเศษได้ทดลองใช้เครื่องกว้านไถนาที่จันทบุรีแต่ไม่ได้ผล เพราะช้ากว่าเดิมและยังเสียเวลาขนเครื่องกว้านไปมา
ใน พ.ศ. 2448 หมอฮันส์ อดัมเซน (สัตวแพทย์) ได้ใช้เครื่องจักรไอน้ำไถนา แต่เครื่องเสียบ่อยคนจึงไม่นิยม ในช่วงเดียวกัน บริษัทกสิกรสยามของชาวเดนมาร์กได้นำเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน และปิโตรเลียมมาไถนา แต่เครื่องรวนบ่อยๆ เพราะอากาศเมืองไทยร้อนกว่าเมืองฝรั่ง
ใน พ.ศ. 2450 นายยัวเกนเซน นำรถไถนาไอน้ำมาทดลองไถได้รวดเร็วมาก วันละ (12 ชั่วโมง) 30-50 ไร่ แต่มีปัญหาน้ำหนักมากเกินไป (12.96 ตัน) เวลาไถต้องวิ่งบนรางเหล็กเพื่อป้องกันรถจมดิน ทั้งยังเปลืองเชื้อเพลิงมากและต้องใช้คนคุมเครื่องถึง 20 คน ในช่วงเดียวกัน ม.ร.ว. ถัด สีหศักดิ์สนิทวงศ์ และพี่น้องได้สั่งซื้อรถไถตีนตะขาบเข้ามาไถนาที่ทุ่งรังสิต แต่ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย จึงไม่มีใครนิยมใช้
นอกจากนั้น ยังมีการนำ “เครื่องเกี่ยวข้าว” มาทดลองใช้ แต่คนไม่นิยม เพราะเครื่องร้อนเร็ว เวลาเสียหาคนซ่อมและอะไหล่ยาก ค่าดูแลรักษาสูง
กล่าวโดยสรุป สาเหตุที่คนไทยไม่นิยมใช้ เครื่องจักรกลการเกษตร เพราะเครื่องจักรดังกล่าวซึ่งเคยใช้ได้ผลในเมืองฝรั่ง แต่ไม่ได้ผลในเมืองไทย เพราะอากาศร้อน เครื่องร้อนเร็ว เสียง่าย นอกจากนั้นดินก็ยังอ่อน จึงไม่เหมาะสำหรับเครื่องจักรซึ่งมีน้ำหนักมากเกินไป เรื่องอะไหล่หายากและช่างซ่อมก็หายาก ทำให้เสียค่าดูแลรักษามาก ไม่คุ้มกับการลงทุน
อ่านเพิ่มเติม :
- “ข้าวหอมมะลิ” เกิดจากนาภาคกลาง แต่ไปเติบโตไกลถึงทุ่งกุลาร้องไห้
- ตำข้าวกล้อง ได้ข้าวซ้อมมือ เหตุใดจึงเรียก “ข้าวซ้อมมือ” ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุวิทย์ ธีรศาศวัต. ประวัติศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตร. สำนักพิมพ์มติชน, 2548.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2564