รำลึกอดีต 3 สวนที่จตุจักร กับเกร็ดของ สวนจตุจักร-สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์-สวนรถไฟ

ภาพมุมสูง ตลาดนัด จตุจักร ไม่ไกลจาก สวนจตุจักร สวนสาธารณะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และ สวนรถไฟ
ภาพมุมสูงของ ตลาดนัดจตุจักร ถ่ายเมื่อ 9 พฤษภาคม 2020 ภาพโดย MLADEN ANTONOV / AFP

สวนจตุจักร เป็นสวนสาธารณะอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร ทางตอนเหนือ ด้วยถนนพหลโยธิน ถนนวิภาวดีรังสิต และถนนกําแพงเพชร 3 เริ่มตั้งแต่ปี 2518 การรถไฟแห่งประเทศไทย น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน 100 ไร่ เพื่อสร้างสวนสาธารณะตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 4 รอบ 48 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2518

วันที่ 8 มกราคม 2519 พระราชทานนามสวนแห่งนี้ว่า “สวนจตุจักร” (ภาษาสันสกฤต หมายถึงสี่รอบ)

สวนจตุจักร เปิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2523 ส่วนที่เป็นจุดสําคัญของสวนจตุจักรคือ หอนาฬิกา นาฬิกาดอกไม้ และประติมากรรมอาเซียน 6 ประเทศ มีพื้นที่ 190 ไร่ นอกจากเป็นสวนสาธารณะแล้ว ในวันปลายสัปดาห์ยังเป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ทดแทนตลาดนัดสนามหลวง มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตลาด “J.J.” (ตลาดเจเจ)

สวนสาธารณะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ

หลังจากนั้น กรุงเทพมหานครยังดําเนินการจัดสร้าง สวนสาธารณะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ตั้งอยู่บนถนนกําแพงเพชร 2 ติดกับสวนจตุจักร และสวนวชิรเบญจทัศ สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครบ 5 รอบ วันที่ 12 สิงหาคม 2534 เปิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539

สวนแห่งนี้มีสระน้ำเป็นอักษร S และ ส อักษรตัวแรกในพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย มีลานบัวเป็นศูนย์กลางล้อมรอบด้วยสวนพฤกษศาสตร์ที่รวบรวมสายพันธุ์ของพรรณไม้หลายชนิด เช่น ลีลาวดี (ลั่นทม) ชบา กล้วย ทั้งยังมีสระบัว และไม้มงคลพระราชทานประจําจังหวัดครบทุกจังหวัดบนพื้นที่แผนที่ประเทศไทย และเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานครด้วย

สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)

สวนหนึ่งที่อยู่บริเวณเดียวกัน คือสวนวชิรเบญจทัศ หรือ สวนรถไฟ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ เดิมเป็นสนามกอล์ฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย สร้างขึ้นเป็นสวนสาธารณะวชิรเบญจทัศ ตามมติของคณะรัฐมนตรี สมัยที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2545 วันคล้ายวันพระราชสมภพ พระชนมายุครบ 50 พรรษา

มีพื้นที่ 375 ไร่ อยู่ในความดูแลทั้งกรุงเทพมหานครและการรถไฟแห่งประเทศไทย สวนรถไฟ เป็นที่นิยมของบรรดานักขี่จักรยาน มีช่องให้ขี่จักรยานเฉพาะรอบสวน ทั้งยังมีจักรยานให้เช่าหลายแบบ ราคาคันละ 20-60 บาทต่อวัน (เหมือนเคยมีที่สนามหลวงเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ที่สนามหลวงเป็นของเอกชน มีอาคารจัดแสดงและเพาะเลี้ยงผีเสื้อ แมลงหลายชนิด บนพื้นที่ 1 ไร่ โดยจัดภูมิทัศน์แบบธรรมชาติ มีพรรณไม้นานาชนิดและบ่อน้ำ ลําธาร น้ำตก ขนาดเล็ก และพืชพรรณอาหารของผีเสื้อ คือ ดอกไม้ ภายในตึกจัดเป็นนิทรรศการแสดงเรื่องน่ารู้เรื่องผีเสื้อ เปิดให้เข้าชมไม่เสียค่าบริการทุกวันอังคารถึงวันอาทิตย์ เวลา 08.30-16.30 น.

สวนสาธารณะทั้งสามแห่งนี้ เฉพาะในวัน 6 หยุดสุดสัปดาห์เป็นที่ออกกําลังกายและพักผ่อนทั้งครอบครัวของชาวกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ไปออกกําลังกายตั้งแต่เช้ามืด เตรียมอาหารไปรับประทานมื้อเช้า แล้วพักผ่อน

ในสวนจตุจักรยามสาย ผู้ใหญ่หรือเด็กด้วยก็ได้ออกเดินเที่ยวหาซื้อของบริเวณตลาดนัดจตุจักร เด็กอาจเช่าจักรยานขี่ออกกําลังกายขี่เล่น ซึ่งสามารถนําจักรยานไปกับตัวได้ทั้งวัน ถึงเย็น ไปเที่ยวเล่นที่พิพิธภัณฑ์เด็ก และสวนผีเสื้อที่ สวนรถไฟ และสวนสมเด็จฯ นัดหมายกันมารับประทานอาหารกลางวัน หรืออาหารเย็นก็ได้ที่ตลาดนัดจตุจักร หรือร้านอาหารใกล้เคียง…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สามสวนที่จตุจักร” โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ในมติชนสุดสัปดาห์ 10 มิถุนายน 2559 ยังคงเนื้อหาและคำศัพท์ตามต้นฉบับ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564