“ดอกป๊อปปี้” สัญลักษณ์ที่ผูกพันกับ “การเมือง” และการส่งเสริม “การทำสงคราม”

ดอกป๊อปปี้สีแดง ทหารผ่านศึก
การประกอบพิธีในวันทหารผ่านศึก ที่กรุงโคลอมโบ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2010 (AFP PHOTO / Ishara S.KODIKARA)

ปัจจุบัน ดอกป๊อปปี้สีแดง เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกใช้เพื่อรำลึกถึงทหารที่ต้องสูญเสียชีวิตในช่วงสงครามอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเครือจักรภพอังกฤษ รวมไปถึงสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร และการจำหน่ายดอกป๊อปปี้ก็ถือเป็นกิจกรรมการกุศลที่หลายฝ่ายนิยมเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อนำรายได้ไปสมทบทุนให้กับองค์กรสงเคราะห์ทหารผ่านศึก องค์กรกลางที่จะนำไปรายได้ไปบริหารในกิจการเพื่อการสงเคราะห์บรรดาทหาร เจ้าหน้าที่ และครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากศึกสงคราม รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงรูปแบบอื่นๆ

ดอกป๊อปปี้สีแดง จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความสวยงาม การเสียสละ และความเอื้อเฟื้อต่อบรรดาทหารที่ต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อป้องกันประเทศ และไม่น่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่จะทำให้ใครคนไหนต้องรู้สึกระคายเคืองต่อการใช้สัญลักษณ์ชิ้นนี้ การที่ฟีฟ่าออกประกาศห้ามไม่ให้ทีมชาติอังกฤษติดดอกป๊อปปี้บนเสื้อแข่งหลายๆ ครั้ง โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความเป็นกลางในวงการกีฬา โดยไม่เอาการเมืองมาเกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องที่หลายคนไม่เข้าใจ

การตัดสินใจของฟีฟ่ามักทำให้สื่ออังกฤษหลายฉบับออกมาโจมตีเหมือนเช่นเหตุการณ์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2010 (วันทหารผ่านศึกของอังกฤษตรงกับวันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน) กระทั่ง เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้นก็ออกมากล่าวว่า การตัดสินใจของฟีฟ่าเป็นเรื่อง “งี่เง่า” หรือเจ้าชายวิลเลียมเองก็ทรงยื่นเรื่องไปยังฟีฟ่าโดยตรงเพื่อชี้แจงว่า ดอกป๊อปปี้เป็นสัญลักษณ์สากลของการรำลึกถึงผู้จากไป โดยไม่มีนัยสื่อถึงการเมือง ศาสนา หรือการค้าแต่อย่างใด*

แต่หากมองย้อนกลับไปถึงต้นตอของการใช้ดอกป๊อปปี้เป็นสัญลัษณ์ของทหารผ่านศึก ก็น่าจะทำให้หลายคนเข้าใจได้ว่า ทำไมความกังวลของฟีฟ่า ไม่ใช่เรื่อง “งี่เง่า” อย่างที่ชาวอังกฤษบางคนกล่าวหา

การนำดอกป๊อปปี้มาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์เพื่อช่วยเหลือทหารผ่านศึกมีต้นตอมาจากบทกลอนชิ้นหนึ่งชื่อว่า “In Flanders Fields” ที่แต่งโดย พ.ท.จอห์น แมคเคร (Lieutenant Colonel John McCrae) แพทย์ทหารชาวแคนาดา ที่ได้แรงบันดาลใจจากการเห็นทุ่งแฟลนเดอร์สเต็มไปด้วยดอกป๊อปปี้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 1915 ระหว่างร่วมพิธีศพของสหายศึกในการรบที่เบลเยียม

ซากศพของทหารฝรั่งเศสที่รอการฝังในสุสานช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (AFP PHOTO / ARCHIVES)

เขาจึงนำเรื่องราวของดอกป๊อปปี้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความตายและการกำเนิดชีวิตใหม่ มาเชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางสงครามที่เขาต้องเผชิญในขณะนั้น ท่อนแรกของบทกลอนมีความว่า

“In Flanders fields the poppies blow

Between the crosses, row on row,

That mark out place; and in the sky

The larks, still bravely singing, fly

Scarce heard amid the guns below.”

ผู้เขียนไม่ใช่กวีจึงไม่อาจแปลออกมาเป็นบทกลอนได้ จึงขออนุญาตถอดความเป็นไทยตรงๆ ว่า

[ในทุ่งแฟลนเดอร์ส ดอกป๊อปปี้พลิ้วไหว

ท่ามกลางกางเขนแถวแล้วแถวเล่า

วางแนวที่ทาง และบนท้องฟ้า

นกน้อยยังคงกู่ร้องอย่างแกล้วกล้า

โดยแทบไม่ได้ยินเสียงปืนที่อยู่เบื้องล่าง]

หากบทกลอนจบลงเพียงเท่านี้ มันก็จะสื่อถึงแต่ความสวยงามตามธรรมชาติ และสรรพสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้แยแสกับความขัดแย้งของมนุษย์ และพอจะใช้สื่อความถึงสันติภาพได้ แต่กลอนไม่ได้จบแค่นั้น ยังมีความต่ออีกสองบทว่า

We are the Dead. Short days ago

We lived, felt dawn, saw sunset glow,

Loved and were loved, and now we lie

In Flanders fields.

Take up our quarrel with the foe:

To you from failing hands we throw

The torch; be yours to hold it high.

If ye break faith with us who die

We shall not sleep, though poppies grow

In Flanders fields.”

[เราคือผู้ตาย เมื่อไม่กี่วันก่อน

เราเคยอยู่ ได้รู้สึกถึงยามเช้า เห็นตะวันฉาย

ได้รัก และถูกรัก และตอนนี้เราทอดกาย

บนทุ่งแฟลนเดอร์ส

จงสื่อความโกรธแค้นของเราไปถึงศัตรู

จากมือที่กำลังละวาง เราขอโยน

คบเพลิง ขอให้ท่านถือมันให้สูงเด่น

หากท่านเสียความศรัทธาที่มีร่วมกับเราผู้สิ้นชีพ

เราจะไม่ยอมหลับไหล แม้ดอกป๊อปปี้จะเติบโต

บนทุ่งแฟลนเดอร์ส]

สองบทหลังชัดเจนว่าผู้ประพันธ์ต้องการกระตุ้นให้ผู้ฟังลุกขึ้นสู้ และดำเนินสงครามต่อไป เพื่อคนที่ตายไปแล้ว หาไม่แล้ว พวกเขาจะนอนตายตาไม่หลับ ซึ่งมองจังหวะเวลาที่เขาแต่งขึ้นก็พอจะเข้าใจได้ว่า ในขณะนั้นยังอยู่ในช่วงต้นของสงคราม กองทัพยังต้องการกำลังอีกมาก และผู้คนก็ยังไม่รู้ว่า ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนร่วมชาติจะต้องสละชีวิตกันอีกเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือไฟที่จะสู้รบของพวกเขายังลุกโชน แม้จะเริ่มเห็นคนใกล้ตัวเสียชีวิตไปบ้างแล้ว

บทประพันธ์ของแมคเคร สร้างความประทับใจให้กับมอยนา ไมเคิล (Moina Michael) นักวิชาการชาวอเมริกันที่ได้เห็นบทประพันธ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 1918 ซึ่งสงครามกำลังจะสิ้นสุดด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร และเธอก็ได้แต่งกลอนขึ้นมาตอบรับแมคเครว่า “เรารับคบเพลิงต่อจากท่าน” และ “รักษาศรัทธาที่มีร่วมกัน” จนสุดท้ายได้รับชัยชนะ และความตายของบรรดาทหารกล้าไม่ได้สูญเปล่า

และเป็นไมเคิล ที่รณรงค์การใช้ดอกป๊อปปี้เป็นสัญลักษณ์รำลึกถึงทหารผ่านศึกที่เสียชีวิตจนได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการรณรงค์ของเธอ มีขึ้นในเงื่อนไขที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้คว้าชัยชนะ ทำให้ เจมส์ ฟอกซ์ (James Fox)  นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์มองว่า พฤติการณ์โดยรวมสื่อนัยให้เห็นว่า การยอมสละชีวิตของทหาร “เพื่อชัยชนะ” เป็นสิ่งที่เหมาะสม ถือเป็นเหตุอันสมควร เห็นได้จากบทกลอนของเธอเองที่แม้ตอนนี้จะเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “We Shall Keep the Faith” (เราจะรักษาความศรัทธา) แต่ครั้งนึงผู้มีชีวิตร่วมสมัยต่างรู้มันในชื่อ “The Victory Emblem” (สัญลักษณ์แห่งชัยชนะ)

ฟอกซ์ ยังกล่าวว่าวัฒนธรรมการใช้ดอกป๊อปปี้เป็นสัญลักษณ์ของทหารผ่านศึกจะมีแต่ในกลุ่มชาติที่ได้รับชัยชนะเท่านั้น ในขณะที่ประเทศผู้แพ้ไม่มีประเทศใดใช้ดอกป๊อปปี้เป็นสัญลักษณ์เพื่อรำลึกถึงทหารผู้สละชีพเลย ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะทหารที่สละชีพและคู่ควรกับสัญลักษณ์ดังกล่าวต้องเป็นทหารที่รบให้ถูกข้างด้วย

ดอกป๊อปปี้สีแดง ทหารผ่านศึก
ทหารศรีลังกายืนอยู่เบื้องหลังช่อดอกป๊อปปี้ระหว่างการประกอบพิธีในวันทหารผ่านศึก ที่กรุงโคลอมโบ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2009 (AFP PHOTO / Ishara S.KODIKARA)

หลังมีการตั้ง The Royal British Legion (องค์กรการกุศลเพื่อสงเคราะห์ทหารผ่านศึกของอังกฤษ) ในปี 1921 ประกอบกับการทำให้ดอกป๊อปปี้เป็นสัญลักษณ์ทางการกุศลเพื่อช่วยเหลือทหารผ่านศึก การจำหน่ายดอกป๊อปปี้ของจากองค์กรก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นเป็นลำดับ จาก 578,188 ปอนด์ ในปี 1938 เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 รายได้ก็เพิ่มเป็นราว 20-21 ล้านปอนด์ ขณะที่ในช่วงสงครามกับอัฟกานิสถานและอิรักรายได้จากการขายดอกป๊อปปี้ได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 40 ล้านปอนด์

ดอกป๊อปปี้จึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงความขัดแย้งที่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับอย่างเช่นสงครามกับอิรัก หรืออัฟกานิสถาน ชาวอังกฤษจึงหันมาตั้งคำถามกับบทบาททางการเมืองของ “ดอกป๊อปปี้” กันมากขึ้น บ้างก็กล่าวว่า มันกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกใช้เพื่อสร้างความยอมรับในสงครามที่ไม่มีชอบธรรม ซึ่งกองทัพอังกฤษเข้าไปเกี่ยวข้องในระยะหลังด้วย

วันที่เราควรว่ากันด้วยเรื่องสันติภาพ และการรำลึกมันได้กลายเป็นการลั่นกลองเพื่อหาเสียงสนับสนุนการทำสงครามในปัจจุบัน การรณรงค์ในปีนี้ถึงกับมีการเปิดตัวราวกับงานแสดงทางธุรกิจ ส่วนความสยดสยองและความไร้ประโยชน์ของการทำสงครามกลับถูกหลงลืม หรือละเลย” กลุ่มทหารผ่านศึกจากสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือกล่าววิจารณ์การรณรงค์เพื่อจำหน่ายดอกป๊อปปี้ประจำปี เมื่อปี 2010

กระแสตีกลับการใช้ดอกป๊อปปี้ในอังกฤษเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในวงการกีฬา เช่นแฟนบอลของเซลติกจากสก็อตแลนด์กลุ่มหนึ่งที่ออกมาประท้วงในนัดที่ทำการแข่งขันกับอเบอร์ดีน ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2010 ต่อการตัดสินใจของสโมสรที่ให้นักฟุตบอลติดดอกป๊อปปี้บนชุดแข่ง โดยชี้ว่า กองทัพบริเตนไม่ใช่วีรบุรุษของพวกเขา และการไปข้องเกี่ยวกับความขัดแย้งหลายๆ ครั้งของกองทัพก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรค่าแก่การรำลึกถึง

เจมส์ แมคคลีน มิดฟิลด์ทีมเวสต์บรอมวิชอัลเบียน ในนัดที่ลงแข่งกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ซึ่งเขาปฏิเสธที่จะติดดอกป๊อปปี้บนเสื้อแข่ง (AFP PHOTO / OLI SCARFF)

เจมส์ แมคคลีน (James McClean) นักฟุตบอลระดับพรีเมียร์ลีกของทีมเวสต์บรอมวิชอัลเบียน เป็นอีกคนที่ต่อต้านการใช้ดอกป๊อปปี้ เขาปฏิเสธที่จะติดดอกป๊อปปี้บนเสื้อแข่งมาแล้วหลายครั้งจนถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก และเป็นเหตุที่ทำให้เขาถูกข่มขู่ปองร้ายมาแล้ว

แมคคลีน กล่าวว่า เขาให้การเคารพผู้ที่ยอมสละชีวิตในสงครามโลกทั้งสองครั้งอย่างเต็มใจ “แต่ดอกป๊อปปี้ถูกใช้รำลึกถึงเหยื่อจากความขัดแย้งอื่นๆ ด้วยมาตั้งแต่ปี 1945 และนี่ก็เป็นจุดเริ่มของปัญหาสำหรับผม

“สำหรับชาวบ้านที่มาจากไอร์แลนด์เหนืออย่างผม โดยเฉพาะคนที่มาจากแดร์รี (Derry) สถานที่เกิดเหตุสังหารหมู่บลัดดีซันเดย์** เมื่อปี 1972 ดอกป๊อปปี้จึงกลายเป็นสิ่งที่สื่อถึงสิ่งอื่นที่ต่างออกไปมาก”

แมคคลีน กล่าวว่า การสวมดอกป๊อปปี้สำหรับเขาไม่ต่างจากการลบหลู่ “ผู้บริสุทธิ์” ที่ต้องเสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงที่กองทัพอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เขายืนยันว่าเขาไม่ได้ดูหมิ่นบรรดาทหารที่ต้องเสียชีวิตในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง ซึ่งมีชาวไอร์แลนด์เหนือ-ไอร์แลนด์ร่วมรบด้วย อย่างที่หลายฝ่ายกล่าวหา

ดอกป๊อปปี้สีแดง ถูกนำมาแสดงก่อนการแข่งขันระหว่างลิเวอร์พูลและวัตฟอร์ด ในสนามแอนฟิลด์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2016 (AFP PHOTO / PAUL ELLIS )

กรณีของแมคคลีน แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “ดอกป๊อปปี้” กลายเป็นมาเป็นปมความขัดแย้งทางการเมืองเสียเองระหว่างฝ่ายที่ต่อต้านสงคราม กับฝ่ายที่สนับสนุนกองทัพอย่างสุดขั้วโดยใช้ดอกป๊อปปี้เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความจงรักภักดีต่อกองทัพ และที่สำคัญก็คือมันคือตัวอย่างหนึ่งที่ดอกป๊อปปี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการทำสงครามในปัจจุบัน แต่ผู้กล่าวอ้างมักไม่พูดถึงความขัดแย้งในปัจจุบัน กลับไปอ้างสงครามในอดีตที่คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับมาโจมตีคนที่ต่อต้านสัญลักษณ์นี้แทน

ทั้งนี้ ผู้เขียนมิได้มีเจตนาต่อต้านการใช้ดอกป๊อปปี้เป็นสัญลักษณ์ของทหารผ่านศึกแต่ประการใด เพียงแต่ต้องการให้ผู้คนทั่วไปเข้าใจความเป็นมา และพัฒนาการจนกลายมาเป็นปมความขัดแย้งมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่ต่อต้านส่วนใหญ่แล้วมีเหตุผล ไม่ได้ “งี่เง่า” อย่างที่หลายคนกล่าวหา แต่เป็นเพราะความผูกพันอย่างแนบแน่นระหว่างดอกป๊อปปี้กับกองทัพ (ในกรณีนี้คือกองทัพอังกฤษ) และการส่งเสริมการทำสงคราม ยิ่งกองทัพเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมากโดยเฉพาะความขัดแย้งที่ขาดความชอบธรรมเหมือนเช่นสงครามในตะวันกลาง อัฟกานิสถาน หรือการปราบปรามผู้ชุมนุมในไอร์แลนด์เหนือ ก็ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่ดอกป๊อปปี้จะถูกต่อต้านจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่กองทัพเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนั้นๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ :

*ภายหลังฟีฟ่ายอมให้อังกฤษสามารถติดดอกป๊อปปี้บนปลอกแขนได้

** Bloody Sunday เป็นเหตุการณ์ที่ทหารอังกฤษก่อเหตุสังหารหมู่ผู้ประท้วงต่อต้านการคุมขังผู้ต้องสงสัยที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่ม IRA โดยไม่มีการไต่สวน ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้งหมดล้วนปราศจากอาวุธ

อ้างอิง :

Fox, James. “Poppy Politics: Remembrance of Things Present”, in Cultural Heritage Ethics: Between Theory and Practice. Open Book Publishers, 2014. pp.23-28

“Poppy Appeal’s Original Aims Being Subverted, Veterans Complain”. The Guardian. <https://www.theguardian.com/uk/2010/nov/05/poppy-appeal-subverted-veterans-complain>

“Wigan Player James McClean Explains Why He Will Not Wear a Poppy”. Belfast Telegraph. <http://www.belfasttelegraph.co.uk/news/northern-ireland/wigan-player-james-mcclean-explains-why-he-will-not-wear-a-poppy-30730556.html>

“Celtic Ban Poppy Hate Yobs”. The Scottish Sun. <https://www.thescottishsun.co.uk/archives/news/42859/celtic-ban-poppy-hate-yobs/>


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560