ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
Bloody Sunday คือเหตุการณ์นองเลือดที่ทหารรัฐบาลสหราชอาณาจักรใช้กำลังทหารเกินกว่าเหตุในการปะทะกับผู้ชุมนุมชาวไอริชผู้บริสุทธิ์และปราศจากอาวุธ ทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน นับเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจชาวไอริชอย่างมาก
การชุมนุมของชาวไอริสเริ่มขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1972 ที่เมือง Londonderry ในไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) ชาวไอริสที่ส่วนใหญ่นับถือนิกายคาทอลิก โดยสมาคมสิทธิมนุษยชนชาวไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland Civil Rights Association) ออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่ใช้อำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจับกุมประชาชนได้โดยปราศจากข้อหา โดยมุ่งไปเพื่อกวาดล้างขบวนการ IRA หรือ Irish Republican Army ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงจุดประสงค์เพื่อปลดแอกไอร์แลนด์เหนือออกจากสหราชอาณาจักร
การชุมนุมครั้งนี้แม้จะเป็นการชุมนุมโดยสงบแต่ก็ผิดกฎหมาย ผู้ชุมนุมนับหมื่นคนเดินประท้วงเรื่อยมาถึง Guildhall Square ในเขต Bogside ซึ่งมีทหารคอยควบคุมอยู่ตลอดการชุมนุม ผู้ชุมนุมได้เผชิญหน้ากับทหารเนื่องจากทหารได้ตั้งเครื่องกีดขวางสกัดกั้นการเดินขบวน ฝ่ายผู้ชุมนุมเริ่มขว้างปาสิ่งของ เช่น หิน เหล็ก ขวด เศษแก้ว และเก้าอี้ ใส่แนวของทหาร
ทหารจึงตอบโต้ด้วยการยิงกระสุนยาง ปืนแรงดันน้ำ และแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม โดยทหารได้รับคำสั่งให้สามารถจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วนได้หากการชุมนุมเริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
การยิงปืนด้วยกระสุนจริงนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาถัดมา ก่อให้เกิดความวุ่นวายโกลาหลนานกว่า 25 นาที ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ให้ข้อมูลว่าทหารยิงใส่ผู้ชุมนุมที่ไร้อาวุธรวมถึงผู้ที่ยกมือยอมแพ้แล้วอีกด้วย ผู้ชุมนุม 13 คนเสียชีวิตทันที และมีผู้บาดเจ็บอีก 14 คน ซึ่งต่อมาภายหลังเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 คน เหตุการณ์นี้ถูกมองว่าเป็นการ “ฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์” เพราะไม่พบอาวุธอยู่ใกล้บริเวณศพผู้เสียชีวิตเลย แต่ฝ่ายทหารก็อ้างว่าฝ่ายผู้ชุมนุมเปิดฉากยิงก่อน ซึ่งในช่วงเวลาต่อมารัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงว่าใครหรือฝ่ายไหนเป็นผู้เริ่มยิงก่อน
ในปี ค.ศ. 1998 นายกรัฐมนตรี Tony Blair สั่งรื้อคดีมาสอบสวนใหม่ โดยมี Lord Saville เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ ตรวจเอกสารกว่า 5,000 หน้าของ Saville แล้วสรุปว่า ทหารเป็นฝ่ายเปิดฉากยิ่งใส่ผู้ชุมนุมก่อน ทั้งยังไม่ได้แจ้งเตือนผู้ชุมนุมก่อนว่าจะใช้กระสุนจริง อีกทั้งการกระทำของทหารก็เกินกว่าเหตุ เพราะการขว้างปาสิ่งของของผู้ชุมนุมนั้นไม่อาจเป็นอันตรายต่อทหารหรือเป็นเหตุผลสำคัญมากพอที่จะให้ทหารใช้กำลังกับผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงเช่นนี้
ใน ค.ศ. 2010 นายกรัฐมนตรี David Cameron กล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลางรัฐสภา และในปีถัดมารัฐบาลจึงดำเนินการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยแก่ญาติผู้เสียชีวิต
อ่านเพิ่มเติม :
- เผยเรื่องจริง “คนรัก” ของเฟรดดี้ เมอร์คิวรี วง Queen ต่างจากหนัง Bohemian Rhapsody
- “ขี้วัว” (bullshit) กลายเป็นแสลงสากลที่แพร่หลายทั่วโลกได้อย่างไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
Encyclopedia Britannica. (2019). Bloody Sunday, from www.britannica.com/event/Bloody-Sunday-Northern-Ireland-1972
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2562