ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมผู้มักมากด้วยกาม ลอบสวาทสัมพันธ์กับอนุชาพระนารายณ์

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระนารายณ์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม)
พระมหากษัตริยาธิราชแห่งกรุงสยาม (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) โดย De L’Armessin ปี ค.ศ. 1688 (พ.ศ. 2231)

ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระสนมผู้มักมากด้วยกาม ลอบสวาทสัมพันธ์กับอนุชาพระนารายณ์

ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) เป็นพระสนมในสมเด็จพระนารายณ์ และยังมีฐานะเป็นน้องสาว พระเพทราชา พระสนมผู้นี้ก่อเรื่องทั้งในและนอกพระราชวัง จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ต้องพระราชอาญาถูกจับให้เสือกิน!

บาทหลวง เดอะ แบส ชาวฝรั่งเศสผู้เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้บันทึกไว้ว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นคนมักมากในกาม เมื่ออยู่ในพระราชวังหรือฝ่ายในก็ไม่มีโอกาสที่จะ “ส้องเสพกามกรีฑาให้สมกับความหื่นกระหาย” พระสนมจึงคิดหาหนทางออกจากพระราชวังไปข้างนอก เพื่อสนองตัณหาของตน

เนื่องด้วยท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์ พระสนมจึงกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตออกจากพระราชวังเป็นบางครั้งบางคราว เพื่อไปรักษาบาดแผลที่ขากับแพทย์ชาวฮอลันดา นามว่า เดเนียล ท้าวศรีจุฬาลักษณ์กราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ว่า บาดแผลค่อนข้างฉกรรจ์ ต้องใช้เวลารักษานาน แต่ในความจริงแล้วพระสนมกับแพทย์สมรู้ร่วมคิดกัน อ้างใช้เวลารักษานาน เพื่อให้พระสนมมีโอกาสออกมาข้างนอกได้บ่อยครั้งมากขึ้น

เมื่อออกมาข้างนอก ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ก็สำเริงสำราญกับเสรีภาพที่ได้รับ แต่ก็พยายามหลบสายตาชาวสยาม โดยมักไปมาหาสู่กับพวกโปรตุเกส ซึ่งสนิทสนมกันเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นคนไม่ค่อยระมัดระวังตัวนัก เรื่องอื้อฉาวของพระสนมจึงหลุดลอดออกมาให้ตกเป็นขี้ปากชาวบ้านไปทั่ว “ถึงขนาดราษฎรได้แต่งคำขับร้องพากันร้องกล่าวเกริ่นความอัปรีย์ของนางให้เกร่อไป”

บาทหลวง เดอะ แบส ไม่ได้อธิบายรายละเอียดเรื่องอื้อฉาวนี้ แต่เข้าใจได้ว่าอาจจะเป็นเรื่องใหญ่โตมากพอสมควร และคงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส้องเสพกามกรีฑา” เป็นแน่

เมื่อนั้น สมเด็จพระนารายณ์จึงเริ่มระแคะระคายในตัวท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมจึงกราบทูลว่า ตนถูกใส่ร้ายอย่างไม่เป็นธรรม และพยายามเอาพระทัยสมเด็จพระนารายณ์ เพื่อให้รอดพ้นจากข้อครหา ที่สุด พระสนมก็กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ไป

พระสนมยังกราบทูลขอให้ทรงลงพระราชอาญาผู้ที่บังอาจใส่ร้าย หรือผู้ที่ขับร้องเพลงจนทำให้เสื่อมเสียเกียรติ แต่สมเด็จพระนารายณ์ก็ไม่ได้ทรงทำตามคำขอนั้น และเพื่อระงับไม่ให้เกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นอีก จึงไม่โปรดให้พระสนมออกไปข้างนอกพระราชวังอีก ส่วนบาดแผลที่ขาก็ให้นางกำนัลช่วยรักษาพยาบาลกันไป

แต่ด้วยเป็นคนที่ “มากด้วยกามคุณ” มีหรือที่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์จะไม่หาหนทาง ส้องเสพกามกรีฑาให้สมกับความหื่นกระหาย” พระสนมจึงมองหาผู้ชายที่สามารถเข้ามาถึงเขตพระราชฐานชั้นใน และชายผู้นั้นก็คือ เจ้าฟ้าน้อย พระราชอนุชา (น้องชาย) ในสมเด็จพระนารายณ์

บาทหลวง เดอะ แบส บันทึกไว้ว่า “โดยที่เป็นคนเจ้าเล่ห์เจ้ากลและแคล่วคล่องว่องไว กอปรทั้งเป็นคนมีหน้ามีตาอยู่ในที่นั้น จึงหาทางที่จะพูดจากับเจ้าชายให้เธอทรงพอพระทัย และจำเริญสวาทสัมพันธ์กันได้ในที่สุด การติดต่อของบุคคลทั้งสองได้ดำเนินมาเป็นการลับ ๆ ชั่วระยะหนึ่ง และลางทีเรื่องนี้จะไม่ทราบถึงพระเนตรพระกรรณเลย ถ้านางหญิงคนนั้นจะไม่ทรยศต่อตนเองขึ้นอย่างสะเพร่าที่สุด…” 

เหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองถูกเปิดโปง สืบเนื่องมาจาก วันหนึ่ง เจ้าฟ้าน้อยเสด็จมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งในการเข้าเฝ้าจำต้องถอดฉลองพระองค์ (เสื้อ) ไว้ด้านนอกก่อนเข้าเฝ้า ระหว่างการเข้าเฝ้านั้น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์เดินผ่านข้างห้องที่ประทับ เห็นฉลองพระองค์ของเจ้าฟ้าน้อย จึงคิดสนุกเอาฉลองพระองค์ไปซ่อนไว้ในตำหนัก เมื่อว่าถึงเวลาที่เจ้าฟ้าน้อยเสร็จจากเข้าเฝ้าแล้วไม่เห็นฉลองพระองค์ เจ้าฟ้าน้อยก็คงจะทราบในทันทีว่าใครเป็นผู้เอาไป แล้วจะได้เสด็จมายังตำหนักของพระสนม

แต่การณ์กลับเป็นเช่นนั้นไม่ เจ้าฟ้าน้อยไม่เฉลียวพระทัยเลย พระองค์และพวกข้าราชบริพารทั้งหลายตามหาฉลองพระองค์จนวุ่นวายไปทั่ว ความทราบไปถึงพระกรรณสมเด็จพระนารายณ์ ทำให้ทรงพระพิโรธเป็นอันมาก ที่มีผู้ขโมยทรัพย์อันเป็นของของพระอนุชาถึงในเขตพระราชฐาน ทรงมั่นพระทัยว่าผู้ที่ขโมยต้องเป็นข้าราชบริพารฝ่ายใน จึงทรงมีรับสั่งให้ข้าราชบริพารออกตามหา

พวกข้าราชบริพารคงมีความรู้สึกระแคะระคายสงสัยอยู่บ้าง จึงไปค้นที่ตำหนักท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นอันดับแรก กระทั่งพบฉลองพระองค์ของเจ้าฟ้าน้อย ซึ่ง “มิได้เอาใจใส่ซุกซ่อนเสียให้มิดชิดวางอยู่ ณ ที่นั้น” แล้วจึงนำความขึ้นกราบทูล

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงออกว่าราชการ

นางกำนัลในตำหนักเห็นการณ์กลับเลวร้ายลงเช่นนั้น “และความระยำตำบอนทั้งหลายคงจะแตกขึ้นเป็นแท้” จึงรีบชิงกราบทูลกล่าวโทษท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เพื่อป้องกันชีวิตของพวกตน สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระพิโรธเจ้าฟ้าน้อยและพระสนมเป็นอันมาก ทรงขุ่นพระทัยในความอกตัญญูของทั้งสอง ซึ่งพระองค์ชุบเลี้ยงมาด้วยพระเมตตา

อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่มีพระราชประสงค์วินิจฉัยเรื่องนี้ด้วยพระองค์เอง เกรงจะทรงถือเอาพระโทสจริตมาตัดสินความ ดังนั้น จึงทรงตั้งให้คณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินชำระความเรื่องนี้แทน

พระเพทราชา ในฐานะพี่ชายของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หาได้ปกป้องหรือขอพระราชทานอภัยโทษให้น้องสาวแต่ประการไม่ เสนอให้ประหารชีวิตเสียด้วยซ้ำ คณะที่ปรึกษาจึงพิพากษาให้เอาตัวพระสนมไปให้เสือกิน ส่วนเจ้าฟ้าน้อยต้องพระราชอาญาถึงประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์

แต่ กรมหลวงโยธาทิพ พระราชขนิษฐา (น้องสาว) ในสมเด็จพระนารายณ์ กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้เจ้าฟ้าน้อย ทรงให้เหตุผลว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงชุบเลี้ยงเจ้าฟ้าน้อยมาเสมือนพระราชบิดา กรมหลวงโยธาทิพเองก็ทรงบำรุงเลี้ยงดูมาเฉกเช่นเดียวกัน ดังนั้น “ขออย่าได้ทรงถือแต่พระโทสจริตโดยลงโทษเอาให้ถึงแก่ชีวิตเลย ขอเพียงให้ทรงลงทัณฑ์เสมอที่บิดาทำต่อบุตรเท่านั้นเถิด”

สมเด็จพระนารายณ์ทรงไม่อาจปฏิเสธคำขอร้องของกรมหลวงโยธาทิพได้ จึงไม่ลงพระราชอาญาถึงประหารชีวิต แต่ให้โบยด้วยหวายแทน แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระเพทราชาและพระปีย์ร่วมกันโบยเจ้าฟ้าน้อย “บุคคลทั้งสองได้ปฏิบัติตามรับสั่งอย่างเหี้ยมโหด และโบยเจ้าชายผู้น่าสงสารอย่างหนัก กระทั่งสลบแน่นิ่งไปเหมือนตายในที่นั้น แม้กระนั้นก็ยังฟื้นคืนพระชนม์ขึ้นมาได้…”

การลงพระราชอาญาโบยครั้งนี้น่าจะรุนแรงสาหัสมาก เป็นเหตุให้พระวรกาย (ร่างกาย) ของเจ้าฟ้าน้อยบวมผิดปกติ และมีอาการอ่อนเปลี้ยที่พระเพลา (ขา) มานับแต่นั้น นอกจากนี้ยังมีอาการอัมพาตที่พระชิวหา (ลิ้น) จนเป็นใบ้ พูดไม่ได้

บาทหลวง เดอะ แบส แสดงความเห็นว่า “มีลางคนอ้างว่าเธอแสร้งทำเป็นใบ้เสีย เพื่อมิให้ในหลวงทรงระแวงแคลงพระทัย…แต่กระผมยากที่จะเชื่อได้ว่าเธอจะแกล้งทำเป็นใบ้อยู่ได้ช้านานถึงห้าปี โดยไม่เผลอพูดออกมาสักคำเช่นนั้น ถ้าไม่เป็นเพราะอาการประชวรมีส่วนทำให้ลิ้นแข็งไปแล้ว ก็ต้องนับว่าหาตัวอย่างคนใจแข็งถึงเท่านั้นได้ยากนัก…”

แต่เดิมนั้น เจ้าฟ้าน้อยเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มาก ถึงขั้นที่จะให้ทรงอภิเษกสมรสกับกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์ นั่นหมายความว่า เจ้าฟ้าน้อยถูกวางให้เป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์เลยทีเดียว แต่การณ์กลับพลิกผันเมื่อเกิดเรื่องอื้อฉาวนี้ขึ้นเสียก่อน ที่สุด เจ้าฟ้าน้อยถูกพระเพทราชาสำเร็จโทษในช่วงผลัดแผ่นดิน

สมเด็จพระนารายณ์ทรงร่วมสังเกตการณ์สุริยุปราคาร่วมกับคณะบาทหลวงฝรั่งเศสและขุนนางไทย ที่พระราชวัง เมืองลพบุรี เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2228 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2538)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บาทหลวง เดอะ แบส, สันต์ ท. โกมลบุตร ผู้แปล. (2550). บันทึกความทรงจำของ บาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โสภณการพิมพ์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2564