อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ (US Capitol) ได้ผู้ชนะประกวดออกแบบที่ไม่เคยเรียนสถาปัตย์

อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ
ภาพถ่ายมุมสูงจาก Washington Monument แสดงให้เห็นฝูงชนหลายพันคนรวมตัวหน้าอาคาร "รัฐสภา" สหรัฐฯ (US Capitol) ในเหตุการณ์ Million Man March เมื่อ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1995 (ภาพจาก TIM SLOAN / AFP)

อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า United States Capitol ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทั้งในเชิงกายภาพและมีนัยในทางการเมืองตั้งตระหง่านในกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ออกแบบโดยวิลเลียม ธอร์นตัน (William Thornton) ซึ่งไม่เคยเรียนสถาปัตยกรรม (ในหลักสูตรแบบเป็นกิจลักษณะ) แถมแบบที่เขาส่งไปประกวดยังไปถึงปลายทางหลังสิ้นสุดกำหนดส่งผลงานแล้วหลายเดือน แต่แบบของธอร์นตัน กลับได้ใจคณะกรรมการจนได้รับเลือกมาใช้งาน

อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้มีรากฐานมาจากประกวดแบบในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีค.ศ. 1792 มีกำหนดส่งแบบเข้าประกวดเป็นเวลา 4 เดือน ผู้ที่ได้รับเลือกจะได้เงินรางวัล 500 ดอลลาร์สหรัฐ มีผู้ส่งแบบเข้าประกวดไม่ต่ำกว่าสิบราย แต่ปรากฏว่าแบบที่ส่งมายังไม่ถูกใจคณะกรรมการ สุดท้ายแล้วแบบที่ได้รับเลือกคือแบบจากฝีมือของวิลเลียม ธอร์นตัน ซึ่งนักวิชาการบางรายเชื่อกันตามที่ว่ากันว่า แบบที่เขาส่งได้รับหลังกำหนดส่งปิดลงแล้วหลายเดือน

วิลเลียม ธอร์นตัน เกิดที่หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน (British Virgin Islands) เมื่อค.ศ. 1759 ศึกษาด้านเภสัชที่มหาวิทยาลัยแห่ง Edinburgh (บางแห่งบอกคร่าวๆ ว่าศึกษาด้านการแพทย์) และได้รับปริญญาด้านการแพทย์ (M.D.) จากมหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน ในสกอตแลนด์ เมื่อปี 1784

แม้ว่าเขาไม่เคยศึกษาด้านออกแบบหรือสถาปัตยกรรมแบบเป็นทางการ แต่โดยพื้นฐานแล้วเขาสนใจเรื่องการออกแบบมาตั้งแต่เด็ก มีหลักฐานเป็นภาพวาดสเก็ตช์ปราสาทและภาพวาดวิวทิวทัศน์ขณะท่องเที่ยว

ภาพวาด วิลเลียม ธอร์นตัน โดย Gilbert Stuart เมื่อค.ศ. 1804 National Gallery of Art บริจาคไฟล์ภาพเป็นสาธารณะ

ข้อมูลเกี่ยวกับธอร์นตัน ที่ปรากฏในหอสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ภายหลังเขาเดินทางกลับอังกฤษเมื่อปลายปี 1784 ธอร์นตัน ไม่ได้เดินในเส้นทางเกี่ยวกับการแพทย์ควบคู่กับความสนใจในด้านการออกแบบและงานเชิงศิลป์ ซึ่งในทางการแพทย์และศิลปศาสตร์ในศตวรรษที่ 18 ล้วนสนใจในกายวิภาคซึ่งพอไปด้วยกันได้ แต่เขาเลือกเดินทางกลับถิ่นกำเนิด โดยธอร์นตัน หวังว่าจะได้พบมารดาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วัยเด็ก

จากนั้นจึงอพยพมาในสหรัฐอเมริกาในปี 1787 (บางแห่งบอกว่าปี 1786)

เมื่อเกิดการประกวดออกแบบอาคาร US Capital เขายังอยู่ที่ Tartola ในหมู่เกาะบริติช เวอร์จินพอดี เมื่อได้ข่าว ธอร์นตัน จึงส่งแบบไปร่วมด้วย ผลงานของเขาได้รับหลังกำหนดส่งผลงานปิดลงหลายเดือน และยังเป็นผลงานจากมือสมัครเล่นในสายงานแบบ “สถาปนิก” แต่ด้วยผลงานที่ส่งมาถึงก่อนหน้านี้ยังไม่ถูกใจ ยังไม่มีแบบใดถูกเลือก ขณะที่การออกแบบของเขาได้รับความชื่นชอบจากคนใหญ่คนโตในวอชิงตัน แบบของเขาจึงได้รับเลือกจากประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน เมื่อ 5 เมษายน 1793

ว่ากันว่า แบบของธอร์นตัน ได้รับแรงบันดาลใจจากส่วนหนึ่งของโครงสร้างด้านหน้าทางฝั่งตะวันออกของพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ร (ซึ่งเป็นอดีตวังและกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ในภายหลัง) และมีเค้าของวิหารแบบโรมันในอิตาลี เห็นได้ชัดจากแบบในส่วนหน้าของอาคาร Capital

อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ
ด้านหน้า อาคาร US Capitol ถ่ายเมื่อ 29 ธ.ค. 2020 ภาพจาก Eric BARADAT / AFP
ภาพวาด Patheon ในโรม เมื่อ 1836 โดย Jakob Alt ไฟล์ Public Domain

เมื่อได้รับความเห็นชอบ แบบของเขาถูกส่งมอบต่อให้สถาปนิกเชื้อสายฝรั่งเศสนามว่า Étienne Sulpice Hallet (ซึ่งส่งแบบมาร่วมประกวดด้วย) และ James Hoban (ซึ่งส่งผลงานออกแบบทำเนียบขาวด้วย) ในกระบวนการต่อมามีบันทึกว่า Hallet เป็นผู้วางรายละเอียดภายในใหม่แทบทั้งหมด นอกจากนี้ ยังตัดหลังคาทรงกลมด้านบนที่ปรากฏในแบบร่างออก

ด้วยรางวัลชนะการประกวด มักมีคนมาขอไอเดียสำหรับอาคารสาธารณะและแหล่งที่อยู่อาศัย ธอร์นตัน ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมาธิการแห่งเมืองวอชิงตัน และออกแบบที่พักอาศัยอีกหลายแห่งในเมือง

ในปี 1802 ประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอร์สัน แต่งตั้งธอร์นตัน ให้เป็นผู้จัดการดูแลสำนักงานด้านสิทธิบัตร (Patent Office) และดำรงตำแหน่งไปจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1828

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Dr. William Thornton”. ARCHITECTS OF THE CAPITOL. Online. Access 7 JAN 2021. <https://www.aoc.gov/about-us/history/architects-of-the-capitol/dr-william-thornton>

William Thornton (1759-1828). Library of Congress. Access 7 JAN 2021. <https://www.loc.gov/rr/print/adecenter/essays/B-Thornton.html>

https://www.britannica.com/biography/William-Thornton


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2564