งานเลี้ยงดังในประวัติศาสตร์จีน “หงเหมิน” งานเลี้ยงลอบสังหาร

จิตรกรรมฝาผนัง งานเลี้ยง จีน
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงบรรยากาศงานเลี้ยงในอดีต ที่ศาลาต่าหู สุสานราชวงศ์ฮั่น ที่เจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน

“งานเลี้ยงหงเหมิน” คำพูดติดปากของคนจีนเพื่อเตือนให้ระวังการทรยศหักหลัง เป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์จีน เมื่อ “เซี่ยงหยี่” (บ้างเรียกว่า เซี่ยงหวี่, ฌ้อปาอ๋อง ก็มี) ส่งเทียบเชิญ “หลิวปัง” (เล่าปัง) ไปร่วมงานเพื่อหลอกฆ่ากลางงานเลี้ยง แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็สร้างความหวาดหวั่นกับผู้คนในงาน 

สาเหตุที่ทำให้เกิด งานเลี้ยงหงเหมิน มีลำดับเรื่องราวดังนี้

เริ่มการปกครองสมัยราชวงศ์ฉินไม่คำนึงถึงประโยชน์ของราษฎร จึงขูดรีดราษฎรอย่างทารุณ ปลายราชวงศ์ฉินจึงเกิดกบฏชาวนา ซึ่งกองกำลังของเซี่ยงหยี่และหลิวปังเป็น 2 กองกำลังหลักในการทำสงครามต่อต้านราชวงศ์ฉิน

เซี่ยงหยี่เป็นขุนพลฝีมือดี ชนะศึกสงครามมาตลอด นิสัยกล้าหาญ เย่อหยิ่ง แข็งกร้าว ไม่ยอมฟังความเห็นคนอื่น ส่วนหลิวปังเป็นขุนนางเล็กๆ นิสัยเจ้าเล่ห์ ฉลาดใช้คน และขี้ระแวง ทั้งสองมีข้อตกลงกันว่า “ใครเข้ายึดเสี้ยนหยาง [เมืองหลวงราชวงศ์ฉิน] ได้ก่อน ผู้นั้นได้ครองอาณาจักรฉินทั้งหมด”

เซี่ยงหยี่สู้รบกับกองทัพหลวงของราชวงศ์ฉินอย่างดุเดือดที่เมืองจวี้ลู่ (ปัจจุบันคือเมืองผิงเซี่ยง มณฑลเหอเป่ย) ทัพหลวงมีกำลังพลกว่า 200,000 นาย ส่วนทัพของเซี่ยงหยี่มีเพียง 20,000 กว่านาย แต่ก็สามารถมีชัยชนะเหนือกองทัพราชวงศ์ฉินอย่างเด็ดขาด ราชสำนักไม่มีกำลังทหารจะต่อต้านฝ่ายกบฏอีก ทหารทั้งหลายเห็นความกล้าหาญของเซี่ยงหยี่ก็พร้อมใจกันอ่อนน้อมยอมรับ ทำให้เซี่ยงหยี่มีกำลังรบมากที่สุดในเวลานั้น

ฝ่ายหลิวปังฉวยโอกาสนำกองทัพบุกเข้าไปทางตะวันตก เพื่อเข้ายึดที่ราบกวานจง (ที่ราบภาคกลางมณฑลซ่านซี ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเสี้ยนหยาง ก่อนจะเข้ายึดเมืองเสี้ยนหยางที่ว่างเปล่าไม่มีทหารเฝ้ารักษาการณ์ ได้เมืองโดยง่าย

เมื่อเข้าเมืองเสี้ยนหยางได้ หลิวปังก็ผูกมิตรกับผู้มีฝีมือ, ยกเลิกกฎหมายที่โหดเหี้ยมของราชวงศ์ฉิน, ไม่แตะต้องเงินในท้องพระคลัง, ประกาศใช้กฎหมายของตนที่เรียกว่า “บัญญัติ 3 ประการ” คือ “ฆ่าคนต้องชดใช้ชีวิต, ทำร้ายร่างกายผู้อื่น และลักขโมยล้วนมีความผิด” เรียกว่าทัพหลิวปังเข้าเมืองก็ได้ใจชาวเมืองไปเต็มๆ

ไม่นานเซี่ยงหยี่ก็ปราบกองกำลังหลักของกองทัพฉินได้อย่างราบคาบและเดินทางเข้าสู่กวนจง กองกำลังเดินทางถึงด่านหานกู่กวน พบกองทัพของหลิวปังเฝ้ารักษาการณ์อยู่แต่ไม่ยอมให้เซี่ยงหยี่เข้าเมือง เซี่ยงหยี่โกรธจัดส่งทหารเข้าโจมตีด่านหานกู่กวนทันที แล้วเดินทางต่อไปถึงเมืองหงเหมิน (ปัจจุบันคือหมู่บ้านหงเหมิน ตำบลซินเฟิง อำเภอหลินถง เมืองซีอาน มณฑลส่านซี)

ฟ่านเจิง ที่ปรึกษาของเซี่ยงหยี่เตือนเขาว่า “เดิมทีหลิวปังเป็นคนละโมบโลภมากและเจ้าชู้ แต่หลังจากที่เข้าเมืองเสี้ยนหยางมาก็ไม่แตะต้องเรื่องพวกนี้เลย เขามีความทะเยอทะยาน จะเป็นโอรสสวรรค์ ต้องกำจัดแต่เนิ่นๆ” เซี่ยงหยี่ก็ออกคำสั่งทันทีว่า ให้บุกโจมตีหลิวปังในเช้าตรู่ของวันถัดไป

แต่ เซี่ยงป๋อ อาของเซี่ยงหยี่เคยติดค้างหนี้บุญคุณ จางเหลียง (ที่ปรึกษาของหลิวปัง) ที่เคยช่วยชีวิตเขาไว้ จึงเดินทางไปแจ้งข่าวให้จางเหลียงรีบหนีไป จางเหลียงทราบเรื่องก็ตกใจ แล้วกล่าวว่าหลิวปังดีต่อเขามากในยามคับขัน หากไปจากเขาโดยไม่กล่าวลา ผู้คนจะเหยียดหยามว่าไม่มีศีลธรรม จางเหลียงจึงได้นำเรื่องราวไปบอกกับหลิวปัง

เวลานั้นกำลังพลของเซี่ยงหยี่มีถึง 400,000 คน แต่ของหลิวปังมีเพียง 100,000 คน นับว่าแตกต่างกันลิบลับ จางเหลียงบอกกับหลิวปังว่ามีเพียงเซี่ยงป๋อเท่านั้นที่ช่วยได้ หลิวปังเป็นคนฉลาด จึงให้จางเหลียงเชิญเซี่ยงป๋อมาพบ หลิวปังประจบเอาใจต่างๆ เช่น รินเหล้าให้ด้วยตนเอง, ยกลูกสาวให้เป็นสะใภ้ จนเซี่ยงป๋อรู้สึกสงสาร

หลิวปังสบโอกาสจึงอธิบายกับเซี่ยงป๋อว่า หลังจากเข้ามาในเมืองก็ไม่ได้รับเงินทองเพชรนิลจินดา เพราะรอเซี่ยงหยี่มาดูแล ส่วนทหารมาเฝ้ารักษาการณ์ด่านหานกู่กวนก็เพื่อป้องกันโจรขโมยและเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ไม่ได้ทรยศต่อเซี่ยงหยี่ ทั้งขอร้องให้เซี่ยงป๋อช่วยชี้แจงแทนตนเอง

แน่นอนว่าเซี่ยงป๋อเชื่อ และทำตามที่หลิวปังขอ

เซี่ยงป๋อกล่าวกับเซี่ยงหยี่ว่า ที่หลิวปังเข้ามาในกวนจงก่อนนั้น ก็เพื่อมาสร้างคุณูปการ หากโจมตีเขาในเวลานี้จะเป็นเรื่องที่ผิดต่อศีลธรรม ควรใช้โอกาสนี้ซื้อใจคน หลังจากเซี่ยงหยี่ฟังสิ่งที่เซี่ยงป๋อพูด ความโกรธลดลงกว่าครึ่ง และให้จัดเลี้ยงหลิวปังที่เมืองหงเหมิน หรือ “งานเลี้ยงหงเหมิน” ซึ่งฟ่านเจิงวางแผนสังหารหลิวปังในงานเลี้ยง

หลิวปังนำจางเหลียงและองครักษ์มาถึงงาน ก็แสดงท่าทีอ่อนน้อมพูดกับเซี่ยงหยี่ ปากก็อธิบายว่า อย่าได้เชื่อข่าวลือของคนต่ำทรามที่ทำให้เกิดความแตกแยก ในงานเลี้ยง เซี่ยงหยี่และเซี่ยงป๋อดื่มกินกันอย่างสนุกสนานเต็มที่ ขณะที่หลิวปังกลับอกสั่นขวัญหาย คอยระวังตัวตลอดงาน เพราะฟ่านเจิงพยายามส่งสัญญานกับเซี่ยงหยี่ครั้งแล้วครั้งเล่าให้เขาออกคำสั่งจัดการกับหลิวปัง แต่เซี่ยงหยี่ทำเป็นมองไม่เห็นบ้าง หรือเห็นก็ไม่ใส่ใจ

ฟ่านเจิงรู้ว่าเซี่ยงหยี่ล้มเลิกความคิดกำจัดหลิวปังแล้ว จึงคิดแผนสังหารหลิวปังขึ้นใหม่

เขามอบให้ เซี่ยงจวง ลูกพี่ลูกน้องของเซี่ยงหยี่เข้ามาดื่มอวยพรและแสดงการรำดาบ ระหว่างรำ เซี่ยงจวงก็หาโอกาสลอบสังหารหลิวปังไปด้วย คมดาบจึงหันไปทางหลิวปังเสมอ พอจะสบโอกาส เซี่ยงป๋อกลับคว้าดาบมาช่วยแก้สถานการณ์ไว้ได้ โดยแสร้งทำเป็นขึ้นมารำดาบประชัน

จางเหลียงที่ปรึกษาของหลิวปังรีบออกจากงานเลี้ยงไปพบ ฝานไคว่ มาช่วยอีกแรง ฝานไคว่บุกฝ่าองครักษ์ที่อยู่หน้าประตูถาโถมเข้าไปพร้อมกับดาบในมือ และอารมณ์เดือดดาลเพ่งมองเซี่ยงหยี่ ทั้งตำหนิอย่างไม่ให้เกียรติว่า

“หลิวปังบุกเข้าเมืองเสี้ยนหยางก่อน แต่เขาไม่ได้ยึดเมืองหรือตั้งตนเป็นกษัตริย์ กลับไปเฝ้าดูแลที่ชานเมืองรอคอยท่านมาเป็นกษัตริย์ ทั้งยังส่งทหารไปรักษาด่านหานกู่กวนป้องกันโจรขโมย หลิวปังสร้างคุณูปการขนาดนี้ ท่านไม่ปูนบำเหน็จ แต่กลับไปฟังคำยุยงของคนต่ำทราม คิดจะสังหารเขา นี่ก็ไม่แตกต่างอะไรจากฉินหวัง นี่คงไม่ใช่แผนการของท่านใช่ไหม”

ฝานไคว่พูดเสียจนเซี่ยงหยี่ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ เซี่ยงจวงก็เห็นว่าหมดหนทางลงมือได้แต่ถอยล่าไป

หลิวปังฉวยโอกาสขอตัวออกจากงานเลี้ยง อ้างว่าจะไปเข้าห้องน้ำ ก่อนจะหลบหนีออกไปตามคำแนะนำของจางเหลียงและฝานไคว่ จางเหลียงรับหน้าที่กล่าวลาแทน โดยเขาตั้งใจให้หลิวปังเดินทางไปได้ระยะหนึ่งจึงเข้าไปบอกลากับเซี่ยงหยี่ และมอบของขวัญที่หลิวปังนำมาให้กับเซี่ยงหยี่

เซี่ยงหยี่นำหยกที่หลิวปังให้ขึ้นมาดู แต่ฟ่านเจิงกลับโยนหยกนั้นทิ้งลงพื้น ใช้ดาบฟันเพียงครั้งเดียวก็แหลก แล้วกล่าวว่า “…คนที่จะมายึดครองประเทศนี้ในอนาคตจะต้องเป็นหลิวปังอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็วพวกเราจะต้องกลายเป็นเชลยของเขา!” [ซึ่งก็เป็นจริงดังนั้น]

เรื่องหลิวปังไปร่วมงานเลี้ยงหงเหมินนี้ กลายเป็นสำนวนติดปากของคนจีน เมื่อกล่าวถึงงานเลี้ยงที่แฝงเจตนาร้ายไว้ข้างหลังว่า “งานเลี้ยงหงเหมิน” และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้หลิวปังได้เป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ฮั่นในเวลาต่อมา

ปัจจุบัน “งานเลี้ยงหงเหมิน” กลายเป็นสำนวนพูดติดปากที่คนจีนใช้เตือนใจให้ระวังว่าจะโดน “แทงข้างหลัง” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ. 2538

หลี่เฉวียน เขียน, เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย แปล. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ, สำนักพิมพ์มติชน มกราคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ธันวาคม 2563