“กบฏชาวนา” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน ที่นำไปสู่การสิ้นราชวงศ์ของจิ๋นซี

ชาวนา ทำนา เกษตรกร
ภาพเขียน ชาวนาจีนในวิถีชีวิตปกติ ขณะเก็บเกี่ยวผลผลิต

“กบฏชาวนา” เกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีนราว 2,200 กว่าปีก่อน เมื่อชาวนาจำนวน 900 คน ถูกบังคับให้ไปเป็น “ทหารเกณฑ์” หากอุปสรรคในการเดินทาง ทำให้พวกเขาต้องรับโทษหนักคือ “ประหารชีวิต” บทลงโทษที่รุนแรงดังกล่าวเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” นำไปสู่การตัดสินใจลุกฮือขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐ

ก่อนหน้าเหตุการณ์ดังกล่าว ราชวงศ์ฉิน มีการเกณฑ์ประชาชนจำนวนมากไปใช้แรงงาน 

จักรพรรดิจิ๋นซี เมื่อครั้งมีความประสงค์จะสร้างกําแพงระยะทางราว 6,000 กิโลเมตร ที่เรียกกันว่า “กำแพงหมื่นลี้” หรือ กำแพงเมืองจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เมื่อราวปีที่ 214 ก่อน ค.ศ. ประชาชนและพวกนักโทษที่ถูกเกณฑ์มาใช้แรงงานทั้งสิ้นราว 300,000 คน ท่ามกลางความทุรกันดารของภูมิประเทศ และความจำกัดของเทคโนโลยีงานก่อสร้างในเวลานั้น มีเสียงร่ำลือว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตนับแสน ๆ คน

ตั้งแต่ปีที่ 221 ก่อน ค.ศ. จักรพรรดิจิ๋นซี ยังเกณฑ์ประชาชนเข้ากองทัพ ใช้กำลังทหารจำนวนมากถึง 500,000 คน เข้าปราบชาวเย่ ซึ่งอยู่ทางใต้ของอาณาจักร แม้จะได้รับชัยชนะในที่สุด ด้วยการสู้รบแบบจรยุทธ์ กระจายกำลังออกแล้วดักซุ่มโจมตี แต่ก็ต้องสิ้นเปลืองกำลังทหารจำนวนมาก

เมื่อปีที่ 212 ก่อน ค.ศ. มหาโครงการหลังสุดคือ พระราชวังอาฝังกง ที่สร้างขึ้น เนื่องจากจักรพรรดิจิ๋นซีเห็นว่า พระราชวังเดิมเล็กไปเสียแล้ว ประชาชนจำนวน 700,000 คน ถูกเกณฑ์มาใช้แรงงาน

แค่ 3 อภิมหาโครงการดังกล่าว ผลิตผลที่ชาวนาเก็บเกี่ยวถึง 2 ใน 3 ถูกเก็บเป็นภาษีเข้ารัฐไปใช้จ่าย ใช้แรงงานคนไปราว 1.5 ล้านคน จากจำนวนประชากรเวลานั้นที่มีอยู่ราว 20 ล้านคน นั่นทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานผู้ชาย

ยังไม่รวมงานก่อสร้างมหาสุสานของจักรพรรดิจิ๋นซี ที่ใช้คน และเงินจำนวนมหาศาล

ยิ่งกว่านี้กฎหมายอาญาสมัยรัฐฉินกำหนดการลงโทษค่อนข้างหนัก หากผู้ใดกระทำผิด จะต้องลงโทษทั้งครอบครัว ยิ่งราชสำนักมีโครงการมากขึ้นเพียงไร ประชาชนพลเมืองก็ยิ่งมีความเดือดร้อนขึ้น แต่ไม่มีผู้ใดกล้าคัดค้าน ไม่ว่าจะเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่รับใช้ใกล้ชิด หรือแม้แต่พระราชโอรสในตำแหน่งรัชทายาทก็ยังทูลทัดทานไม่ได้

ปี 210 ก่อน ค.ศ. จักรพรรดิจิ๋นซีสิ้นพระชนม์ มีการสถาปนาจักรพรรดิพระองค์ใหม่พระนามว่า “จักรพรรดิจิ๋นที่ 2” ด้วยนิสัยที่โหดเหี้ยมของพระองค์ ทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชัง ขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองก็ไม่ค่อยสงบนัก

ปี 209 ก่อน ค.ศ. ชาวนา 900 คน ถูกบังคับเกณฑ์แรงงานไปเป็นทหารป้องกันชายแดน เมื่อคณะออกเดินทางก็เจอกับฝนตกหนักที่หมู่บ้านต้าเจ๋อ (ปัจจุบันคือพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของซูโจว มณฑลอันฮุย) ทำให้เส้นทางบางช่วงเสียหาย คณะไม่สามารถเดินทางไปรายงานตัวได้ตามกำหนด ซึ่งบทลงโทษของทางการในเวลานั้นคือ “ประหารชีวิต”

เมื่อชาวนาทั้ง 900 คน ถูกสถานการณ์บีบสู่ทางตัน ก็เกิดผู้นำชาวนา 2 คน คือ เฉินเซิ่ง และอู๋กว่าง พวกเขาวางแผนสังหารนายทหารผู้คุม และเริ่มก่อการปลุกระดมมวลชนให้เกิดความฮึกเหิม เพื่อลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจทางการ และบอกกับชาวนาทั้งหลายว่า จักรพรรดิไม่ใช่โอรสสวรรค์ และขุนนางไม่ได้เป็นกันมาตั้งแต่เกิด ทั้งหมดจึงพร้อมใจกันลุกขึ้นสู้ในนาม “กบฏชาวนา”  

ภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือน กบฏชาวนาที่มีเพียงหลักร้อย ก็มีคนเข้าร่วมและเพิ่มจำนวนเป็นหลักหมื่น จากอาวุธที่มีเพียงไม้พลอง ก็มีรถศึกถึง 700 คัน และทหารม้า 1,000 คน ในที่สุดกองทัพกบฏชาวนาก็ปะทะกับกองทัพของทางการ ซึ่งมีกำลังมากกว่าหลายเท่า เพียงระยะเวลาไม่ถึงสองเดือน กองทัพกบฏชาวนาก็พ่ายแพ้แตกกระเจิง ผู้นำทั้งสองเสียชีวิต

แม้กบฏชาวนากลุ่มแรกจะสิ้นชื่ออย่างรวดเร็ว แต่ก็ได้จุดประกายให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต้านอำนาจทางการกระจายไปทั่วแผ่นดิน โดยเฉพาะกบฏกลุ่มสำคัญ คือ กบฏภายใต้การนำของเซี่ยงหยี่ (ฌ้อปาอ๋อง) และหลิวปัง (ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น) อันนำไปสู่การสิ้นราชวงศ์ฉิน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, กุมภาพันธ์ 2547.

วิทยาลัยภาษาจีนปักกิ่ง, มหาวิทยาลัยครูหนานจิง, มหาวิทยาลัยครูอันฮุย. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศจีน , สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ตุลาคม 2550.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม 2566