
ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2558 |
---|---|
ผู้เขียน | พ.ต.ท.สมพงษ์ แจ้งเร็ว |
เผยแพร่ |
หวัง อาหะหมัด เป็นอีกหนึ่งในตำนานของยอดมวยมุสลิม เขาได้ชื่อว่าเป็นแชมเปี้ยนแห่งสยามคนแรก เมื่อสนามมวยท่าช้างที่มี นายพลโท พระยาเทพหัสดินทร์เป็นนายสนาม ได้จัดให้มีการแข่งขันคัดเลือกหาตัวผู้จะเป็นแชมเปี้ยนคนแรกของสยามขึ้น
หวัง อาหะหมัด ชกมาตั้งแต่ยุคคาดเชือก เวทีสวนกุหลาบ เขาเป็นนักมวยในสังกัดคณะลูกศร เขาเป็นนักมวยที่มีรูปร่างใหญ่โต หนักถึง 77 กิโลกรัม มีหมัดอันทรงพลัง ในสมัยเวทีสวนกุหลาบนั้นเขาเอาชนะนักมวยทั้งไทยและจีนถึง 12 คน ที่เป็นนักมวยไทยก็เช่น นายก้อน นายอิน ส่วนนักมวยจีนคือนายหย่วน

มาถึงสมัยเวทีท่าช้าง เมื่อมีการคัดเลือกหาตัวผู้ที่จะเป็นแชมเปี้ยนมวยไทยขนาดหนักขึ้น หวัง อาหะหมัด นักชกร่างใหญ่ ชาวไทยมุสลิมผู้นี้ก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชิงแชมเปี้ยนแห่งสยามกับ นายศุข สมบูรณ์ นักชกร่างใหญ่เช่นกัน ศิษย์เอกของครูกิมเส็ง ในสังกัดคณะทวีสิทธิ์ลำปาง นายศุข สมบูรณ์ ผู้นี้เคยเอาชนะนักมวยเอกอย่าง นายท้วม เขียวแสงใส (บิดาตลกเอก ทองแถม เขียวแสงใส) เสือเก่าแห่งสนามมวยสวนกุหลาบมาแล้ว
เมื่อหวังกับศุขประหมัดกัน หวังก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีโค่นศุขผู้ชิงชัยลงไปได้ เขาจึงได้เป็นแชมเปี้ยนแห่งสยามเป็นคนแรก ได้รับเงินเดือนเดือนละ 40 บาท
หนังสือพิมพ์กีฬา (ฉบับที่ 160 ปีที่ 4 อาทิตย์ 24 เมษายน 2492) กล่าวถึงประวัติของ หวัง อาหะหมัด หลังจากเป็นแชมเปี้ยนแล้วว่า
“เมื่อกิตติศัพท์แพร่หลายไปทั่วประเทศดังนี้แล้ว จึงไม่มีใครหาญขึ้นชกด้วยกับแชมเปี้ยนไทยอิสลามผู้นี้ หวังครองตำแหน่งพญาช้างสารแห่งสังเวียนผู้เดียวเรื่อยมา”
อย่างไรก็ตาม ต่อมาก็มีนักมวยดีจากกรมรถไฟขออาสาขึ้นชกด้วย โดยหมายมั่นปั้นมือว่าจะปราบหวังลงให้ได้ เพื่อที่จะได้ครองตำแหน่งแชมเปี้ยนแทน นักมวยผู้นี้คือ นายชุ่ม ดีจรรย์ นักมวยร่างยักษ์เช่นกัน
เมื่อถึงวันชก แฟนมวยของนายชุ่มจากกรมรถไฟก็มาให้กำลังใจกันมากมาย ส่วนหวังก็มีแฟนมวยจาก
มีนบุรี หนองจอก คลองตัน คลองเตย ฝั่งธนบุรี และรวมถึงแฟนมวยจากปัตตานี ในการชกครั้งนี้ปรากฏว่ารั้วสังกะสีของสนามมวยพังไปด้านหนึ่ง เพราะแฟนมวยแย่งกันเข้าชม
หนังสือกีฬา (ฉบับที่ 160 ปีที่ 4 อาทิตย์ 24 เมษายน 2492) เล่าถึงการชกครั้งนั้นอย่างเห็นภาพว่า
“ทั้งคู่ขึ้นเวที แตะมือกัน เมื่อพร้อมกรรมการให้สัญญาณชก หวังแย็บ ชุ่มต้องผงะ หวังพุ่งเข้าใส่ ชุ่มโคลงตัวหลบหลีกหมัด ซึ่งหมัดของหวังถูกบ้างผิดบ้าง ชุ่มเห็นหวังชกพลาด จึงพรวดเข้าจะตามด้วยหมัด แต่ความล่าช้าของชุ่มทำให้เกิดอันตราย หวังยกแข้งซ้ายเข้าหน้าอกชุ่มอย่างถนัด ชุ่มโงนเงน หวังจึงเข้าชกซ้ายแล้วโยกตัวกลับมา ตามด้วยฮุคขวาเข้าขากรรไกรของชุ่มดังสนั่น หวังถอยนิดหนึ่ง พุ่งหมัดซ้ายล้วงชายโครงได้อีกทีหนึ่ง ชุ่มหงายหลังเซแซดๆ พี่เลี้ยงของชุ่มจึงโยนผ้ากลางเวที บอกยอมแพ้ในยกนั้นเอง หวังใช้เวลาในการต่อสู้เพียง 50 วินาทีก็สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะเป็นของหวัง”
หลังจากที่ปราบชุ่มลงได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้จึงไม่มีใครหาญขึ้นชกด้วยอีกเลย กระทั่งอีกปีหนึ่งต่อมาก็มีนักชกร่างยักษ์จากกรมรถไฟอีกคนหนึ่งอาสาขึ้นปราบและชิงตำแหน่งแชมเปี้ยนจากหวัง นักมวยผู้นี้คือ นายประดิษฐ์ ลิ้มประยูร
หนังสือกีฬา (ฉบับที่ 209 ปีที่ 5, พ.ศ. 2493) บันทึกถึงบรรยากาศในศึกประวัติศาสตร์คราวนี้ว่า
“4 โมงเย็นวันนั้น ตำรวจนครบาลวัดตองปุ กับโรงพักพระราชวังระดมกำลังรักษาการณ์รอบสนามมวยท่าช้างอย่างเต็มอัตรา เพราะมีพวกไทยอิสลามฝ่ายหวัง อาหะหมัดมาทุกกำปง และพวกกรมรถไฟกับทหารเรือ ซึ่งเป็นศิษย์หลวงพิพัฒน์พลกาย ฝ่ายประดิษฐ์ก็มีมากมาย พวกนักดูมวยนั้น อยากดูก็อยาก แต่กลัวปะทะกันก็กลัวอักโขอยู่”
การชกครั้งนี้มี อาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์ เป็นกรรมการผู้ชี้ขาดบนเวที ผลการชกปรากฏว่าหวังต้องพ่ายประดิษฐ์ ซึ่งได้เปรียบทั้งอายุที่หนุ่มแน่นกว่าและร่างใหญ่กว่าไปอย่างน่าตื่นเต้น
หลังจากที่เขาต้องปราชัยแก่ ประดิษฐ์ ลิ้มประยูร แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าหวังได้ชกกับผู้ใดอีก จนกระทั่งปี 2492 หวังซึ่งเวลานั้นอายุมากแล้ว ก็ได้มาแสดงความจำนงต่อทางเวทีราชดำเนินว่า จะขอขึ้นชกกับ “ยักษ์ผีโขมด” สุข ปราสาทหินพิมาย หลังจากที่สุขสามารถเอาชนะ สมาน ดิลกวิลาศ ได้ แต่ทางสนามมวยก็มิได้จัดให้หวังขึ้นชกแต่อย่างใด
นั่นเป็นการยุติตำนานของยอดมวยมุสลิมผู้ผ่านการชกมาอย่างโชกโชนทั้งแบบคาดเชือกและแบบสวมนวมคนนี้
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ตำนานมวยมุสลิม” เขียนโดย พ.ต.ท.สมพงษ์ แจ้งเร็ว ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2558
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2560