“หมัดนายจีน ตีนนายทับ” ตำนานนักมวยคาดเชือก สนามมวยเวทีสวนกุหลาบ

การชกมวยโชว์สมัยคาดเชือกระหว่างศิริ สุวรรณวยัคฆ์ กับ จีน พลจันทร​ ณ เวทีแข่งขันมวยนักเรียนสนามสวนกุหลาบวิทยาลัย พ.ศ. 2470

“หมัดนายจีน ตีนนายทับ” ตำนาน “มวยคาดเชือก” สนามมวยเวทีสวนกุหลาบ

เรื่องราวของนักมวยเก่า สมัยคาดเชือกยุคสนามมวยเวทีสวนกุหลาบ ที่เป็นตำนานมวยเล่าขานกันถึงยอดมวยผู้มีพลังหมัด ที่สะกดคู่ต่อสู้ต้องหักโค่นลงไปคนแล้วคนเล่า จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว และอีกผู้หนึ่งเป็นยอดมวยผู้มีเพลงเตะที่ฉกาจฉกรรจ์และรวดเร็วราวจักรผัน สยบคู่ต่อสู้ลงด้วยเท้า จนเป็นที่กล่าวขานกันว่านักมวยทั้งสองก็คือยอดมวยแห่งยุคนั้น นักมวยทั้งสองเป็นนักมวยต่างคณะกัน แต่กลับมีฉายาร่วมกันว่า “หมัดนายจีน ตีนนายทับ”

Advertisement

การแข่งขันชกมวยอย่างเป็นทางการในรูปแบบของธุรกิจเก็บค่าดู เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสยามก็คือ สนามมวยเวทีสวนกุหลาบ ซึ่งตั้งขึ้นในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบ ทั้งนี้เพราะมีผู้สนใจการชกมวยมาก หลังจากการแข่งขันชกมวยในงานพระศพกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ที่สนามหลวงแล้ว จึงมีการเรียกร้องให้มีการจัดแข่งขันขึ้นอีก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (แม็ก เศียรเสวี) เป็นผู้ดำเนินการจัดการแข่งขันชกมวยขึ้น ณ สนามหน้าตึกสามัคยาจารย์ในโรงเรียนสวนกุหลาบ เพื่อเก็บเงินซื้อปืนให้กับกองเสือป่าในปี พ.ศ. 2464

การจัดการแข่งขันชกมวยที่เวทีสวนกุหลาบ ก็เพราะที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมแห่งการฝึกมวยและแข่งขันการชกมวยแบบฝรั่งอยู่ก่อน และเป็นศูนย์กลางของนักเรียนพลศึกษาอีกด้วย

เมื่อมีการจัดแข่งขันเป็นข่าวออกไป ก็มีบรรดานักมวยจากหัวเมืองต่างๆ และนักมวยในพระนครเดินทางเข้ามาเปรียบมวย เพื่อเข้าแข่งขันชกมวยเป็นจำนวนมาก โดยเข้ามาอยู่ในความอุปการะของบรรดาเจ้านายและขุนนางที่รักการชกมวย โดยมีการเปิดค่ายมวยอยู่ในจังหวัดพระนคร เช่น นายยัง หาญทะเล นายทับ จำเกาะ นักมวยจากจังหวัดนครราชสีมา เข้ามาสังกัดในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นายซ้อน เพชรศักดิ์ นายอินทร์ ศักดิ์เดช นักมวยจากเมืองไชยา อยู่ในความอุปการะของพระยาวจีศรีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) นอกจากนี้ยังมีนักมวยจากหัวเมืองอีกมากมาย เช่น จากลพบุรี จากเมืองแพร่ มหาสารคาม ฯลฯ

ส่วนนักมวยในจังหวัดพระนคร ก็มีนายสะเล็บ ศรไขว้ นายหวัง อาหมัด นักมวยในความอุปการะของหม่อมราชวงศ์มานพ ลดาวัลย์ เป็นต้น

สะเล็บ ศรไขว้ ยอดมวยพระนครอีกคนหนึ่งในสมัยเวทีมวยสวนกุหลาบ

นอกจากนี้ก็มีนักมวยจากโรงเรียนสวนกุหลาบนั่นเอง ซึ่งมีการฝึกสอนมวยฝรั่ง (มวยสากล) ตั้งแต่เมื่อหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล ได้กลับจากการทรงศึกษาจากต่างประเทศ ทรงนำเอาวิชาการชกมวยแบบฝรั่งเข้ามาเผยแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 ก่อนหน้านี้ โดยในขั้นแรก ทรงถ่ายทอดให้แก่ครูและนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบและนักเรียนพลศึกษากลาง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบนั้นด้วย

จากนั้นการชกมวยฝรั่งก็ได้ถูกเผยแพร่ไปในโรงเรียนอื่นๆ เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นของใหม่ เป็นการชกเฉพาะหมัดและสวมนวมชกด้วย จนถึงขั้นจัดแข่งขันกันระหว่างโรงเรียน และมีการชิงชนะเลิศ แบ่งเป็นรุ่นตามน้ำหนัก นักมวยของโรงเรียนสวนกุหลาบในยุคนั้นก็มี นายนิยม ทองชิต นายทิม อติเปรมานนท์ นายจีน พลจันทร นายศิริ สุวรรณวยัคฆ์ นายสุวรรณ นิวาศวัติ โดยอยู่ในความควบคุมดูแลของหลวงพิพัฒน์พลกาย (กระจ่าง วิโรจน์เพชร) นักมวยโรงเรียนสวนกุหลาบนี้ นอกจากฝึกมวยฝรั่งแล้วก็ฝึกมวยไทยควบคู่กันไปด้วย

นอกจากจะมีนักมวยไทยจากหัวเมืองและจังหวัดพระนครแล้ว ก็ยังมีนักมวยชาวจีนก็มาสมัครเข้าร่วมการแข่งขันอีกด้วย โดยนักมวยชาวจีนนี้อยู่ในความอุปการะของนายเคียงเหลียน สีบุญเรือง และนายฮุน กิมฮวด แห่งสโมสรสามัคคีจีนสยาม เช่น นายจี้ ฉ่าง นายไล่โฮ้ว เป็นต้น

ในการแข่งขันชกมวยที่เวทีสวนกุหลาบนั้น เป็นการชกมวยแบบคาดเชือก โดยมีการจัดเปรียบคู่มวยและถ่ายรูปโฆษณาที่บริเวณสนามเสือป่า ซึ่งมีทั้งนักมวยไทยและมวยจีน

นายทับ จำเกาะ (ขวา) ยอดนักเตะจากโคราช เจ้าของฉายา “ตีนนายทับ”

หลังจากการแข่งขันครั้งแรกแล้ว ก็มีการแข่งขันกันต่อเนื่องอีกหลายครั้ง นักมวยเอกในยุคเวทีสวนกุหลาบอันเป็นที่รู้จักกันดีของบรรดานักดูมวย จนมีการตั้งฉายาให้ว่า “หมัดนายจีน ตีนนายทับ” ก็คือนายจีน พลจันทร นักมวยโรงเรียนสวนกุหลาบ ศิษย์เอกหลวงพิพัฒน์พลกาย ผู้ซึ่งเป็นนักมวยหมัดหนัก กับนายทับ จำเกาะ ศิษย์เอกกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ผู้มีเชิงเตะอันฉกาจฉกรรจ์ เรียกว่า หมัดหนักนายจีน ตีนใจนายทับ

นายจีน พลจันทร

นายจีน พลจันทร (ภายหลังเปลี่ยนเป็นจินต์ เมื่อเข้ารับราชการในยุคราษฎรนิยม) เป็นชาวเมืองราชบุรี เป็นบุตรหลานสืบเชื้อสายมาจากพระยาพลสงคราม (จันทร์)

รองอำมาตย์ตรีจินต์ (จีน) พลจันทร อดีตนักมวย เจ้าของฉายา “หมัดนายจีน”

เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากจังหวัดราชบุรี ได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนสวนกุหลาบ ได้ฝึกหัดมวยฝรั่ง (ปัจจุบันเรียกว่ามวยสากล) จากหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล และหลวงพิพัฒน์พลกาย ที่โรงเรียนสวนกุหลาบรุ่นเดียวกับนายนิยม ทองชิต นายทิม อติเปรมานนท์ นายศิริ สุวรรณวยัคฆ์ และยังได้ฝึกมวยไทยกับหลวงพิพัฒน์พลกายอีกด้วย การฝึกมวยของนายจีนในรูปแบบมวยไทยนั้น มีพื้นฐานมาจากมวยฝรั่งด้วย จึงเป็นนักมวยที่ถนัดการใช้หมัดได้เป็นอย่างดี

เมื่อสนามมวยเวทีสวนกุหลาบตั้งขึ้นเมื่อปี 2464 ก็พาเอาศิษย์นักเรียนสวนกุหลาบเข้ามาเปรียบคู่ชกมวยด้วย ปรากฏว่านายนิยมได้คู่ชกกับนายยัง หาญทะเล นักมวยจากนครราชสีมา นายทิม อติเปรมานนท์ ได้คู่กับนักมวยเมืองแพร่ ส่วนนายจีน พลจันทร ได้คู่ชกกับนายวัน ชาญช่างเหล็ก นักมวยพระนคร ซึ่งเป็นพนักงานไฟฟ้า อายุราว 30 ปี รูปร่างล่ำสัน แข็งแรง ส่วนนายจีน ขณะนั้นอายุเพียง 19 ปี แต่นายจีนได้เปรียบในส่วนสูงเล็กน้อย

เมื่อเริ่มประหมัดยกแรก นายจีนได้ทีชกถูกคางนายวันถึงกับล้มลงให้กรรมการนับยาว แต่นายวันสามารถลุกขึ้นมาชกต่อได้ เมื่อเริ่มชกกันใหม่ คราวนี้นายจีนเกิดสะดุดผ้าใบพื้นเวที ทำให้เสียหลักคะมำลงไป นายวันได้ท่าเข้าไปเตะเข้าที่ใบหน้าของนายจีนอย่างเต็มแรง และกรรมการผู้ตัดสินบนเวทีได้ชี้ขาดว่า การเตะของนายวันนี้เป็นฟาวล์ (foul) เพราะนายจีนล้มลงไปแล้ว จึงตัดสินให้นายจีนชนะฟาวล์ไป

จากนั้นนายจีนได้ขึ้นแสดงฝีมือที่เวทีสวนกุหลาบนี้อีกหลายครั้ง ซึ่งก็ได้ใช้พลังหมัดทั้งหมดเอาชนะได้อีกหลายคน จนเป็นที่เลื่องลือกันว่าเป็นนักมวยหมัดหนักในยุคเวทีสวนกุหลาบนั้น

นายทับ จำเกาะ

นายทับ จำเกาะ เป็นชาวบ้านเกาะ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อเวทีมวยสวนกุหลาบเปิดแข่งขันในปี พ.ศ. 2464 เจ้าเมืองนครราชสีมาได้คัดเลือกนักมวยเข้ามาจากในพระนคร พร้อมกับนายยัง หาญทะเล โดยเข้าไปสังกัดอยู่กับกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ โดยพักอาศัยซ้อมมวยที่วังเปรมประชากร โดยกรมหลวงชุมพรฯ ทรงเป็นผู้ควบคุมการฝึกซ้อม และมีนายมัท พระชลัมภ์พิศัยเสนีย์ เป็นผู้ช่วย ครั้งแรกได้เปรียบคู่ชกกับนักมวยจากจังหวัดมหาสารคาม นายทับก็สามารถใช้เพลงเตะเอาชนะนักมวยฝีมือดีชาวมหาสารคามลงได้อย่างเด็ดขาด

จากชัยชนะครั้งนี้ จึงมีนักมวยที่จะชกกับนายทับ หลายคนในหนแรกจะได้พบกับนายสะเล็บ ศรไขว้ นักมวยมุสลิม สังกัดของหม่อมราชวงศ์มานพ ลดาวัลย์ นายสิน ดิลกวิลาศ นักมวยพระนคร แต่คู่นี้ยังไม่พร้อมชกกัน ทางสนามจึงคัดเลือกนักมวยฝีมือดีชาวพระนครอีกคน ก็คือ นายประสิทธิ์ บุญญารมณ์ ครูพลศึกษา ซึ่งเป็นนักมวยอยู่ในความดูแลของพระยาภักดีนรเศรษฐ พระยาโอวาทวรกิจ และพระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ ผลการชกกับนายประสิทธิ์ ปรากฏว่านายทับใช้เพลงเตะทำเอานายประสิทธิ์ถึงกับยอมแพ้ไปอีกราย นายทับได้ขึ้นชกที่เวทีสวนกุหลาบหลายครั้ง จึงเดินทางกลับภูมิลำเนาแล้วมิได้กลับมาชกเมืองกรุงอีก คงได้ฝากฝีมือไว้ในความทรงจำของนักดูมวยชาวกรุงเทพฯ ไว้เท่านั้น

ตำนานมวยเตะของนายทับ จำเกาะ แห่งนครราชสีมานี้ ได้เล่าขานกันต่อๆ มาจนถึงยุคหลังปี พ.ศ. 2500 เมื่อครั้งอภิเดช ศิษย์หิรัญ เข้ามาชกที่เวทีราชดำเนินใหม่ๆ ก่อนหน้าที่จะได้รับฉายาว่า จอมเตะบางนกแขวกนั้น หนังสือพิมพ์หมัดมวยในยุคนั้นได้ให้สมญาเขาว่า “ทับจำเกาะ” คนใหม่ จึงทำให้เห็นได้ว่าแม้ในยุคหลัง เวลาล่วงเลยมาราว 40 ปีแล้ว หลังจากที่นายทับเลิกชกมวยแล้ว จนมาถึงยุคอภิเดชแล้วก็ตาม ชื่อเสียงของนายทับ จำเกาะ คือนักเตะก็ยังอยู่ในความทรงจำของนักดูมวย

อภิเดช ศิษย์หิรัญ เมื่อกำลังเริ่มมีชื่อถูกเรียก่าเป็น “ทับจำเกาะ” คนใหม่

บัดนี้นักมวยเก่าทั้ง 2 ท่าน คือ นายจีน พลจันทร และนายทับ จำเกาะ ได้สิ้นชีวิตไปแล้ว แต่เรื่องราวการชกมวยของท่านก็ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะผู้สร้างสานตำนานมวยไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “หมัดนายจีน ตีนนายทับ” เขียนโดย พ.ต.ท.สมพงษ์ แจ้งเร็ว ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2563