ดูจุดกำเนิด “สนามมวยเวทีลุมพินี” เบื้องลึกในรั้วกีฬาทหาร สู่กิจการกองทัพบก ยุคประภาส

ภาพประกอบเนื้อหา - ตุ้ม ปริญญา (ขวา) นักมวยข้ามเพศชื่อดัง ขึ้นชกในเวทีลุมพินี เมื่อ 24 ก.พ. 1998 (ภาพจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

แม้ว่า “มวยไทย” จะเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่มีมาแต่โบราณและในปัจจุบันก็มีแข่งกันแพร่หลาย แต่หากย้อนกลับไปในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สภาพเวทีมวยเวลานั้นยังไม่ปรากฏการแข่งขันประจำดังเช่นปัจจุบัน เมื่อเวลาผ่านไปกรุงเทพฯ จึงเริ่มมีสนามมวยขึ้น อาทิ สนามมวยสวนกุหลาบ มาจนถึงสนามมวยเวทีราชดำเนิน ก่อนเพิ่มเติมมาสู่สนามมวยแห่งที่สองใน กทม. นั่นคือ สนามมวยเวทีลุมพินี

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ช่ำชองในการมวยเล่ากันต่อมาว่า การจัดแข่งขันไม่ได้เป็นระบบแพร่หลายดังปัจจุบัน จะมีเพียงแต่ในงานนักขัตฤกษ์ประจำปีเป็นครั้งคราวเท่านั้นที่ผู้เชี่ยวชาญเชิงมวยจะได้โชว์ฝีมือ และมวยก็ยังไม่ได้เป็นอาชีพ

กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสนามมวยภายในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จัดให้ชกทุกวันเสาร์ใน พ.ศ. 2464 หลังจากนั้นจึงเริ่มมีสนามมวยเกิดขึ้นตามลำดับ เรื่องราวเกี่ยวกับสนามมวยสวนกุหลาบนี้ก็มีเกร็ดน่าสนใจมิใช่น้อย โอกาสหน้าจะนำมาเล่าสู่กันฟังอีก

ทำไม “สวนกุหลาบฯ” ร.ร.ชายล้วนตั้งชื่อเป็นดอกไม้? แล้วยังเคยปลูกดอกไม้อื่นแทน

สำหรับที่นี้ต้องกล่าวถึงสนามมวยเวทีลุมพินี โดยภายหลังจากปรากฏสนามมวยสวนกุหลาบแล้วก็เกิดสนามมวยขึ้นอีกหลายแห่ง แต่ต้องบอกว่า ไม่ถาวร ดำเนินไปได้ไม่นานก็ต้องมีอันเลิกไปด้วยหลากหลายเหตุผล มีเพียงสนามมวยเวทีราชดำเนินในกรุงเทพฯ เท่านั้นที่เปิดถาวรมาจนถึงปัจจุบัน โดยเปิดตั้งแต่ พ.ศ. 2488

ในยุคนั้นสนามมวยในกรุงเทพฯ ที่เปิดต่อเนื่องก็มีเพียงแห่งเดียวคือเวทีราชดำเนิน ช่วง 10 ปีแรกของสนามมวยเวทีราชดำเนินจัดแข่งเฉพาะวันอาทิตย์ แต่ก็ยังไม่พอต่อจำนวนนักมวยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เวลาต่อมาจึงเพิ่มแข่งวันพฤหัสบดีอีกวันแต่ก็ไม่พออยู่ดี

สนามมวยเวทีราชดำเนินที่ถือเป็นสนามมวยมาตรฐานแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ไม่เพียงต้องจัดรายการแข่งปกติเท่านั้น ยังให้ทหารเช่าสถานที่จัดมวยการกุศล และชิงแชมป์ ทบ. เป็นครั้งคราว ยิ่งตอกย้ำปัญหาสนามมวยไม่เพียงพอต่อการจัดรายการและจำนวนนักมวยดังที่กล่าวข้างต้น

เมื่อเอ่ยถึงกองทัพ นายเทียมบุญ อินทรบุตร ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องมวยกับกองทัพไว้ในนิตยสารไฟเตอร์ ฉบับมี.ค.-เม.ย. พ.ศ. 2532 ว่า ในช่วง พ.ศ. 2494 กองทัพเริ่มมีนโยบายให้กำลังพลสนใจกีฬามากขึ้น กีฬามวยที่เริ่มมีลักษณะเป็นกีฬาอาชีพมากขึ้นก็ได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ ปรากฏคำแนะนำให้หน่วยต่างๆ จัดคณะมวย จัดแข่งภายในกรมกองเพื่อคัดเลือกตัวแทนมาแข่งชิงแชมป์มวยทหารประจำปี โดยถือเป็นภารกิจของกรมสวัสดิการทั้ง 3 เหล่าทัพในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย

พ.ศ. 2494 ช่วงเวลานั้น พลตรี ประภาส จารุเสถียร (ยศขณะนั้น) ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการทหาร ผู้ที่เป็นนักกีฬาจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ สำหรับนักมวยจะถูกส่งตัวไปหน่วยงานต่างๆ เพื่อรับการฝึกทหารและฟิตซ้อม หรือรับการคัดเลือกเป็นตัวแทนชิงแชมป์ ทบ. ประจำปีต่อไป นักมวยยุคนั้นจึงมักปรากฏชื่อที่เป็นสัญลักษณ์ของหน่วยทหาร เช่น ศรราม, ลูกอัศดร, ลูกมาตุลี

เมื่อมาถึง พ.ศ. 2498 พันตรี เอิบ แสงฤทธิ์ (ยศขณะนั้น) นายทหารฝ่ายเสนาธิการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ผู้เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการสนองนโยบายด้านกีฬาของ ผบ.พล 1 รอ. ได้รับคำสั่งให้จัดมวยการกุศลนำเงินบำรุงนักกีฬา เมื่อเห็นว่าเวลานั้นมีเวทีฮอลิเดย์ ออน ไอซ์ ซึ่งเป็นเวทีการแสดงของคณะกายกรรมฮอลิเดย์ ออน ไอซ์ จากสหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาเปิดการแสดงครั้งแรก ในห้วงงานฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี 2498 (ปีนั้นรัฐบาลสั่งงดประกวดนางสาวไทย) และได้ขอเช่าสถานที่จัดสร้างเวทีตรงหลังพระรูป ร.6 แต่การแสดงไม่ค่อยได้รับความนิยม ผู้จัดขาดทุนยับเยินทำให้ต้องเลิกการแสดงไปก่อน เวทีปล่อยว่างจึงสามารถปรับเป็นสนามมวยชั่วคราวจัดมวยการกุศลน่าจะเหมาะสม เพราะไม่ต้องลงทุนมาก

เมื่อเดินเรื่องกับฝ่ายเทศบาลนครกรุงเทพฯ แล้วไม่ติดขัด จึงเริ่มปรับอัฒจันทร์ ตั้งเวทีชก และคณะกรรมการชุดแรก โดยมีพันตรีเอิบ แสงฤทธิ์ เป็นประธานคณะกรรมการและนายสนาม

เวทีลุมพินี (ชั่วคราว) หลังพระรูป ร. 6 จัดแข่งมวยกันทุกวันเสาร์ เปิดแข่งขันรายการแรกวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2499 หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 12 มีนาคม 2499 รายงานว่า มีผู้ติดตามไปชมเป็นจำนวนมาก

รายงานจากหนังสือ “42 ปี สนามมวยเวทีลุมพินี” มีเนื้อหาส่วนหนึ่งอ้างอิงจากรายงานของหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย มีข้อความปรากฏว่า “โดยเหตุที่ในสมัยนั้นมีกฎกระทรวงมหาดไทยที่ระบุว่า การขออนุญาตจัดมวยจะต้องตีตั๋วการพนันประเภทมวยชก แต่เสียภาษีประเภทมหรสพคือ 15 เปอร์เซ็นต์ ภาษีเทศบาลอีก 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าจัดเป็นรายการกุศล หาเงินบำรุงหน่วยงานราชการก็สามารถทำเรื่องยกเว้นภาษีอากรได้

สนามมวยเวทีลุมพินี (ชั่วคราว) ก็อยู่ในกฎเกณฑ์นี้ จึงนอกจากจะจัดรายการปกติแล้ว หัวหน้าคณะยังช่วยกันสนับสนุนมอบมวยดีๆ ในสังกัดของตนมาให้จัดเป็นรายการยิ่งใหญ่ขึ้นหลายรายการ บวกกับการประชาสัมพันธ์ที่ทันสมัยเข้าถึงมวลชนอย่างแท้จริง ส่งผลให้สนามมวยเวทีลุมพินีเป็นที่รู้จักและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับแฟนมวยในยุคนั้น”

เมื่อดำเนินการไปได้ 6 เดือน สัญญาเช่าก็หมดลง ขณะที่เทศบาลนครกรุงเทพฯ ขอให้ย้ายออก จึงต้องตัดสินใจว่า จะสร้างสนามที่ไหน จากการสัมภาษณ์พลตรี เอิบ (ยศในปี 2541) ระบุว่า ข้อติดขัดประการสำคัญคือ กฎกระทรวงมหาดไทยที่ระบุว่า จังหวัดหนึ่งจะให้ตั้งสนามมวยถาวรได้แห่งเดียว เมื่อมีสนามมวยเวทีราชดำเนินแล้วก็ไม่อาจมีสนามมวยถาวรแห่งที่สอง (ภายหลังมีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 18782/2504 ลงนามโดยพลเอก ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยความว่า…อนุญาตจัดตั้งสนามแข่งขันชกมวยได้เฉพาะจังหวัดพระนครไม่เกิน 2 สนาม จังหวัดธนุบรีและจังหวัดอื่นๆ ไม่เกิน 1 สนาม)

เมื่อนำเรื่องแจ้งต่อพลตรี ประภาส จารุเสถียร รองแม่ทัพภาคที่ 1 และรองผู้บัญชาการทหารบกที่ 1 (ตำแหน่งขณะนั้น) ซึ่งกำลังจะขึ้นเป็นยศพลโทในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 จึงได้มีบัญชาให้จัดหาสถานที่สร้างสนามมวยใหม่ เพราะมีใบอนุญาตที่กระทรวงมหาดไทยออกให้ในนามกองพลที่ 1 รักษาพระองค์อยู่แล้ว

การจัดหาดำเนินไปแล้วพบว่า มีจุดเหมาะสมที่ถนนพระราม 4 ตรงข้ามภัตตาคารชายทะเลจันทร์เพ็ญ การคมนาคมสะดวกพอสมควร พื้นที่กว้างขวาง เมื่อติดต่อประสานงานขอใช้ที่ดินด้านติดกับถนนพระราม 4 เรียบร้อย บันทึกการวางศิลาฤกษ์เวทีถาวรที่ปรากฏในหน้าสื่อคือ มีพิธีวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2499

รายงานจากหนังสือ “42 ปีสนามมวยเวทีลุมพินี” เล่าว่า พ.ท. เอิบ แสงฤทธิ์ วิ่งเต้นยืมเงินจากกระทรวงกลาโหมมาก่อสร้างสนามถาวร อีกทั้งเปิดแข่งมวยหารายได้บำรุงสวัสดิการทหาร ดังที่ทำมาในสมัยเป็นเวทีชั่วคราวจนกระทั่งยุบตัวเพราะต้องคืนที่

รูปแบบการสร้างในครั้งนั้นบันทึกเล่าว่าเป็นโครงไม้ทั้งหมด ไม่ได้ใช้งบประมาณของหน่วย มีทหารจากกรมยุทธโยธาทหารบกเป็นช่างออกแบบและควบคุม ด้านแรงงานที่ใช้ก็ขออนุญาตเบิกตัวนักโทษทหารจากเรือนจำ มทบ.1 หลักร้อยคนช่วยกันถางหญ้า ถมดิน ปรับพื้นที่ และสร้างอัฒจันทร์ชั้น 2-3 โดยรวมแล้วใช้เวลาเดือนเศษ เปิดทำการแข่งขันครั้งแรกเมื่อ 8 ธันวาคม 2499 มีพลโท ประภาส จารุเสถียร ประธานกรรมการ และทำพิธีเปิดผ้าแพรคลุมป้าย จึงถือเป็นการสถาปนาสนามมวยเวทีลุมพินีอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่นั้นมา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สว่าง สวางควัฒน์, รวบรวมและเรียบเรียง. 42 ปี สนามมวยเวทีลุมพินี. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ มีนาคม 2563