ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา |
เผยแพร่ |
ชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางมาค้าขายในเอเชียคือชาวโปรตุเกส พวกเขามาค้าขายและตั้งอาณานิคมที่เมืองกัวของอินเดีย แล้วเลยมาทางตะวันออกถึงเมืองไทย ขณะนั้นเป็นปี พ.ศ. 2068 รัชกาลของพระชัยราชาธิราช องค์ที่มีมเหสีชื่อพระนางศรีสุดาจันทร์
นายเฟอร์ดินันด์ เมนเดส ปินโต หนุ่มโปรตุเกส อายุ 28 ปี ได้เดินทางมาใช้ชีวิตแถบเอเชียตะวันออกถึง 21 ปี เพื่อแสวงหาโชคลาภ โดยเป็นพ่อค้า เป็นทหารรับจ้าง เขาได้เขียนหนังสือเล่าการผจญภัยไว้ในหนังสือโด่งดังเล่มหนึ่ง ชื่อ Peregrinicam มีเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่ 27 หน้า ซึ่งนับว่ามีคุณค่ายิ่งที่ทำให้เราได้เห็นโฉมหน้าของเมืองไทย ซึ่งครั้งนั้นเรียกว่าประเทศสยาม
สยามเมื่อ 500 ปีที่แล้วเป็นประเทศที่ทันสมัยแล้ว กองทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่มีกำลังพลถึง 500,000 คน มีปืนใหญ่กระบอกสั้นบรรทุกเกวียนถึง 200 เกวียน มีทหารรับจ้างโปรตุเกส 120 คน ซึ่งปินโตก็เป็นหนึ่งในทหารรับจ้างเหล่านี้ เขาเล่าว่า
“ข้าพเจ้าผ่านเมืองท่าซุนดามายังประเทศสยาม ซึ่งข้าพเจ้าได้ไปทำสงครามกับเชียงใหม่ ร่วมไปกับพวกโปรตุเกส ได้ทำสงครามของพระเจ้าแผ่นดินสยาม จนถึงพระองค์เสด็จคืนสู่อาณาจักรของพระองค์อันเป็นที่ซึ่งพระราชินีของพระองค์วางยาพิษพระองค์เสีย
กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของอาณาจักรโสน (Sarnau) ซึ่งตามปกติเรียกประเทศนี้กันว่า สยาม (Siam) เราได้รับการต้อนรับอย่างดี น่าพิศวง จากที่นั่นข้าพเจ้าอาจสามารถต่อไปยังประเทศญี่ปุ่นได้ โดยไปในกลุ่มเรือโปรตุเกส 7 หรือ 7 ลำ ซึ่งได้จัดเรือเพื่อจุดมุ่งหมายนั้น” (แสดงว่ามีชาวโปรตุเกสจำนวนมากอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสมัยนั้นกรุงศรีอยุธยาได้เป็นเมืองท่าค้าขายกับนานาประเทศแล้ว-ผู้เขียน)
“ในช่วงเวลาที่รอลมอยู่นี้ ได้มีสงครามเกิดขึ้น โดยอาณาจักรเชียงใหม่ได้ส่งกองทัพมายึดเมืองกำแพงเพชร ผู้คนล้มตายไปกว่า 30,000 คน สมเด็จพระชัยราชาธิราชจึงทรงระดมพล เคลื่อนทัพไปสมรภูมิ ทรงเรียกร้องให้ชาวต่างประเทศอาสาเข้าร่วมรบในกองทัพ
ไม่ว่าจะเป็นคนชาติใดก็ตาม ถ้าพวกเขาไม่ไปช่วยรบแล้ว พวกเขาก็จะต้องถูกบังคับให้ออกไปจากอาณาจักรของพระองค์อย่างเร่งด่วนภายใน 3 วัน”
สำหรับพวกเราชาวโปรตุเกสทั้งหลายนั้น ในฐานะที่ได้รับความนับถือมากกว่าชาติอื่น พระเจ้าแผ่นดินทรงส่งหนังสือมาถามความต้องการของพวกเขา…เพราะพระองค์จะทรงไว้วางใจพวกเขาให้เป็นกองรักษาพระองค์
ทรงให้ความหวังอันยิ่งใหญ่เกี่ยวแก่เงินเลี้ยงชีพ ความโปรดปราน ผลประโยชน์ทั้งหลาย การอนุเคราะห์และเกียรติยศหลายอย่าง แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือจะทรงอนุญาตให้พวกเขาสร้างโบสถ์ในอาณาจักรของพระองค์ได้ ซึ่งนับว่าเป็นบุญคุณแก่พวกเราอย่างยิ่งจนทำให้พวกเราชาวโปรตุเกส ซึ่งมีจำนวน 130 คน ตกลงร่วมไปสงครามครั้งนี้เป็นจำนวน 120 คน”
สงครามครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ไทยนำปืนใหญ่มาใช้ นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ชาวโปรตุเกสนำมาให้ นายปินโตเล่าว่า
“ทรงมีเกวียนบรรทุกปืนใหญ่กระบอกสั้น จำนวน 200 เกวียน…ด้วยเหตุที่กำลังส่วนใหญ่ของข้าศึกอยู่ที่ม้า ในทันทีที่พวกช้าง (ของเรา) เข้าถล่มพวกเขา โดยมีปืนใหญ่ และปืนใหญ่สนามยิงสนับสนุน พวกเขาก็พ่ายแพ้ไปในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง”
กองทัพสยามได้ขึ้นไปถึงเชียงใหม่ ล้อมเมืองอยู่จนฤดูฝนมาถึง จึงถอยทัพกลับอยุธยา เมื่อกลับมาแล้ว สมเด็จพระชัยราชาธิราชก็ได้ถูกพระนางศรีสุดาจันทร์วางยาพิษเพราะพระนางมีครรภ์อยู่กับออกขุนชินราชชู้รัก
นายปินโตเป็นฝรั่งคนเดียวใน 8 คนที่มิได้มองคนไทยในแง่ร้าย เขายกย่องสมเด็จพระชัยราชาธิราช ว่าทรงพระปรีชาสามารถ กล้าหาญ และรักษาสัตย์วาจา เมื่อก่อนสงครามทรงรับปากกับทหารโปรตุเกสไว้อย่างไร ก็ทรงปฏิบัติตามสัญญาอย่างมั่นคง พระราชทานรางวัลให้อย่างถึงอกถึงใจ มีพระราชานุญาตให้สร้างโบสถ์คริสตังได้เป็นโบสถ์แรกในเมืองไทย
นายปินโตได้เล่าเหตุการณ์ต่อไปว่า พระนางศรีสุดาจันทร์ได้ยกพระยอดฟ้าพระโอรสให้ครองราชย์สืบต่อไป อยู่ไปไม่ถึงปี พระนางก็วางยาพิษพระโอรสเสียอีก แล้วยกขุนวรวงศาธิราช ชู้รักให้เป็นเจ้าแผ่นดินแทน ซึ่งไม่นานนักก็ถูกโค่นล้มโดยบรรดาขุนนาง ได้พระเธียรราชาเป็นกษัตริย์สืบต่อไป ความเหี้ยมโหดของการเมืองไทยคงจะบาดใจนายปินโตมิใช่น้อย แต่เขามิได้วิจารณ์รุนแรงเพียงแต่กล่าวว่า
“ทุกสิ่งทุกอย่างกลับเป็นสันติสุขอย่างยิ่ง ไม่มีสิ่งใดเป็นผลเสียหายแก่ประชาชนของอาณาจักรอีกต่อไป เป็นความจริงแต่เพียงว่า มันได้แย่งชิงเอาความมีภูมิธรรมสูงส่วนใหญ่ ซึ่งก่อนนี้มีอยู่ไป โดยการคิดอ่านที่โหดร้ายและการกระทำอันร้ายกาจ ซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวถึงมาก่อนแล้ว”
- คลิกอ่านเพิ่มเติม : จุดอ่อนของคนไทย ในสายตาต่างชาติ นิสัยไทย
- คลิกอ่านเพิ่มเติม : ฝรั่งวิจารณ์คนไทย สมัยพระไชยราชาฯ ถึงร.5 เรียงนิสัยฮิต “ขี้เกียจ-ขี้ขลาด-ขาดคุณธรรม”
เอกสารอ้างอิง
หนังสือของนายปินโตได้เขียนและตีพิมพ์เป็นภาษาโปรตุเกส มีการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Travels Voyages and Adventures of Ferdinand Mendes Pinto กรมศิลปากรได้แปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. 2438 ในชื่อ “รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ 3”
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2563