จุดอ่อนของคนไทย ในสายตาต่างชาติ นิสัยไทย

ท่านเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างหรือไม่ ว่ามีฝรั่งหลายชาติหลายภาษานินทาคนไทยว่า “ขี้เกียจ ขี้ขลาด ขี้โกง” ข้อกล่าวหาดังกล่าวเราทุกคนยากที่จะยอมรับ เพราะเราดูตัวของเราเอง เราก็เป็นคนขยัน ทำมาหากินตัวเป็นเกลียว บุรพชนของเราเอาเลือดทาแผ่นดิน รักษาบ้านเมืองมาทุกยุคทุกสมัย เราเป็นชาวพุทธมีศีลธรรมประจำใจ แต่เราไม่อยากรู้บ้างหรือว่าทำไมต่างชาติจึงมองเราเช่นนั้น

คำกล่าวหานี้มีมาตั้งแต่เมื่อ ๕๐๐ ปีที่แล้ว ฝรั่งโปรตุเกสเริ่มเข้ามาเมืองไทยในรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช ก็เขียนหนังสือกล่าวว่า “การคิดอ่านที่โหดร้ายและการกระทำอันร้ายกาจ (ในการแย่งชิงอำนาจ) ได้แย่งชิงเอาความมีภูมิธรรมสูงส่วนใหญ่ไป” เมื่อ ๔๐๐ ปีที่แล้วมีชาวฮอลันดาเข้ามาตั้งห้างค้าขาย ก็กล่าวอย่างนี้ เมื่อ ๒๐๐ ปีที่แล้วเป็นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ชาวอังกฤษก็โจมตีอย่างหนัก ในรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ ชาวเยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ก็ยังยืนยันว่าขี้เกียจ ขี้ขลาด ขี้โกง เราจึงขอนำเสนอทัศนะของฝรั่งชาติต่างๆ ๕ ชาติจำนวน ๙ นาย มาสู่ท่านผู้อ่าน เพื่อช่วยกันพิจารณาว่า คำกล่าวหาของเขาฟังได้เพียงไร คนเหล่านี้คือ

Advertisement

๑. นายปินโต ชาวโปรตุเกส เข้ามาเป็นทหารรับจ้างอยู่ในกองทัพพระชัยราชาธิราช ในการทำสงครามกับรัฐเชียงใหม่ โดยนำปืนใหญ่ไปใช้รบเป็นครั้งแรกในเมืองไทย

๒. นายเซาเตน ชาวฮอลันดา เข้ามาเป็นหัวหน้าสถานีการค้าฮอลันดาในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม

๓. นายวันวลิต เป็นหัวหน้าสถานีการค้าสืบจากนายเซาเตน เขาเขียนประวัติศาสตร์ไทย นับเป็นฉบับแรกของประเทศนี้

๔. นายฟอร์บัง เป็นนายทหารฝรั่งเศส เข้ามารับราชการเป็นขุนนางไทย ได้ยศเป็นออกพระศักดิ์สงคราม คุมทหารที่ฝึกแบบยุโรป (มีปืนและหอกเป็นอาวุธประจำกาย) จำนวน ๒,๐๐๐ คน ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ธนบุรี

๕. นายยอห์นครอเฟิด คนไทยเรียก “กาลาผัด” เป็นทูตอังกฤษ มาในรัชกาลที่ ๒ ของกรุงรัตนโกสินทร์ เขาเขียนรายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษ เจาะลึกในทุกด้านของไทยเป็นจำนวน ๑๘๓ หัวข้อ

๖. หมอกิศลับ ชาวเยอรมัน เป็นมิชชันนารีฝ่ายโปรเตสแตนต์คนแรก ที่เข้ามาเมืองไทย เขารู้ภาษาไทยขนาดทำพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย เป็นฉบับแรก

๗. นายมัลล้อก พ่อค้าอังกฤษ มาในรัชกาลที่ ๔ เขามาสำรวจอย่างละเอียดในเรื่องทรัพยากร การค้า และเศรษฐกิจของเมืองไทย ตลอดทั้งความมั่นคง เป็นรายงานที่ยาวถึง ๑๒๒ หน้า

๘. นายมูโอต์ นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส เข้ามาในรัชกาลที่ ๔ เขาใช้เวลา ๓ ปี สำรวจภูมิประเทศและการดำรงชีวิตของคนไทย

๙. เซอร์เฮนรี นอร์แมน เป็นขุนนางอังกฤษ เข้ามาในรัชกาลที่ ๕ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ)

ชาวยุโรปทั้ง ๙ คนนี้ ล้วนแต่เป็นคนมีภูมิปัญาทุกคน (เว้นแต่ฟอร์บัง) ลงความเห็นว่าคนไทยนิสัยไม่ดี “ขี้เกียจ ขี้ขลาด ขี้โกง” ส่วนที่ดีก็มีเพียงความใจกว้างในการถือศาสนาและรู้จักพอเพียง ความเห็นของต่างชาติเหล่านี้เราจะได้นำเสนอไว้เบื้องต้น และจะได้นำความเห็นของปัญญาชนคนไทยที่รู้จักคนไทยดีมาเสนอในอันดับต่อไป ท่านที่กล่าวนี้คือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระมหากษัตริย์ที่คบหาสมาคมกับชาวบ้าน และเรียกเพื่อนของท่านว่า “เพื่อนแก้ว” ปิดท้ายรายการด้วยทัศนะของชาวต่างประเทศ และไต้ก๋งเรือประมงไทยในปี พ.ศ. ๒๕๔๙

ข้อเขียนที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ แม้จะไม่เป็นที่สบอารมณ์นัก แต่ก็มีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง เพราะคุณภาพของคนในชาติเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อการอยู่รอดของประเทศ บางทีจะเป็นโอกาสให้เข้าใจตัวเองว่า เรามีดีมีชั่วอย่างที่เขากล่าวหาอย่างไรบ้างหรือไม่ เมื่อพูดถึงนิสัยของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นแต่ละบุคคลหรือเป็นชนชาติโดยรวม ย่อมมีทั้งดีทั้งชั่วอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าใครมีมากมีน้อย นอกจากนั้นนิสัยที่สำคัญมิใช่มีเพียง ๓-๔ อย่าง ดังที่เขากล่าวเน้นนี้ แต่ยังมีอีกหลายอย่างนักที่มีอิทธิพลต่อความจำเริญรุ่งเรืองของคนและชุมชน นิสัยคนไทยนั้นดูยากและสลับซับซ้อน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินครั้งใหญ่ พ.ศ. ๒๔๗๕ ระบบราชาธิปไตยซึ่งอยู่กับคนไทยมา ๘๐๐ ปี ได้ถูกโค่นล้มโดย “คณะราษฎร” พลโทประยูร ภมรมนตรี แกนนำของคณะรัฐประหารได้นำตัวกรมพระนครสวรรค์วรพินิตซึ่งเป็นผู้รักษาพระนครไปเป็นตัวประกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม กรมพระนครสวรรค์ฯ ได้ทรงกล่าวหยันว่า

“นี่แกรู้จักคนไทยดีแล้วหรือ

แกจะต้องเผชิญปัญหาเรื่องคน

พระราชวงศ์จักรีครองเมืองมา ๑๕๐ ปีแล้ว

รู้ดีว่า คนไทยปกครองกันอย่างไร

คณะของแกจะเข็นครกขึ้นภูเขาไหวหรือ”

คณะราษฎรได้ประสบปัญหาเรื่องนิสัยคนไทยเข้าจริงๆ พลโทประยูรยอมรับในเวลาต่อมาว่า “เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านใบปลิวซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเขียน ก็รู้สึกเลือดขึ้นหน้า คำทำนายของกรมพระนครสวรรค์ฯ รับสั่งอยู่หยกๆ ว่า พวกแกจะต้องฆ่ากันตาย มันพลันเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว”

นิสัยคนไทยเป็นอย่างไรต้องดูกันนานๆ ดูให้ลึกลงไปถึงปู่ย่าตายาย ก็พอจะมองเห็นกรรมพันธุ์ได้บ้าง แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ยังมีกฎของโลกที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ มี “ความเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิรันดร” คนไทยวันนี้ย่อมไม่เหมือนคนไทยสมัยพระชัยราชาธิราชเสียทีเดียว


เอกสารอ้างอิง

“ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า”. โดย พลโทประยูร ภมรมนตรี. บรรณกิจ, ๒๕๑๘.

“บันทึกเรื่อง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕”. โดย พลโทประยูร ภมรมนตรี. บรรณกิจเทรดดิ้ง, ๒๕๑๗.