“พระแก้ว” เก่าแก่อายุนับร้อยปี พระพุทธรูปคู่บ้านเมืองอีสานแต่โบราณ

พระแก้วบุษยรัตน์ พระแก้ว อีสาน
พระแก้วบุษยรัตน์ วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร (ซ้าย) เดิมฐานองค์พระพุทธรุป และยอดเมาลีหุ้มเงินแท้ (ขวา) เปลี่ยนเป็นหุ้มทองคำ (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน)

“พระแก้ว” อายุเก่าแก่นับร้อยปี พระคู่บ้านเมืองอีสานมาแต่โบราณ ได้แก่ พระแก้วบุษยรัตน์ จังหวัดยโสธร พระแก้วบุษราคัม, พระแก้วไพฑูรย์, พระแก้วโกเมน, พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง และพระแก้ววัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พระแก้วบุษยรัตน์

พระแก้วบุษยรัตน์ เป็นพระพุทธรูปโปร่งแสงปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน ทำจากหินเขี้ยวหนุมาน หน้าตักกว้าง 1.9 นิ้ว สูง 2 นิ้ว ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร เดิมที่ฐานและยอดพระเมาลีขององค์พระพุทธรูปหุ้มด้วยเงินแท้ ต่อมา พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ (จิตร จิตตะยโศธร) ผู้ว่าราชการเมืองอุดรธานี มีศรัทธาบริจาคทองคำหนัก 10 บาท ใช้ช่างทำหุ้มฐานและพระเศียร

ประวัติความเป็นมาของพระแก้วบุษยรัตน์ มี 2 แนวทาง หนึ่งว่าเป็นสมบัติของเจ้าพระวิชัยราชขัตติยวงศา เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ได้รับมรดกจากบรรพบุรุษ นำมาประดิษฐานที่เมืองยโสธร ตั้งแต่ครั้งเป็นหมู่บ้านสิงห์ท่า เป็นพระพุทธรูปคู่กันกับ “พระแก้วบุษราคัม” เมืองอุบลราชธานี

อีกหนึ่งว่า สมัยรัชกาลที่ 3 เกิดสงครามระหว่างกรุงเทพฯ กับเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดี (ภายหลังเลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปปราบ

ในครั้งนั้นได้ตั้งกองทัพที่เมืองยโสธร และได้ความช่วยเหลือจากพระสุนทรราชวงศา (บุตร หรือท้าวฝ่าย) ร่วมรบจนมีชัยชนะ รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระเมตตาพระราชทานพระแก้วองค์นี้, เจ้านางเมืองเวียงจันทน์ และปืนใหญ่ 1 กระบอก เป็นรางวัล

“พระแก้ว” ในตระกูลแก้ว 9 ประการ 

พระแก้วบุษราคัม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3 นิ้ว แกะสลักจากบุษราคัมสีเหลือง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่อุโบสถ วัดศรีอุบลรัตนาราม (เดิมชื่อวัดศรีทอง) จังหวัดอุบลราชธานี

พระแก้วบุษราคัม พระแก้ว บุษราคัม
พระแก้วบุษราคัม (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน)

มีประวัติว่า เป็นสมบัติของ “เจ้าปางคำ” แห่งเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบน (หรือ หนองบัวลุ่มภู ปัจจุบันคือ จังหวัดหนองบัวลำภู) เมื่อพระวอ พระตา อพยพจากเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน จึงอัญเชิญมาด้วย ภายหลังพระวอถึงแก่อนิจกรรม

ต่อมาบุตรหลานของพระตา คือ ท้าวคำผง ขึ้นปกครองบ้านเมือง และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็น พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าเมืองอุบลฯ คนแรก ได้สร้าง วัดหลวง เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัมนี้

บรรพชนพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ยังถวาย พระแก้วไพฑูรย์ ให้เป็นสมบัติของวัดหลวงคู่กับพระแก้วบุษราคัม แต่ว่า เพี้ยกรมการเมืองอุบลราชธานี และเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี เกรงว่า ข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ที่มาตรวจราชการจะอัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์นี้ลงไปกรุงเทพฯ ด้วย จึงนำไปหลบซ่อน

ภายหลังเมื่อมีการสร้างวัดศรีทอง โดยเจ้าอุปฮาดโท บิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) จึงอัญเชิญพระแก้วทั้งสององค์ออกจากที่ซ่อน

พระแก้วไพฑูรย์
พระแก้วไพฑูรย์ (ภาพจาก วารสารสืบสาน)

โดย พระแก้วบุษราคัมได้ถวาย พระเทวธัมมี (ม้าว) พระสงฆ์ชาวอุบลฯ ที่เป็นศิษย์ใกล้ชิดรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงผนวช ที่กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีทองรูปแรก ขุนนางกรุงเทพฯ คงจะเกรงใจท่าน ไม่กล้าที่จะขอพระแก้วบุษราคัมไปจากเมืองอุบลราชธานี

ส่วนพระแก้วไพฑูรย์ ทายาทเจ้าพื้นเมืองอุบลราชธานีเก็บรักษา ต่อมาภายหลังจึงนำมาถวายพระครูวิลาสกิจจาทร เจ้าอาวาสวัดหลวง และประดิษฐานอยู่ที่วัดหลวงเรื่อยมา

นอกจากพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ คือ พระแก้วบุษราคัม และ พระแก้วไพฑูรย์ ยังมี พระแก้วโกเมน ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน โดยพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์เป็นพระพุทธรูปอัญมณีในตระกูลแก้วเก้าประการ (เพชร, มณี, มรกต, บุษราคัม, โกเมน, นิลกาฬ,  มุกดา, เพทาย และไพฑูรย์)

พระแก้วโกเมน
พระแก้วโกเมน (ภาพจาก วารสารสืบสาน)

แต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ จึงนำพระแก้วโกเมนไปรักษาไว้ที่วัดบ้านกุดละงุม อำเภอวารินชำราบ เมื่อการศึกสงบดีแล้ว จึงนำพระแก้วโกเมนมาประประดิษฐานไว้ที่วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย)

พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง 

ส่วน พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง เป็นพระพุทธรูปพระปางสมาธิสูง 17 เซนติเมตร หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล บันทึกไว้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ได้มาอย่างไรไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจน แต่ในช่วงปี 2485 ท่านเจ้าพระคุณได้ขึ้นมาจำพรรษาที่วัดสุปัฏนาราม (ที่ท่านสร้างขึ้น) และได้มอบพระแก้วขาวเพชรน้ำค้างให้เป็นสมบัติของวัดสุปัฏนาราม มีพระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์เป็นผู้รับมอบ

พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง
พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง (ภาพจาก วารสารสืบสาน)

พระแก้ววัดทุ่งศรีเมือง 

นอกจากพระแก้วสำคัญทั้ง 4 องค์ที่มีมาก่อนก่อตั้งเมืองอุบลแล้ว ยังมีพระแก้วสำคัญอีก 1 องค์ คือ พระแก้ววัดทุ่งศรีเมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดทุ่งศรีเมือง

มีพุทธลักษณะคล้ายพระแก้วมรกต องค์พระหน้าตักกว้าง 8 นิ้ว ฐานลักษณะงาช้าง 12 นิ้ว ฐานสูง 8 นิ้ว ความสูงจากพื้นถึงยอดเกศ 20 นิ้ว พระหัตถ์ 2 ข้าง วางซ้อนกันที่เพลา บนหัตถ์ขวามีรูปหล่อ “สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)” ประทับอยู่ [ในวงกลมสีแดงของรูปด้านล่าง] ส่วนที่ฐานด้านหลัง มีข้อความจารึกว่า “ขรัวโต วัดระฆัง สร้างให้ขรัวจาด ลูกรัก กลางปี 2406” [ในสี่เหลี่ยมสีแดง ของรูปด้านล่าง]

พระแก้ว วัดทุ่งศรีเมือง
พระแก้ว วัดทุ่งศรีเมือง (ภาพจาก วารสารสืบสาน)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม 2 จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

สุวิชช คูณผล. “พระแก้วสำคัญของเมืองอุบลฯ” ใน, วารสารสืบสาน วารสารคณะศิลปกรรมประยุกต์และการออกแบบ มาหวิทยาลัยอุบลราชธานี, ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (ตุลาคม 2549- พฤษภาคม 2550)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ตุลาคม 2563