บันทึกเหตุการณ์วันสวรรคต รัชกาลที่ 5 ของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล

รัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระปิยมหาราช"

วันสวรรคต รัชกาลที่ 5 ในบันทึกหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล

บันทึก วันสวรรคต รัชกาลที่ 5 นี้ คัดจากหนังสือ พระราชนิพนธ์และพระนิพนธ์. พิมพ์เนื่องในงานฉลองพระชันษา หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ครบ 84 พรรษา 17 กุมภาพันธ์ 2523 (ชวนพิมพ์, 2523)


 

Advertisement

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ข้าพเจ้าเจ็บเป็นบิดมีไข้ขึ้นอยู่ที่วังประตู สามยอด กําลังนอนหลับสนิท และสะดุ้งตื่นขึ้นด้วยได้ยินเสียงผู้ชายร้องไห้อย่างเต็มเสียง ข้าพเจ้าตกใจ เพราะไม่เคยได้ยินผู้ชายร้องไห้ แล้วก็นึกว่าฝันไป สักครู่ได้ยินเสียงนั้นอีก และคราวนี้จําได้ว่าเป็นพระสุรเสียงของเสด็จพ่อ ข้าพเจ้าก็ยิ่งตกใจมากขึ้น จึงหันไปปลุกแม่นมของข้าพเจ้าซึ่งนอนอยู่ข้าง ๆ ถามเขาว่า “ได้ยินอะไรไหม” นมแจ๋วลุกขึ้นนั่งแล้ว ตอบว่า “ได้ยินค่ะ อย่าตกพระทัยไป เสียงทางท้องพระโรงน่ะ” แล้วเขาก็หันไปดูนาฬิกา ข้าพเจ้ามองตามเขาไปจึงเห็นว่าเวลา 2 น. เศษ

ทันใดนั้นได้ยินเสียงคนขึ้นบันไดมาทางเฉลียงที่เรานอน ข้าพเจ้าลุกขึ้นนั่ง ก็พอดีเห็นเสด็จพ่อทรงยืนอยู่ทางปลายมุ้ง ตรัสว่า “พระเจ้าอยู่หัวสวรรคตเสียแล้วละลูก” แล้วก็ทรงพระกันแสงโฮใหญ่ ข้าพเจ้าก็ร้องไห้โฮตามไปด้วย แล้วท่านก็เสด็จกลับไปทางท้องพระโรง ทรงพระดําเนินไปช้า ๆ เหมือนคนหมดแรง ข้าพเจ้านั่งตะลึงมองตามไปด้วยไม่รู้ว่าจะทําอะไร จะเป็นด้วยเด็กเกินกว่าจะเข้าใจคําว่าสวรรคตหรือจะเป็นเพราะกําลังไม่สบายก็รู้ไม่ได้ ข้าพเจ้ารู้สึกแต่ว่าสงสารเสด็จพ่อเหลือกําลัง ลงท้ายนมแจ๋วก็บอกให้ข้าพเจ้านอนเสีย เพราะกลัวจะเจ็บมากไป

รุ่งขึ้นเช้ามืด ทุกคนตื่นด้วยนอนไม่หลับ ราว 7 น. เศษ หม่อมเจิมแม่เลี้ยงข้าพเจ้าวิ่งขึ้นบันไดมาตะโกนเรียกว่า “ท่านหญิงคะ ลงมาช่วยกันหุ้มตราของเสด็จพ่อเร็ว หม่อมฉันทําไม่ทันดอกคนเดียว” ข้าพเจ้าลืมเจ็บวิ่งลงบันไดตามไปช่วยเย็บผ้าย่นพันทุกข์หุ้มทั้งเหรียญทั้งตราทุก ๆ ดวง ในเวลากําลังทําเครื่องเต็มยศใหญ่อยู่นั้น มีพวกข้าราชการไปมาเฝ้าเสด็จพ่ออยู่ตลอดเวลา บางคนมาฟังคําสั่ง บางคนมาฟังว่าสวรรคตจริง ๆ หรือ เพราะไม่มีใครทราบข่าวว่าทรงพระประชวรมากแต่อย่างไร แม้เสด็จพ่อเองก็เพิ่งทรงทราบว่าทรงพระประชวรมาก เมื่อวันศุกร์ก่อนเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล

เสด็จพ่อทรงเล่าว่า พระองค์ท่านเสด็จไปตรวจราชการทางใต้เสียวันหนึ่ง กลับมาถึงกรุงเทพฯ บ่ายวันอาทิตย์ จึงเลยไปเฝ้าที่พญาไท ซึ่งเป็นที่เสด็จประพาสและทรงทํานากันอยู่ในเวลานั้นทุก ๆ เย็น เมื่อเสด็จไปถึงก็เสด็จขึ้นเสียแล้วไม่ทันได้เฝ้า เขาทูลว่า เสด็จขึ้นเร็วเพราะไม่ทรงสบายพระนาภี เสด็จพ่อจึงเสด็จตามเข้าไปฟังพระอาการที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ได้ความว่า พระนาภิเสียและเสวยยาถ่ายแล้ว ไม่มีพระอาการมากมายอันใด ก็เป็นอันเบาพระทัยและเสด็จกลับวัง

รุ่งขึ้นบ่ายเสร็จเวลากระทรวงแล้วก็เสด็จไปยังพระที่นั่งอัมพรอีก แต่วันนี้มหาดเล็กมาทูลว่า วันนี้เสด็จออกไม่ได้ โปรดให้เจ้านายรวมทั้งเสด็จพ่อเข้าไปเฝ้าข้างใน เมื่อเข้าไปเฝ้าก็ประทับตรัสคุยสนุกสนานดีตามเคย เป็นแต่ทรงเล่าพระอาการว่า พระนาภีเสียเสวยน้ำมันละหุ่งไม่เดินเห็นจะเป็นด้วยยาเก่าไปจะต้องเสวยใหม่ วันอังคารก็เข้าไปเฝ้าอย่างวันก่อน ครั้นรุ่งขึ้นเย็นวันพุธ พอเสด็จเข้าไปถึงพระที่นั่งก็ได้ทรงทราบว่าไม่ทรงพระสบาย เพราะยาถ่ายเดินมากไป จนทรงเพลียถึงต้องบรรทมในพระที่ และมีพระราชดำรัสให้ตามสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสาวภาผ่องศรี ขึ้นมาถวายการพยาบาล เป็นอันเสด็จพ่อก็ไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าและเลยเสด็จอยู่ในพระที่นั่งชั้นล่างกับเจ้านายผู้ใหญ่ มีสมเด็จวังบูรพาภิรมย์ และกรมหลวงนเรศวร์ฯ กรมหลวงเทววงศ์ฯ เป็นต้น เพื่อควบคุมหมอและคอยฟังพระอาการ

คนอื่น ๆ ไม่มีใครตกใจ เพราะเป็นเรื่องพระนาภีเสียเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระโรคประจำพระองค์ แต่เรื่องพระวักกะ (ไต) พิการ ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องเสด็จไปรักษาพระองค์ในยุโรปครั้งที่ 2 ตามหมอสั่ง (ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450 นี้ ได้มีรายงานแพทย์ชาวยุโรปลงสันนิษฐานว่า “มีพระโลหิตไม่บริบูรณ์และอ่อนพระกำลัง ด้วยอำนาจพระธาตุละลายพระอาหารหย่อน และมีพระสิงฆานิกาออกทางพระศอ และพระนาสิกเรื้อรังมา และด้วยอำนาจพระอุตสาหะจัด ซึ่งทำไม่ให้บรรทมหลับหลายปีแล้ว”) เพราะในสมัยนั้นยังไม่มียาฉีดต่าง ๆ เช่นสมัยนี้ หมอสั่งไว้แต่ว่าให้ระวังอย่าให้ทรงมีไข้ได้เพราะกลัวไตจะซ้ำเติม

มีคุณย่าของข้าพเจ้าคนเดียวที่ท่านให้คนวิ่งดูอยู่เสมอว่า เสด็จพ่อเสด็จกลับจากในวังแล้วหรือยัง จนพวกเราเห็นแปลก มารู้ภายหลังว่า เพราะท่านเคยพบคำว่าสวรรคตมาแล้วนั่นเอง ส่วนพวกเราไม่เคยรู้จัก ซ้ำสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็เสด็จอยู่ในราชสมบัติมาตั้ง 42 ปี จึงเพลินจนไม่มีใครนึกถึงคำว่าสวรรคต

ถึงเช้าวันศุกร์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสาวภาผ่องศรีเชิญเสด็จพ่อให้ไปเฝ้าที่หน้าม่าน (ข้างหน้าและข้างในต่อกัน) แล้วตรัสบอกว่า “พระอาการอื่น ๆ ดีขึ้นหมดทุกอย่าง แต่หม่อมฉันไม่ชอบเรื่องลงพระบังคนเบา วานนี้ตลอดวันมีราว 1 ช้อนโต๊ะ จึงเชิญเสด็จท่านมาทูลจะได้คิดแก้ไข” เสด็จพ่อตกพระทัยเป็นครั้งแรก รีบทูลลาว่าจะต้องเรียกประชุมหมอ แล้วก็กลับไปทูลเจ้านายที่ห้องแป๊ะเต๋ง จัดการเรียกหมอที่ว่าดีในเวลานั้นหมดมาประชุมตกลงกันถวายยาฉีดถวายสวน ทุกอย่างที่จะพึงทำได้ในเวลานั้นแต่ไม่มีผล คงได้พระบังคนเบาราว 1 ช้อนกาแฟ ซึ่งน้อยลงไปอีก

พอถึงเวลาค่ำ หมอก็พร้อมกันทูลเจ้านายว่า ถ้ามีราชการอันใดที่จะต้องกราบทูลก็ให้กราบทูลเสียในตอนเช้าพรุ่งนี้ เพราะถ้าถึงเย็นจะเข้าโคม่า (ซึม) ที่ประชุมปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า ไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องกราบบังคมทูลรบกวน แล้วสมเด็จวังบูรพาภิรมย์ก็ตรัสสั่งให้เสด็จพ่อไปเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเข้ามายังพระราชฐานแต่เช้า

รุ่งขึ้นวันเสาร์ราว 2 น. เสด็จพ่อเสด็จตรงไปยังวังสราญรมย์ ตรัสเล่าว่า สมเด็จพระบรมฯ ยังไม่บรรทมตื่น ทรงพบหม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ จึงตรัสบอกให้ปลุกพระบรรทมเดี๋ยวนั้น แล้วพากันเสด็จเข้าไปยังพระราชวังสวนดุสิต ถึงตอนบ่าย ข่าวประชวรมากก็รู้กันไปทั่วแล้ว และแทบทุกคนก็พากันไปฟังพระอาการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เวลาราวบ่าย 4 โมง พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ (ซึ่งทรงเป็นหมอพระองค์หนึ่ง) ขอเข้าไปดูพระอาการ พอถึงพระองค์ท่านก็ยกพระหัตถ์ขึ้นจับพระชีพจรที่พระบาท สมเด็จพระพุทธเจ้า หลวงหลับพระเนตรอยู่ ตรัสถามว่า “นั่นหมอหรือ” เป็นคำหลังแล้วมิได้ตรัสต่อไปอีกเลย ค่อย ๆ ทรงพระบรรทมหลับไป ๆ จนหมดพระอัสสาสะเมื่อเวลา 24.45 นาที พระบรมศพมิได้มีซูบซีดผิดปกติกว่าเวลาทรงพระบรรทมหลับตามปกติแต่ประการใด

กําหนดสรงน้ำพระบรมศพที่พระนั่งอัมพรสถานในที่พระบรรทม แล้วเชิญพระบรมศพลงพระโกศทอง เชิญเสด็จขึ้นพระยานุมาศเคลื่อนกระบวนจากพระราชวังดุสิตไปสู่พระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง เวลาค่ำ 7 น. เศษ

เสด็จพ่อทรงสั่งราชการ พลางทรงพระกันแสงพลางอยู่ที่วังตอนเช้าวันอาทิตย์ พวกพี่น้องของข้าพเจ้าเขาก็พากันกลับเข้าวังหมดแทบทุกคน ข้าพเจ้ายังมีไข้เข้าไปช่วยทำงานในวังไม่ได้ พอเสด็จพ่อทรงเครื่องเต็มยศใหญ่เข้าไปสวนดุสิตแล้ว ข้าพเจ้าก็ไปคอยเฝ้าพระบรมศพที่ริมถนนราชดำเนินแถวโรงเรียนนายร้อยทหารบก พวกราษฎรเอาเสื่อไปปูนั่งกันเป็นแถวตลอดสองข้างทาง จะหาหน้าใครที่มีแม้แต่ยิ้มก็ไม่มีสักผู้เดียว ทุกคนแต่งดำน้ำตาไหลอย่างตกอกตกใจด้วยไม่เคยรู้รส อากาศมืดคลุ้มมีหมอกขาวลงจัดเกือบถึงหัวคนเดินทั่วไป ผู้ใหญ่เขาบอกว่านี่แหละคือหมอกธุมเกต ที่ในตำราเขากล่าวถึงว่า มักจะมีในเวลาที่มีเหตุใหญ่ ๆ เกิดขึ้น

วันสวรรคต รัชกาลที่ 5
กระบวนพระบรมราชอิสริยยศอัญเชิญพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรังคารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ออกจากบริเวณพระเมรุมาศทางทิศตะวันออก (ภาพจาก FB: Pirasri Povatong)

ไม่ช้าก็ได้ยินเสียงปี่ในกระบวน เสียงเย็นใสจับใจมาแต่ไกล ๆ แล้วได้ยินเสียงกลองรับเป็นจังหวะใกล้เข้ามา ๆ ในความมืดเงียบสงัด ที่มืดเพราะต้องตัดสายไฟฟ้าบางตอนให้พระบรมโกศผ่านได้ และที่เงียบก็เพราะไม่มีใครพูดจากันว่ากระไร ข้าพเจ้าเคยได้ยินเสียงปี่เสียงกลองมาแล้ว เคยได้เห็นแห่พระศพเจ้านายมาแล้วหลายองค์ แต่คราวนี้ตกใจสะดุ้งทั้งตัวเมื่อเห็นพระมหาเศวตฉัตรกั้นมาบนพระบรมโกศสีขาวกับสีทองเป็นสง่า ทำให้รู้ทันทีว่า พระบรมศพ แล้วก็ร้องไห้ออกมาโดยไม่ทันรู้ตัว

เหลียวไปดูทางอื่นเห็นแต่แสงไฟจากเทียนที่จุดถวายสักการะอยู่ข้างถนนแวม ๆ ไปตลอด ในแสงเทียนนั้นมีแต่หน้าเศร้า ๆ หรือปิดหน้าอยู่ เราหมอบลงกราบกับพื้นปฐพี พอเงยหน้าก็เห็นทหารที่ยืนถือปืนเอาปลายลงดิน ก้มหน้าลงบนปืนอยู่ข้างหน้าเราเป็นระยะไป ตลอด 2 ข้างถนนนั้น น้ำตาของเขากำลังหยดลงแปะ ๆ อยู่บนหลังมือของเขาเอง ทหารผู้อยู่ในยูนิฟอร์มอันแสดงว่ากล้าหาญ ยังร้องไห้เพราะเสียดายประมุขอันเลิศของเขา

เสด็จพ่อตรัสเล่าว่า ได้โทรเลขไปตามหัวเมืองให้ระวังเหตุการณ์ในตอนเปลี่ยนแผ่นดิน ได้ตอบมาทุกทางว่า ภายใน 7 วันแต่วันสวรรคตนั้น ไม่มีเหตุการณ์โจรผู้ร้ายเกิดขึ้นเลยสักแห่งเดียวในพระราชอาณาจักร ฉะนั้น จึงจะต้องเข้าใจว่า แม้แต่โจรก็ยังเสียใจหรือตกใจในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราชของเรา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 ตุลาคม 2563