โรงแรมรัตนโกสินทร์ และแฝดคนละฝา สร้างเสร็จพร้อมกัน และเปิดวันเดียวกัน

โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน
ภาพมุมสูงโรงแรมรัตนโกสินทร์ ริมถนนราชดำเนินกลาง (ภาพจาก หนังสือกรุงเทพฯ 2489-2539)

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า โรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นโรงแรมหนึ่งที่อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งสำคัญมาหลายครั้ง แล้วโรงแรมแห่งนี้เองมีประวัติความเป็นมาอย่างไร เราจะไปดูกัน

โรงแรมรัตนโกสินทร์ เกิดขึ้นจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 7 เพื่อเป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมืองในสมัยนั้น ด้วยยังขาดโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีสะดวกสบายแก่ผู้เดินทาง

Advertisement

แต่ดำเนินการก่อสร้างเริ่มขึ้นสมัยรัชกาลที่ 8 ระหว่างปี 2484-2485 มีพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช ร. สุขยางค์) สถาปนิกชาวไทยเป็นผู้ออกแบบ ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบประยุกต์ศิลปะไทยกับตะวันตก ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบทันสมัย ซึ่งเป็นที่นิยมกันในยุคนั้น และบริษัท คริสเตียนนีแอนด์ นีลเส้น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ก่อสร้าง

โรงแรมรัตนโกสินทร์ ยังมีแฝดคนละฝา ที่ก่อสร้างขึ้นมาพร้อมกัน และเปิดกิจการวันเดียวกัน

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเจ้าของ ตั้งเป้าหมายการก่อสร้างให้เป็นโรงแรมห้าดาวในเขตพระนคร โดยในระยะแรกจะให้ชื่อว่า โรงแรมสุริยสัตย์ เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ พลตรีสันต์ สุริยสัตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในขณะนั้น และให้คล้องกับ โรงแรมสุริยานนท์ ที่ตั้งอยู่หัวถนนฝั่งสะพานผ่านฟ้าลีลาศ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โรงแรมมาเจสติก) ซึ่งเป็นของสำนักงานทรัพย์สินฯ เช่นกัน โดยโรงแรมทั้ง 2 แห่งก่อสร้างเสร็จ และทำพิธีเปิดพร้อมกัน คือ วันที่ 24 มิถุนายน 2486

แต่พลตรีสันต์ สุริยสัตย์ ปฏิเสธการใช้ชื่อดังกล่าว จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเปลี่ยนชื่อโรงแรมมาเป็น โรงแรมรัตนโกสินทร์

บัตรเชิญพิธีเปิดโรงแรมรัตนโกสินทร์ และโรงแรมสุริยานนท์-ภาพของคุณประวิทย์ สังข์มี (อ้างอิงจาก สูจิบัตรนิทรรศการผสานวัย ร่องรอยราชดำเนิน)

ปี 2497 สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นอยู่ ให้บริษัท แสนสุรัตน์ จํากัด ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นอยู่ด้วย เช่าดำเนินกิจการต่อ ในอัตราค่าเช่า 10,000 บาท/เดือน ภายหลังบริษัทไม่สามารถดําเนินธุรกิจของโรงแรมต่อไปได้ ปี 2513 บริษัท อิทธิผล จํากัด เข้าดําเนินงานต่อจนถึงปัจจุบัน

นอกจากเป็นหนึ่งในโรงแรมยุคบุกเบิกของประเทศแล้ว โดยที่มาผ่าน เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, พฤษภาทมิฬ 35  ฯลฯ โรงแรมรัตนโกสินทร์เป็นสถานที่ปฐมพยาบาล, เป็นที่หลบภัยของนักข่าว, เป็นที่เล่าลือว่ามีการยิงกันตาย ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ภาคภูมิ ดิสนีเวทย์. โครงการปรับปรุงออกแบบตกแต่งภายในโรงแรมรัตนโกสินทร์, สารนิพนธ์หลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต มัณฑนศิลป์ (ออกแบบตกแต่งภายใน) คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2549

เพจ Royal Rattanakosin Hotel

เรื่องเล่า “รัตนโกสินทร์” โรงแรมคู่ประวัติศาสตร์ “พระราชพิธี-การเมือง” 9 ตุลาคม 256,  https://www.prachachat.net


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กันยายน 2563