เผยแพร่ |
---|
การรัฐประหาร 2490 น.อ.กาจ กาจสงคราม หรือ “หลวงกาจสงคราม” หนึ่งในแกนนำสำคัญ ได้ดำเนินการลับๆ ในจัดเตรียมร่างรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้า เมื่อการรัฐประหารสำเร็จเรียบร้อย จึงนำร่างรัฐธรรมดังกล่าวออกจากที่ซ่อน เพื่อนำไปให้ผู้แทนพระองค์ลงนาม และประกาศใช้ต่อไป
คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ประกอบด้วย 1. หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี 2. หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ 3. พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ อธิบดีศาลฎีกา 4. พระยารักตประจิตธรรมจํารัส อดีตกรรมการศาลฎีกา 5. พ.อ. สุวรรณ์ เพ็ญจันทร์ เจ้ากรมพระธรรมนูญทหารบก 6. ร.อ.ประเสริฐ สุดบรรทัด 7. นายเลื่อน พงษ์ โสภณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ 8. นายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์
เนื่องจากการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการลักลอบร่างเพื่อเตรียมใช้หลังการรัฐประหาร เมื่อจัดทำเรียบร้อย น.อ.กาจ กาจสงคราม จึงนําต้นฉบับที่ร่างไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มน้ำที่บ้านตนเองเพื่อมิให้ใครเห็น
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเป็นฉบับที่ 4 นับตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา จึงเรียกกันว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับใต้ตุ่มส่วน น.อ. กาจ กาจสงคราม ก็ได้ฉายาว่า นายพลตุ่มแดง ซึ่งมีผู้เขียนไว้ในเรื่อง “อะไรคือหัวใจของรัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” ไว้ใน หนังสืออันเป็นอนุสรณ์ของ น.อ. กาจ ผู้เป็นเจ้าของตุ่มว่า
“ในเมื่อใครๆ ก็ให้ฉายานามท่านว่า นายพลตุ่มแดง เนื่องจากได้แอบเขียนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้น เมื่อก่อนทํารัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 เก็บซ่อนไว้ใต้ตุ่มน้ำสามโคก ซึ่งมีลักษณะเป็นตุ่มดินเผาสีแดง จนเรียกย่อว่า ‘ใต้ตุ่มแดง’…”.
หลังจากการรัฐประหาร 2490 เป็นที่เรียบร้อย น.อ.กาจ จึงนำร่างรัฐธรรมนูญออกจากใต้ตุ่มที่ซ่อนไว้ แล้วให้ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์– บุตรเขย พาคณะรัฐประหารเข้าเฝ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ที่วังถนนวิทยุ เพื่อให้ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2490 (ฉบับชั่วคราว) หลังจากนั้นจะส่งหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็นผู้แทนเดินทางไปกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบที่สวิตเซอร์แลนด์ต่อไป
แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การลงนามประกาศใช้ รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารนี้ พระยามานวราชเสวี ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์อีกคนหนึ่งไม่ยอมลงนามด้วย ทําให้รัฐธรรมนูญอาจมีปัญหาในการบังคับใช้ เพราะตามการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ของรัฐบาลชุดที่แล้วนั้น ที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติตั้งคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นประธาน และพระยามานวราชเสวี โดยมีข้อตกลงว่า ในการลงนามในเอกสารราชการนั้น ต้องให้ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ทั้ง 2 คน เป็นผู้ลงนาม อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ก็ประกาศใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2490
หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ไม่นาน พล.ร.ต. ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกอํานาจไปหมาดๆ ได้วิจารณ์ลงหนังสือพิมพ์ การเมืองรายสัปดาห์ ฉบับประจําวันที่ 29 พฤศจิกายน 2490 ว่า “รัฐธรรมนูญใหม่นี้เป็นเรื่องถอยหลังเข้าคลอง…”
ขณะที่ นายเอดวิน สแตนตัน (Edwin F. Stanton) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศไทย ก็ได้วิจารณ์ว่า การรัฐประหารขับไล่รัฐบาล และสาระในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เป็นการหมุนเข็มนาฬิกาถอยหลัง
ส่วนตัว “หลวงกาจ” เองนั้น หลังการรัฐประหาร แล้วก็ได้ใช้รูปตุ่มสีแดงประกอบเลขวันที่ 8 พ.ย. 90 เป็นสัญลักษณ์ประจําตัวด้วยความภาคภูมิใจตลอดมา
คลิกอ่านเพิ่มเติม : สาเหตุ “รัฐประหาร 2490” จากปัญหานานัปการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ
คลิกอ่านเพิ่มเติม : รัฐประหาร 2490 สั่งปลดนายตำรวจสันติบาล โทษฐาน “ไม่รู้กาลเทศะ”
คลิกอ่านเพิ่มเติม : แกนนำรัฐประหาร 2490 น้อยใจถูกซ้ำเติม หลังกองทัพสิ้นท่าในสงครามโลกครั้งที่ 2
ข้อมูลจาก
กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 21 พฤศจิกายน 2562
เผยแพร่ในระบบออนไลนครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2563