เผยแพร่ |
---|
พลโท พลอากาศโท กาจ กาจสงคราม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “หลวงกาจสงคราม“ กล่าวถึงความอัปยศหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ของกองทัพไทย ซึ่งนอกจากจะไม่ได้รับการต้อนรับในฐานะวีรบุรุษแล้ว ยังถูกปลดประจำการกลางอากาศ เนื้อหาส่วนหนึ่งมีว่า
“หลังจากที่เราถอนกำลังจากรัฐฉาน เราได้รับความทุกข์ทรมาณอย่างยิ่ง ได้มีคำสั่งให้ปลดปล่อยนายทหารออกจากประจำการ นายทหารบางคนก็ได้รับคำสั่งให้ปลดปล่อยขณะเดินทางจากลำปางไปเชียงราย บางคนก็ถูกโจมตีและถูกฆ่าตายบนรถโดยสาร ส่วนบางคนก็ได้รับบาดเจ็บและไปตายที่กรุงเทพฯ…กองทัพทั้งหมด กองทัพพายัพ พากันถอยทัพอย่างไปเป็นระเบียบ ประชาชนมองดูทหารไทยราวกับเป็นเชลยศึกญี่ปุ่น
…มีประชาชนจำนวนมากเข้าโจมตีทัพไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม พลทหารสวมเครื่องแบบที่ขาดวิ่น โดยที่ไม่สามารถหาชุดใหม่เปลี่ยนได้ วินัยทหารหย่อนยานเพราะหน่วยทหารต่างๆ เหลือแต่ชื่อเท่านั้น พวกทหารพากันเหน็ดเหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจ ประชาชนต่างเชื่อกันว่าไม่มีประโยชน์ที่จะมีกองทัพอีกต่อไปแล้ว”
การถอนทัพก็มิได้เป็นระเบียบเนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตรยืนกรานให้ทหารญี่ปุ่นถอนทัพทางรถไฟโดยทันที ทำให้ทหารไทยที่เตรียมพร้อมอยู่ก่อนต้องหลีกทาง หลายคนจึงเลือกเดินทางกลับบ้านเองตามมีตามเกิด
ความขุ่นเคืองดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ซึ่งมี “หลวงกาจสงคราม” ร่วมเป็นหนึ่งในแกนนำด้วย
ข้อมูลจาก :
“การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” โดย ทักษ์ เฉลิมเตียรณ และขอบคุณภาพประกอบจากเพจ : ห้องวิจัยประวัติศาสตร์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2561