การช่วงชิงอำนาจปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ จากคำให้การลูกเรือสำเภาจีน

กองเรือ เรือสำเภา จีน
กองเรือสำเภาจีน ภาพจาก สารานุกรมพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

หลักฐานที่บันทึกเหตุการณ์การช่วงชิงอำนาจในช่วงปลายรัชสมัย “สมเด็จพระนารายณ์” นอกจากพงศาวดารไทย บันทึกของ VOC (ฮอลันดา) และฝรั่งเศสแล้ว อีกหนึ่งหลักฐานที่สำคัญหนึ่งคือ “คำให้การลูกเรือสำเภาจีน”

คำให้การลูกเรือสำเภาจีนเป็นหลักฐานของญี่ปุ่น โดยเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นได้ทำการจดบันทึกเหตุการณ์จากคำให้การของลูกเรือสำเภาจีนจากอยุธยาที่เข้าไปค้าขายที่นางาซากิ ซึ่งเรือสำเภาจีนแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ หนึ่ง เป็นเรือสำเภาจีนที่เข้ามาซื้อสินค้าอยุธยาไปขายญี่ปุ่น และสอง เป็นเรือสำเภาจีนที่กษัตริย์อยุธยาว่าจ้างให้ไปค้าขาย

ฟอลคอนทรยศ

คำให้การลูกเรือสำเภาจีนของเรือหมายเลข 150 (4 สิงหาคม พ.ศ. 2231) เรือหมายเลข 152 (4 สิงหาคม พ.ศ. 2231) และเรือหมายเลข 81 (10 สิงหาคม พ.ศ. 2233) ให้ข้อมูลว่า คอนสแตนติน ฟอลคอน (บ้างเรียก ออกพระกำแหง) วางแผนยึดอำนาจโดยการนำทหารอังกฤษเข้ามา แต่มีผู้ล่วงรู้แผนการเสียก่อน เพราะพบม้วนกระดาษที่มีคนนำไปติดไว้บนต้นไม้ จึงมีคนนำไปถวายสมเด็จพระนารายณ์ ทำให้พระองค์ทรงสงสัย จึงรับสั่งให้ฟอลคอนมาเข้าเฝ้า แล้วให้ทหารจับกุมตัวทันที

เหตุที่คำให้การลูกเรือสำเภาจีนบันทึกว่า ฟอลคอนนำทหารอังกฤษเข้ามานั้นเพราะมีความเข้าใจผิดแต่แรกถึงประวัติของฟอลคอนว่า เขาเป็นชาวอังกฤษ เพราะเดินทางมายังอยุธยาพร้อมเรืออังกฤษ จึงเข้าใจว่าเขาเป็นชาวอังกฤษ เมื่อฟอลคอนนำทหารฝรั่งเศสเข้ามา ก็เข้าใจว่าเป็นทหารอังกฤษเช่นเดียวกัน ทั้งที่ไม่ใช่

ส่วนคำให้การลูกเรือสำเภาจีนของเรือหมายเลข 81 ให้ข้อมูลว่า ฟอลคอนวางแผนก่อกบฏ เมื่อเห็นว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวงหนัก ไม่มีทางหายประชวร จึงเกิดความทะเยอทะยาน แต่ พระเพทราชา (บ้างเรียก ออกพระวีรชัย) ล่วงรู้แผนการดังกล่าว จึงตามตัวฟอลคอนมาที่พระราชวัง ออกอุบายว่าสมเด็จพระนารายณ์จะปรึกษาราชการ แต่เมื่อฟอลคอนมาแล้วจึงถูกจับประหารชีวิต

ออกพระเพทราชา

คำให้การลูกเรือสำเภาจีนของเรือหมายเลข 51 (20 สิงหาคม พ.ศ. 2232) ให้ข้อมูลว่า พระเพทราชาเป็นผู้ยึดอำนาจ โดยอธิบายว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีแต่พระราชธิดา ไม่มีพระราชโอรส และมีพระอนุชาสองพระองค์ จึงรับพระปีย์ บุตรชายของเสนาบดีเป็นพระราชบุตรบุญธรรม ทั้งขุนนางและประชาชนต่างคิดว่า สมเด็จพระนารายณ์จะทรงให้พระราชธิดาสมรสกับพระอนุชาองค์ใดองค์หนึ่ง แล้วจะทรงตั้งขึ้นเป็นรัชทายาท แต่การก็ไม่เป็นดังนั้น

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรหนัก อำนาจตกอยู่ในมือสามคนคือ พระเพทราชา, ฟอลคอน และพระปีย์ ฝ่ายพระเพทราชาเมื่อเห็นว่าสมเด็จพระนารายณ์ที่พระอาการดีขึ้น จึงนำกำลังทหารกว่า 10,000 คน มาล้อมพระราชวังอย่างเปิดเผย แล้วเข้ายึดอำนาจและบริหารราชการแผ่นดินตามความพอใจ สมเด็จพระนารายณ์ทรงไม่สามารถทำอะไรได้เพราะประชวร และประชาชนก็ไม่กล้าต่อต้านพระเพทราชา เพราะรู้ว่ามีอำนาจอยู่ในมือแล้ว

สอดคล้องกับคำให้การลูกเรือสำเภาจีนของเรือหมายเลข 81 (10 สิงหาคม พ.ศ. 2233) ให้ข้อมูลว่า พระเพทราชาเป็นคนที่มีอำนาจมาตั้งแต่ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์จะสวรรคต โดยเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เนื่องจากสมเด็จพระนารายณ์ทรงไร้รัชทายาท

คำแก้ต่าง

คำให้การลูกเรือสำเภาจีนของเรือหมายเลข 86 (22 สิงหาคม พ.ศ. 2233) ให้ข้อมูลที่ดูเหมือนว่า จะเป็นเรือของพระเพทราชาส่งไปญี่ปุ่นเพื่อแก้ต่างข้อมูลก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ มีรายละเอียดว่า

“สองปีที่ผ่านมาไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่สยาม (อยุธยา) ปีก่อนปีที่แล้วเกิดสงครามขึ้น ซึ่งเรือก่อนหน้านี้คงให้รายละเอียดแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า กษัตริย์องค์ปัจจุบันของสยาม ซึ่งเคยเป็นขุนนางที่มีอำนาจมากในสมัยกษัตริย์องค์ก่อน (สมเด็จพระนารายณ์) เป็นกบฏแย่งชิงราชสมบัติจากกษัตริย์องค์ก่อนที่ประชวร

หลังจากสืบทราบว่า ขุนนางชั้นสูงชาวอังกฤษคิดทรยศกษัตริย์เป็นความจริงว่ากษัตริย์องค์ก่อนไม่มีรัชทายาท แม้พระองค์มีพระโอรสและพระธิดาอย่างละองค์ แต่พระโอรสประชวรหนักไม่สามารถ ปกครองอาณาจักรได้ เมื่อกษัตริย์ทรงมีสุขภาพทรุดโทรม ก็ทรงเรียกขุนนางชั้นสูงคนนั้น (พระเพทราชา) ให้เข้าเฝ้าใกล้ที่พระบรรทม และรับสั่งให้อภิเษกกับพระธิดาและขึ้นเป็นกษัตริย์สยาม

เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นขณะที่กษัตริย์พระองค์ก่อนมีพระชนม์อยู่ ขุนนางชั้นสูงน้อมรับข้อเสนอนี้และได้พยายามหาทางกำจัดขุนนางชั้นสูงชาวอังกฤษ (ฟอลคอน) วันหนึ่งเขาได้เชิญขุนนางชั้นสูงชาวอังกฤษมาในพระราชวัง โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของกษัตริย์และได้ประหารขุนนางชั้นสูงชาวอังกฤษเสีย

ด้วยเหตุนี้ประชาชนในอาณาจักรและเมืองขึ้นจึงยอมรับกษัตริย์องค์ใหม่โดยไม่มีการต่อต้าน เรา (ผู้ให้การ) ต้องการเน้นประเด็นนี้ เพราะเกรงว่าจะได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากเรือที่เข้ามาก่อนหน้านี้ และไม่ทราบสถานการณ์ที่ถูกต้องนับจากเหตุการณ์นี้สยามก็สงบสุขตลอดมา”

คำแก้ต่างจากคำให้การลูกเรือสำเภาจีนนี้ยังมีข้อมูลคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เรื่องสมเด็จพระนารายณ์มีพระโอรสองค์หนึ่งที่ประชวรหนัก ซึ่งไม่เคยมีปรากฏมาก่อน ส่วนการต่อต้านในพระราชอาณาจักร กลับมีปรากฏในคำให้การลูกเรือสำเภาจีนก่อนหน้านี้ ของเรือหมายเลข 46 (18 กรกฎาคม พ.ศ. 2232) ระบุว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต ขุนนางท้องที่ต่าง ๆ ไม่ยอมรับอำนาจจึงก่อกบฏ พระเพทราชาต้องส่งทหารกว่า 40,000 คน ไปปราบกบฏตามท้องที่ต่าง ๆ

และคำให้การลูกเรือสำเภาจีนของเรือหมายเลข 51 (20 กรกฎาคม พ.ศ. 2232) ก็ให้ข้อมูลเรื่องการต่อต้านพระเพทราชาว่า เมื่อข่าวกบฏโดยพระเพทราชาไปถึงนครศรีธรรมราชและปัตตานี พวกเขาจึงคิดส่งกองทัพมาช่วยระงับเหตุในอยุธยา แต่เมื่อได้ข่าวว่าชาวอังกฤษ (เข้าใจว่าน่าจะหมายถึงชาวฝรั่งเศส) เดินทางออกจากอยุธยา และพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ทั้งสองพระองค์ และพระราชบุตรบุญธรรมถูกประหารแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะสามารถทำอะไรได้ จึงระงับแผนการส่งกองทัพไปช่วย ส่วนกองทัพที่เดินทางไปอยุธยาได้ครึ่งทางก็เดินทางกลับ

ขณะที่พงศาวไทยก็ปรากฏข้อมูลการต่อต้านพระเพทราชาเช่นกัน คือกรณี พระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมาแข็งเมือง

แม้ลูกเรือสำเภาจีนจะไม่ใช่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การช่วงชิงอำนาจในอยุธยาโดยตรง แต่ก็เป็นบันทึกร่วมสมัยที่ทำให้เห็นอีกมุมมองหนึ่ง แม้ข้อมูลจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอยู่บ้างก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง : 

วรพร ภู่พงศ์พันธุ์. (2544). คำให้การลูกเรือสำเภาจีนเกี่ยวกับสยามในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17. ใน “100 เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 11”. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2563