“เกสตาโป” ตำรวจลับยุคฮิตเลอร์ ขาโหด-สอดส่อง-รวบตัวคนได้ทั่วแดนจริงหรือ?

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ นาซีเยอรมัน ผู้นำ เกสตาโป

เยอรมนี ภายใต้ร่มเงา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นช่วงที่นักประวัติศาสตร์ล้วนอธิบายการเมืองการปกครองในห้วงนั้นว่าเป็นแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในระบอบนาซีคือหน่วย เกสตาโป (Gestapo) ตำรวจลับที่มีบทบาทสำคัญในการฝังความรู้สึกหวาดกลัวในหมู่พลเรือน

คำถามคือ เรื่องนี้เป็นมายาคติ หรือเป็นเรื่องจริงที่มาจากหลักฐานอันมีน้ำหนักเพียงพอ?

ในยุคนาซี ชาวเยอรมันคุ้นเคยกับการเรียกหน่วยงาน “ตำรวจ” ด้วยคำว่า Po เช่น ตำรวจฝ่ายอาชญากรรมเรียกว่า Kripo ตำรวจที่ดูแลรักษาความปลอดภัยเรียกว่า Sipo แต่ศัพท์เรียกหน่วยตำรวจซึ่งลือชื่อที่สุดต้องเป็นคำว่า “เกสตาโป” หรือ ตำรวจลับ ซึ่งเป็นคำที่จดจำยาวนานมาจนถึงวันนี้ ทั้งยังกลายเป็นคำศัพท์ที่สื่อถึงสิ่งที่ทำให้รู้สึกหวาดหวั่นในอำนาจการสอดส่องและการดำเนินการอันน่าสะพรึงกลัว

การศึกษาเรื่อง “เกสตาโป” ยุคต้น

งานศึกษา (เกี่ยวกับเกสตาโปและนาซี) โดยนักวิชาการผู้ศึกษาการเมืองในช่วงหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นงานที่เกิดขึ้นนอกอาณาเขตของเยอรมนี หนึ่งในผลงานที่ถูกกล่าวขานกันมากคืองานเขียน The Origins of Totalitarianism (หรือจุดกำเนิดของการปกครองแบบเผด็จการ) โดย ฮันนาห์ อาเรนด์ท (Hannah Arendt) เธอวิเคราะห์และอธิบายการปกครองแบบลัทธินาซีและลัทธิสตาลิน เธอบ่งชี้ว่า รัฐที่ปกครองในระบอบเผด็จการ “ทุกแห่ง” ล้วนพึ่งพิง “ตำรวจลับ” (secret police) ในการปลูกฝังความหวาดกลัวในเหล่าพลเรือนเพื่อควบคุมสัญญาณต่างๆ ที่สะท้อนแนวโน้มความไม่พอใจ

เดิมทีแล้วหน่วยงานเกสตาโปเริ่มต้นจากสถานะ “สำนักงานตำรวจ” (Police Department) แต่ในยุครัฐภายใต้ร่มเงาของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เกสตาโปหรือ “ตำรวจลับแห่งรัฐ” กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความหวาดกลัวภายใต้ระบอบนาซี โดยหน่วยงานนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1933 เพื่อจัดการฝ่ายตรงข้ามกับรัฐของฮิตเลอร์

เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับเกสตาโป ตำรวจลับ ถูกเล่าขานบอกต่อกันหลากหลาย และแน่นอนว่า มีทั้งที่เป็นเรื่องซึ่งถูกแต่งเสริมเติมต่อ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า ภายใต้ “โครงเรื่อง” เหล่านั้น มีปรากฏการณ์ที่สะท้อนข้อเท็จจริงปรากฏอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเกสตาโป ในงานของนักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสอย่าง ฌากส์ เดลารู (Jacques Delarue) ข้อมูลเกี่ยวกับเกสตาโปไม่ได้ปรากฏเลยจนกระทั่งปี 1962 ขณะที่ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเกสตาโป ในช่วงก่อนหน้านั้นล้วนอ้างอิงจากเอกสารการสอบสวนเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้เกี่ยวข้องกับหน่วยเกสตาโปอย่าง เฮอร์มันน์ เกอริง (Hermann Göring) ผู้สร้างหน่วยเกสตาโป, ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) และ ไรน์ฮาร์ด ไฮดริช (Reinhard Heydrich) ซึ่งการสอบสวนนี้เกิดช่วงปลายยุค 1940s

ส่วนงานศึกษาของเดลารู ก็พยายามอธิบายถึงการปฏิบัติงานของเกสตาโป ไม่เพียงแค่ในพื้นที่เยอรมนี แต่เป็นการทำงานอยู่รอบภูมิภาคยุโรป และฉายภาพการทำงานของเกสตาโปในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของระบอบนาซี อันเป็นส่วนที่สร้างความน่าสะพรึงกลัวให้กับผู้ถูกปกครอง ขณะที่พลเรือนเยอรมันก็ล้วนตกอยู่ภายใต้การสอดส่องของหน่วยงาน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากหนังสืองานเขียนของ แฟรงค์ แม็กโดนาก์ห (Frank McDonough) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์นานาชาติ ประจำมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล จอห์น มัวร์ส (Liverpool John Moores University) ผู้เขียนหนังสือ “The Gestapo: The Myth and Reality of Hitler’s Secret Police (เกสตาโป : มายาคติและเรื่องจริงเกี่ยวกับตำรวจลับของฮิตเลอร์) เล่าว่า ภาพลักษณ์อันน่าหวาดกลัวเกี่ยวกับนาซีเยอรมันเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในยุค 1970s ภายหลังนักประวัติศาสตร์เริ่มศึกษายุคนาซีเชิงลึกด้วยระเบียบวิธีอีกลักษณะหนึ่ง

แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะแบบโครงสร้างนิยมมากขึ้น กล่าวคือเป็นการศึกษา “จากเบื้องล่าง” (structuralist) มากกว่าการศึกษาแบบก่อนหน้านี้ที่เป็นลักษณะ “จากเบื้องบน” (intentionalist)

ตัวอย่างของแนวโน้มรูปแบบการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์แบบ “จากเบื้องล่าง” คืองานของ มาร์ติน บรอสแซท (Martin Broszat) เรื่อง “รัฐฮิตเลอร์” (The Hitler State) เมื่อปี 1969 ซึ่งเขาฉายภาพฮิตเลอร์ เป็น “เผด็จการที่อ่อนแอ” ภายหลังเขายังรวบรวมทีมนักประวัติศาสตร์ชั้นนำขึ้นมาเพื่อศึกษาพื้นที่บาวาเรียในยุคชาตินิยม โปรเจคท์นี้ถูกเรียกว่า “บาวาเรีย โปรเจกต์” ข้อสรุปของงานศึกษาระบุว่า ระเบียบของระบบนาซี ในทางปฏิบัติแล้วเป็น “เผด็จการ” น้อยกว่าแง่มุมทางทฤษฎี

ระเบียบวิธีศึกษาประวัติศาสตร์แบบ “จากเบื้องล่าง” นำมาสู่การศึกษานาซีเยอรมันในแง่มุมที่เจาะรายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเกสตาโปกับประชาชนชาวเยอรมันมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม อุปสรรคใหญ่ในการศึกษาเกี่ยวกับเกสตาโป ยังมาจากแหล่งข้อมูลที่จำกัดอย่างยิ่ง แม็กโดนาก์ห อธิบายว่า เอกสารที่บันทึกเกี่ยวกับเคสต่างๆ ของเกสตาโป ถูกทำลายในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะมาจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร หรือมาจากการทำลายหลักฐานของทางการนาซีเยอรมันเองก็ตาม แม้ยังมีแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ Rhineland

เกสตาโป ในกระบวนการศึกษายุคหลัง

งานศึกษาชิ้นหนึ่งโดยนักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันอย่าง ไรน์ฮาร์ด มันน์ (Reinhard Mann) ซึ่งตรวจสอบเอกสารทางคดีซึ่งเกี่ยวข้องกับหน่วยเกสตาโป 825 ไฟล์จากเอกสารทั้งหมดที่เหลืออยู่ราว 73,000 ชิ้นที่เก็บรักษาในหอจดหมายเหตุดุสเซลดอล์ฟ (Düsseldorf) แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตลงก่อน แต่ผลการศึกษาส่วนหนึ่งของเขาบ่งชี้ว่า เกสตาโป ไม่เคยมีศักยภาพในการตรวจตราสอดส่องครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางแบบที่หวาดกลัวกัน หน่วยงานนี้มีทรัพยากรจำกัดท่ามกลางบทบาทหน้าที่อันกินใจความกว้างขวาง

แม็กโดนาก์ห ขยายความเพิ่มเติมว่า ช่วงเริ่มต้นใน ค.ศ. 1933 เกสตาโป มี “ลูกจ้าง” 1,000 คน เมื่อถึงปี 1937 ก็เพิ่มเป็น 6,500 คน และขยายอีกเท่าตัวเป็น 15,000 คน เมื่อปี 1939 และช่วงที่มีทรัพยากรบุคคลมากที่สุดคือในปี 1944 ซึ่งมีพนักงานทั้งหมด 32,000 คน

หากแยกย่อยออกเป็นตามพื้นที่ ในดุสเซลดอล์ฟ ปี 1937 ซึ่งมีประชากรราว 500,000 คน มีเจ้าหน้าที่หน่วยเกสตาโป 126 คน หรืออีกตัวอย่างคือโคโลญจน์ ที่มีผู้อยู่อาศัยถึง 750,000 คน มีเจ้าหน้าที่เกสตาโปราว 69 คน

ตามข้อมูลการศึกษาของแม็กโดนาก์ห ระบุว่า โดยรวมแล้วในยุคของฮิตเลอร์ หน่วยเกสตาโปไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ประจำทำงานเต็มเวลาเกินกว่า 16,000 นาย ท่ามกลางสภาพประเทศที่มีประชากรหลักสิบล้าน

กำเนิดเกสตาโป

เป็นที่ทราบกันดีว่า “เกสตาโป” เป็นผลงานของผู้สร้างอย่าง เฮอร์มันน์ เกอริง ในช่วงต้นทศวรรษ 1930s เขาเป็นหัวเรือของฝ่ายที่ปรึกษาส่วนกิจการภายในของฮิตเลอร์ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจเมื่อปี 1932

ด้วยตำแหน่งทางการเมืองในปรัสเซียของเกอริง ทำให้เขามีสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในแง่การปฏิบัติงานกับ รูดอล์ฟ ไดลส์ (Rudolf Diels) หัวหน้าตำรวจทางการเมืองของปรัสเซีย แม็กโดนาก์ห ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เกสตาโป อธิบายว่า ไอเดียปรับปรุงหน่วยตำรวจทางการเมืองแห่งปรัสเซีย มาสู่หน่วยตำรวจลับประจำชาติ ไม่สามารถฟันธงได้ว่า แท้จริงแล้วมีไอเดียตั้งต้นมาจากเกอริง หรือมาจากไดลส์ แต่เมื่อปี 1933 หน่วยเกสตาโปกำเนิดขึ้นจาก “กฎหมายเกสตาโป” ที่ประกาศโดยเกอริง

เกอริงอธิบายบทบาทของหน่วย “ตำรวจลับ” นี้ว่า “หน้าที่ของมันคือสืบสวนกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมดในรัฐอันนำมาซึ่งอันตรายต่อตัวรัฐ และเพื่อรวบรวม และประเมินผลลัพธ์ของกระบวนการไต่สวนเหล่านั้น”

บุคคลที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเกสตาโป คือ ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ หัวหน้าหน่วย SS และองครักษ์ของฮิตเลอร์ รวมถึง ไรน์ฮาร์ด ไฮดริช สำหรับฮิมม์เลอร์แล้ว แม็กโดนาก์ห ระบุว่า เขามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหน่วยเอสเอสและเกสตาโป ให้เป็นองค์กรที่น่าหวาดหวั่นในยุคนาซีเยอรมัน

บุคลากรในเกสตาโป

แม็กโดนาก์ห อธิบายว่า ตั้งแต่ปี 1939 เป็นต้นมา ศูนย์ใหญ่ของหน่วยเกสตาโปตั้งอยู่ที่เบอร์ลิน ในสำนักงานมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 1,500 คน แบ่งออกเป็น 6 แผนก แต่ละฝ่ายรับผิดชอบในหมวดต่างๆ ตั้งแต่ “ปรปักษ์แห่งนาซีเยอรมัน” (IVA) จัดการส่วนมาร์กซิสต์, เสรีนิยม, คอมมิวนิสต์ และการรักษาความปลอดภัยทั่วไป ไปจนถึงแผนก “จัดการกลุ่มศาสนา ยิว และการเมือง” (IVB)

ผู้นำที่ทำงานในศูนย์ใหญ่ของเกสตาโป แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายอาชญากรรมซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยทำงานในพรรคนาซีช่วงก่อน 1933 กลุ่มที่สองคือ คนรุ่นใหม่ มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และกลุ่มสุดท้ายคือ สมาชิกของฝ่าย SD อันเป็นสายงานด้านข่าวกรองในหน่วย SS

ในแง่บุคลากรแล้ว เกสตาโป ในภาพจำของคนทั่วไปจนถึงภาพลักษณ์ที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆ มักเป็นภาพเจ้าหน้าที่ลึกลับ แต่งกายชุดหนังสีดำน่าเกรงขาม ปฏิบัติงานสายมืด เข้ามาควบคุมตัวเป้าหมายและหิ้วหายจากไป หรือไม่ก็ทำร้ายเป้าหมายอย่างทารุณ

แต่หากพิจารณาจากข้อมูลในงานศึกษาตามหลักฐานแล้ว ภาพจำเหล่านี้อาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเสียทั้งหมด เมื่อพิจารณาจากลักษณะบุคลากรของหน่วยซึ่งพบว่า บุคลากรส่วนใหญ่ของหน่วยงานเป็นคนหนุ่มชนชั้นกลางที่มีการศึกษา บางรายจบด้านกฎหมาย หรือมีดีกรีระดับปริญญาเอกก็มี โดยหน่วยงานนี้รวบรวมคนที่มีการศึกษาทั่วไปมากกว่าเป็นหน่วยงานที่ใช้กำลังแบบภาพจำหน่วยตำรวจใจเหี้ยม

อย่างไรก็ตาม การศึกษาและข้อมูลต่างๆ ไม่อาจปฏิเสธเรื่องการปฏิบัติงานของพวกเขาได้ แม็กโดนาก์ห บอกว่า เกสตาโป มีเจ้าหน้าที่ทำงานลักษณะ “สายลับ” จริง แม้ไม่อาจระบุได้ว่ามีจำนวนกี่ราย และไม่อาจระบุถึงค่าจ้างที่พวกเขาได้รับ มีเอกสารที่บ่งชี้ถึงกลุ่มคนที่เกสตาโป ใช้ทำงานแบบ “สายลับ” ตั้งแต่กลุ่มที่เคยเป็นปฏิปักษ์และยินยอมทำงานเป็นสายลับสองหน้าแลกกับการปล่อยตัวจากสถานกักกัน นอกจากนี้ เขายังอ้างอิงเอกสารที่บ่งชี้ว่า เกสตาโปรับคนที่เป็นนักบวชคาทอลิก ขณะที่เอกสารจากดุสเซลดอล์ฟ ชี้ว่าสายข่าวซึ่งเกสตาโปใช้งานก็มีกลุ่มคนที่มีภูมิหลังเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ราว 300 ราย พวกเขาถูกใช้ในสายงานแบบจัดการกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ผลสำเร็จดี

ถึงจะมีหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการทำงานแบบ “สายลับ” ของเกสตาโป แต่พวกเขายังล้มเหลวในการตรวจจับแผนการวางระเบิดลอบสังหารฮิตเลอร์ ซึ่งนำมาโดยนายทหารนามว่า เคลาส ฟอน สเตาฟเฟนเบิร์ก (Claus von Stauffenberg) ในปี 1944

หัวขบวน “เกสตาโป” และลักษณะการทำงาน

ผู้อำนวยการของหน่วยเกสตาโป ระหว่าง 1936-1945 คือ ไฮน์ริช มุลเลอร์ ตอนที่เขาขึ้นเป็นผู้อำนวยการหน่วย มุลเลอร์อายุเพียง 36 ปีเท่านั้น แม็กโดนาก์ห นิยามมุลเลอร์ว่า เขาเป็นคนหนุ่มที่ปรับตัวและเอาตัวรอดได้ดี เคยทำงานทั้งในระบอบกษัตริย์ของบาวาเรีย, รัฐบาลประชาธิปไตยในไวมาร์ และระบอบนาซี ไม่เพียงทำงานอย่างเคร่งครัดละเอียดรอบคอบ มุลเลอร์ยังขึ้นชื่อเรื่องการติดตามชี้เป้ากิจกรรมของฝ่ายตรงข้ามในทางการเมือง และติดตามกลุ่มคอมมิวนิสต์ฝ่ายต่อต้าน จากการอ้างอิงเอกสารหลักฐาน มุลเลอร์ คือผู้ค้นพบว่าหน่วยงานข่าวกรองของอังกฤษอยู่เบื้องหลังการสังหารไรน์ฮาร์ด ไฮดริช เมื่อ 1942

ส่วนที่พอจะมีเค้าอยู่บ้างก็คือลักษณะการทำงานของเกสตาโป อันแตกต่างจากงานแบบ “ตำรวจ” ทั่วไป พวกเขาทำงานโดยอ้างอิงจากแหล่งข้อมูล อาทิ เรื่องเล่าข่าวลือที่แพร่กระจายในแหล่งชุมชน แต่ถ้าคุณเป็นชาวเยอรมันที่มีเจ้าหน้าที่ชุดดำมาเยือนแล้ว นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะลงเอยในสภาพบอบช้ำหรือไปตกอยู่ในห้องสอบสวนทรมาน

การใช้ความรุนแรงต่อ “ชาวเยอรมัน” ทั่วไปแทบไม่ปรากฏให้เห็นจากการปฏิบัติงานของเกสตาโปในแผ่นดินแม่ของตัวเอง แต่เมื่อเป็นศัตรูที่คุกคามต่อรัฐหรือมีท่าทีไม่สอดคล้องกับรัฐ เมื่อนั้นถึงจะเป็นอีกเรื่อง

หน่วยเกสตาโปมีมาตรการจัดการผู้ไม่เห็นด้วย พวกสร้างปัญหา คอมมิวนิสต์ กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน หรือกลุ่มยิปซี ซึ่งมีแนวโน้มไม่ปฏิบัติตามรัฐเผด็จการนาซีด้วยมาตรการเด็ดขาด กิจกรรมในส่วนนี้เองถึงจะใกล้เคียงกับภาพจำที่คนทั่วไปนึกถึง งานจำพวกสอบสวนทรมานอันทารุณด้วยวิธีต่างๆ นานา ตามที่มักพบได้จากการตีความของสื่อจำพวกภาพยนตร์ เช่น ทุบตี-ทำร้ายร่างกาย ดึงเล็บ บดขยี้อวัยวะสำคัญต่างๆ เพื่อให้คายข้อมูล กิจกรรมเหล่านี้ไม่มียกเว้นให้ผู้ถูกกระทำที่เป็นเพศหญิงด้วย

แม็กโดนาก์ห เอ่ยถึงเคสหนึ่งในหนังสือ กรณีของไฮน์ริช ฟีต (Heinrich Veet) คนงานในโรงงานซึ่งโต้ตอบเสียงดังว่าให้ทำความเคารพอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ด้วยวาจาสามหาว หน่วยเกสตาโปจึงควบคุมตัวไปเข้าเรือนจำแต่ไม่นานก็ปล่อยออกมา เนื่องจากญาติของชายรายนี้จ้างทนายความที่พิสูจน์ตัวลูกความได้แบบไม่ยากนักว่า เขาเป็นนาซี ชื่นชมในตัวผู้นำ และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีพฤติกรรมล้มล้าง

เป้าหมายใหญ่ของหน่วยเกสตาโป ซึ่งถูกพูดถึงมากคือกลุ่มคอมมิวนิสต์ ไปจนถึงชาวยิว เจ้าหน้าที่หน่วยเกสตาโป อีกรายที่มีชื่อเสียงคือ อดอล์ฟ ไอค์มันน์ (Adolf Eichmann) โด่งดังเรื่องการกวาดต้อนชาวยิว เหยื่อชาวยิวจะถูกนำไปขึ้นรถไฟเที่ยวเดียวไปที่แคมป์กักกันของหน่วยเอสเอส (SS) จากนั้นก็เข้ากระบวนการรมแก๊ส

ดังที่กล่าวแล้วว่า เกสตาโป หาใช่ปฏิบัติการลุล่วงสำเร็จเสียทุกอย่าง พวกเขาล้มเหลวในการตรวจจับแผนการลอบวางระเบิดฮิตเลอร์ อาชญากรรมบางชนิดก็หลุดรอดสายตาหน่วยงานไปได้ กลุ่มหนึ่งที่หลบเลี่ยงและท้าทายเกสตาโปได้คือแก๊งเด็กหนุ่มชนชั้นกลางในเมืองหลายกลุ่มซึ่งปรากฏในช่วง 1938 พวกเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่ชังการรวมศูนย์และระเบียบแบบนาซี แต่กลุ่มเหล่านี้หลุดรอดไปได้ไม่นาน กระทั่งในปี 1944 ซึ่งเกสตาโป แขวนคอสมาชิกแก๊ง 13 รายในโคโลญจน์

ในช่วงไล่เลี่ยกัน คือ ค.ศ. 1943 ซึ่งกองทัพเยอรมันพ่ายแพ้ให้รัสเซียในสตาลินกราด ขวัญกำลังใจและบรรยากาศในเยอรมนีเริ่มตกต่ำ ชาวเยอรมันเริ่มซุบซิบและปรากฏการเยาะเย้ยฮิตเลอร์ เกสตาโป ตอบโต้อย่างรุนแรงโดยบังคับใช้มาตรการอย่างเด็ดขาด มีรายงานเรื่องการจับกุมผู้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมและลงโทษอย่างรุนแรงด้วยการคุมขัง อาทิ กรณีนายทหารเกษียณอายุวัย 73 ปีที่ถูกแจ้งว่าแอบฟังวิทยุต่างชาติรับโทษกระทั่งเสียชีวิตในคุก สตรีลักทรัพย์ในสถานที่ซึ่งเสียหายจากระเบิดของฝ่ายตรงข้ามถูกแขวนคอ

หน่วยเกสตาโป ทำหน้าที่ไปจนถึงช่วงสิ้นสุดสงคราม เมื่อสงครามจบลง สมาชิกหลายรายหลบหนีไป บางรายถูกติดตามตัวในภายหลังและนำเข้ากระบวนการยุติธรรม โดยในการสอบสวนที่นูเรมเบิร์ก หน่วยเกสตาโปถูกนิยามว่าเป็น “องค์กรอาชญากรรม”

กรณีของไอค์มันน์ เขาโดนหน่วยมอสสาด (Mossad) หน่วยสืบราชการลับของอิสราเอล รวบตัวในอาร์เจนติน่า หลังลอยนวลอยู่ถึง 2 ปี ดร.แวร์เนอร์ เบสต์ (Werner Best) หัวหน้าแผนกบริหารจัดการของเกสตาโป เขาอ้างในกระบวนการสอบสวนว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานอย่างหนักและเป็นการทำงาน “ตามคำสั่ง” เขาถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ลดโทษเหลือจำคุก 12 ปี และถูกปล่อยตัวในปี 1951 คำให้การที่ว่า “ทำตามคำสั่ง” ก็กลายเป็นคำอธิบายแบบมาตรฐานสำหรับการแก้ต่างของสมาชิกหน่วยเกสตาโป

หลังจากนั้น สมาชิกของเกสตาโปนับพันรายเก็บตัวเงียบ พยายามหลบเลี่ยงสายตาสาธารณะ ขณะที่ภายหลังจากสงครามจบลงแล้ว การหาหลักฐานและพยานมายืนยันความผิดแทบเป็นไปไม่ได้ เหยื่อส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดก็เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนหลักฐานก็สูญหายไปเป็นส่วนใหญ่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

McDonough, Frank. The Gestapo : The Myth and Reality of Hitler’s Secret Police. Hodder & Stoughton : London, 2015.

Rennel, Tony. “How Gestapo thugs waltzed into plum jobs after the war: Their horrors are well chronicled, but new book reveals a deeply shocking twist”. Daily Mail. Online. Published 25 SEP 2015. Access 14 AUG 2020. <https://www.dailymail.co.uk/news/article-3248330/How-Gestapo-thugs-waltzed-plum-jobs-war-horrors-chronicled-new-book-reveals-deeply-shocking-twist.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 สิงหาคม 2563