เบื้องหลังความคับข้องใจพระยาพหลฯ มูลเหตุปฏิวัติ เมื่อกองทัพสั่งซื้อปืนใหญ่จากฝรั่งเศส

พระยาพหลพลพยุหเสนา

มูลเหตุที่ทําให้ พระยาพหล พลพยุหเสนา คิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 มีที่มาจากความเสื่อมโทรมในระบบราชการและกองทัพ ที่ละเลยความคิดเห็นของ “ผู้น้อย” ทั้งที่มีประโยชน์ต่อกิจการบ้านเมือง ไม่แพ้ความคิดเห็นของ “ผู้ใหญ่”

พระยาพหลฯ มีความรู้สึกว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และบรรดาเจ้านายมักจะทำตามอําเภอใจ ไม่ใคร่ใส่ใจในความคิดเห็นของข้าราชการหรือทหารชั้นผู้น้อย แม้ว่าจะเป็นความคิดเห็นที่มีเหตุผลก็ตาม

เพราะ “ผู้ใหญ่” มักถือความคิดเห็นของ “ผู้น้อย” ว่า จะดีจะถูกต้องหรือไม่นั้นไม่สำคัญ ความสำคัญอยู่ที่ว่าถูกใจ “ท่าน” หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ข้าราชการหรือทหารชั้นผู้น้อยจึงรู้สึกท้อถอย ไม่อยากแสดงความคิดเห็นใด ๆ ทั้งที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง

การบริหารงานราชการบ้านเมืองจึงดำเนินไปตามความเห็นของ “ผู้ใหญ่” เพียงไม่กี่คน ซึ่งถ้าท่านเหล่านั้นมีความคิดเห็นอย่างเก่า ๆ และแคบ ๆ ด้วยแล้ว อาจชักนำบ้านเมืองไปสู่ความล่มจมได้ง่าย

ในการประชุมประจําปีของกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2473  มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แม่ทัพ ผู้บัญชาการชั้นนายพลร่วมประชุม พระยาพหลฯ ในฐานะจเรทหารปืนใหญ่ ได้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในฐานะจอมทัพ เป็นประธานในที่ประชุม

ขณะที่ที่ประชุมกำลังพิจารณาเรื่องหนึ่งอยู่นั้น พระยาพหลฯ แสดงความคิดเห็นที่มีน้ำหนักมากพอ จนเป็นที่พอใจของที่ประชุม แต่นายทหารชั้นผู้ใหญ่บางท่านโต้แย้งคัดค้าน รัชกาลที่ 7 ผู้ทรงเป็นประธานที่ประชุมจึงให้ถือตามความคิดเห็นของผู้มีอาวุโส ความคิดเห็นของพระยาพหลฯ เป็นอันตกไป 

ต่อมามีการพิจารณาเรื่องรัฐบาลฝรั่งเศสเสนอขาย “ปืนสโตร๊กบัน” (ปืนใหญ่สนามเพลาะ หรือเครื่องยิงลูกระเบิด) ให้แก่กองทัพไทย พระยาพหลฯ ซึ่งติดตามอ่านหนังสือเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าของอาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ เป็นประจำอยู่แล้ว ทราบว่าปืนรุ่นนี้ใช้มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งในช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นปืนที่ล้าสมัยไปแล้ว พระยาพหลฯ จึงได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบว่าไม่สมควรซื้อไว้ใช้ในกองทัพ ควรซื้อปืนชนิดที่ปรับปรุงกลไกใหม่แล้ว คือสามารถทำการยิงได้รอบตัว แม้พระยาพหลฯ จะมีหลักฐานประกอบคำชี้แจง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุม

ต่อมา พระยาพหลฯ ได้มีโอกาสพบกับทูตทหารฝรั่งเศส คือ นายพันเอก รูห์ ในงานเลี้ยงที่วังพญาไท พระยาพหลฯ จึงซักถามข้อเท็จจริงของปืนชนิดนี้กับทูตทหารฝรั่งเศสโดยตรง ซึ่งทูตทหารฝรั่งเศสก็ยอมรับว่าเป็นความจริง และตอบว่า เหตุที่รัฐบาลฝรั่งเศสขายให้กองทัพไทยนั้น

“เพราะเห็นว่าเมืองไทยไม่เห็นจะต้องไปรบกับใคร ดังนั้น กองทัพไทยในเวลานี้ควรมีอาวุธชนิดนี้ไว้เพียงปราบจลาจลภายในบ้านเท่านั้นก็พอ”

จากเหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้พระยาพหลฯ ครุ่นคิดเสมอว่า ทำอย่างไรจึงจะให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่งานราชการแผ่นดินจะไม่ถูกละเลยทอดทิ้งไป เพราะเหตุเพียงว่ามันเป็นความคิดเห็นของ “ผู้น้อย” ซึ่ง “ผู้ใหญ่” ไม่เห็นด้วย ทำอย่างไรการบริหารแผ่นดินจึงจะไม่ถูกผูกขาดโดยพวกเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เพียงไม่กี่คน?

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง : 

ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์. (2552). 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มีนาคม 2551. สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 2563