ปฐมเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร และนัยที่สะท้อนว่า ร.3 ทรงรัก “เจ้าสัวโต” สหายของพระองค์ยิ่ง

ภายถ่าย วัดกัลยาณมิตร พ.ศ. 2468
ภาพวัดกัลยาณมิตร ฉายเมื่อ พ.ศ. 2468 (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ปฐมเจ้าอาวาส วัดกัลยาณมิตร พระพรหมมุนี เป็นราชทินนามเก่ามีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมเป็นตำแหน่งสมณศักดิ์พระราชาคณะผู้ใหญ่เสมอชั้นธรรม ด้วยปรากฏว่า โปรดให้พระญาณไตรโลก พระราชาคณะสามัญ เลื่อนเป็นพระพรหมมุนี เลื่อนพระเทพโมลี พระราชาคณะชั้นเทพ เป็นพระพรหมมุนี หรือ โปรดให้พระพรหมมุนี เลื่อนเป็นพระพิมลธรรม ตำแหน่งรองสมเด็จพระราชาคณะเป็นต้น ดังเช่นทรงโปรดให้เลื่อน พระพรหมมุนี (พร) วัดราชบุรณะ ขึ้นเป็นพระพิมลธรรม แล้วโปรดให้ย้ายมาครองวัดกัลยาณมิตร เป็นปฐมเจ้าอาวาส ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธน มีขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 จำนวน 3 ท่าน ได้สร้างวัดขึ้นตามลำดับได้แก่

 

1. เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ต่อมาเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ สร้างวัดประยุรวงศาวาส แล้วได้สร้างพระเจดีย์ทรงระฆังองค์ใหญ่ เป็นประธานของวัด

 

2. พระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา (ทัด บุนนาค) น้องชายเจ้าพระยาพระคลัง ต่อมาเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ สร้างวัดพิชยญาติการาม แล้วได้สร้างพระปรางค์ เป็นประธานของวัด

 

3. พระยาราชสุภาวดี (โต กัลยาณมิตร) ต่อมาเป็น เจ้าพระยานิกรบดินทร์ ได้อุทิศที่ดินของท่านสร้างวัดกัลยาณมิตรขึ้น ซึ่งท่านเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 3 อย่างมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่พร้อมทั้งพระวิหารประดิษฐานพระราชทานเพื่อเป็นประธานแก่วัด

ภาพวัดกัลยาณมิตร ฉายเมื่อ พ.ศ. 2468 (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในการนี้ยังโปรดให้อาราธนาพระราชาคณะผู้ใหญ่ ชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะคือพระพิมลธรรม (พร) วัดราชบุรณะมาเป็นปฐมเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร ส่วนสองพระอารามของเจ้าพระยาพี่น้องฟากข้างโน้นนั้น เจ้าอาวาสเป็นเพียงพระราชาคณะสามัญ

ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทรงรัก เจ้าสัวโตสหายของพระองค์ยิ่งนัก สมกับนามพระอารามว่า กัลยาณมิตร อย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มิถุนายน 2563