ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หรือ วัดกัลยาณมิตร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี สร้างในช่วงสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมที่งดงามบอกเล่าเรื่องราวในพุทธประวัติและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นจริงในสมัยนั้น ทั้งนี้ ธัชชัย ยอดพิชัย ได้หยิบยกประวัติศาสตร์ภายใต้ภาพจิตรกรรมส่วนหนึ่ง กล่าวคือบริเวณผนังสกัดหน้าด้านขวามือเหนือประตูมาบอกเล่าไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2553 โดยเป็นภาพวาดเล่าเหตุการณ์ “ลักเด็ก” มีใจความดังนี้
ภาพจิตรกรรมบริเวณผนังสกัดหน้าด้านขวามือเหนือประตูพระอุโบสถนี้ หากดูเผิน ๆ ก็เป็นเพียงภาพแสดงวิถีชีวิตชาวจีนในเรือนแพริมสายน้ำ และชาวไทยในบ้านเรือนไทย แต่หากมองดูให้ดีแล้วจะเห็นว่านี่คือภาพวาดเล่าเหตุการณ์ “ลักเด็ก” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 3 แต่หลักฐานที่พบว่ากล่าวถึงเหตุการณ์นี้กลับเป็นหลักฐานในสมัยของรัชกาลที่ 4 โดยหลักฐานที่ว่านี้ก็คือ ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4
“ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 : ประกาศห้ามไม่ให้เอาเครื่องประดับทองเงินแต่งกายให้เด็ก ที่ยังไม่รู้จักหลีกหลบโจรผู้ร้าย”
“…เด็กๆ ที่แต่งตัวด้วยทองเงินแล้ว ไม่อยู่บนเรือนในบ้านมีผู้ดูแลระวังรักษา ปล่อยให้เที่ยววิ่งไปมาตามถนนหนทางนอกบ้านนอกเรือน มีผู้ร้ายจับตัวไปได้ฆ่าเสียแล้ว ของก็ต้องเสีย เด็กก็ต้องตาย เด็กต้องตายอย่างนี้ในแผ่นดินก่อนที่ล่วงมาก็มีมากไม่รู้ว่ากี่เรื่องกี่รายในกรุงบ้างหัวเมืองบ้าง…”
ข้อความหลังสุดที่ยกมานี้ กล่าวถึงเหตุการณ์การลักเด็กเพื่อเอาของมีค่าซึ่งน่าจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในสมัยรัชกาลที่ 3 และดูเหมือนว่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่องมาถึงในสมัยของรัชกาลที่ 4 ดังที่เห็นว่าได้มีการออกประกาศรัชกาลที่ 4 ห้ามสวมเครื่องประดับทองเงินให้กับเด็ก
ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคาดว่าการออกประกาศครั้งนั้นคงไม่ช่วยบรรเทาเหตุการณ์นี้ลงเท่าไหร่ เพราะต่อมาได้มีการออกประกาศฉบับที่ 2 ในเรื่องเดียวกันอีกครั้ง โดยในคราวนี้ได้มีการเน้นย้ำถึงผลบังคับใช้มากขึ้น จนถึงกับมีการเรียกโจรผู้ร้ายว่า “อ้ายยักษ์อียักษ์” ดังในข้อความตอนที่ว่า
“…ทุกวันนี้ชาวบ้านชาวเมืองพอใจอยากอวดว่าามั่งมี ทำเครื่องทองเงินแต่งตัวให้เด็ก ๆ แล้วปล่อยให้เที่ยวอยู่ตามลำพัง ในน้ำในบกตามถนนหนทางด้วยความเลินเล่อไม่มีใคระวังระไว จึงมีอ้ายผู้ร้ายมาลอบลักพาเด็กไปฆ่าเสีย แล้วเก็บเอาของเด็กไปดังนี้เนือง ๆ ไม่ใคร่ขาดปีแลเดือน คนอยากอวดมั่งมีก็ไม่ฟัง ยังขืนแต่งเด็กด้วยเครื่องทองเครื่องเงิน เป็นเหยื่อล่ออ้ายยักษ์อีกยักษ์ให้กินเด็กเสียไม่ว่างวายปีเดือน เพราะฉะนั้นตั้งแต่นี้สืบไปห้ามไม่ให้ผู้ใดคือบิดามารดาแลญาติพี่น้องทำของแต่งตัวเด็ก ๆ ซึ่งเป็นบุตรหลานเหลนแลบุตรเลี้ยงหลานเลี้ยงหรือเป็นทาสด้วยเครื่องทองเครื่องเงินทำเป็นรูปพรรณอย่างหนึ่งอย่างใดผูกติดแลสวมไว้กับตัวเด็กเป็นที่ล่อผู้ร้ายแล้วปล่อยให้เที่ยวไปตามลำพัง ไม่มีผู้ระวังรักษา”
ในประกาศฉบับที่ 2 นี้นอกจากจะห้ามไม่ให้สวมเครื่องเงินเครื่องทองให้เด็กแล้ว ก็ยังสั่งให้นำตัวเด็กที่พบว่ามีเครื่องเงินเครื่องทองติดตัวอยู่ในขณะที่ไม่มีผู้ดูแล มาส่งให้นายอำเภอพระนครบาล หรือจะถอดเอาแต่เครื่องเงินเครื่องทองของเด็กมาส่งให้ก็ได้โดยห้ามทุบตีทำร้ายเด็ก ทั้งนี้กรมพระนครบาลจะปรับไหมผู้ปกครอง โดยให้จ่ายเงินเป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าของสิ่งของเพื่อเป็นการไถ่ตัวเด็กกลับไป
อย่างไรก็ตาม หากภายหลังจากออกประกาศนี้ไปแล้วพบว่าไม่มีใครกล้าจับตัวเด็กมาให้ รัชกาลที่ 4 ก็จะทรงแต่งตั้งคนออกไปจับเอง ในขณะเดียวกันหากจับเด็กมาได้แล้วแต่ไม่มีใครเอาเงินมาไถ่ตัวเด็ก ก็จะยึดเด็กเอาไว้เป็นไพร่หลวง
ถ้าเป็นเด็กผู้ชายก็จะให้ฝึกหัดโขน ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงก็ให้ฝึกละครหลวง ดีกว่ายอมให้ผู้ร้ายเอาไปฆ่าแกงเสียประโยชน์เปล่าๆ
อ่านเพิ่มเติม :
- กามเทพน้อย “คิวปิด” จิตรกรรมผสมผสานใน “วิหาร” วัดบุปผาราม ฝั่งธนบุรี
- ไขจิตรกรรม พระเจ้าสังขจักรตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้า ภาพเขียนวัดในกลาง จ.เพชรบุรี
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ธันวาคม 2561