ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“พรรคเสรีมนังคศิลา” พรรคการเมืองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นักการเมืองแห่สมัครเป็นสมาชิกเพื่อหนุนให้เป็นนายกฯ อีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2500
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เป็นการเลือกตั้งหลังจากสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดตามวาระ ขณะนั้นอยู่ภายใต้ระบบการเมืองแบบสามเส้าคือฝ่ายจอมพล ป.พิบูลสงคราม, กลุ่มจอมพลผิน ชุณหวัน กับพล.ต.อ.เผ่า ศรียายนท์ และกลุ่มจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างฐานเสียงสนับสนุนต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐบาลจอมพล ป. จึงมีนโยบายให้ออกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 กันยายนพ.ศ. 2498 ให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้โดยตรง หลังจากนั้นจึงมีการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งถึง 23 พรรค
จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ตั้ง พรรคเสรีมนังคศิลา ขึ้นมาสนับสนุนอำนาจของตนเอง และเตรียมลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นครั้งแรก และสามารถชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม สืบทอดอำนาจทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลขณะนั้นและคณะรัฐประหารต่อไป
แต่การเลือกตั้งปี 2500 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อ และประชาชน ว่า “การเลือกตั้งสกปรก”
ในจำนวนนั้นมีบทวิจารณ์ชื่อ “พรรคเสรีมนังคศิลาภายใต้ยี่ห้อใหม่” ที่โชติ มณีน้อย เขียนไว้ในคอลัมน์ “รอบสภา” ในหนังสือพิมพ์ชาวไทย ไว้ดังนี้ [จัดย่อใหม่เพื่อความสะดวกในการอ่าน]
“พรรคการเมืองของรัฐบาล ซึ่งตามข่าวว่าจะตั้งขึ้นแน่ ตามความเรียกร้องต้องการของกลุ่มนักการเมือง ตลอดจนวงการทหารนั้น ถ้าเป็นความจริงก็อยากจะพยากรณ์ว่า คงจะยุ่งเหยิงและปั่นป่วนเช่นเดียวกับพรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และชาติสังคมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อย่างไม่ต้องสงสัย มีเหตุผลหลายประการที่ทําให้เชื่อเช่นนั้น ข้อที่ควรหยิบขึ้นมาพิจารณาก็คือ
พรรครัฐบาลที่ว่าจะตั้งขึ้นมานี้ เป็นการเกิดขึ้นมาจากความเรียกร้องต้องการของกลุ่มบุคคลที่ใกล้ชิดรัฐบาล จะเห็นได้จากที่จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีได้ปฏิเสธอยู่เสมอว่า ไม่ใช่เรื่องจริงจัง โดยยืนยันเจตจํานงเดิมว่าจะวางมือจากการเมืองเพื่อกลับไปปฏิบัติหน้าที่ทางด้านทหาร ซึ่งเป็นอาชีพเดิมต่อไป
แต่ตลอดเวลาเหล่านั้นก็ได้มีข่าวปรากฏออกมาเรื่อยๆ ว่าได้มีการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด ในเรื่องการตั้งพรรคการเมืองถึงขนาดเตี๊ยมตัวบุคคล สําหรับตำเเหน่งต่างๆ เอาไว้ครบ เป็นต้นว่า จอมพล ถนอม กิติขจร เป็นหัวหน้าพรรค พล.อ.ประภาส จารุเสถียร เป็นรองหัวหน้าพรรค นายพจน์ สารสินเป็นเลขาธิการพรรค
ในกรณีเช่นนี้เรียกได้ว่าเป็นการก้าวผิดมาตั้งแต่ตนทีเดียว เพราะในทางที่ควรนั้นเมื่อตั้งพรรคขึ้นแล้ว สมาชิกของพรรคจะเป็นผู้เลือกตั้งตําแหน่งสําคัญดังกล่าวเอง หาควรยัดเยียดให้สมาชิกต้องตกอยู่ในภาระจํายอมไม่
ขอยุ่งยากประการต่อมาก็คือ การที่กลุ่มนักการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งที่เคยเป็นฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน เมื่อรู้ว่ารัฐบาลจะตั้งพรรคการเมือง ก็เฮโลกันมาสมัครหรือแสดงเจตนาที่จะเป็นสมาชิกพรรคนี้ เพื่อสนับสนุนให้จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก
โดยให้ความเห็นว่ายังมองไม่เห็นใครจะมีความรู้ความ สามารถเหมาะสมกับสภาพการณ์บ้านเมืองเท่ากับจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน
การที่นักการเมือง พากันแห้เขามาเป็นสมาชิกรัฐบาล เพียงเพื่อสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปเท่านั้น เป็นการขัดกับหลักการของระบอบพรรคการเมืองอย่างเห็นได้ชัด
เพราะการที่นักการเมืองจะเข้าอยู่ในสังกัดพรรคการเมืองได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า ตนเองมีอุดมคติในทางการเมืองอย่างไร และพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมานั้นมีแนวนโยบายเน้นหนักไปในทางไหน เมื่อเห็นว่าพอจะไปกันได้โดยไม่ขัดหรือฝืนความรู้สึกจึงค่อยร่วมกัน
แต่พรรครัฐบาลที่ว่านี้ ยังไม่ปรากฏแนวนโยบายอะไรออกมาเลย
แต่อดีตนักการเมืองก็วิ่งเต้นเข้าเป็นพวกด้วย ซึ่งถ้าไม่เพ่งเล็งตัวบุคคลเป็นเรื่องสำคัญกว่านโยบายแล้ว ก็ควรตั้งข้อสงสัยเอาไว้ก่อนว่า นักการเมืองเหล่านั้นเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว อย่างที่พรรครัฐบาลเคยประสบปัญหายุ่งยากมาแล้วทุกสมัย
พรรครัฐบาล ยังไม่ทันเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ก็มีข่าวเกิดการแตกแยกความคิดเห็นกันขึ้นมาแล้ว เริ่มด้วยฝ่ายหนึ่งสนับสนุนให้ นายพจน์ สารสิน เป็นเลขาธิการพรรค เพราะเป็นตําแหน่งสําคัญ
แต่อีกกลุ่มหนึ่งกลับเห็นไปว่านายพจน์ สารสิน เป็นสุภาพบุรุษเกินไป คงจะคุมลูกพรรคไว้ไม่ได้ เห็นว่า พล.อ. ประภาส จารุเสถียร ในฐานะผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของทหาร และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีข้าราชการอยู่ในสังกัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงเหมาะที่จะดํารงตําแหน่งเลขาธิการพรรค
เราไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดพรรคนี้จึงต้องการแต่ความที่มีอํานาจ และมีสมุนบริวารมากมาดํารงตําแหน่งเลขาธิการพรรค ใน
เมื่อพรรคนั้น เป็นที่รวมของคนที่มีอุดมคติทางการเมืองแนวเดียวกัน เป็นที่รวมของผู้มีความรู้ความสามารถ เหตุใดจึงรังเกียจคนที่ได้ชื่อว่าเป็นสุภาพบุรุษในทางการเมืองอย่างนายพจน์ สารสิน ผู้มีประวัติไม่เคยด่างพร้อยในด้านความซื่อสัตย์สุจริต เหตุใดจึงคิดกลัวเสียแต่เนิ่นๆว่าพรรครัฐบาลที่จะตั้งขึ้นมานั้นจะเต็มไปด้วยบรรดา “ดาว” ทั้งหลายทั้งปวง จนต้องควบคุมด้วยอำนาจบาตรใหญ่
อันที่จริงก็ยังไม่สายเกินไปนัก ที่จะวางหลักการ สร้างรากฐานของพรรคการเมือง เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีของพรรคที่จะเกิดตามขึ้นมาในอนาคต
อาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2508
หมายเหตุ : –
ขณะนี้พรรครัฐบาลเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว นายก ฯ เป็นหัวหน้าพรรค พล.อ. ประภาส จารุเสถียรและนายพจน์ สารสิน เป็นรองหัวหน้าพรรค เลขาธิการ ได้แก่ พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ ส่วนสมาชิกปรากฏว่ามาจากเกือบทุกพรรคเป็นขนม “รวมมิตร” อ่างใหญ่ที่เดียว”
อ่านเพิ่มเติม :
ข้อมูลจาก :
ชาติชาย มุกสง. การเลือกตั้งสกปรก 26 กุมภาพันธ์ 2500, เว็บไชต์สถาบันพระปกเกล้า
โชติ มณีน้อย. 10 ปีที่ไดพบเห็น: ส่วนหนึ่งจากคอลัมน์ “รอบสภา” ในหนังสือพิมพ์ “ชาวไทย” พ.ศ. 2500-10, พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ กอบกุล มณีน้อย ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2511
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2563