ความเป็น “หญิง” ที่ถูกกีดกันออกจากการตั้ง “นามสกุล” สมัยรัชกาลที่ 6

หญิงสาว ชาว สยาม
หญิงสาวชาวสยาม (ภาพจาก Twentieth Century Impressions of Siam)

คนไทยใช้ “นามสกุล” มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากมี พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พุทธศักราช 2456 มีทั้งนามสกุลที่ได้รับพระราชทาน และนามสกุลที่สามัญชนคิดตั้งขึ้นเอง รัชกาลที่ 6 ทรงมีความกังวลการตั้งนามสกุลของประชาชน ดังนั้น เพื่ออธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงวิธีการตั้งนามสกุลให้เป็นไปตามหลักการและต้องด้วยพระราชนิยม จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาเรื่อง “บรรทึกความเห็นว่าด้วยการเลือกนามสกุล” มีรายละเอียดดังนี้

1. นามสกุลของสามัญชนไม่ควรจะให้มียาว ๆ เทียมนามสกุลพระราชทาน

Advertisement

2. ถ้าสามารถควรจะใช้เปนคำไทย ๆ เพื่อมิให้เปนเลียนนามสกุลพระราชทาน ซึ่งโดยมากเปนภาษามคธหรือสันสกฤต

3. นามสกุลโดยมากไม่ควรเกินกว่า 3 พยางค์ เช่น อาภรณ์ประภา, หรือจันทรบริบูรณ์, ใช้ไม่ได้ทั้ง 2 นาม

4. เกณฑ์ที่ควรเลือกใช้เปนนามสกุลได้ เห็นควรว่าควรกำหนดดังต่อไปนี้

(ก) เกณฑ์ภูมิลำเนา คือตามนามตำบลที่อยู่ เช่น สามเสน, บางขุนพรหม, บางกระบือ, (แต่ห้ามมิให้มี “ณ” อยู่ข้างน่านามตำบล เพราะ “ณ” จะมีได้แต่พระราชทานเท่านั้น)

(ข) อาชีวะ คือตามทางทำมาหาเลี้ยงชีพของตนเอง หรือบรรพบุรุษย์ เช่น ชาวนา, ชาวสวน, พ่อค้า, ช่างทอง, ช่างเหล็ก, ช่างบาตร, ช่างหม้อ, หมอยา เปนต้น (ให้ใช้เปนคำไทย ๆ อย่าให้แปลเปนภาษามคธหรือสันสกฤต)

(ค) คุณ เช่น คนดี, คนซื่อ, คนตรง, ใจดี, ใจเย็น, ใจใหญ่, ไหวพริบ, แคล่งคล่อง, ว่องไว, เฉียบแหลม, คำแหง, แขงขัน, แขงแรง, อดทน, กล้าหาญ, ปากหวาน, พูดเพราะ, เสียงหวาน, เสียงเพราะ, เสียงเย็น, เสียงใส, ผิวดำ, ผิวคล้าม, ผิวขาว, ผิวนวล, ผิวเหลือง, ผิวอ่อน, ดังนี้เปนต้น

(ฆ) ตามเผ่าพันธุ์ คือเอานามบรรพบุรุษย์คนเดียวหรือ 2 คน 3 คน ผสมเปนนามสกุล เช่น นามทวดกับปู่ หรือนามปู่กับบิดา เปนต้น นามสกุลที่พระราชทานไปแล้วโดยมากเปนไปในเกณฑ์นี้ ดังจะยกตัวอย่างพอเปนที่สังเกตุคือ 

(1) บุนนาค เปนนามแห่งเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ผู้เปนบรรพบุรุษย์แห่งสกุลนั้น (2) เดชะคุปต์ นามสกุลแห่งพระยาโบราณราชธานินทร์ ผูกจากบรรพบุรุษย์ 2 นายคือ ขุนฤทธิดรุณเสษฐ เดช ผู้เปนบิดากับนายคุ้ม (สังสกฤต = คุปต์) ผู้เปนปู่ ดังนี้เปนต้น ถ้าใช้สำหรับคนสามัญควรเอานามบรรพบุรุษย์ตรง ๆ โดยไม่แปลเปนมคธหรือสังสกฤต เช่น ต่างว่าจะใช้นามข้างบนนี้ว่า “เดชคุ้ม” หรือ “คุ้มเดช” ก็ได้ทั้ง 2 สถาน

(ง) ตามประเทศถิ่นเดิม ให้เติมคำว่า “เชื้อ” ลงนามข้างน่านามชาติ เช่น เชื้อจีน, เชื้อญวน, เชื้อแขก, เชื้อชะวา, ดังนี้เปนต้น

5. นามสกุลถึงจะซ้ำกันบ้างก็ไม่สู้อัสจรรย์ เพราะเมื่อหมู่มากจะไม่ให้ซ้ำบ้างย่อมเปนการยาก ถึงในเมืองอื่น ๆ เขาก็ต้องยอมให้ซ้ำบ้าง

เมื่อพิจารณาหลักการตั้งนามสกุลของรัชกาลที่ 6 ข้างต้นจะเห็นว่า ทรงให้ความสำคัญกับการตั้งนามสกุลจากการสืบสายโลหิตฝ่ายบิดาหรือฝ่ายผู้ชายมากกว่าฝ่ายผู้หญิง (ตามข้อ (ฆ)) สอดคล้องกับพระราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 6 เมื่อราชการมีหนังสือ “นามสกุลสามัญชน” กราบบังคมทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อให้ทรงมีพระราชวินิจฉัยนามสกุลสามัญชนตัวอย่าง 14 ชื่อ ก็ทรงให้ความสำคัญของการตั้งนามสกุลจากฝ่ายผู้ชายมากกว่าฝ่ายผู้หญิง

ในพระราชวินิจฉัยดังกล่าวนั้น รัชกาลที่ 6 ทรงไม่เห็นด้วยกับนามสกุลที่ตั้งจากชื่อมารดา แม้ว่าจะนำมาผสมกับชื่อบิดาแล้วก็ตาม เช่น นามสกุล “แสงถม” ของนายยิ้ม มาจากบิดาชื่อ แสง กับมารดาชื่อ ถม ทรงเห็นว่า “…ชื่อนี้ดีออก เสียแต่ไปเอาชื่อมารดาเข้าไป เพราะนามสกุลควรเอาข้างผู้ชายเปนเกณฑ์…” รวมถึงนามสกุล “นกแก้วเล็ก” ของพระธรณีนฤเบศน์ มาจากบิดาชื่อ นกแก้ว กับมารดาชื่อ เล็ก และนามสกุล “นุดส่วน” ของนายเนตร์ มาจากบิดาชื่อ นุด ดับมารดาชื่อ ส่วน ซึ่งรัชกาลที่ 6 ก็ทรงมีพระราชวินิจฉัยในแนวทางเดียวกับนามสกุล “แสงถม”

สำหรับนามสกุลที่มาจากมารดาอย่างเดียวนั้น ทรงมีความเห็นตำหนิอย่างรุนแรง เช่น นามสกุล “กุลแวว” ของนายจาด มาจากมารดาชื่อ แวว ทรงเห็นว่า “…บรรพบุรุษย์ข้างผู้ชายเปนอะไร จึงได้เอานามมารดาเปนนามสกุล ไม่มีพ่อฤา ฤาพ่อเขาไปมีเมียเสียใหม่ แม่จึงโกรธตัดขาดกัน…”

อย่างไรก็ตาม นามสกุลที่มาจากบิดาอย่างเดียวนั้น รัชกาลที่ 6 กลับทรงชื่นชมอย่างมาก เช่น นามสกุล “ชูทรัพย์” ของนายกลีบ มาจากบิดาชื่อ ทรัพย์ ทรงเห็นว่า “…ของเขาดี อย่างนี้แหละนับว่าถูกตามที่เราเห็นว่าควรจะเปน…” และนามสกุล “ฉ่ำช่วงสกุล” ของนายอู๋ มาจากปู่ชื่อ ฉ่ำ กับบิดาชื่อ ช่วง ทรงเห็นว่า “…ดีทีเดียว ถูกตามคำชี้แจงของเรา…”

การกำเนิดของ “นามสกุล” นำมาซึ่งการจัดระเบียบสังคมและระบบเครือญาติเสียใหม่ โดยมุ่งเน้นความสำคัญไปที่ฝ่ายผู้ชาย ละเลยความสำคัญของฝ่ายผู้หญิง การกำหนดว่านามสกุลที่จะใช้ร่วมกันได้แต่ผู้สืบสายโลหิตฝ่ายผู้ชายนั้น ทำให้นามสกุลเป็นประหนึ่งมรดกเฉพาะของ พ่อ-ลูก เมื่อลูกชายเติบโตขึ้นก็จะส่งต่อไปยังรุ่นต่อรุ่น สร้างภาพจำลองของการสืบสายโลหิตฝ่ายฝ่ายผู้ชายหรือฝ่ายบิดา เพื่อทัดทานบทบาทของฝ่ายผู้หญิงหรือฝ่ายมารดา เป็นการกีดกันผู้หญิงออกจากการสืบสายโลหิตผ่านความชอบธรรมจากการ “จดทะเบียน” นามสกุล

ทั้ง ๆ ที่สังคมไทยในอดีตนับแต่โบราณมานั้นจะให้ความสำคัญกับการสืบสายโลหิตฝ่ายผู้หญิงไม่แพ้กัน เพราะวัฒนธรรมประเพณีหลายอย่างจะให้ความสำคัญกับผู้หญิงในหลากหลายสถานะ โดยเฉพาะความสำคัญของ แม่-ลูก และสถานะของมารดาซึ่งเป็นเพศผู้ให้กำเนิด โดยในสังคมจารีตแบบ “หลายผัวหลายเมีย” ที่อาจหาผู้เป็นบิดาไม่ได้เลยนั้น การสืบสายเลือดของมนุษย์ที่เป็น “ธรรมชาติ” ที่สุด ชัดเจนที่สุด จึงน่าจะเป็นการสืบสายโลหิตฝ่ายมารดา

นอกจากเรื่องข้างต้นแล้ว พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พุทธศักราช 2456 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงที่คิดตั้งนามสกุลเป็นของตนเอง

ขั้นตอนของการจดทะเบียนนามสกุลนั้น ผู้ข้อจดทะเบียนจะต้องเป็นผู้ชาย ลงนามในฐานะ “หัวน่าครอบครัว” ตามที่กฎหมายกำหนด จึงเกิดปัญญาขึ้นสำหรับผู้หญิงที่ไม่มี “หัวน่าครอบครัว” ต้องอยู่ตัวคนเดียว เนื่องจากมาตรา 18 ของพระราชบัญญัติกำหนดไว้ว่า หากผู้หญิงที่ไม่มีญาติที่มีชีวิตอยู่ ให้ใช้นามสกุลของผู้ชายที่เป็นญาติสนิท หากไม่มีญาติสนิท ก็ให้ใช้นามสกุลของญาติที่ห่างชั้นถัดไปมาจดทะเบียนเป็นนามสกุลของตนเอง

นี่จึงสะท้อนว่า กฎหมายไม่ยินยอมให้ผู้หญิงจดทะเบียนนามสกุลของตนเองอย่างเด็ดขาด สอดคล้องกับหนังสือสั่งการจากเสนาบดีกระทรวงนครบางส่งไปยังเจ้ากรมทะเบียน ย้ำว่า “…ด้วยการรับจดทะเบียนนามสกุลนั้น ต่อไปนี้พึงเข้าใจดังนี้ 1. ผู้หญิงห้ามไม่ให้รับจดทะเบียนนามสกุล เพราะตามพระราชบัญญัติก็ห้าม…”

ปรากฏว่า ผู้หญิง “หัวเดียวกระเทียมลีบ กลีบเดียวกระเทียมโทน” ได้รับผลกระทบเรื่องนี้เข้าเต็ม ๆ โดยเฉพาะกรณีของ “อิน ทัศลีมา” หรือนางอิน ที่ได้ยื่นจดทะเบียนนามสกุลของตนเองเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2460 เพราะเธอไม่มีญาติผู้ชาย

นางอินจำเป็นต้องมาจดทะเบียนนามสกุลตามที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าคนไทยทุกคนต้องมีชื่อและนามสกุล เธอต้องการตั้งนามสกุล “ทัศลีมา” โดยอธิบายว่า บรรพบุรุษแต่เดิมเป็นชาวฮินดู ปู่ทวดชื่อ ทัศ ปู่ชื่อ ลีมา บิดาชื่อ โลหะ โดยคำว่า ทัศ แปลว่า สิบ คำว่า ลีมา แปลว่า อยู่ด้วยความรู้หรือวิชา รวมชื่อของปู่ทวดกับปู่เป็น “ทัศลีมา” แปลว่า ข้าพเจ้าผู้ซึ่งสืบต่อมาจากนายทัศและนายลีมา เธออธิบายไว้เช่นนั้น

นางอินกล่าวว่า “…ข้าพเข้าเป็นหญิง ไม่มีพี่น้องชายและทั้งบิดาก็ไปตั้งบ้านอยู่ในจังหวัดฉเชิงเทรา ถึงแก่ความตายเสียก่อนมีนามสกุล จึงเป็นน่าที่ของข้าพเจ้าจะต้องขนานนามสกุลเอง เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองท่าน…”

พระวิชิตสุรการ นายทะเบียนใหญ่ ทำหนังสือตอบกลับไปถึงนางอินว่า ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ยินยอมให้ผู้หญิงตั้งนามสกุล หากหาญาติผู้ชายที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ก็ให้ใช้นามสกุลของผู้ชายที่สืบสายโลหิต หรือไม่ก็ใช้นามสกุลของญาติผู้ชายชั้นถัดไป อย่างไรก็ตาม นางอินส่งหนังสือตอบกลับโดยย้ำว่า บิดาของตนถึงแก่ความตายก่อนมีนามสกุล ตนจึงจะขอเป็นผู้รับรักษานามสกุลของบิดาแทน และกล่าวว่า “…จริงอยู่ที่ตัวข้าพเจ้าเป็นหญิง แต่จะไม่พยายามมีนามสกุลหรือให้บิดามีนามสกุลสำหรับตนได้พึ่งใช้ต่อไปแล้ว ก็ออกจะไม่เป็นผู้คนที่ถูกด้วยกฎหมาย เมื่อเห็นสิ่งจำเป็นกระนี้แล้วจึงต้องขอความกรุณาท่านให้อนุญาตแก่นายหลอบิดาข้าพเจ้า…”

ต่อมาปรากฏเอกสารระบุว่า หากนางอินสามารถนำหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานว่าเป็นผู้ไร้ญาติที่จะร่วมนามสกุลได้แล้ว ก็ให้นางอินไปชี้แจงต่ออำเภอท้องที่ภูมิลำเนาตน เพื่อขอจดทะเบียนนามสกุลได้ตามต้องการ ทั้งนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า กรณีของนางอินได้จดทะเบียนนามสกุลสำเร็จหรือไม่

ในหนังสือฉบับหนึ่งของพระวิชิตสุรการ ที่หารือกับข้าราชการระดับสูงคนหนึ่ง กล่าวถึงเรื่องผู้หญิงมาขอจดทะเบียนนามสกุลของตนเองไว้ว่า

“… ณ บัดนี้ มีผู้หญิงหลายคนได้มาขอจดฐเบียรนามสกุล โดยแสดงว่าบุรพบุรุษของเขาไม่มีชีวิตร์แล้ว แลญาติทางฝ่ายผู้ชายไม่มีเลย ทางสอบสวนของเจ้าพนักงานก็ไม่มีทางใดที่จะแนะนำให้เขาได้มีนามสกุลใช้ตามพระราชบัญญัตินี้ได้ จึงเป็นปัญหาเพราะว่า

1) ในพระราชบัญญัติมาตรา 3 บัญญัติว่า คนไทยทุกคนต้องประกอบด้วยชื่อแลชื่อวงษ์สกุล

2) ในมาตรา 19 บัญญัติว่า เมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นบทกฎหมายแล้ว ห้ามมิให้เรียกขานขีดเขียนชื่อบุคคลใด ๆ ในหนังสือราชการนอกจากชื่อตัวแลชื่อวงษ์สกุลของบุคคลนั้น ฯลฯ ดังนี้

เหตุผลในกฎหมาย 2 บทนี้ ตัดความชอบธรรมแก่ผู้ที่ไม่มีนามสกุลใช้อยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อกฎหมายมิได้อนุญาตให้ผู้หญิงที่บุรพบุรุษไม่มีชีวิตร์แล้ว แลหาญาติฝ่ายชายมิได้ เป็นผู้จดฐเบียรนามสกุลได้แล้ว จะเป็นข้อยกเว้นแก่เขาหรือประการใด แลถ้าเป็นข้อยกเว้นแล้วจะควรให้ใบคู่มือแก่เขาที่จะไปแสดงต่อเจ้าพนักงานในเวลาที่เขามีกิจกรรมจะไปกระทำหรือไม่…”

แม้ในหนังสือฉบับดังกล่าวจะไม่ได้ระบุถึงกรณีนางอินโดยตรง แต่สันนิษฐานว่า นางอินสามารถตั้งนามสกุลของตนเองได้สำเร็จ นอกจากกรณีของนางอินแล้ว ก็ปรากฏว่ามีผู้หญิงอีกหลายคนมาขอจดทะเบียนนามสกุลของตนเอง เช่น นางไผ่ จดทะเบียนนามสกุล “เจริญการค้า”, นางเปี่ยม จดทะเบียนนามสกุล “ชูประวัติ” และนางแม้น จดทะเบียนนามสกุล “จังเกษม” โดยเจ้าหน้าที่บันทึกไว้ว่า อนุญาตจดทะเบียนให้เป็นกรณีพิเศษ หรือเพราะเป็นหม้าย

ราชการจำต้องยอมให้ผู้หญิงเหล่านี้ตั้งนามสกุลของตนเองได้ ด้วยการสร้างเงื่อนไขพิเศษในการจดทะเบียนขึ้นมา เพราะเหตุผลอันสุดวิสัยที่แม้แต่ในกฎหมายก็ไม่ได้ระบุไว้ว่า หากเป็นคนไร้ญาติฝ่ายผู้ชาย การจดทะเบียนนามสกุลจะต้องทำอย่างไร ดังนี้พวกเธอจึงมี “นามสกุล” เป็นของตนเอง (แต่หากเธอแต่งงานก็ต้องเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามี หากมีบุตรก็ต้องใช้นามสกุลของบิดา) ซึ่งเป็นนามสกุลที่ไม่มีความเป็น “ผู้หญิง” อยู่ในนั้น เพราะต้องคำนึงและให้ความสำคัญกับความเป็น “ผู้ชาย” ตามที่มาตรา 5 ของพระราชบัญญัติที่ระบุไว้ว่า “ชื่อสกุลเป็นชื่อประจำวงศ์สกุลซึ่งสืบเนื่องมาแต่บิดาถึงบุตร” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธนัย เจริญกุล. (2547). กำเนิด “นามสกุล” กับบทบาทผู้ปกครองของรัชกาลที่ 6. รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 25 ฉบับที่ 1.

พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พุทธศักราช 2456 และพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2515). พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท อรรถ ศศิประภา.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มิถุนายน 2563