สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า “คุณหมอทิน มอง จี”

สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร
สถูปที่สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร หลังจากถูกนำไปอยู่ที่พม่าและมรณภาพในเพศบรรพชิต ที่สุสานลินซิน-กอง ชานเมืองอมรปุระ

เรื่องราวของสถูปชานเมืองอมรปุระ ซึ่งตั้งอยู่ในสุสานลินซิน-กอง ใกล้กับปลายด้านหนึ่งของสะพานอูเบงอันโด่งดัง ที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร หรือสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์จากกรุงศรีอยุธยาก่อนที่จะเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. 2310 อดีตกษัตริย์ผู้ถูกกวาดครัวอพยพไปพร้อมกับคนจากฝั่งสยามอีกไม่น้อย ข้ามเทือกเขารอนแรมไปยังพม่า พระองค์ท่านอยู่ในเพศบรรพชิตจนมรณภาพที่พม่าเมื่อราว พ.ศ. 2339 (จากเอกสารทางฝ่ายพม่าและฝ่ายไทย)

แต่หลายคนยังสงสัยอยู่ว่า สถูปนี้คือที่บรรจุพระบรมอัฐิของ “เจ้าฟ้าอุทุมพร ขุนหลวงหาวัด” พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาก่อนพระองค์สุดท้าย เจ้าฟ้าเอกทัศน์ จริงหรือไม่


(เนื่องจากผู้เขียนไม่สามารถอ่านภาษาพม่าอย่างถูกต้องได้ ดังนั้น ชื่อบุคคลและชื่อสถานที่ในภาษาพม่า
จึงถอดเสียงอย่างไม่เป็นระบบและเท่าที่พอจะรับรู้ได้เท่านั้น  จึงไม่ควรอ้างอิงชื่อในภาษาพม่าตามที่ปรากฏในบทความนี้ - ผู้เขียน)


เรื่อง สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร เป็นข่าวขึ้นมาอีกครั้งราวเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555 เนื่องจากนโยบายของเขตปกครองมัณฑะเลย์ดำริให้ปรับปรุงพื้นที่ซึ่งเป็นป่าช้าเก่าชื่อลินซิน-กอง ซึ่งเป็นสถานที่เสื่อมโทรมขั้นสุดยอด มีร่องรอยของที่เก็บศพทั้งเก่าและใหม่ ทั้งแบบจีนและของคนท้องถิ่น ตลอดจนศาสนสถานที่เป็นฐานเจดีย์เก่าทรุดโทรมขนาดใหญ่กว่าสถูปองค์นี้ และน่าจะมีอายุเก่าแก่อยู่ใกล้เคียงอีกแห่งหนึ่งด้วย

บริเวณโดยรอบของที่ตั้งสถูปนี้ด้านหนึ่งอยู่ติดกับวัดชื่อ “ชเวมอตันเจดีย์” ซึ่งเป็นย่านชุมชนของ
เมืองอมรปุระ ด้านหนึ่งติดกับชายขอบ “ทะเลสาบต่าว-ตะ-หมั่น” [Taung-tha-man Lake] และบริเวณ
ที่ต่อเนื่องกับสะพานอูเบงฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นสะพานไม้ทอดยาว และปลายอีกด้านหนึ่งมี “วัดเจาตอจี”
เป็นวัดเก่าที่มีภาพจิตรกรรมบนผนังและเพดานเป็นรูปวิถีชีวิตและแผนที่ดาวซึ่งน่าสนใจมาก

ภาพที่ฝาผนังนี้บางส่วนเป็นภาพเด็กๆ ไว้ผมจุก ผมแกละ ล้อมวงเล่นสนุกกันบริเวณลานบ้านแบบพม่า มีผู้สันนิษฐานหลายท่านว่ารูปแบบการดำเนินชีวิตและการแต่งกายบางอย่างผสมผสานกับแบบพม่า และเสนอกันว่า “น่าจะเป็นการสะท้อนรูปแบบชีวิตบางประการแบบคนโยดะยาที่หลงเหลืออยู่” (คนพม่าเรียกคนไทยทั่วๆ ไปต่อเนื่องจากในอดีตว่า คน โย-ดะ-ยา)

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเจาตอจี อีกฝั่งหนึ่งของสะพานอูเบง เป็นรูปวิถีชีวิตและแผนที่ดาวซึ่งน่าสนใจมาก ภาพที่ฝาผนังนี้บางส่วนเป็นภาพเด็กๆ ไว้ผมจุก ผมแกละ ล้อมวงเล่นสนุกกันบริเวณลานบ้านแบบพม่า บางท่านสันนิษฐานว่าได้สะท้อนชีวิตวัฒนธรรมแบบสยามอยู่ด้วย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเจาตอจี อีกฝั่งหนึ่งของสะพานอูเบง เป็นรูปวิถีชีวิตและแผนที่ดาวซึ่งน่าสนใจมาก ภาพที่ฝาผนังนี้บางส่วนเป็นภาพเด็กๆ ไว้ผมจุก ผมแกละ ล้อมวงเล่นสนุกกันบริเวณลานบ้านแบบพม่า บางท่านสันนิษฐานว่าได้สะท้อนชีวิตวัฒนธรรมแบบสยามอยู่ด้วย

คนเฝ้าสุสานแห่งนี้เป็นครอบครัวที่เรียกได้ว่าไร้บ้าน อยู่อาศัยในเรือนไม้เก่าผุพังคร่ำคร่าท่าม
กลางกองขยะ และดัดแปลงพื้นที่บางส่วนเป็นโรงเลี้ยงหมู หากไม่ใช่ถูกกล่าวขานว่าเป็นสถูปบรรจุพระ
บรมอัฐิของเจ้าฟ้าอุทุมพรก็คงไม่มีใคร (โดยเฉพาะคนไทย) เข้าไปดูหรือสนใจแต่อย่างใด แต่เธอก็ให้ข้อมูลสำคัญว่า “บริเวณนี้จะถูกปรับให้เป็นสวนสาธารณะ โดยการนำเอาที่บรรจุศพทั้งหลายทั้งปวงออกให้หมด ปรับภูมิทัศน์ใหม่และหลงเหลือไว้แต่เพียงสถูปบรรจุอัฐิและเจดีย์เก่าใกล้เคียงเท่านั้น”

แต่ทั้งหลายเหล่านี้ก็ยังคงเป็นเพียงเรื่องเล่า เพราะหลังจากนั้นได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ในมัณฑะเลย์ท่านหนึ่งที่กล่าวว่า รัฐบาลท้องถิ่นไม่น่าจะมีงบประมาณเพียงพอที่จะบูรณะปรับปรุงพื้นที่แบบนั้นได้ ทางข้าราชการฝ่ายไทยบางคนยังไปปล่อยข่าวที่มัณฑะเลย์ว่า จะมีนักการเมืองหนีคดีบางคนเสนอตัวสนับสนุนทางการเงินไปเสียอีก ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าลือไปต่างๆ นานา และไม่เห็นบทสรุปที่ควรจะเชื่อถือว่าจะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์หรืออนุรักษ์บริเวณนี้อย่างชัดเจนในขณะนี้แต่อย่างใด

เรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์อยุธยาที่ถูกจับไปเป็นเชลยยังบ้านเมืองพม่าในลุ่มอิรวดี ถือเป็น “เรื่องเล่า” [Genre] ให้ความรู้สึกเศร้าสะเทือนใจสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ที่ได้ฟังข้อมูลเช่นนี้ เพราะการเล่าเรื่องในช่วงเสียกรุงฯ ถือเป็น “ความสะเทือนใจร่วม” ในการบรรยายภาพประวัติศาสตร์ในยุคต้นรัตนโกสินทร์

กรณีการพลัดบ้านพลัดเมืองไปอยู่ต่างแดนในฐานะเชลยศึกสงครามหรือผู้อพยพ ไม่ว่ายุคสมัยใดก็สร้างความเห็นอกเห็นใจให้เกิดขึ้นแก่บุคคลที่ได้รับรู้ ทั้งฝ่ายที่เป็นผู้พลัดพรากและผู้อยู่ข้างหลัง

หากตั้งข้อสังเกตโดยเฉพาะในสังคมไทย เรื่องของความสะเทือนใจจากการพลัดพรากมักถูกเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าในชาดกนอกพระสูตรทางพุทธศาสนา ที่เน้นเรื่องของกรรมในการจากผู้เป็นที่รักและต้องจากบ้านเกิดเมืองนอน

ดังนั้นเรื่องราวของ สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานเชื้อสายของชาวโยดะยาในพม่าจึงสร้างความสนใจแก่คนไทยในปัจจุบันได้อย่างมากมาย

คนไทยสะเทือนใจกันง่ายๆ เมื่อรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ผ่านการสื่อสารที่อาจจะสร้างเน้นการบอกเล่าแบบนี้ หรือเติมแต่งให้กลายเป็นข่าวเชิงประวัติศาสตร์แบบตำนานที่ใช้ “ความเชื่อ” มากกว่าจะพิสูจน์หาหลักฐานหรือข้อเท็จจริง

สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร การสำรวจและสันนิษฐานจาก นายแพทย์ทิน มอง จี

เรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นจากการสำรวจของนายแพทย์ผู้สมัครจะเป็นนักวิชาการทางสังคมศาสตร์หลังเกษียณอายุ ชื่อ “นายแพทย์ทิน มอง จี” [Dr. Tin Maung Kyi] ที่สันนิษฐานว่าสถูปองค์นี้เป็นของเจ้าฟ้าอุทุมพรมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2530 ความที่เป็นคนสายเลือดสืบมาจากกลุ่มชาวโขนละครจากราชสำนักอยุธยาที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ไม่ไกลจากกำแพงพระราชวังมัณฑะเลย์ โดยคุณปู่มักบอกเล่าเรื่องราวภายในครอบครัวที่ถูกเล่าสืบต่อมาให้ท่านฟัง และกล่าวว่า “อย่าลืมว่าเธอเป็นคนไทย” ในขณะที่คุณพ่อของคุณหมอไม่สนใจเลย

การเป็นคนไทยในบริบทของคุณปู่คุณหมอนั้น ไม่ใช่เรื่องของชาตินิยมแบบที่คนไทยทุกวันนี้ชอบสรุปกัน เพราะท่านเพียงจะบอกว่า “อย่าหลงลืมรากเหง้าของพวกเรา” คงเหมือนกับเรื่องเล่าในครอบครัวอีกหลายๆ ครอบครัว

เมื่อเปรียบเทียบกับธาตุฝุ่น ที่บรรจุอัฐิธาตุของพระครูหลวงโพนสะเม็ก ยาคูขี้หอม ที่จำปาสัก ลาวตอนใต้ จะพบว่าเป็นการทำสถูปรูปบัวที่มักใช้บรรจุอัฐิของพระผู้ใหญ่หรือผู้มีสถานภาพในวัฒนธรรมไต-ลาว
เมื่อเปรียบเทียบกับธาตุฝุ่น ที่บรรจุอัฐิธาตุของพระครูหลวงโพนสะเม็กยาคูขี้หอม ที่จำปาสัก ลาวตอนใต้ จะพบว่าเป็นการทำสถูปรูปบัวที่มักใช้บรรจุอัฐิของพระผู้ใหญ่หรือผู้มีสถานภาพในวัฒนธรรมไต-ลาว

แม้จะเป็นหมอมากว่า 27 ปี และเกษียณอายุเมื่อ พ.ศ. 2541 จึงเปลี่ยนมาทำงานเป็นนักวิชาการด้านพม่าและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเต็มตัว ได้รับเชิญไปเสนองานวิจัยในต่างประเทศหลายแห่ง และได้รับเชิญจาก SPAFA มาทำงานที่กรุงเทพฯ ระหว่าง ค.ศ. 2003-2007  ปัจจุบัน [พ.ศ. 2555] คุณหมออายุ 74 ปีแล้ว คุณหมอเขียนบทความสั้นๆ เรื่องการสำรวจสถูปที่สุสานลินซิน-กอง เรื่อง “A Thai King’s Tomb” และนำไปรวมพิมพ์ไว้ในหนังสือ “The various facets of Myanmar” ซึ่งปัจจุบันพิมพ์ครั้งที่ 2 แล้ว

จากนั้นราวๆ พ.ศ. 2538 มัคคุเทศก์ชาวพม่าก็นำมาเล่าและพาคนไทยบางกลุ่มไปตามรอย และสู่การรับรู้ของไกด์ชาวไทย คนไทยตื่นเต้นกันมากในช่วงเวลานั้น โดยใช้คำบอกเล่าจากชาวบ้านและพระสงฆ์ในบริเวณใกล้เคียงที่บอกแต่เพียงว่า นี่คือสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของกษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่ง โดยไม่มีจารึกอื่นใดระบุการยืนยันไปมากกว่านี้

ส่วนเอกสารสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าเป็นภาพเจ้าฟ้าอุทุมพร (แต่เขียนว่าเจ้าฟ้าเอกทัศน์) ทรงเครื่องกษัตริย์ ที่พบจากเอกสาร ชเว-นัน-เล-ทง [Shwe-nan-let-thone] แต่เป็นฉบับที่ถูกคัดลอกต่อมาเมื่อราว พ.ศ. 2437 จากต้นฉบับจริง ปัจจุบันเอกสารชิ้นนี้เก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดอาณานิคมในกรุงลอนดอน มีการเขียนข้อความใต้รูปบุคคล คุณหมอแปลจากภาษาพม่าเก่าแบบบรรทัดต่อบรรทัด ความว่า

“ผู้ก่อตั้งที่สามแห่งรัตนปุระ (อังวะ) และพระเจ้าช้างเผือก

ต่อสู้และชนะอโยธยา,

กับกษัตริย์

กษัตริย์ถูกนำตัวมาที่นี่ ในช่วงการครองราชย์ของพระเชษฐาของพระองค์ (กษัตริย์บาดุง)

กษัตริย์ (ไทย) ขณะอยู่ในสมณเพศ, มรณภาพที่อมรปุระ ที่ลินซิน-กอง

สุสาน, พระองค์ถูกบรรจุ/เผาพระศพด้วยสมพระเกียรติในความเป็นเชื้อพระวงศ์

นี่คือภาพของเจ้าฟ้าเอกทัศน์”

จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วัดมหาเตงดอจี ทั้งรูปแบบขนบการเขียนภาพและฝีมือช่างคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมในโบสถ์และวิหารแบบอยุธยา
จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วัดมหาเตงดอจี ทั้งรูปแบบขนบการเขียนภาพและฝีมือช่างคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมในโบสถ์และวิหารแบบอยุธยา

ตรงนี้คุณหมอสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นความเข้าใจผิดเรื่องชื่อที่ปรากฏ เพราะควรเป็นชื่อของเจ้าฟ้าอุทุมพร เนื่องจากในประวัติศาสตร์พม่าและประวัติศาสตร์ไทย กษัตริย์จากกรุงศรีอยุธยาองค์สุดท้ายสวรรคตจากเหตุสงครามที่กรุงศรีอยุธยานั่นเอง

และเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 คุณหมอพบหญิงชราอายุ 101 ปี ที่เล่าให้ฟัง ยืนยันในสมมติฐานของคุณหมอว่า เธอทราบเรื่องราวของสถูปที่สุสานลินซิน-กอง ที่ถูกบอกเล่าต่อกันมาว่า เป็นสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของกษัตริย์ไทยมาตั้งแต่เธอเรียนหนังสือในโรงเรียน บ้านของเธออยู่ที่ ซิน-ชเว-พุท ที่อยู่ห่างจากบริเวณนี้ก็เพียง 600 เมตร

สำหรับฝ่ายไทย เรื่องเล่าของเจ้าฟ้าอุทุมพรที่ไปสวรรคตที่พม่านี้ เมื่อคราวสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จพม่า ทรงปรารภเรื่องข่าวการพบสถานที่เก็บพระบรมอัฐิพระเจ้าแผ่นดินสยามที่แพร่เข้ามาในสยามราวรัชกาลที่ 5 ซึ่งท่านนึกไปถึงเจ้าฟ้าอุทุมพร แม้จะทรงสอบถามตลอดการเดินทางจากย่างกุ้งไปอมรปุระและมัณฑะเลย์ที่ปรากฏในหนังสือ “เที่ยวเมืองพม่า” ก็ไม่มีใครทราบเรื่องดังกล่าว

ส่วนบทความของ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ที่อ่านงานเขียนของ คุณหมอทิน มอง จี ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2545 และคงได้เคยไปเห็นสถูปองค์นี้ที่เมืองอมรปุระแล้วสรุปว่า ไม่เชื่อว่าเป็น สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร ตามสมมติฐานของ คุณหมอทิน มอง จี

อาจารย์พิเศษ ไม่เห็นว่าสถูปนี้ควรตั้งอยู่ที่อมรปุระ เพราะไม่มีหลักฐานใดๆ ระบุว่า มีการย้ายเชลยชาวอยุธยามาอยู่ที่อมรปุระ ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นภายหลังเสียกรุงฯ ราวๆ สิบกว่าปี อีกทั้งสภาพของสถูปทั้งรูปทรงและลวดลาย ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับศิลปะอยุธยาแต่อย่างใด

ภาพวาดในเอกสารเก่าที่เขียนบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าฟ้าอุทุมพร ที่มีข้อผิดพลาดบางประการ แต่เนื้อความกล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าอุทุมพรในพม่าและการปลงพระศพที่สุสานลินซิน-กอง
ภาพวาดในเอกสารเก่าที่เขียนบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าฟ้าอุทุมพร ที่มีข้อผิดพลาดบางประการ แต่เนื้อความกล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าอุทุมพรในพม่าและการปลงพระศพที่สุสานลินซิน-กอง

อาจารย์พิเศษเห็นว่า ข้อมูลที่ทำให้เชื่อกันว่าสถูปดังกล่าวเป็นสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของเจ้าฟ้าอุทุมพร เป็นเพียงข้อมูลจาก “คำบอกเล่า” ของชาวบ้านในท้องถิ่นที่พูดกันปากต่อปากว่าเป็นที่ฝังพระบรมศพของกษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งเท่านั้น ส่วนเรื่องราวที่ปรากฏในข้อเขียนของ คุณหมอทิน มอง จี อาจารย์พิเศษเห็นว่าเป็นการปะติดปะต่อเรื่องราวให้เติมแต่งกันทั้งเอกสารฝ่ายพม่าและฝ่ายไทยเท่าที่มีการแปลออกเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น

สำหรับสถูปทรงดังกล่าวนี้ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม แนะนำให้ไปเปรียบเทียบกับสถูปรูปยอดบัวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก อันเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของพระครูหลวงโพนสะเม็กหรือ “ยาคูขี้หอม” ที่วัดธาตุฝุ่น เมืองจำปาสัก ทางเขตลาวตอนใต้

ลักษณะสถูปที่บรรจุอัฐิธาตุของพระสงฆ์ผู้ใหญ่ของคนสองฝั่งโขงมีรูปแบบแทบจะเหมือนทั้งหมดหรือคล้ายคลึงจนกล่าวได้ว่า น่าจะมีวิธีคิดและความตกผลึกในทางวัฒนธรรมจากแหล่งที่มาที่ใกล้เคียงหรือในกลุ่มเดียวกัน

การใช้สถูปที่บรรจุอัฐิธาตุของบรรพบุรุษเป็นรูปยอดบัว และตัวเรือนเป็นเสารูปกลมหรือสี่เหลี่ยม ไม่ใช่เป็นเรื่องประหลาดแต่อย่างใดในสังคมการปลงศพและบูชาบรรพบุรุษหรือผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้วในสังคมไต-ลาว ที่นับถือพุทธศาสนา ดังที่พบสถูปบรรจุอัฐิของพระสงฆ์ผู้ใหญ่ของชุมชนในวัดทางอีสานหลายแห่ง เช่น ที่วัดเก่าแก่แบบคนลาวบ้านลุมพุก อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ในกลุ่มคนเชื้อสายเขมรเป็นส่วนใหญ่ ก็มีการสร้างสถูปบรรจุอัฐิธาตุของพระผู้ใหญ่ของชุมชนแบบดั้งเดิม และรูปแบบสถูปเป็นแบบคู่สองแห่ง รูปแบบเช่นนี้พบคล้ายคลึงกับการทำสถูปคู่ทำจากหินทรายที่เชิงเขาทางฝั่งไทยก่อนทางขึ้นปราสาทพระวิหารเช่นกัน

“การเข้าบัว” เป็นประเพณีบูชาบรรพบุรุษที่สำคัญอย่างหนึ่งทางภาคใต้ “บัว” คือสถูปที่บรรจุกระดูกของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วในตระกูลต่างๆ การใช้สัญลักษณ์เป็นรูปดอกบัวในการบรรจุอัฐิธาตุไว้สำหรับบูชานั้นจึงเป็นพื้นฐานของสังคมทางพุทธศาสนาแบบไต-ลาว ที่รวมไปถึงวัฒนธรรมการบูชาบรรพบุรุษของผู้นับถือพุทธศาสนาทางคาบสมุทร รูปแบบสถูปบรรจุอัฐิเช่นนี้คงไม่พบในสังคมการปลงศพแบบพม่าหรือทางมอญ จึงถูกกล่าวว่า รูปแบบของสถูปที่ค้นพบไม่เหมือนกับสถูปหรือเจดีย์อื่นใดในกลุ่มเมืองเก่า เช่น สะกาย อังวะ อมรปุระ หรือมัณฑะเลย์

คุณหมอทิน มอง จี ผู้อุทิศตัวให้กับการศึกษาสำรวจทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ท่านมีเชื้อสายชาวโขนละครจากราชสำนักอยุธยาและได้รับการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ สืบต่อมาจากปู่และศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
คุณหมอทิน มอง จี ผู้อุทิศตัวให้กับการศึกษาสำรวจทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ท่านมีเชื้อสายชาวโขนละครจากราชสำนักอยุธยาและได้รับการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ สืบต่อมาจากปู่และศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง

คุณหมอทิน มอง จี ก็ไปสันนิษฐานว่า รูปแบบของเจดีย์นี้เป็นเสมือนแท่งเขาพระสุเมรุที่มีสัตว์หิมพานต์เฝ้าที่เชิงฐาน ซึ่งท่านเคยเห็นเพียงครุฑกับนาคเท่านั้น แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับระบบสัญลักษณ์ของการเป็นสถูปรูปดอกบัวที่ยอดแต่อย่างใด

แต่ถ้าเราพิจารณาไปถึงรูปแบบของสถูปที่คล้ายคลึงกับ “ธาตุฝุ่น” ที่บรรจุอัฐิธาตุของพระครูหลวงโพนสะเม็กในจำปาสักแล้ว เราก็อาจเห็นภาพสังคมของพม่าในราชวงศ์อลองพญาหรือคองบองที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์จากผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาพร้อมกับการสงครามไม่แตกต่างไปจากสังคมสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงเทพฯ ที่ประชากรส่วนหนึ่งประกอบจากกลุ่มผู้คนหลากชาติพันธุ์และความเชื่อเช่นเดียวกัน และในกลุ่มหลากหลายชาติพันธุ์นั้นก็ยังคงการสร้างสรรค์หรือถูกกลืนกลายตามสถานการณ์แวดล้อมต่างๆ ของบ้านเมืองแต่ละแห่ง

ศาลยามะหรือศาลพระรามที่มีการทำหัวโขนจำลองที่เป็นรูปพระมหาฤๅษี พระราม พระลักษมณ์ นางสีดา และหนุมาน พร้อมเครื่องบูชา ที่ย่านชาวโยดะยาเก่าในเมืองมัณฑะเลย์
ศาลยามะหรือศาลพระรามที่มีการทำหัวโขนจำลองที่เป็นรูปพระมหาฤๅษี พระราม พระลักษมณ์ นางสีดา และหนุมาน พร้อมเครื่องบูชา ที่ย่านชาวโยดะยาเก่าในเมืองมัณฑะเลย์

โอกาสที่สถูปบรรจุอัฐิขนาดใหญ่รูปบัวที่พบในสุสานลินซิน-กอง ชานเมืองอมรปุระ ริมชายฝั่งของทะเลสาบ จะเป็นของพระผู้ใหญ่หรือผู้มีสถานภาพในกลุ่มชาวไต-ลาว ที่อาจจะเป็นชาวล้านช้าง ที่คนพม่าเรียกว่า เลิง-ซิง หรือคนจากอยุธยาก็ถือว่าเป็นไปได้สูง

เพราะที่เมืองสะกาย ใกล้กับ “วัดมหาเตงดอจี” ซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งรูปแบบ ขนบการเขียนภาพ และฝีมือช่าง คล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์หรือวิหารแบบสยาม แม้ชุมชนชาวโยดะยาจะไม่เหลืออยู่แล้ว แต่ก็มีชาวบ้านที่ถูกเรียกว่าเลิง-ซิง หรือชาวล้านช้างที่อาศัยไปทำบุญที่วัดของคนมอญที่อยู่ใกล้เคียงกัน

เอกสารทางฝ่ายไทยรับรู้กันว่า “เมืองสะกาย” หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อเมืองจักกายบ้าง เมืองสแคงบ้าง เป็นบริเวณที่คนไทยสมัยกรุงฯ แตกถูกกวาดต้อนไปอยู่อาศัยที่นี่ แต่ทุกวันนี้ร่องรอยของชุมชนคนโยดะยาที่สะกายแทบไม่พบเห็น และไม่มีรายงานยืนยันว่าคนไทยอยู่ที่สะกายดังที่ฝ่ายไทยเราเข้าใจกัน

ภาพวาดแผนที่แสดงตำแหน่งที่สันนิษฐานจากการก่อเจดีย์ทรายในชุมชนที่คาดว่าน่าจะเคยมีชาวโยดะยาอยู่อาศัยตลอดลำคลอง ชเว-ตะ-จอง [Shwe-ta-chaung] ภาพจากการวาดของ คุณหมอทิน มอง จี
ภาพวาดแผนที่แสดงตำแหน่งที่สันนิษฐานจากการก่อเจดีย์ทรายในชุมชนที่คาดว่าน่าจะเคยมีชาวโยดะยาอยู่อาศัยตลอดลำคลอง ชเว-ตะ-จอง [Shwe-ta-chaung] ภาพจากการวาดของ คุณหมอทิน มอง จี

เมืองอมรปุระสร้างหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาราวๆ 15 ปี และจดหมายเหตุบันทึกไว้ว่า เจ้าฟ้าอุทุมพรสวรรคตในสมณเพศเมื่อราวๆ พ.ศ. 2339 มีการปลงพระศพที่สุสานลินซิน-กอง ก็อาจจะเป็นสุสานหลวงที่เผาศพของพระผู้ใหญ่หรือผู้มีสถานภาพทางสังคมที่คนพม่าให้ความนับถือ อาจจะมากพอๆ กับชาวบ้านผู้ถูกกวาดต้อนอพยพมาในช่วงนั้น ซึ่งเป็นไปได้ทั้งชาวล้านช้างหรือชาวอยุธยา โดยการบรรจุอัฐิธาตุภายในสถูปองค์ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร หรือไม่ คงไม่สามารถพิสูจน์อย่างแน่ชัดไปได้มากกว่านี้ เพียงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นสถูปบรรจุอัฐิธาตุของบุคคลผู้มีความสำคัญในช่วงเวลานั้น ที่อาจจะเป็นชาวล้านช้างหรือชาวโยดะยาที่ถูกกวาดต้อนมากับการสงครามในสมัยราชวงศ์อลองพญาอย่างชัดเจน

ซึ่งไม่สมควรถูกทุบรื้อทิ้งหรือทำลายไป และต้องปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมสุดขีดนี้เสียใหม่ จะเป็นความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลของสองประเทศก็สมควรจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดในขณะนี้

ร่องรอยของคนพม่าเชื้อสายโยดะยา

สิ่งที่น่าสนใจศึกษาไม่ควรจบลงที่การพิสูจน์ว่า สถูปนี้บรรจุพระบรมอัฐิของเจ้าฟ้าอุทุมพรในขณะเป็นสมณเพศจริงหรือไม่เท่านั้น คุณหมอทิน มอง จี ยังเสนองานค้นคว้าสำรวจเรื่องราวทางวัฒนธรรมของคนเชื้อสายโยดะยาในท้องถิ่นแถบลุ่มอิรวดีต่อไป และเตรียมจัดพิมพ์เป็นหนังสือถ้าคนไทยสนใจและหากมีผู้จัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่ในประเทศไทยให้

โดยกล่าวว่า “พระเจ้ามังระ” [King Hsin-byu-shin]ผู้เข้าตีกรุงศรีอยุธยา ก็กวาดต้อนผู้คนตามรายทางทั้งเมืองระแหง สุโขทัย พิษณุโลก รวมทั้งชาวโยนหรือยวนทางเชียงใหม่ไปยังอังวะ และแยกกลุ่มออกเป็นหลายกลุ่มโดยพระราชทานที่ดินสร้างบ้านเรือนหลายแห่ง พวกที่เป็นศิลปินและนาฏศิลป์มักจะตั้งถิ่นฐานไม่ไกลจากเมืองอังวะเท่าใดนัก ซึ่งสามารถเดินทางติดต่อค้าขายถึงกันทางเรือใน “ลำน้ำชเว-ตะ-จอง” [Shwe-ta-chaung] คลองขุดที่ขนานไปกับแม่น้ำอิรวดี และคุณหมอพบร่องรอยที่น่าจะเป็นชุมชนชาวโยดะยาในอดีตหลายแห่งตั้งอยู่ริมลำน้ำนี้ น่าเสียดายที่เส้นทางน้ำสายนี้กลายเป็นคลองน้ำเสียและแคบจนหมดสภาพไปแล้ว

สิ่งที่เป็นร่องรอยให้น่าขบคิดก็คือ ชุมชนที่น่าจะเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวโยดะยามักมีการสร้าง “พระเจดีย์ทราย” ขนาดย่อมๆ และมีประเพณีฉลอง ปัจจุบัน ยังคงพบเห็นได้เพราะถูกรักษาด้วยการสร้างเจดีย์แบบแข็งแรงคลุมอีกชั้นหนึ่งและถือเอาช่วงวันวิสาขบูชาเป็นช่วงเวลาทำพิธีกรรม

อีกร่องรอยที่เหลืออยู่คือ การบูชา “ศาลพระราม” [Rama shrine] หรือที่คนพม่าเรียกว่า “ยามะ” (หมายถึงรามายณะหรือรามเกียรติ์) คุณหมอทิน มอง จี เห็นว่าศาลพระรามคือส่วนสำคัญในการสืบค้นว่า ผู้คนในบริเวณที่อยู่อาศัยใกล้เคียงนั้นเคยเป็นชาวโยดะยาหรือไม่ ท่านพบศาลยามะเป็นศาลาไม้โถงขนาดย่อมๆ ที่ “ทาดา-โอ” [Tada-Oo] ในบริเวณเมืองอังวะตรงข้ามฝั่งเมืองสะกาย อีกแห่งหนึ่งเป็นศาลพระรามที่เมืองอมรปุระทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบต่าว-ตะ-หมั่น ใกล้กับที่ตั้งของเจดีย์
[Pa-hoo-daw-gyi] แม้จะเป็นศาลเล็กๆ ในทุกวันนี้แต่ก็มีการสืบทอดรักษาแบบดั้งเดิม โดยไม่มีเรื่องของไสยศาสตร์ให้แก่ผู้ที่มาเคารพกราบไหว้เลย

แถบนอกกำแพงพระราชวังมัณฑะเลย์เป็นถิ่นที่อยู่ของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์มาแต่ดั้งเดิม พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์อลองพญาพระราชทานพื้นที่ว่างริมคลองขุด ชเว-ตะ-จอง [Shwe-ta-chaung] ให้เป็นที่อยู่อาศัยแก่ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาเพราะการสงครามตั้งแต่ยังไม่สร้างเมืองมัณฑะเลย์ และเมื่อสร้างเมืองในปี พ.ศ. 2400 โดยกษัตริย์มินดง บริเวณนี้จึงกลายเป็นย่านเมืองไป หนึ่งในกลุ่มนั้นคือ ชุมชนชาวโขนละครจากอยุธยาที่มาอยู่อาศัยบริเวณระหว่างบล็อคของถนน 83 ถนน 29 และ 30 ในปัจจุบัน

บริเวณตลาดโยดะยาเก่ายังคงมีศาลยามะตั้งอยู่  ส่วนวัดของชุมชนซึ่งมีพระเจดีย์เรียงกัน 3 องค์ และยังพอเห็นร่องรอยของการทำให้เป็นพระเจดีย์องค์ระฆังขนาดใหญ่ที่ดูแปลกไปบ้างจากเจดีย์แบบธรรมเนียมนิยมแบบพระธาตุมุเตาหรือแบบมอญที่มักพบเห็นทั่วไป ตรงนี้ไม่แน่ใจนักว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างพระเจดีย์สามองค์ตามแบบวัฒนธรรมสยามอย่างไร

ในศาลยามะมีการวางเศียรพระฤๅษีอยู่ด้านขวามือสุด ลำดับต่อมาคือพระราม พระลักษมณ์ นางสีดา และหนุมาน ทั้งหมดเห็นว่าเป็นของที่สร้างขึ้นใหม่และพยายามเลียนแบบของดั้งเดิมที่เป็นหัวโขนในวัฒนธรรมการบูชาครูโขนละครแบบสยามนั่นเอง ศาลที่นี่ยังคงอยู่ แต่ชาวบ้านซึ่งเป็นคนเชื้อสายจากโยดะยาไม่มีอยู่แล้ว สอบถามได้ว่าเป็นคนจากที่ต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ใหม่เมื่อราวก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เล็กน้อย ปลูกบ้านเรือนล้อมรอบอย่างหนาแน่น ผู้คนที่นี่ยังบำรุงรักษาศาลยามะและเปลี่ยนจากศาลาไม้มาเป็นศาลาก่ออิฐถือปูนและวางลำดับรูปแบบเศียรที่น่าจะเกี่ยวเนื่องกับหัวโขนเหมือนกับศาลพระรามซึ่งพบที่อื่นๆ

ศาลยามะหรือศาลพระรามที่ คุณหมอทิน มอง จี กล่าวถึงมีรูปแบบคล้ายคลึงกัน คือบูชาหัวโขนทั้ง ๕ แบบ ซึ่งเป็นตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งทางฝ่ายไทยมักจะเห็นการบูชาหัวโขนจากตัวละครที่สำคัญๆ นี้จากพิธีไหว้ครูและการครอบครูโขนละคร ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีแบบแผนเฉพาะและมักถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด การครอบครูโขนละครของฝ่ายนาฏศิลป์ไม่นิยมให้ตัวละคร เช่น ลิง ยักษ์ นาง เป็นผู้ทำ พิธีครอบ โดยส่วนใหญ่จะใช้เศียรของครูหรือที่เรียกกันว่า “พ่อแก่” หรือพระพรตมุนี (มหาฤๅษีผู้แต่งตำรารำฟ้อน) หรือเทริดพระพิราพมาครอบให้ลูกศิษย์เพื่อเป็นสิริมงคล ทางฝ่ายไทยเชื่อว่าผู้ที่ผ่านพิธีครอบครู จะได้รับความคุ้มครองดูแลจากครู และครูจะอยู่ช่วยเหลือให้ศิษย์มีความจำในกระบวนการรำ จังหวะดนตรี หากมีสิ่งใดที่ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นกับศิษย์ ครูจะช่วยปัดเป่าให้ผ่านพ้นไป

การแสดงรามายณะในพม่านั้นมีการศึกษาและพบว่า ได้รับอิทธิพลจากราชสำนักอยุธยาอย่างชัดเจน วรรณคดีที่รู้จักกันดีในพม่าเรื่อง “รามา สะ-กาน” [Rama sa-khyan] น่าจะประพันธ์ขึ้นในราว พ.ศ. ๒๓๑๘ โดยอู ออง เพียว  [U aung Phyo] ยังมีวรรณคดีและระบำละครจากรามายณะอีกหลายเรื่องที่พัฒนาขึ้นในยุคสมัยราชวงศ์อลองพญาหรือคองบอง หลังจากมีการกวาดต้อนชาวโขนละครจากราชสำนักอยุธยามาที่พม่า และดังเราได้เห็นร่องรอยของศาลยามะที่เหลืออยู่หลายแห่งดังกล่าว

เรื่องของศาลยามะแตกต่างไปจากศาลนัตที่ชาวบ้านพม่านับถือกันอยู่ เพราะนัตที่ชาวบ้านนับถือนั้นเคยมีชีวิตอยู่จริงแต่ประสบเคราะห์ร้ายตายอย่างผิดปกติ และต่อมาชาวบ้านตลอดจนชาวเมืองจึงนับถือยกขึ้นเป็นนัตของท้องถิ่นต่างๆ ส่วนศาลยามะบางแห่งก็ยังคงแบบดั้งเดิมคือไม่มีการไปขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ

นอกจากนี้ ในบริเวณใกล้เคียงกันที่เรียกว่า “เขตเมงทา-สุ” [Mintha-Su Quarter] ที่หมายถึง “ย่านเจ้าฟ้า” ซึ่ง คุณหมอทิน มอง จี สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มชุมชนที่อยู่อาศัยสำหรับเชื้อพระวงศ์จากโยดะยาได้รับพระราชทานที่ดินในพื้นที่กว้างขวางพอควร เพราะมีสถานที่หนึ่งซึ่งคุณหมอวิเคราะห์ว่าเป็นคำที่มีความหมายว่า “พระองค์ท่าน” ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในระหว่างกษัตริย์ด้วยกัน  [Ah-kyi-daw-min Win] ปัจจุบันบริเวณนี้อยู่ทางด้านหนึ่งของถนนสาย 84 และผู้ครอบครองที่ดินหลังจากนั้นบริจาคให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนประถมศึกษาหมายเลข 21 และเมื่อ 20 ปีก่อน เล่ากันว่าเคยขุดพบเศษภาชนะที่มีการเขียนอักษรไทยด้วย นอกจากนี้ยังมีสะพานระแหงที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สะพานชเว-ดอง [Shwe-don bridge] ตลาดระแหงก็เปลี่ยนชื่อเป็น แมง-เมียว-เซ [Man-myo-Zay]

คนเชื้อสายของชาวโยดะยาในสถานที่เหล่านี้ส่วนใหญ่ย้ายออกและผสมปนเปไปกับชาวพม่าในมัณฑะเลย์ กระนั้นก็ตาม อย่างน้อยก็ยังมีผู้ที่ยังจดจำเรื่องราวในวงศ์ตระกูลและเล่าสืบต่อกันมา เช่นครอบครัวของคุณหมอที่คุณปู่เป็นผู้เล่าเรื่องผ่านจากรุ่นปู่สู่รุ่นหลาน และยังมีการจารึกข้อความลงบนแผ่นหินเก็บไว้ที่เจดีย์ทรายมหา วาลุกะ[Maha Valuka Sand Pagoda] ในเขตเมงทา-สุ เมื่อ พ.ศ. 2534 ข้อความในจารึกกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของชุมชนชาวโยดะยาอย่างย่อๆ ว่า

“ราว พ.ศ. 2310 พระเจ้าช้างเผือก ตั้งพระนครอยู่ที่เมืองอังวะ เมื่อชาวเชลยจากอยุธยา สุโขทัยและเชียงใหม่ถูกจับกุมมาที่นี่รวมทั้งพระราชวงศ์ ขุนนางต่างๆ ก็ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างจากนครอังวะ ที่ ระแหงและเมงทา ซู ใกล้กับคลองที่เรียกว่าชเว ตะจอง รวมทั้ง ‘เจ้าฟ้าดอก’ กษัตริย์ผู้ต้องนิราศจากราชบัลลังก์ พระองค์อุปสมบทเป็นพระภิกษุ จำพรรษาอยู่ที่วัดพังเลไต [Paung Le Tike] และสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2339

คลองชเว ตะจองเป็นคลองขุดโดยขุนนางรักษาวังหน้าในรัชกาลพระเจ้าปดุง ลำน้ำไหลจากเมืองมัณฑะเลย์ลงสู่ทะเลสาบเต๊ด เต [Tet Thay] ที่เมืองอมรปุระและเคยถูกเรียกว่า Ne Kotho (ซึ่งคุณหมอสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาษาไทย)

พระเจ้าปดุงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คนเชื้อสายไทยสร้างพระเจดีย์ทรายตลอดริมคลองชเว ตะจอง ตามคำขอของพระภิกษุเจ้าฟ้าดอก เป็นผู้นำในการก่อสร้างทุกปีไม่เคยขาดที่มหาวาลูกะ [Maha Valuka] พระเจดีย์ทราย และเริ่มกลายเป็นประเพณีปฏิบัติในการบูชาสืบมา

เมื่อพระเจ้ามินดงผู้สร้างเมืองมัณฑะเลย์ขึ้นครองราชย์ ก็มีพระบรมราชานุญาตให้มีการจัดฉลองที่ตลาดระแหงและจัดงานรื่นเริง สืบเนื่องจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน ผู้เฒ่าผู้แก่ในเขตนี้ก็เป็นผู้นำในการจัดงานฉลองและงานบูชาพระเจดีย์ทรายนี้ เช่นพ่อเฒ่า Poh tun Kyaw ซึ่งเป็นผู้นำในการทำพิธีกรรมจนอายุถึงหนึ่งร้อยปีและตายในปี พ.ศ. 2513

เจดีย์ทรายสูงจากพื้นราว 25 ฟุต ทำจากทรายและสร้างเสร็จภายในหนึ่งวัน เริ่มทำประเพณีนี้เมื่อ พ.ศ. 2327 จนถึงวันที่จารึก พ.ศ. 2527 จึงครบ 200 ปี การจารึกนี้เพื่อเฉลิมฉลองครบ 200 ปี ทุกผู้ทุกคนโมทนาสาธุมา ณ ที่นี้”

เรื่องของสถูปองค์หนึ่งซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่ามีความสำคัญต่อคนไทย ตั้งอยู่กลางสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมเช่นนี้และอยู่ในเขตพื้นที่การท่องเที่ยวชานเมืองอมรปุระที่มีคนไทยเข้าไปเยี่ยมชมอยู่เสมอ การบูรณะหรือปรับสภาพพื้นที่เพื่อดูแลรักษาไม่ว่าจะเป็นสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของอดีตพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งแห่งอยุธยาหรือไม่ก็ตาม ก็สมควรทำอย่างยิ่ง ทางรัฐบาลไทยควรช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของมัณฑะเลย์ ปรับปรุง บูรณะพื้นที่ดังกล่าวแบบรัฐต่อรัฐหรือประชาชนต่อประชาชนที่ดูจะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเสียมากกว่ารัฐเสียอีก

เพราะสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ไทยที่พระนครศรีอยุธยาทุกวันนี้ คนไทยยังไม่ทราบว่าเป็นองค์ใด หรืออยู่ที่ใด หรือถูกทำลายไปแล้ว ทั้งที่เป็นผืนแผ่นดินของตนเองด้วยซ้ำ ดังนั้น การบูรณะสถูปองค์หนึ่งในประเทศพม่าที่ไม่ว่าจะจริงเท็จประการใดก็ควรทำเพื่อความรู้สึกที่ดีและความสัมพันธ์ในฐานะบ้านเมืองที่มีความสัมพันธ์ร่วมกัน

แต่สิ่งที่น่าทำอย่างต่อเนื่องเพิ่มเติมไปอีกคือ รู้จักเพื่อนบ้าน รู้จักผู้คนที่มีความหลากหลายความเป็นมา และส่วนหนึ่งยังคงมีเยื่อใยต่อรากเหง้าแห่งอดีตของตน เหมือนที่ คุณหมอทิน มอง จี แห่งมัณฑะเลย์ ที่ใช้ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปกับการค้นคว้าศึกษาสิ่งเหล่านี้ ท่ามกลางความเข้มงวดกวดขันของรัฐบาล

พวกเราชาวสยามที่มีโอกาสในการศึกษาค้นคว้าอย่างเต็มที่ และแทบจะสำลักอิสรภาพในการพูด อ่าน เขียน ก็น่าจะใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่ คุณค่าของการพบประเด็นสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเราจึงจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่เรื่อง “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” เพียงเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 ธันวาคม 2559