‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ประท้วงครั้งแรกสมัยเรียน ม.6 กับแนวคิดชาตินิยม และแอนตี้พวกเจ๊ก

‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ปัญญาชนหัวก้าวหน้าคนสำคัญของไทยในช่วงทศวรรษ 2490-2500 จิตรมีแนวคิด ‘ซ้าย’ ที่สะท้อนให้เห็นจากงานเขียนของเขาหลายชิ้น บางครั้งก็ ‘ซ้าย’ จน “กระเดียดเอียงซ้าย” ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ชีวิตในวัยเด็กวัยเรียน จิตรก็เคยมีแนวคิด ‘ขวา’ คือแนวคิดชาตินิยมมาก่อนเช่นกัน

จิตรเติบโตมาช่วงที่แนวคิดชาตินิยมในไทยกำลังพุ่งสูงสุดท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมิใช่เรื่องแปลกหากจิตรจะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดดังกล่าวมาด้วย ในช่วงสงคราม จิตรอาศัยอยู่ที่เมืองพระตะบอง ดินแดนที่ไทยได้รับคืนมาชั่วคราว แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามต้องคืนกลับไปให้ฝรั่งเศส ตอนนั้นจิตรได้เดินทางกลับประเทศไทย เวลานั้นก็เกิดกระแสต่อต้านจีนอย่างรุนแรงหลังสงครามยุติ ซึ่งจิตรก็เข้าร่วมการต่อต้านนั้นในขณะที่เรียนอยู่ระดับมัธยม

กระแสต่อต้านจีนเกิดจากชาวจีนในไทยเกิดมีความรู้สึกชาตินิยม มีความฮึกเหิมจากชัยชนะของจีนแผ่นดินใหญ่ (จีนคณะชาติ) ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าชาติจีนเป็นชาติมหาอำนาจ แล้วจึงเริ่มเรียกร้องสิทธิบางอย่างจากรัฐบาลไทย หลังจากที่โดนกดขี่มานาน ชาวจีนบางกลุ่มถึงขั้นก่อความไม่สงบ เริ่มใช้วิธีการ ‘รุมเลี้ยะพ่ะ’ (การรุมทำร้าย) คนไทย แรก ๆ เกิดการปะทะกันบ้างประปราย ต่อมาก็รุนแรงถึงขั้นยกพวกเอาปืนยิงไล่กันกลางถนนที่เยาวราช

ในช่วงเวลานั้น จิตรมีอายุย่าง 17 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.6 ที่โรงเรียนวัดเบญจมบิตร กรุงเทพฯ จิตรมีแนวคิดชาตินิยมมากคนหนึ่ง สะท้อนได้จากโคลง ‘อาฆาตานุสรณ์’ ที่เขียนขึ้นในปี 2490 แสดงความเคียดแค้นต่อการเสียดินแดนไทย และพร้อมที่จะเอาดินแดนเหล่านั้นกลับคืน

อาฆาตานุสรณ์

หากสยามยังอยู่ยั้ง   ปางใด เพื่อนเอย
หากสยามยังคงไทย   คู่ฟ้า
หากสยามกลับเกรียงไกร   องอาจ นาท่าน
แปดเขตต์ไทยเดิมอ้า   โอบเข้า ถิ่นสยาม

วิชัย นภารัศมี อธิบายว่า “อารมณ์คั่งค้างของจิตร ประกอบกับความเป็นนักชาตินิยมจัด ทำให้ความแค้น ทับถม อัดอั้น มามากกว่าคนอื่น นอกจากนั้น จิตรยังเป็นคนทำอะไรแล้วทำจริง เมื่อมาเจอเหตุการณ์ที่ยั่วยุขึ้น อารมณ์ค้างนั้นก็ตอบโต้โดยแปรเป็นการปฏิบัติที่ตอบโต้อย่างค่อนข้างรุนแรง…”

สิ่งยั่วยุนั้นก็คือ บทความ “เมื่อข้าพเจ้าเป็นซินแสโรงเรียนจีน” ของครูจักรกฤษณ์ (สุภางค์)

ครูจักรกฤษณ์นำบทความไปติดที่กระดานในห้องสมุด บทความชิ้นนี้ทำให้จิตรโกรธ เพราะจิตรคิดว่าเป็นนโยบายของจีนที่จะกลืนชาติ จิตรจึงตอบโต้ด้วยการชักชวนเพื่อนของเขาไม่ให้ซื้อสินค้าจีน โดยใช้วิธีส่งหนังสือเวียนถึงหัวหน้าชั้นต่าง ๆ ให้พานักเรียนไปรวมกันที่โคนต้นสน ในสนามฟุตบอล เวลาพักกลางวัน แล้วพูดปลุกใจให้รักชาติ ชักชวนไม่ให้ซื้อสินค้าจีน แต่ปฏิกิริยาของครูในโรงเรียนกลับไม่ได้เพ่งเล็งมาที่จิตรโดยตรง เพียงแต่ว่ากล่าวตักเตือนผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้น บอกว่าอย่าไปเชื่อฟังจิตรเลย

จิตรบันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

“12 กุมภาพันธ์ พูดปลุกใจนักเรียนแอนตี้พวกเจ๊กที่มาขายของ ปกติฉันกับสมศักดิ์ วงศ์ภักดี มักปรึกษากันเรื่องเจ๊กอยู่เสมอ เผอิญวันนี้ ครูจักรกฤษณ์ ประพันธ์ตอน เรื่อง ‘เมื่อข้าพเจ้าเป็นซินแสโรงเรียนจีน’ มาติดกระดานไว้ในห้องสมุด เป็นนโยบายของพวกเจ๊กที่จะกลืนชาติ ฉันเลยนึกโมโหที่เจ๊กจะกลืนชาติ ทำปรามาสหยามน้ำหน้า จึงขึ้นตะโกนไม่ให้พวกเราซื้อของเจ๊กในโรงเรียน นายทวี หัวหน้าอันขาดความเข้มแข็งของชั้นขึ้นมาพอดี เอ็ดตะโรว่า ใครวะ จะไม่ให้ซื้อของเจ๊ก ฉันออกโมโหจึงตะโกนไปว่า ‘อั๊วะนี่แหละวะ ไม่ใช่แต่ ม.6 จะทำทั้งโรงเรียน’

เมื่อพูดออกไปแล้ว ก็เลยต้องปฏิบัติ ครั้งแรกฉันคิดว่าจะเขียนหนังสือเวียน แต่มามานะทีหลังว่าประชุมนักเรียนพูดดีกว่า เลยปรึกษาสมศักดิ์ เขาสนับสนุน ฉันจึงเขียนหนังสือถึงหัวหน้าชั้นต่าง ๆ ให้ประชุมที่หน้าโรงเรียน ให้ประดิษฐ์และสมศักดิ์นำไปให้ ตกกลางวันพอฉันจะพูด มีนักเรียนมายืนเรียงมากเกือบหมดโรงเรียน แต่ไม่ยอมมารวมกัน ฉันต้องเที่ยวต้อน มีเด็ก ๆ ถามว่าคนไหนนะที่เซ็นชื่อ จ.ภูมิศักดิ์ (ลายเซ็น) ฉันบอกว่าฉันนี่แหละ ต้องเสียเวลาต้อนคนเกือบ 5 นาที จึงได้พูดปลุกใจ ให้รักชาติ เกลียดเจ๊ก ไม่ซื้อของเจ๊ก ฉันจะถามอะไรเป็นตอบรับทุกคน เช่นถามว่า ‘จะนั่งนิ่งดูดายให้ชาติอื่น ๆ เขากลืนชาติไทยได้ไหม’ ‘ไม่ได้ ๆ’ พร้อมกันทุกคน ฯลฯ”

อย่างไรก็ตาม วิชัย นภารัศมี อธิบายว่า แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะสะท้อนถึงแนวคิดชาตินิยมของจิตร แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งในวัยเรียนของจิตร ซึ่งเขายังไม่มีจุดยืนที่แน่นอน ไม่ได้เป็นความคิดช่วงสุดท้ายของชีวิต เพราะช่วงสุดท้ายของชีวิตนั้น จิตรมีความคิดเป็นสากล โดยกล่าวว่า “บทความชิ้นนี้อาจมีผู้เอาไปบิดเบือนอย่างหลับหูหลับตาว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ก็โจมตีคนจีน ประเทศจีน การที่จะนำไปบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายไหนก็ตาม เป็นสิ่งที่น่าหัวร่อยิ่ง เพราะถ้าเราลองมาสำรวจผลงานของจิตรในปี 2500 ซึ่งจิตรมีจุดยืนที่แน่นอนแล้ว ก็จะเห็นว่า จิตรจะไม่โจมตีคนจีน หรือคนชาติอื่น ๆ ที่เป็นประชาชนสามัญ จะโจมตีก็เฉพาะแต่ศัตรูของประชาชนเท่านั้น”

ดังเช่นใน ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ งานเขียนชิ้นสำคัญของจิตรราวทศวรรษ 2500 ที่เขียนว่า “พวกศักดินามอมเมาให้คนไทยเกลียด ‘เจ๊ก’ มาแต่โบรมโบราณเต็มที พวกกวีก็พลอยเกลียดชังจีนไปด้วย”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วิชัย นภารัศมี. (2546). หลายชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2563