ผู้เขียน | คนไกล วงนอก |
---|---|
เผยแพร่ |
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีผลงานพระราชนิพนธ์แปลจากภาษาจีนจำนวนไม่น้อย ทั้งที่เป็นเรื่องสั้น, บทกวี ฯลฯ หนึ่งในจำนวนนั้นคือพระราชนิพนธ์แปลที่ชื่อ “พูดเรื่องจิตร ภูมิศักดิ์” ที่ทรงอธิบายงานกวีที่ชื่อว่า “เปิบข้าว”ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งคาราวานนำบางส่วนไปใส่ทำนองเป็นบทเพลงโดยใช้ชื่อเดียวกันซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไป กับทรงแปลร้อยกรองเพื่อชีวิต ที่ชื่อ “สงสารชาวนา” ของหลี่เชิน
ในส่วนผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ นั้น กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงอธิบายว่า “เมื่อครั้งเป็นนิสิต เคยอ่านทอดพระเนตรผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดหรือวิเคราะห์อะไร เพียงแต่ ได้ยินคําเล่าลือว่าเขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวางและลึกซึ้งถี่ถ้วน ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกัน ได้มีผู้นําบทกวีของจิตรมาใส่ ทํานองร้องกัน ฟังติดหูมาจนถึงวันนี้
เปิบข้าวทุกคราวคํา จงสูจําเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ดูจากสรรพนามที่ใช้ว่า ‘กู’ ในบทกวีนี้ แสดงว่าผู้ที่พูดคือ ชาวนา ชวนให้คิดว่าเรื่องจริงๆ นั้นชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ “ลําเลิก” กับใครๆ ว่าถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรําอย่างพวกเขา คนอื่นๆ จะเอาอะไรกิน อย่าว่าแต่การลําเลิกทางบุญคุณเลย ความช่วยเหลือที่สังคมมีต่อคนกลุ่มนี้ในด้านของปัจจัยในการผลิต การพยุงหรือประกันราคา และการรักษาความยุติธรรมทั้งปวงก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้
ทําให้ในหลายๆ ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ ชาวนาต่างก็ละทิ้งอาชีพเกษตรกรรม ไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรม หรือภาคบริการ ซึ่งทําให้ตนมีรายได้สูงกว่าหรือได้ในเร็วกว่า แน่นอนกว่า มีสวัสดิการดีกว่า
……….
แต่ก็ยังมีชาวนาอีกเป็นจํานวนมากที่ไม่มีทางที่จะขยับขยายตัวให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นได้ อาจแย่ลงเสียด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่มี สิทธิที่จะอุทธรณ์ ฎีกา กับใคร ถึงจะมีคนแบบจิตรที่พยายามใช้จินตนาการ สะท้อนความในใจออกมาสะกิดใจคนอื่นบ้าง” [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำ โดยกองบรรณาธิการ]
ส่วนร้อยกรองเพื่อชีวิต ที่ชื่อสงสารชาวนา ของหลี่เชิน กวีสมัยราชวงศ์ถัง เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น อยู่ในชนบท เห็นความเป็นอยู่ของประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ที่ตรากตรำทำงานในไร่นา เกิดความสะเทือนใจจึงได้บรรยายความรู้สึกออกเป็นบทกวีกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงแปลเป็นภาษาไทยว่า
“1. หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ ข้าวเมล็ดหนึ่ง
จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
2. ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน ชาวนายังดายหญ้าพรวนดิน
เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นกล้า
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส”
พระองค์ยังมีพระราชวิจารณ์เปรียบเทียบบทกวีทั้งสองว่า
“เวลานี้สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่สมัยหลี่เชินเมื่อพันปีกว่า สมัยจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ข้าพเจ้าได้เห็นเอง ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก ฉะนั้น ก่อนที่ทุกคนจะหันไป กินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องของชาวนาก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป” [สั่งเน้นคำ โดยผู้เขียน]
อ่านเพิ่มเติม :
- ไทยดําเนินดอย เพลงไทยที่เกิดจากการตามเสด็จ ร.9 ของกรมสมเด็จพระเทพฯ
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ งานฉลองครบรอบ “145 ปี บี.กริม”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “พูดเรื่องจิตร ภูมิศักดิ์” ใน, เก็จแก้วประกายกวี ที่ระลึกงานเปิดอาคาร มูลนิธิเผยแผ่คุณธรรมเพื่อการสงเคราะห์ จีจินเกาะ 12 มิถุนายน 2538
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564