เผยแพร่ |
---|
พูดถึง “พระพุทธบาท” หรือ “วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร” ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ไม่มีใครไม่รู้จัก หลายท่านเคยไปถึงที่วัดและมีโอกาสนมัสการ “รอยพระพุทธบาท” กันมาแล้ว
พระพุทธบาทก็ดี สระบุรีก็ดี ที่เราเห็นกันในวันนี้ ในอดีตเป็นอย่างไร
อดีตที่จะว่าถอยกลับไปไกลถึงรัชกาลที่ 4 ที่แม้จะเกิดไม่ทันก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเราสามารถหาอ่านจาก “บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในราชอาณาจักรสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีน ตอนกลางส่วนอื่นๆ”
อ็องรี มูโอต์ เป็นนักธรรมชาติวิทยา นักสำรวจและนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามาเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อขอพระบรมราชานุญาตสำรวจกัมพูชาและลาวซึ่งเวลานั้นมีสถานะเป็นประเทศราช
บันทึกเกี่ยวกับพระพุทธบาท และจังหวัดสระบุรี (บางพื้นที่) เป็นการเดินทางครั้งแรกของเขา [จากทั้งหมด 4 ครั้ง] เพื่อสำรวจเบื้องต้น ถึงความเป็นไปได้ในการเดินทางไปลาวไว้ว่า [มีการจัดย่อหน้าใหม่เพื่อสะดวกในการอ่าน]
“ข้าพเจ้าของให้นายบ้านช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางต่อไปยังพระพุทธบาท แหล่งจาริกแสวงบุญสำคัญที่ชาวสยามจำนวนมากหลั่งไหลมากราบไหว้สักการะรอยพระพุทธบาทในแต่ละปี เขาจึงเสนอตัวว่าจะเป็นผู้พาไป ส่วนข้าพเจ้าก็ยินดีรับน้ำใจนี้ด้วยความขอบคุณ
7 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าถิ่นก็มาคอยท่าอยู่หน้าประตูพร้อมขบวนช้าง มีหมอควาญนั่งประจำหลังและคนติดตามเท่าที่จำเป็นในการเดินทาง ล่วง 1 ทุ่มคืนนั้น ขบวนของเราก็เดินทางถึงที่หมาย
ไปถึงไม่ทันไร ทั่วทั้งหมู่บ้านก็รู้ข่าว ทั้งพระสงฆ์องค์เจ้าและชาวป่าชาวเขาในละแวกนั้นพากันแห่มา ด้วยต่างไม่อาจกลั้นความอยากเห็นหน้าตา “ฝรั่ง” ได้ ข้าพเจ้าแจกจ่ายของกำนัลชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้พวกคนมีหน้ามีตาของหมู่บ้าน ซึ่งพวกเขาก็รับไว้ด้วยความดีใจ แต่ที่ชอบกันเป็นพิเศษเห็นจะเป็นอาวุธที่ข้าพเจ้านำติดตัวไปด้วยนั่นแหละ
จากนั้นก็แวะไปเยี่ยมท่านเจ้า [1] แห่งเขตเขาซึ่งล้มป่วยนอนรักษา ตั้งอยู่ ณ ที่พำนัก ท่านต้อนรับด้วยการเลี้ยงข้าวกลางวัน 1 มื้อ และขอโทษที่ร่วมเดินทางไปด้วยไม่ได้ แต่ไม่วายแสดงอัธยาศัยไมตรีด้วยการ จัดส่งคนนำทางและคอยช่วยเหลือยามจำเป็นมาถึง 4 คน ข้าพเจ้าจึงมอบปืนพกเป็นของกำนัลตอบแทนความมีน้ำใจและความกระตือรือร้น
เขตพระพุทธบาททั้งส่วนเขาและที่ราบโดยรอบรัศมี 8 ลิเออ อยู่ภายใต้การปกครองของขุนนางผู้นี้ ชีวิตความเป็นอยู่ของท่านผู้นี้ดูจะเทียบเท่ากับพระราชาคณะในยุคศักดินาทางยุโรป ท่านมีอำนาจปกครองเลกและไพรส่วยนับพันๆ คน ซึ่งจะเรียกมาใช้ในธุระการงานจำนวนเท่าใดก็ได้”
ระบบนิเวศโดยรอบ “วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร” ในสมัยนั้นเป็นอย่างไร มูโอต์บันทึกไว้ว่า
“ข้าพเจ้าบ่ายหน้าไปทางเหลี่ยมเขาด้านตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของวัด อันเป็นสถานที่เก็บรักษารอยพระพุทธบาท ขององค์พระสมณโคดม พระพุทธเจ้าแห่งดินแดนอินโดจีน เมื่อไปถึงบริเวณนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นตาตื่นใจ รู้ตัวดีว่าไม่อาจหาคำใดมาบรรยายความวิจิตรตระการตาของภาพที่ได้เห็น ธรรมชาติช่างบันดาลได้ปานนี้ พลังอำนาจอันไดหนอที่ยกหินก้อนมหึมา รูปพรรณสันฐานแปลกตา ขยับเขยื้อนเคลื่อนย้ายมากองทับซ้อนกันไว้ดังนี้
ทัศนียภาพไร้การจัดแต่งผสมปนเปกันอย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้ข้าพเจ้าพอเข้าใจแล้วว่า แม้จะผ่านคืนวันมานานนับหลายศตวรรษ แต่เหตุใดประชาชาติผู้ยังไร้เดียงสาจึงได้ทึกทักเอาว่านี่คือร่องรอย คือเส้นทางแห่งปวงเทพเจ้าอุปโลกน์ของพวกเขา เปรียบดังน้ำที่ท่วมพื้นโลกเพิ่งจะลดระดับลงไปเพียงได้เห็นก็ทำให้หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง
นับจากยอดเขาเรื่อยลงมาถึงหุบเขาเบื้องล่างตามรอยแยกของหินในถ้ำ ข้าพเจ้าได้พบรอยเหยียบย่ำของสารพัดสัตว์ทั่ว ทุกหนทุกแห่ง รอยเท้าช้างและเสือดูจะเห็นเด่นชัดที่สุด แต่ข้าพเจ้ายังปักใจเชื่อว่ารอยเท้าสัตว์ที่พบเห็นอยู่มากหลายนี้ บ้างเป็นของสัตว์บก ยุคหลังน้ำท่วมโลกที่เราไม่รู้จัก ชาวสยามเชื่อกันว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มารวมตัวกันเป็นขบวนติดตามพระพุทธองค์ ยามเสด็จผ่านมายังเขาพระพุทธบาท”
แล้ว “วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร” ในสมัยนั้น ยิ่งใหญ่สักเพียงใด ต้องตามหลังมูโอต์ต่อไป
“ส่วนตัววัดนั้นไม่เห็นมีอะไรน่าชื่นชม ด้วยว่ารูปลักษณ์ก็เหมือนๆ กับวัดทั้งหลายในประเทศนี้ คือส่วนหนึ่งยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมเสียแล้ว วัดนี้สร้างจากอิฐทั้งที่หินเป็นก้อนๆ และหินอ่อนมีอยู่มากมายทั่วเขาพระพุทธบาท
เราค่อยๆ ไต่บันไดหินขึ้นไปจนถึงบริเวณที่ตั้งของวัดกําแพงวัดประดับประดาด้วยกระจกสี เป็นลวดลายหลากหลายรูปแบบส่องประกายเป็นแสงสีระยิบระยับยาม ต้องแสงแดดแลดูงดงามไม่น้อย ตัวผนังและบัวเสาปิดทองทา แต่งานที่ฝีมือประณีตงดงามดึงดูดสายตาคือบานประตูไม้มะค่าหนาหนัก ฝังมุกหลากสี เติมแต่งลวดลายได้ลงตัว งดงามน่าชม”
แล้ววัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เป็นที่ศรัทธาของประชาชนเพียงใด ก็ต้องดูร่องรอยของควันธูป เปลวเทียน ซึ่งมูโอต์บันทึกไว้ชัดเจนว่า
“ด้านในตัวพระอุโบสถไม่ชวนชมเหมือนด้านนอก แม้พื้นจะปูลาดด้วยเสื้อเงิน และผนังยังมีรอยสีทองทา หากก็เก่าคร่ำคร่าด้วยเขม่าควันและกาลเวลา กลางโถงทำเป็นยกพื้นสูง ห่มคลุมโดยรอบด้วยผืนผ้าเนื้อบางสีทอง เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทนั่นเอง ผู้จาริกแสวงบุญส่วนมากนำสิ่งของมาวางสักการะ มีตั้งแต่ตุ๊กตาประดิษฐ์ ข้าวของเครื่องใช้จําลองทําจากกระดาษ ถ้วยชา และเครื่องประดับสิ่งละอันพันละน้อย หลายชิ้นก็ทำจากทองและเงิน”
คณะของมูโอต์พักอยู่ที่เขาพระพุทธบาทประมาณหนึ่งสัปดาห์ ระหว่างนั้นเขาก็เก็บข้อมูล และสะสมสิ่งต่างๆ ที่พบเห็น รวมทั้งพระพิมพ์แบบต่างๆ ก่อนจะล่องเรือต่อไปยังสระบุรี และปากเพรียว [2] ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ว่า
“สระบุรีนับเป็นเมืองที่มีพื้นที่กว้างใหญ่พอดู ประชากรทำกสิกรรม มีทั้งที่เป็นไทย จีน และลาว บ้านเรือนที่นี่ก็เหมือนกับตามหัวเมืองและ ตําบลแห่งอื่นๆ ในสยาม คือปลูกสร้างด้วยไม้ไผ่ ตั้งอยู่ในหว่างแมกไม้ ตลอดสองฝั่งน้ำ ถัดไปเป็นนาข้าว เลยไปที่เห็นลิบๆ อยู่ลึกสุดคือผืนป่าใหญ่อันเป็นแหล่งอาศัยของสิงสาราสัตว์
เช้าวันที่ 26 เราผ่านปากเพรียว หมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ น้ำตก ช่วงนั้นน้ำยังหลากอยู่ กว่าจะทวนกระแสน้ำผ่านไปได้ที่หนักหนาเอาการ เลยขึ้นไปทางเหนือไม่ไกลจากเมืองนัก ข้าพเจ้าได้พบกับครอบครัวคริสตัง ชาวลาวยากจนที่คุณพ่อลาร์โนดีเคยเล่าให้ฟัง เราผูกเรือไว้ใกล้ๆ ที่พักของพวกเขา ด้วยหวังว่าจะปลอดภัยดีกว่าผูกไว้ที่อื่นระหว่างที่ข้าพเจ้าไปสํารวจภูเขารอบๆ และไปเยือนเขาปถวี [3] อันเป็นแหล่งจาริกแสวงบุญของชาวลาวเหมือนพระพุทธบาทของชาวสยาม
เขตเมืองปากเพรียวตลอดสองฝั่งน้ำทั้งทางตะวันออกและตะวันตกทั่วเขตคาม จนกระทั่งสูงขึ้นไปตามสันเขา ซึ่งเห็นเป็นแนวอยู่ห่างออกไปจากเมืองสัก 8-10 ไมล์ และบนสันเขาตลอดทั่วทั้งแนว ตั้งแต่ยอดเขาลงมาถึงพื้นราบ ล้วนเป็นแหล่งแร่เหล็กไฮดรอกไซด์และเศษชิ้นส่วนอุกกาบาต ดังนั้น การเพาะปลูกจึงทำได้เพียงเบาบาง
ส่วนใหญ่พืชที่ขึ้นได้คือต้นไผ่ แต่ในบริเวณที่มีซากพืชหมักหมมจนย่อยสลายเป็นชั้นดินฮิวมัสหนาหน่อย ที่ดินตรงนั้นจะอุดมสมบูรณ์ดีและมีพืชพันธุ์หลากหลาย ไม้ใหญ่ยืนต้นขึ้นสูงหนาแน่นจนเป็นป่า ให้น้ำยางและน้ำมันซึ่งเป็นผลผลิตมีค่าทางการค้าและอุตสาหกรรม ถ้าเพียงแต่สามารถจ้างวานให้พลเมืองผู้เกียจคร้านและไร้กังวลเป็นคนลงมือเก็บได้
ในป่ามีเสือลายพาดกลอน เสือดาว และเสือปลาอยู่ชุกชุม พวกมันมักออกมาด้อมๆ มองๆ หาเหยื่อ ช่วงที่เราพักอยู่ที่ปากเพรียว ปรากฏว่าสุนัขของเรา 2 ตัวและหมู 1 ตัวถูกฉกตัวไปใกล้ๆ กระต๊อบหลังคามุง จากของพวกคริสตั้งผู้เป็นยามเฝ้าระวังเรือของพวกเรา วันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าจึงดีใจนักที่ได้สั่งสอนเจ้าเสือดาวแมวขโมยที่คอยจ้องทําลายทรัพย์สินของชาวบ้านผู้น่าสงสาร แล้วเอาหนังของมันมาทําเป็นที่รองนั่ง
ข้าพเจ้าพบรอยสัตว์จำพวกนี้ตามที่ดินที่ชื้นและร่วนเป็นทราย แต่รอยเสือโคร่งหายากกว่า ชาวบ้านถึงกับไม่กล้าออกมาเตร็ดเตร่นอกบ้านยามค่ำคืน แต่พวกเขารู้ดีว่าในยามกลางวันพวกมันหลบเข้าถ้ำถิ่นที่อยู่ของมันในป่าลึก สำเริงสำราญกับเหยื่อที่ล่ามาได้
ครั้งหนึ่ง ระหว่างออกสำรวจแนวสันเขาปากเพรียวด้านตะวันออก ข้าพเจ้าเกิดพลัดหลงเข้าไปกลางป่า เพราะมัวแต่ไล่ล่าเจ้าหมู่ป่าซึ่งหนีไปหลบซ่อนตัวในป่ารกทึบอย่างคล่องแคล่วกว่าพวกเรา คนของข้าพเจ้าและตัวข้าพเจ้าเองแบกสัมภาระทั้งปืน ขวาน และกล่องเก็บตัวอย่างสารพัดก็เลยตามรอยมันไปไม่ทัน โชคยังดีได้ยินเสียงลิงและสัตว์ป่าพากันกรีดร้องอย่างตื่นกลัว เลยพอเดาได้ว่าเราคงอยู่ไกลจากเสือโครงหรือเสือดาวที่กำลังลงมือเขมือบเหยื่อมื้อเช้าอยู่แน่ๆ
พอมืดก็ต้องคิดหาทางกลับที่พัก และยังเสี่ยงต่อการพบเจออะไรที่ไม่พึงประสงค์ แต่ถึงจะค้นหากันสักเพียงไร เราก็ยังคลำหาทางออกไปไม่พบ กลายเป็นว่าคืนนั้นเราต้องขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ อาศัยกิ่งก้านและใยไม้ต่างเปลนอน เข้าใจว่าพวกเราคงจะอยู่ห่างจากราวป่าไม่ใช่น้อย ต้องรอถึงเช้าวันรุ่งขึ้นจึงหาอทางกลับออกไปได้”
เขิงอรรถ :
[1] ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า prince de la momtagne น่าจะหมายถึง ข้าราชการเชื้อพระวงศ์ที่โปรดเกล้าฯ ให้ปกครองเขตพระพุทธบาท – ผู้แปล
[2] ปากเพรียว อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี – ผู้แปล
[3] หรือ ปฐวี ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสว่า Patawi ในปัจจุบันที่บ้านพระพุทธฉาย หมู่ 1 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี มีภูเขาชื่อว่า เขาปถวี (เขาลม หรือเขาฆาตกบรรพต) เมื่อขึ้นบันไดไปนมัสการพระพุทธฉาย ตรงเชิงผาด้านหน้าจะเห็นภาพเขียนของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ – ผู้แปล
ข้อมูลจาก
อ็องรี มูโอต์ (เขียน) กรรณิการ จรรย์แสง (แปล), บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ, สำนักพิมพ์มติชน ตุลาคม 2558
เผยแพร่ข้อมูลครั้งแรกในระบบออนลน์เมื่อ 21 เมษายน 2563