ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2565 |
---|---|
ผู้เขียน | ศ. ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร และเมืองสิงห์ จันทร์ฉาย |
เผยแพร่ |
สืบที่มา “รอยพระพุทธบาท” เริ่มต้นที่ลังกา? เพื่อสร้างสัญลักษณ์แทน พระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้า เสด็จปรินิพพานเมื่อมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ระบบศักราชคือพุทธศักราช 1 ก็ได้เกิดขึ้นนับแต่นั้นมา หลังพุทธกาลศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อพระพุทธองค์นั้นก็ยังงดงามอยู่ในความรู้สึกนึกคิดที่ไม่รู้ลืม ดังจะเห็นได้จากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือพระธรรมก็อยู่ในความทรงจำของพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์
เมื่อมีการกระทำสังคายนาพระไตรปิฎกให้บริสุทธิ์เป็นครั้งแรกหลังจากพุทธปรินิพพานได้ โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน การตรวจสอบพระธรรมวินัยก็ใช้การสาธยายด้วยมุขปาฐะและจดจำกันต่อ ๆ มา โดยไม่ต้องมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และสังคายนาครั้งหลัง ๆ คือครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 การสาธยายพระธรรมวินัยก็กระทำโดยมุขปาฐะเช่นกันจนกระทั่งถึงสังคายนาครั้งที่ 4 พระไตรปิฎกจึงได้ขึ้นสู่ใบลานในสมัยพระเจ้าวัฏฏคามณี
ดังนั้น ในช่วงแรกประมาณ พ.ศ. 1 – 400 ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องสร้างรูปแทนพระองค์หรือสัญลักษณ์ใด ๆ เพราะพุทธศาสนิกชนยังจดจำพระองค์ได้อย่างดี เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องสร้างภาพเหมือนแทนพระองค์ อาจเป็นเพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าเป็นเอกบุรุษที่ไม่มีใครเสมอเหมือนได้ ดังปรากฏในพระไตรปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกบุรุษ ที่กล่าวว่า
(140) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏแห่งบุคคลผู้เอกหาได้ยากในโลก บุคคลผู้เป็นเอกเป็นไฉน? คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏแห่งบุคคลผู้เอกนี้แล หาได้ยากในโลก
(141) ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นอัจฉริยมนุษย์ บุคคลผู้เป็นเอกไฉน คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้นี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลกย่อมเกิดขึ้นเป็นอัจฉริยมนุษย์
(143) ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นผู้ไม่มีที่สอง ไม่มีใครเช่นกันพระองค์ ไม่มีใครเปรียบ ไม่มีใครเปรียบเสมอ ไม่มีส่วนเปรียบ ไม่มีบุคคลเปรียบ ไม่มีใครเสมอ เสมอด้วยพระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีใครเสมอ เป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งหลาย บุคคลผู้เอกเป็นไฉน? คือพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า [1]
ความที่กล่าวว่า (พระพุทธเจ้า) ไม่มีใครเปรียบ ในต้นฉบับภาษาบาลีใช้ว่า อปฺปฏิม ซึ่งหมายว่า รูปหรือภาพที่ไม่มีใครเปรียบได้ นั่นก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ประเสริฐสุด ทรงเป็นมหาบุรุษเหนืออื่นใด ด้วยเหตุผล 1 ประการที่ว่า การทรงจำที่ยังไม่ลืมเลือนและความไม่ปรารถนาที่จะสร้างภาพหรือรูปมาเทียบเคียงบุคคลผู้ประเสริฐสุด จึงเป็นไปได้ที่ในช่วงพุทธศักราช 1 มาถึงประมาณพุทธศักราช 400 จึงยังไม่มีการสร้างภาพหรือสัญลักษณ์ใดของพระพุทธเจ้าไว้สักการบูชา
การสร้างสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าหลังพุทธศักราช 400
การสร้างสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าหลังพุทธศักราช 400 นั้น ดร. วอร์เดมาร์ ซี. ไซเลอร์ ผู้บุกเบิกในเรื่องการศึกษารอย “พระพุทธบาท” เป็นคนแรกของโลกได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
“เมื่อพระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานได้ประมาณ 300 – 400 ปี พุทธศาสนิกชนเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีสัญลักษณ์แทนการประทับอยู่ในที่นั้นๆ ของพระพุทธเจ้า จึงใช้รูปที่บอกไม่ได้ชัดเจนว่าคือรูปอะไรหรือใช้รอยพระพุทธบาทเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า เป็นไปได้อย่างมากว่า ประเพณีนี้เริ่มต้นในประเทศศรีลังกาและแพร่กระจายไปในประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา” [2]
พระพุทธบาทที่สร้างขึ้นในช่วงแรกนี้คงอาศัยคติที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงมีลักษณะพิเศษ 32 ประการ ที่เหนือมนุษย์ธรรมดา ลักษณะ 2 ประการในจำนวนนี้ก็คือ
นิ้วพระบาททุกองค์มีความยาวเสมอกัน และมีธรรมจักรปรากฏที่ฝ่าพระบาท
ในสมัยหลัง มีการบรรจุลักษณะมงคลลงในรอยพระพุทธบาท ในชั้นแรกจำนวนมงคลคงมีไม่มากนัก ผู้สร้างคงเลือกสรรสิ่งที่ดีงามในทรรศนะของตนบรรจุลงในช่องของพระพุทธบาท (ในสมัยหลังมีจำนวน 108 ช่อง) เพื่อไว้สักการะ
พ.ศ. 1800 พระพุทธรักขิตแห่งบ้านโรหณะลังกาได้รจนาคัมภีร์ชินาลังการฎีกาขึ้น โดยให้รายละเอียดมงคล 108 ประการ ที่พราหมณ์ได้เห็นที่ฝ่าพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อประสูติได้ 5 วัน มงคลทั้ง 108 ประการ มีดังนี้
“พระมหาปุริสลักษณะข้อว่า เหฏธาปาฑตเลสุ จกฺกานิ ชาตานิ : พื้นฝ่าพระบาท มีจักร มีอธิบายว่า ลักษณะแห่งจักรคือมี กงจักร 2 กง ที่พื้นฝ่าพระบาททั้ง 2 แต่ละกงมีซี่ประมาณ 1000 ซี่ ลักษณะอันเป็นมงคลอันเลิศปรากฏอยู่บนพื้นฝ่าพระบาทประมาณเท่านี้เหล่านี้คือ วงแห่งกงล้อมีสีทอง ดุมมีสีแก้วอินทนิล ตรงกลางและรอบดุม และด้านหน้าดุม มีรอยเขียนวงกลม มีช่องรูตรงกลาง ขอบนอกกงจักร วงกลมภายนอกกงจักร
มีรูปหอก รูปแว่นส่องพระพักตร์ รูปภาชนะทอง รูปสวัสดิกะ รูปช่อดอกไม้ รูปภาชนะทอง รูปตั่ง รูปขอรูปปราสาท รูปเสาไต้ รูปเศวตฉัตร รูปพระขรรค์ รูปพัดใบตาล รูปพัดหางนกยูง รูปพัดขนจามรี รูปมงกุฏ รูปบาตร รูปดวงแก้วมณี รูปพวงดอกมะลิ รูปดอกนิลุบล รูปดอกอุบลแดง รูปดอกปทุมแดง รูปดอกปทุมขาว รูปดอกบัวขาว รูปภาชนะน้ำ ปุณณกลศ รูปถาดใส่น้ำเต็ม รูปมหาสมุทร รูปภูเขาจักรวาล รูปภูเขาหิมพานต์ รูปภูเขาสุเมรุ รูปพระอาทิตย์ รูปพระจันทร์ รูปดวงดาว รูปทวีปใหญ่ทั้ง 4 กับ ทวีปบริวาร รูปพระเจ้าจักรพรรดิผู้พรั่งพร้อมด้วยรัตนะ 7 ประการ กับบริวาร
รูปสังข์ทักขิณาวัฏ รูปปลาทองคู่ รูปจักรคู่ รูปแม่น้ำสายใหญ่ 7 สาย รูปภูเขาสัตตบริภัณฑ์ รูปสระน้ำสีทันดรทั้ง 7 รูปพระยาหงส์สีทอง รูปจระเข้ รูปวอทอง รูปพัดวาลวิชนีทอง รูปภูเขาไกรลาศ รูปราชสีห์ รูปพยัคมราช รูปพญาม้าวลาหก รูปพญาช้างอุโบสถ รูปพระยาช้างฉัททันต์ รูปพระยาวาสุกรีนาคราช รูปพญาหงส์ รูปโคอุสุภราช รูปพระยาช้างเอราวัณ รูปมังกรทอง รูปพรหม 4 หน้า รูปเรือทอง รูปแม่โคกับลูกโค รูปกินนร รูปกินนรี รูปนกการะเวก รูปพญานกยูง รูปพญานกกระเรียน รูปพญานกจากพราก รูปเทวโลก 6 ชั้น รูปพรหมโลก 16 ชั้น” [3]
มงคล 108 ประการที่ปรากฏในคัมภีร์ชินาลังการฎีกา ของพระพุทธรักขิต น่าจะเป็นที่มาของมงคล 108 ประการที่ปรากฏที่รอยพระพุทธบาท ที่สร้างขึ้นหลังจากการรจนาคัมภีร์ มงคลในลำดับแรกของคัมภีร์นี้เริ่มที่ สัตติ คือ หอก ซึ่งอาจจะเป็นการเปรียบความแหลมคมของปรีชาญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากนั้นก็มีการเรียงลำดับของมงคล ก็เป็นไปตามคัมภีร์ชินาลังการฎีกา
ในสมัยหลัง การเรียงลำดับมงคล 108 ประการนั้น มักไม่ได้เริ่มที่สัตติ (หอก) หากแต่จะเป็นโสฬสพรหม (16 ชั้น) กามาพจร ตามลำดับ อาจกล่าวได้ว่า ลำดับของมงคล 108 นั้น ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้สร้าง หรือของนายช่างก็เป็นได้
ดร. ไชเลอร์ ได้อธิบายว่า ไม่ปรากฏว่ามีพระพุทธบาทองค์ใดในโลกที่มีมงคลตรงกันทุกประการเลย
คติเรื่องรอยพระพุทธบาทของลังกาได้แพร่ไปในดินแดนที่นับถือพระพุทธศาสนา และไทยก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ในสมัยสุโขทัยมีการสร้างพระพุทธบาทหลายองค์ ดังเช่นในสมัยพระยาลิไทย มีการจำลองพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฏที่ลังกา มาประดิษฐานไว้บนภูเขา 4 แหล่ง ดังจารึกในหลักที่ 3 ที่ว่า
“คำนี้กล่าวคันสเล็กสน้อย และคำอันพิสดารไซร้ กล่าวไว้ในจารึกอันมีในเมืองสุโขทัย…นักพระมหาธาตุพู้นแล จารึกอันหนึ่งมีในเมือง…อันหนึ่งมีในเมืองฝาง อันหนึ่งมีในเมืองสระหลวง…หมทลาประดิษฐานไว้ด้วยพระบาทลักษณะหั้น พระบาทลักษณะนั้นไซร้ พระยาธรรมิกราชให้ไปพิมพ์เอารอยตีน…พระเป็นเจ้าเถิงสิงหล อันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพต ประมาณเท่าใดเอามาพิมพ์ไว้ จุ่งคนทั้งหลายแท้…อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองศรีสัชนาลัยเหนือจอมเขา…อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองสุโขทัยเหนือจอมเขาสุมนกูฏ อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองบางพานเหนือจอมเขานางทอง อันหนึ่งประดิษฐานไว้เหนือจอมเขาปากพระบาง จารึกก็ยังไว้ด้วยทุกแห่ง” [4]
ความในจารึกหลักที่ 3 (นครชุม) ก็ได้ระบุถึงพระพุทธบาท 4 แห่ง อันประดิษฐานในสถานที่ต่าง ๆ อันได้แก่
- ในเมืองศรีสัชนาลัย เหนือจอมเขา… (ความลบเลือน)
- ในเมืองสุโขทัย เหนือเขาสุมนกูฏ
- ในเมืองบางพาน เหนือเขาจอมทอง
- ที่จอมเขาปากพระบาง (มีคำอธิบายว่า ปัจจุบันคือ เขากบ นครสวรรค์)
หลักฐานจากจารึกหลักที่ 3 แสดงว่า การสร้างรอยพระพุทธบาทเป็นที่นิยมของชาวสุโขทัย ซึ่งมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ก็ยังมีรอยพระพุทธบาทอีกหลายองค์
การตั้งชื่อภูเขาในเมืองสุโขทัยและเมืองบริวารว่า สุวรรณกูฏ น่าจะเชื่อได้ว่า พระยาลิไทยรับรู้เรื่อง ภูเขาสุวรรณกูฏ (Adam’s Peak) ที่ลังกา เป็นอย่างดี และอาจเป็นได้ที่พระองค์มีพระประสงค์จะเชื่อมความสำคัญของศาสนสถานในสุโขทัยเข้ากับที่ลังกา [5]
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดประตูสู่แดนภารตะ บนเส้นทางสังเวชนียสถานแห่งใหม่ใน 8 รัฐ
- “พระพุทธบาท-สระบุรี-ปากเพรียว” สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นอย่างไร?
เชิงอรรถ :
[1] พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 12 เอก-ทุก-ติกนิบาต, (กรมการศาสนา, 2551) น. 37
[2] วอร์เดมาร์ ซี. ไซเลอร์. (ดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา แปล). “รอยพระพุทธบาทสมัยต่าง ๆ” พุทฺธปาทลกฺขณ และรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย. (กรมศิลปากร,2536).
[3] รังษี สุทนต์ และคณะ (ผู้แปล). คัมภีร์ชินาลังการฎีกาแปล. (มูลนิธิพร รัตนสุวรรณ, 2548).
[4] “จารึกนครชุม” ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 (คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), น. 70.
[5] Adam Peak เป็นเขาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในลังกา พุทธศาสนิกชนนับถือว่ามีรอยพระพุทธบาทซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับรอยไว้
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจาก “เครื่องราชบรรณาการล้ำค่า จากกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงลังกา” เขียนโดย ศ. ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร และเมืองสิงห์ จันทร์ฉาย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2565 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2566