รอยพระพุทธบาท นอกเหนือจากการเป็น “สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์”

ภาพที่ พระบาทจากวัดพระราม (ภาพจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

ในเมืองไทยมี “รอยพระพุทธบาท” อยู่หลายแห่ง เรียกกันด้วยชื่อต่างๆ กัน เช่น รอยพระบาท ที่สระมรกต จังหวัดปราจีนบุรี, รอยยุคลบาท วัดบวรนิเวศ, พระบาท วัดพระราม (ที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร), พระบาทวัดธรรมามูล และวัดเขาท่าพระ จังหวัดชัยนาท, พระบาทวัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี, พระบาท จังหวัดสระบุรี ฯลฯ ที่มีผู้เคารพศรัทธาในฐานะของสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา

นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนสิงหาคม 2565 จึงนำเสนอบทความของ รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ที่ชื่อ “พระพุทธบาท : สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาการเมืองสมัยอยุธยา”  อธิบายเรื่องราวของพระพุทธบาทกว้างขวางกว่าการเป็น “สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์”

ในที่นี้ขอยก “พระบาท (จังหวัด) สระบุรี” ที่รู้จักทั่วไป เป็นกรณีตัวอย่างกับมุมมองอื่นๆ เริ่มจากการพบพระบาท พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) บันทึกว่า จ.ศ. 968 (พ.ศ. 2149) ค้นพบรอยพระบาทที่เมืองสระบุรี เมื่อราชสำนักรับรองว่าพระบาทสระบุรีคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่อาณาจักร สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมก็โปรดให้ฝรั่งส่องกล้องทำทางจากท่าเจ้าสนุกถึงพระบาทและตั้งตำหนักที่บริเวณท่าเจ้าสนุก

รอยพระบาทภายในมณฑป ที่สระบุรี

เอกสารคำให้การขุนโขลน เรื่องพระพุทธบาท ในประชุมพงศาวดาร เล่ม 8 ซึ่งเป็นคำให้การของขุนนางที่เคยรับราชการที่พระพุทธบาทแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศจนถึงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 กล่าวว่า ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ขุนสัจพันธคีรีเป็นหัวหน้าพร้อมกับขุนหมื่นอีกหลายนายกำกับปะขาว และมีการพระราชทานปืนสำหรับไว้ที่พระพุทธบาท

ทั้งยังกล่าวถึงกรมการเมืองปรันตปะ (ขีดขิน) ที่ต้องขึ้นมารักษาที่พระพุทธบาท และยังมีขุนนางตำแหน่งยกกระบัตรที่ส่งขึ้นมาจากเมืองหลวง รวมถึงขุนนางที่มีหน้าที่ในการพิจารณาคดีความอยู่หลายนาย แสดงให้เห็นว่าบริเวณพื้นที่นี้เป็นเขตการปกครองที่แยกออกจากเมืองสระบุรี

เอกสารข้างต้นยังได้กล่าวว่า “เมื่อครั้งเกิดศึกกลางเมืองนั้น ขุนโขลนคุมเอาไพร่พระไปช่วยรบร้อยหนึ่ง” ในคำอธิบายของข้อความท่อนนี้ระบุว่าเป็นคราวที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศต่อสู้กับเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศวร์ ซึ่งหมายความว่าไพร่เลขวัดในพื้นที่นี้ครั้งหนึ่งมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจการเมืองในกรุงศรีอยุธยา

เช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใดในพระราชพงศาวดารจะระบุว่า สมเด็จพระเจ้าบรมโกศจะเสด็จขึ้นมานมัสการพระพุทธบาททุกปี  ซึ่งถ้าตัดประเด็นเรื่องพระราชศรัทธาทิ้ง อย่างน้อยพื้นที่ในบริเวณนี้ก็เป็นที่ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนพระองค์

การที่ขุนโขลนสามารถนำเลขวัดจำนวน 100 นาย ซึ่งน่าจะหมายถึงชายฉกรรจ์ ดังนั้นจึงสะท้อนให้เห็นว่าประชากรในบริเวณพระพุทธบาทจะต้องมีอยู่เป็นจำนวนมากในระดับหนึ่ง

แผนที่แสดงตำแหน่งพระพุทธบาทที่สระบุรี ตำแหน่งจากเขาวงก์ และพระพุทธฉาย

จดหมายโต้ตอบของชาวฮอลันดากล่าวถึงสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยา-ล้านช้าง การเดินทัพของกองทัพล้านช้างไม่ว่าจะลงมาทางใดก็ต้องใช้เส้นลำน้ำป่าสัก และพระเจ้าล้านช้างตั้งทัพห่างจากเมืองละโว้ 1 วัน ซึ่งแนวโน้มใกล้กับพระพุทธบาท

พระพุทธบาทยังตั้งอยู่บนเส้นทางสำคัญที่สามารถขึ้นไปเพชรบูรณ์และนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญที่เป็นสินค้าออกของกรุงศรีอยุธยา โดยเมืองนครราชสีมาเป็นแหล่งของเนื้อแผ่น เอ็นเนื้อ ช้าง ไม้กฤษณา ขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง หนังสัตว์ งาช้าง นอแรด ผ้าตาราง ส่วนเมืองเพชรบูรณ์เป็นแหล่งของหนังสัตว์ งาช้าง นอแรด ขี้ไต้ น้ำมันยาง กำยาน หวาย ยาสูบ เหล็ก ครั่ง

นอกจากนี้ราชสำนักกรุงศรีอยุธยายังอ้างว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับรอยพระบาทที่สระบุรีด้วยพระองค์เอง โดยเอกสารสมัยอยุธยาตอนปลาย เรื่องปุณโณวาทคำฉันท์ ที่พระมหานาค วัดท่าทรายเป็นผู้แต่งว่า พระบาทรอยนี้พระพุทธเจ้าทรงกดประทาน การอ้างว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับรอยพระบาทที่สระบุรีด้วยพระองค์เองของกรุงศรีอยุธยา แม้จะดูห่างไกลความจริง แต่ตามความเชื่อที่ว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังสถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏในคัมภีร์รวมถึงตำนานต่างๆ เหตุนี้ทางกรุงศรีอยุธยาจะสมมติให้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมากดรอยพระบาทที่สระบุรีก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประการใด

แนวคิดข้างต้นยังแตกต่างจากการสถาปนารอยพระบาทสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ที่ทรงประกาศว่าไปจำลองจากเขาสุมนกูฏที่ลังกา และพระมหาธรรมราชาบรมปาลทรงประกาศว่าไปจำลองมาจากสุโขทัย เช่นนี้พระบาทที่สระบุรีจึงดูศักดิ์สิทธิ์มากกว่า

ในช่วงที่กรุงศรีอยุธยาสถาปนาเรื่องความเชื่อว่าพระบาทสระบุรีเป็นรอยที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับ ทางเมืองอังวะเอง พระเจ้าตลุนมินมีการประกาศว่าชเวเสตต่อ (Shwe Settaw) คือรอยพระบาทที่พระพุทธเจ้าทรงกดประทานพญานาคที่แม่น้ำนัมมทา

พระเจ้าตลุนมินแห่งอังวะเสวยราชสมบัติร่วมสมัยกับสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่หลังจากการพบพระบาทที่สระบุรีแล้ว ดังนั้นจึงชวนให้คิดว่าราชสำนักกรุงอังวะคงจะต้องแข่งบารมีเมื่อรับรู้เรื่องราวของพระบาทที่สระบุรีของกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนของพระพุทธบาทที่สระบุรี ส่วนที่เหลือ นอกเหนือจากนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทแห่งอื่นๆ ที่มีบทบาทอื่นๆ นอกเหนือจากการเป็น “สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์” จึงขอได้โปรดติดตามจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนสิงหาคมนี้

 


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2565