ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“มหาดเล็ก” รัชกาลที่ 6 มีบุคคลท่านหนึ่งคือ เจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งใครต่อใครต่างบ่งชี้กันว่า ท่านคือบุคคลที่ทรงรักใคร่เชื่อถืออย่างมาก แต่ไม่มีใครทราบอย่างแน่ชัดว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่บันทึกจากผู้อาวุโสหลายท่านเล่าตรงกันว่า เจ้าพระยารามราฆพถือเป็นผู้รู้พระราชหฤทัยอย่างยิ่ง
เจ้าพระยารามราฆพ สืบเชื้อสาย “หม่อมไกรสร”
เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) (5 ตุลาคม พ.ศ. 2433-21 ตุลาคม พ.ศ. 2510) สืบเชื้อสายมาจาก กรมหลวงรักษ์รณเรศร์ (พระองค์เจ้าไกรศร) พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 ในเวลาต่อมามีอำนาจไม่ใช่น้อย ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล เล่าเรื่องที่เจ้านายทรงบอกกันต่อๆ มาว่า กรมหลวงรักษ์ฯ ทรงปราดเปรื่อง มีอำนาจมากในรัชกาลที่ 3 ว่าการหลายแผนก ซึ่งรวมขึ้นอยู่ในกระทรวงวัง อีกทั้งยังเป็นผู้รู้พระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 3
อย่างไรก็ตาม ภายหลังเกิดกรณีขุนนางถวายฎีกาเรื่องลูกชายถูกกรมหลวงรักษ์ฯ ทรงตัดสินประหาร รวมถึงคดีเรื่องพฤติกรรมทางเพศกับพวกโขนละครชาย ต่อมาจึงถูกลดพระยศเป็นหม่อมไกรศร จากนั้นก็ถูกประหารใน พ.ศ. 2391 ผลกระทบถึงวงศ์วานเพราะถูกลดอิสริยศักดิ์ผู้สืบสาย
หม่อมไกรศร (หม่อมไกรสร) มีลูกหลายคน โดยคนหนึ่งคือ หม่อมเจ้ากัมพล (อำพล) ซึ่งมีลูกคนหนึ่งคือหม่อมราชวงศ์ละม้าย
ส่วนฝั่งมารดา พระนมทัดมีลูกกับ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ละม้าย พึ่งบุญ) เป็นบุตรชื่อเฟื้อ ดังกล่าว และบุตรอีกคนชื่อฟื้น ซึ่งก็คือ “พระยาอนิรุทธเทวา” นายในคนโปรดในรัชกาลที่ 6 เช่นกัน ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ “นายใน” เล่าว่า สายตระกูลของกรมหลวงรักษ์รณเรศร์ที่ต้องโทษอยู่อย่างไม่ค่อยสง่างามในราชสำนัก จนกระทั่งรุ่นเหลน นั่นคือ เจ้าพระยารามราฆพ และ พระยาอนิรุทธเทวา เมื่อมีพระราชบัญญัติขนานนามสกุล จึงพระราชทานนามสกุลใหม่ว่า “พึ่งบุญ” เนื่องจากพึ่งบุญบารมีในรัชกาลที่ 6 จนยกระดับทางสังคมมีบารมีอีกครั้ง
มหาดเล็กผู้รู้จักพระอารมณ์ รัชกาลที่ 6
เจ้าพระยารามราฆพ สมัยเยาว์ เคยเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังในสำนักพระพันปีหลวงกับพี่สาวมาแล้ว ได้เรียนหนังสือที่วัดบพิตรภิมุข ชานันท์บรรยายว่า เข้ามาถวายตัวเมื่ออายุ 14 ปี แต่บันทึกของ ม.จ. พูนพิศมัย ลงอายุว่าถวายตัวเมื่ออายุ 13 ปี และถวายตัวพร้อมกับพระยาอนิรุทธเทวา ผู้เป็นน้องชาย
ด้วยลักษณะอุปนิสัยอันพิเศษ ทำให้เวลาต่อมา เจ้าพระยารามราฆพเป็นผู้ที่รู้จักพระอารมณ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างดี เรื่องนี้ปรากฏในบันทึกหลายแห่ง
ม.จ. พูนพิศมัย ทรงเล่าใน “พระราชวงศ์จักรี ตอน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6” ตอนหนึ่งว่า “เจ้าพระยารามฯ มีมันทวะธรรมจริงอย่างน่าชมเชย ไม่เคยมีกิริยาโอหังหยาบคายแก่ผู้ที่ควรเคารพ และไม่มีที่น่าจะว่าโตจนคับที่อย่างคนสมัยใหม่ กิริยาแปลกตาก็คือชอบชำเลืองดูทางหางตาในท่าถามหรือตรึกตรองเท่านั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าควรได้รับความรับความสรรเสริญในเรื่องกิริยาเรียบร้อยเป็นผู้ดีไทยแท้ทั้ง 2 เจ้าคุณพี่น้อง และเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่ได้มาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างแน่นอน”
เนื้อหาอีกช่วงในหนังสือเล่มเดียวกัน ยังเล่าถึงลักษณะของเจ้าพระยารามราฆพ ที่รู้จักพระอารมณ์ไว้ว่า (จัดย่อหน้าใหม่)
“เจ้าพระยารามฯ นั้น ข้าพเจ้าอยากเชื่อว่ารู้จักพระอารมณ์ซึ่งทุกคนย่อมมีเวลาสดใสและขุ่นมัว ยิ่งกว่าพระราชหฤทัย และเจ้าพระยารามฯ ฉลาดรู้จักใช้โอกาสนั้นๆ ให้เกิดผลได้ตามความปรารถนา คนโดยมากจึงเข้าใจว่ารู้พระราชหฤทัยไปทั้งหมด ที่ข้าพเจ้ากล้าเห็นเช่นนี้ ก็เพราะเคยสังเกตเห็นมาหลายครั้งแล้วว่าเจ้าพระยารามฯ ไม่เคยทำให้พระเจ้าอยู่หัวโปรดปรานใครได้ แม้ต้องการ,… แต่ถ้าจะให้กริ้วหรือโกรธหรือเกลียดใครแล้ว, ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายเป็นเชื่อถึงลงทุนได้ว่าเป็นต้องสำเร็จไม่เร็วก็ช้า จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่รู้พระราชหฤทัยจริงๆ นั่นเอง ในตอนปลายของประกาศ (ทรงหมายถึงประกาศสถาปนาเจ้าพระยารามราฆพ เมื่อ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464) มีอยู่ชัดว่าเจ้าพระยารามฯ เป็นพระเนตรพระกรรณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
การที่ได้เป็นพระเนตร์และพระกรรณ์นี่แหละคือได้กําอํานาจไว้ทั้งหมด! เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นสุภาพบุรุษของอังกฤษ ซึ่งโดยมากยอมรักษาระเบียบ reserve และกระดาก shy ในการที่จะขยายตัวเองไปในการสมาคม break Society จึงต้องมีคนที่เป็นพระเนตร์และพระกรรณ์ แต่คนนั้นๆ ย่อมมีโอกาสที่จะเห็นและฟังได้ตามใจตัวเองชอบ หรืออย่างดีก็รู้และเข้าใจได้แต่เท่าที่มีความรู้อยู่ เพอินเจ้าพระยารามฯ เป็นผู้ที่ไม่ได้เรียนรู้หรือเอาใจใส่ในเรื่องราวของโลกทั้งปัจจุบันและอดีต ก็เลยไม่ได้รู้ว่าอํานาจอยู่ที่ไหนความรับผิดชอบก็อยู่ที่นั่น! ตามคติธรรมของโลก จะซัดผู้หนึ่งผู้ใดหาได้ไม่”
นั่นเป็นข้อสังเกตและความคิดเห็นจาก ม.จ. พูนพิศมัย แต่หากเอ่ยถึงตัวอย่างเหตุการณ์อันมาจากการบอกเล่าของ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง ซึ่งเคยเขียนเล่าไว้ในบทความ “อดีตรำลึก” ในมานวสาร ปีที่ 7 ฉบับที่ 4 (เมษายน 2527) โดยเอ่ยถึงเหตุการณ์คราวตามเสด็จประพาสหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้เมื่อ พ.ศ. 2460 ว่า
“เมื่อเราไปถึงทับหลี เจ้าเมืองหุงข้าวให้พวกเรากิน จะอย่างไรไม่ทราบ วันนั้นข้าวดิบเป็นเม็ดๆ ม.จ. ดิศานุวัต (ม.จ. ดิศานุวัต ดิศกุล) บอกกับผมว่า ‘ข้าวดิบอย่างนี้กินท้องขึ้นตาย’ ผมก็ทูลท่านว่า ‘กินปลาเถอะท่าน มีอย่างอื่นอีกเยอะ เราอย่ากินข้าว กินกับเปล่าๆ ก็ได้’ ก็เป็นเรื่องหัวเราะสนุกกัน พอเรากินข้าวเสร็จแล้ว เรานั่งคุยกันอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมา ท่านรับสั่งถามท่านดิศานุวัตว่า ‘กินข้าวเย็นหรือยัง?’
ท่านดิศฯ ไม่กล้าจะกราบทูลอย่างไร ก็อีกอักว่า ‘รับพระราชทานแล้วพะย่ะค่ะ’ ท่านหันมาถามพวกเราที่นั่งอยู่ว่า ‘อิ่มหรือเปล่า?’ พวกเราก็กราบทูลว่า ‘ไม่อิ่มพะย่ะค่ะเพราะข้าวมันดิบ’ ท่านกริ้วแปร๊ดขึ้นมาทันที ซึ่งผมไม่เคยเห็นเลย เท่าที่เคยตามเสด็จมา หรืออยู่ที่โรงเรียน ไม่เคยเห็นท่านกริ้วอย่างนั้นเลย ทรงพระพิโรธอย่างรุนแรง รับสั่งว่า ‘อะไรฉันมาด้วยยังหุงข้าวให้ลูกน้องฉันกินไม่เข้าอีกหรือ? เอาข้าวมาดูซิ’ ท่านจับดูข้าว จับยังไงๆ มันก็แข็งเพราะมันดิบ ก็ยิ่งทรงพระพิโรธใหญ่ ก็มีคนคอยทัดทานเหมือนกัน ที่จะคอยช่วยให้ข้าหลวงฯ ไม่ให้ถูกลงโทษ ท่านรับสั่งว่า ‘ข้าหลวงไม่ดูแลเลย พาลูกเต้าเขามาอดข้าวอดปลา’
เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านเจ้าพระยารามราฆพ ท่านกรุณามาก ท่านกราบทูลว่า ‘การหุงข้าวนี่อาจจะดิบได้ เพราะเขาหุงด้วยกระทะ’ ก็เป็นการอธิบายให้ท่านโกรธน้อยลง”
เจ้าพระยารามราฆพ ยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จำนวนมาก พร้อมกับขึ้นเงินเดือน อีกทั้งยังได้รับพระราชทานสิ่งของต่างๆ เมื่อครั้งอายุครบ 24 ปี รัชกาลที่ 6 พระราชนิพนธ์คำร้อยกรองพระราชทานพรและพระบรมราโชวาท เจ้าพระยารามฯ ได้รับพระราชทานคฤหาสน์ “นรสิงห์” (ยังสร้างไม่สมบูรณ์)
ท่านรับราชการจนถึงเสร็จสิ้นการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2468 หลังจากนั้นก็กราบถวายบังคมทูลลาออกจากราชการ และไปศึกษาต่อที่อังกฤษ
เจ้าพระยารามราฆพกลับมาเมืองไทยในช่วงที่รัชกาลที่ 7 เสด็จไปยุโรป พ.ศ. 2477 โดยใช้ชีวิตอย่างสงบ ดำรงตำแหน่งในบริษัทจำกัดบ้าง เป็นประธานหรือกรรมการบ้าง ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพฯ เป็นคนแรกในสมัยรัชกาลที่ 9
พ.ศ. 2506 ในสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารามราฆพ ดำรงตำแหน่งสมุหพระราชวังและประธานกรรมการพระราชวัง โดยยังไปปฏิบัติหน้าที่ฉลองพระเดชพระคุณตามที่สุขภาพอำนวย
เอกสารประวัติของเจ้าพระยารามราฆพ บรรยายว่า ท่านเริ่มป่วยเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2510 เข้ารับการรักษาในเดือนเดียวกัน และถึงอสัญกรรมในวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2510 รวมอายุ 77 ปี 16 วัน
อ่านเพิ่มเติม :
- ชีวิตและความรักของเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) คนโปรดของร.6 ที่สตรีหลง
- พระยาอนิรุทธเทวา มหาดเล็ก “คนโปรด” ในรัชกาลที่ 6 ที่ “งามเหมือนเทวามาจากสวรรค์”
- บ้านบรรทมสินธุ์ ร.6 พระราชทานให้พระยาอนิรุทธเทวา สู่บ้านพิษณุโลก มีเรื่องลี้ลับหรือ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วรชาติ มีชูบท. เบื้องลึก เบื้องหลัง ในพระราชบันทึกเรื่อง “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6”. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559.
พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. พระราชวงศ์จักรี ตอน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6.
ชานันท์ ยอดหงษ์. “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2563