ชีวิต “แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์” โหรในกบฏบวรเดช หนีเกาะตะรุเตาสำเร็จเพราะดูดวงก่อน?

พระองค์เจ้าบวรเดช กบฏบวรเดช
นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ฉากหลังคือสถานีรถไฟหลักสี่ในอดีต (ภาพจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช)

ชีวิต “แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์” โหรใน “กบฏบวรเดช” หนี “เกาะตะรุเตา” สำเร็จ เพราะดูดวงก่อน?

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นำมาซึ่งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในเวลาต่อมา แต่เสถียรภาพของการปกครองก็ยังไม่มั่นคงนักในช่วงแรก เหตุการณ์ที่สะท้อนสภาพแวดล้อมในช่วงนั้นได้ระดับหนึ่งนั่นคือกรณี กบฏบวรเดช เมื่อ พ.ศ. 2476 เคลื่อนไหว “โต้ปฏิวัติ 2475” โดยคณะเจ้านายและขุนนางกลุ่มหนึ่ง ซึ่งช่วงเวลานั้นมีบุคคลที่อาจหลุดจากวงโคจรที่คนสนใจไป เขาคือ แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์  โหร กบฏบวรเดช

ในช่วงแห่งการโต้ปฏิวัติ 2475 ตัวละครทางการเมืองรายหนึ่งที่มีมิติน่าสนใจอย่าง แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ (พ.ศ. 2444-2517) จากการศึกษาค้นคว้าของ ณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนบทความ “โหรกับการปฏิวัติ 2475 : แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ กับ ’76 เทพการเมือง'” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน พ.ศ. 2551 เล่าไว้ว่า แฉล้ม สืบเชื้อสายจาก ขุนเทพพยากรณ์ ปลัดกรมโหรสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เขาเกิดที่นครราชสีมา ทำอาชีพทนายความ

ลักษณะบุคลิกของแฉล้มเป็นคนอ้วนกลม ค่อนข้างตัวเล็ก แต่เจรจาคล่องแคล่ว เนื่องจากเคยเป็นทนายความ เป็นคนที่กระฉับกระเฉง เมื่อถูกจับได้ก็ถูกศาลพิเศษ 2476 ตัดสินจำคุกตลอดชีวิตข้อหาก่อการกบฏ ภายหลังเขาหนีออกจาก “เกาะตะรุเตา” พร้อมพวกรวมแล้ว 5 คน ด้วยการติดสินบนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และจ้างเรือหนีไปเกาะลังกาวี ยึดอาชีพโหรในสิงคโปร์ กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติแล้วจึงเดินทางกลับไทย แถมยังมีบทบาทในแวดวงโหรไทยด้วย

แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ กับชีวิตโหร 

เอกสารชิ้นหนึ่งของ แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ ซึ่งสะท้อนภาพอีกมุมของการโต้ปฏิวัติ 2475 ได้คือ หนังสือชุด “เคล็ดลับโหราศาสตร์” ณัฐพล อธิบายไว้ว่า เป็นหนังสือที่จัดประเภทได้ยาก เป็นเอกสารที่อยู่กึ่งกลางระหว่างประวัติศาสตร์และโหราศาสตร์ จะถือว่าเป็นบันทึกความทรงจำก็ไม่ใช่ บันทึกเหตุการณ์ก็ไม่เชิง ข้อมูลความรู้ในหนังสือชุดนี้ปรากฏอยู่ในแวดวงโหรด้วยในแง่ตำราพยากรณ์ แต่โดยรวมแล้วหนังสือชุดนี้ให้ความรู้โหรควบคู่กับการยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่ม 2476 เป็นตัวอย่างประกอบอันสร้างความภูมิใจให้แฉล้มว่าพยากรณ์ได้แม่นยำ

หนังสือ “เคล็ดลับโหราศาสตร์” ของแฉล้ม มีรายละเอียดบทบาทและความเคลื่อนไหวของเขาเองที่เผยแพร่เอกสารในหัวเมือง ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนกบฏบวรเดช โดยเล่าว่า เขาจัดพิมพ์หนังสือชื่อ เค้าโครงการปกครองเมือง ตำราโคลงลาว ตำราผัวเมีย ตำราดาวนิพพาน

ส่วนหนังสือบำรุงการศึกษา พิมพ์ไปหมื่นเล่ม แต่ระหว่างแจกจ่ายเอกสารที่หัวเมืองอีสาน กองทัพกบฏบวรเดชในกรุงเทพฯ ประสบความพ่ายแพ้ หนังสือที่เหลือจึงถูกหลวงศุภนัยเนติรัก ซึ่งเป็นพรรคพวกทำลายทิ้งทั้งหมด จากนั้นแฉล้ม จึงถูกจับกุม

เนื้อหาในหนังสือชุด “เคล็ดลับโหราศาสตร์” ยังเปิดเผยแนวความคิดของแฉล้ม ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยเคล็ดลับโหราศาสตร์ ฉบับพิสดาร ภาค 3 มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเอ่ยถึงว่า “ขุนนางแย่งชิงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของพระมหากษัตริย์ซึ่งพระองค์ทรงจัดเอาไว้แล้วตามลำดับ”

แฉล้มยอมรับในเวลาต่อมาว่า พลพรรคที่พวกเขาสังกัดเมื่อครั้งนั้นเป็นคณะเจ้า เขาสรุปไว้ว่า “รัฐบาลจับเอาพวกข้าพเจ้าอันเป็นพวกของพระบรมราชวงศ์จักรี”

ชีวิตที่เกาะตะรุเตา 

ภายหลังถูกจับ ในช่วงระหว่าง 2476-2481 แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ ถูกจองจำในแดน 6 บางขวาง ณัฐพล เล่าว่า เขาตั้งโรงเรียนโหรมาสอนนักเรียนกว่า 100 คน ต่อมายังได้ร่วมกันค้นคว้าตำราโหราศาสตร์ สหรัฐฯ ฮินดู พม่า และอียิปต์ ที่สั่งซื้อจากภายนอกเข้ามาในเรือนจำ และตรวจสอบกับตำราโหรไทย โดยใช้ตำราอาลัน เลโอ (Alan Leo) อย่างเก่าเป็นหลัก และมี สอ เสถบุตร เป็นผู้แปลความให้ หลังจากศึกษาตำราโหราศาสตร์อย่างแตกฉานก็เผาตำราทั้งหมดทิ้ง และสักข้อความต่างๆ ลงบนหน้าขาทั้งสองข้าง โดยย่อหลักการสำคัญจำนวน 100 บรรทัด และดวง 15 ดวงด้วยหมึกดำ

หลังจากนั้น แฉล้ม จึงเริ่มแต่ง “เคล็ดลับโหราศาสตร์ ภาค 1” และลักลอบนำมาจัดพิมพ์ภายนอกด้วยความร่วมมือของพระมหาสวัสดิ์ เปรียญ 6 ที่เข้ามาเทศในเรือนจำ ณัฐพล เล่าว่า ต้นฉบับถูกจัดพิมพ์ 2 ครั้ง ครั้งแรกใน พ.ศ. 2481 ในงานศพของวัดจักรวรรดิราชาวาส และอีกครั้งในงานศพของพระมหาโต๊ะ วัดสระเกศ

นักโทษการเมืองบางส่วนที่อยู่ในแดน 6 ถูกเคลื่อนย้ายมาถึง เกาะตะรุเตา ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2482 หลังจากนั้นอีก 1 เดือน จึงเริ่มปรากฏแผนการหลบหนี นักโทษการเมือง 5 คน คือ พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวนิช) พระยาสุรพันธเสนี (อิ้น บุนนาค) ขุนอัคนีรถการ (อั๋น ไชยพฤกษ์) นายหลุย คีรีวัต และ แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ ได้หลบหนีออกจากเกาะ โดยติดสินบนผู้คุมและจ้างเรือหลบหนีไปขึ้นฝั่งที่เกาะลังกาวี อันเป็นดินแดนของอังกฤษ

พระยาสุรพันธเสนี กล่าวถึงแฉล้มว่า “นายแฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ เป็นโหรประจำคณะของเรา นามแฉล้มมีวิชาโหราศาสตร์ติดตัวและจัดว่าเป็นมือชั้นดีในทางนี้ ได้ถูกพวกเราให้เป็นคนหาฤกษ์ยามที่ปลอดภัยในการหนี”

แฉล้ม เล่าถึงการหลบหนีในหนังสือชุด “เคล็ดลับโหราศาสตร์” ว่า

“เมื่อคราวหนีเกาะตะรุเตานั้น ก็คือกาลชะตาจำเป็นต้องเลือกดวงชะตาผู้นำ ใครเป็นหัวหน้าหลักสำคัญ ก็คือ นายหลุย คีรีวัต มีดวงอสิตร่วมธาตุคือ ความเข้มแข็ง เจ้าคุณสุรพันธ์มีดวงจตุสดัยเกณฑ์ชั้นที่ 1 ในตำแหน่งบุญญาฤทธิ์อิทธิฤทธิ์ด้วยสองท่านต้องเป็นตัวการ

ฉะนั้น การลงทะเล ผมจัดให้นายหลุยลงน้ำก่อน เจ้าคุณสุรพันธ์รั้งหลังสุด ส่วนผมให้ฤกษ์ได้ตรวจลมปราณ คือ เอามือใส่หูแล้วดูลมอีก ก็สะดวกดังอื้อในหู ยังดูลมก็ดีอยู่ เอามือลูบกายสาก ธาตุดินดี เอามือปิดตาแล้วลืมในขณะปิด มีแสงแพรวพราว ธาตุไฟมี เอาปากกลืนน้ำลายดังเอื๊อก ธาตุน้ำดี มองดูยอดจมูกและเห็นทิวเสาธงทอง คือ จมูกดีอยู่ ก็หมดวิตก การนี้สำเร็จ”

แฉล้มยังอ้างว่า พวกเขาสามารถหนีจากตะรุเตาได้สำเร็จ เนื่องจากเขาแต่งตำราหลักวิชาใหม่ ที่เขาเรียกว่า “ยามการเมืองหนีเกาะ” ที่ปรับปรุงมาจากตำราชื่อ “พะม่าแหกคุก” หรือ “ยามอุบากอง”

สร้างศาลฤาษี 76 เทพการเมือง

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของณัฐพล พบว่า ข้อมูลอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับเบื้องหลังการหลบหนีนั้นปรากฏในบันทึกของอดีตผู้คุมคนหนึ่งว่า เกิดจากการจ้างให้ นายหมี ศรีวิโรจน์ ชาวเกาะที่ราชการให้อาศัยบนเกาะ กับ นายแถว เชาวนาศัย ผู้คุมที่เป็นบุตรเขยนายหมี เป็นคนดำเนินการ ค่าจ้างในการหลบหนีก็ได้รับการยืนยันจากพระยาสุรพันธเสนี อดีตนักโทษซึ่งบันทึกว่าจ้างเป็นเงิน 5,000 บาท การหลบหนีสำเร็จไปได้ แต่เหตุนั้นทำให้ข้าราชการราชทัณฑ์ถูกสอบสวน ข้าราชการบางคนถูกปลดจากราชการ

เมื่อนักโทษทั้ง 5 มาถึงปีนัง บันทึกความทรงจำของพระยาศราภัยฯ เล่าว่า ได้ขอพบ หม่อมเจ้าวิบูลสวัสดิ์วงศ์-อดีตราชเลขาธิการของพระปกเกล้าฯ ผู้เคยทำหน้าที่ประสานงานกับพวกเขาในการก่อกบฏบวรเดช แต่ถูกบ่ายเบี่ยงไม่ให้เข้าพบ บันทึกเล่าว่าเหตุการณ์นี้สร้างความขมขื่นให้พวกเขาอย่างมาก และหันมาทำงานหาเลี้ยงชีพ แฉล้มเปิดร้านโหรที่สิงคโปร์ คิดค่าพยากรณ์คนละ 250 เหรียญเลยทีเดียว

เมื่อมาถึงช่วงปลายสงครามโลก รัฐบาลคณะราษฎร ประกาศพระราชกำหนดนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ. 2488 ให้ผู้ที่กระทำผิดทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษทั้ง 3 ครั้ง เมื่อ 2476, 2478 และ 2481 ทั้งที่ตัดสินแล้ว หรือหลบหนี ให้ได้รับนิรโทษกรรมพ้นผิดด้วย นักโทษการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับคณะราษฎรจึงกลับประเทศ และเข้าสู่การเมืองได้อีกครั้ง ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายโต้ปฏิวัติจึงปะทุอีกครั้งหลังสงครามโลก

หลังการนิรโทษกรรม แฉล้มเดินจากสิงคโปร์กลับมาไทย และจัดทำหนังสือชื่อ “เคล็ดลับโหราศาสตร์” เขาเล่าแต่งหนังสือชุดนี้ขึ้นระหว่าง 2476-2489 ขณะถูกจองจำและระหว่างการหลบหนีเป็นเวลารวม 12 ปี โดยเล่าว่า ถูกขัง 9 คุก ในคุกทหาร 3 ครั้ง ในเรือกำปั่น 2 ลำ ขังที่ตะรุเตา 1 เกาะ โรงพักตำรวจ 5 โรงพัก ผจญภัยในต่างแดน 6 ปี

ณัฐพล อธิบายแนวความคิดของแฉล้มไว้ว่า ในฐานะของโหรที่เกี่ยวกับการเมืองหลังปฏิวัติ 2475 แฉล้ม เห็นว่าการปฏิวัติทำให้ราชอาณาจักรสูญเสียพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์คือ พระปกเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และผู้สำเร็จราชการอีก 2 พระองค์คือ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ และกรมขุนชัยนาทนเรนทร

แฉล้มยังเห็นว่า คณะเจ้าถูกปราบปรามหลายครั้ง เขาจึงต้องการสร้างศาลพระทรงเมือง ชื่อ ศาลฤาษี 76 เทพการเมือง เพื่อบูชาคณะเจ้าผู้ที่สละชีวิต แฉล้มบอกด้วยว่า เขาเป็นคนเดียวในคณะเจ้าที่มีความรู้โหราศาสตร์ สามารถหยั่งรู้อนาคต และจะใช้ความรู้นี้คุ้มครองพระมหากษัตริย์จากภัยคอมมิวนิสต์

การสถาปนา “ศาลฤาษี 76 เทพการเมือง” มีพิธีกรรมสถาปนาในวันที่ 13 เมษายน 2489 เขาเล่าไว้ในหนังสือพฤหัสบดีจักรแบบจีน (ลักจับกะจื๊อ) ว่า ได้จารึกรายชื่อนักโทษการเมืองที่ตายจากเหตุกบฏบวรเดช 76 คนบนแผ่นทองคำ เผาไฟ และเอากระดูกปั้นเป็นรูปฤาษี ที่วัดมกุฏกษัตริย์ หลังเสร็จพิธีกรรมในไทยก็ขนรูปฤาษีไปสิงคโปร์ จัดงานบรรจุอัฐิแผ่นทองที่ห้างฟ้าแลบ บ้านเลขที่ 180 ถนนมูนเมนโรด วันที่ 22 เมษายน 2491

แฉล้ม ยังกำหนดให้มีไหว้ฤาษีทุกวันที่ 24 มิถุนายน และกล่าวว่า เมื่อใดที่คอมมิวนิสต์คุกคามพระมหากษัตริย์ จะนำฤาษี 76 ออกมาบูชา ดังที่บันทึกไว้ว่า “พวกข้าพเจ้าคณะเจ้าเกรงคอมมิวนิสต์จะแทรกซึมสมควรตั้งฤาษีไว้” และบอกร่องรอยว่า เขานำฤาษีนี้กลับมาไทยด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


บรรณานุกรม :

แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์. (2489). เคล็ดลับโหราศาสตร์ฉบับพิสดาร ภาค 3. พระนคร : โรงพิมพ์บริษัทการพิมพ์อโยธยา.

______. (2501). เคล็ดลับโหราศาสตร์. พระนคร : จินฮวดเฮงบรรณาคาร.

______. (2511). พฤหัสบดีจักรแบบจีน (ลักจับกะจื๊อ). กรุงเทพฯ : เกษมบรรณกิจ.


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงจากบทความ “โหรกับการปฏิวัติ 2475 : แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ กับ ’76 เทพการเมือง'” เขียนโดยณัฐพล ใจจริง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2563