บทบาท “ลูกเสือ” กับการพิทักษ์ประชาธิปไตย ในเหตุการณ์กบฏบวรเดช

ลูกเสือ โรงเรียนสวนกุหลาบ หมุดพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
ลูกเสือจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย 2 คน ประดับหมุดพิทักษ์รัฐธรรมนูญบนกระเป๋าเสื้อ จากวีรกรรมช่วยปราบกบฏบวรเดช 2476 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2565)

เมื่อกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นผู้นำฝ่ายอนุรักษนิยม ยกกองทัพประชิดพระนคร ที่รู้จักกันในชื่อ “กบฏบวรเดช” หมายล้มรัฐบาล “คณะราษฎร” ที่เพิ่งปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองไปได้เพียงปีเศษ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ราษฎรทั้งหลาย ตั้งแต่ชาวบ้านสามัญ ไปจนถึงนักเรียน และโดยเฉพาะ “ลูกเสือ” เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือรัฐบาลคณะราษฎรต่อต้านฝ่ายกบฏ เพื่อพิทักษ์รักษา “ประชาธิิปไตย”

บรรดา “ลูกเสือ” จากโรงเรียนมัธยมในพระนคร และในจังหวัดอื่น ๆ เช่น ลำปาง เชียงใหม่ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ฯลฯ จำนวนมาก อาสาช่วยเหลือรัฐบาลคณะราษฎรปราบ กบฏบวรเดช ดังที่มีบันทึกว่า ลูกเสือคนหนึ่งสังกัดโรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง สวมเครื่องแบบแล้วหายตัวออกไปจากบ้านไปช่วยทหารลำเลียงอาวุธทั้งคืน

เมื่อกลับมา พ่อต่อว่าเขา แต่เด็กหนุ่มอธิบายว่า เขาไปช่วยปกป้องรัฐธรรมนูญ หากไม่มีรัฐธรรมนูญ เราจะอยู่ได้อย่างไร จากนั้นเขาเอามือชี้เข็มรัฐธรรมนูญที่หน้าชุดลูกเสือให้พ่อแม่ดู พ่อแม่จึงบอกกับเขาว่า “ทำไม ไม่บอกเสียก่อนเล่า ไปอย่างนี้ละก้อไปเถอะ แล้วเข็มรัฐธรรมนูญนั่น เจ้าต้องเก็บไว้ให้ดี เห็นไหมว่า มีรูปธรรมนูญเป็นของมีค่า โตขึ้นมีลูกหลานจะได้ให้มันดู”

ผลจากการที่ลูกเสือช่วยงานแนวหลัง ต้าน “กบฏบวรเดช” ในครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลคณะราษฎรถึงกับประกาศชมเชยลูกเสืออาสาสมัครว่า “ช่วยลำเลียงสรรพาวุธ ช่วยลำเลียงอาหาร ช่วยในการสื่อสาร และกิจการเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ นอกจากนี้ยังหาญเข้ากระทำการต่าง ๆ เหล่านี้ในแนวน่าในระยะกระสุนของกองทหารฝ่ายกบฏ โดยมิได้คิดเห็นแก่อันตรายและความเหน็ดเหนื่อย ทั้ง ๆ ที่ลูกเสือเหล่านี้เป็นเพียงยุวชนอายุน้อย ๆ…”

นอกจากนี้ พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ยังได้ประกาศชมเชยประชาชนที่ออกมาพิทักษ์ประชาธิปไตยว่า “รัฐบาลจึ่งขอประกาศชมเชย เพื่อเป็นตัวอย่างอันดีงามแก่ประชาชนทั้งหลาย ในความจงรักภักดีของคณะนักเรียนกฎหมาย ทหารอาสา กรรมกร และราษฎรทั้งหลายเหล่านี้ ต่อรัฐธรรมนูญ ต่อประเทศสยาม และต่อชาติไทย อันเป็นที่รักยิ่งของชาวเรา”

ภายหลังรัฐบาลคณะราษฎร ได้สร้างเข็มรัฐธรรมนูญ และอิสริยาภรณ์พิเศษขึ้น คือ เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (2476) แจกจ่ายแก่ราษฎร ลูกเสือ ตำรวจ ทหารและพลเรือน จำนวน 15,139 คน เพื่อเป็นเกียรติแด่พลเมืองทุกคน ที่ช่วยกันพิทักษ์ประชาธิปไตยเอาไว้ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ณัฐพล ใจจริง. (มิถุนายน 2565), “‘ประเทศนี้เป็นของราษฎร’ : ความทรงจำของ ‘เยาวรุ่น’ เมื่อ 90 ปีก่อน” ใน, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 43 : ฉบับที่ 8.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มิถุนายน 2565