รู้จัก เจ้าฟ้าจันทรมณฑล “ลูกที่เรารักที่สุด” ของรัชกาลที่ 4

รัชกาลที่ 4 ทรงอุ้ม เจ้าฟ้าจันทรมณฑล
รัชกาลที่ 4 ทรงอุ้มเจ้าฟ้าจันทรมณฑล

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ แรกประสูติออกพระนามตามพระสุพรรณบัตรว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เมื่อวันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2398

เจ้าฟ้าจันทรมณฑล เป็นพระขนิษฐา (น้องสาว) ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) และทรงเป็นพระเชษฐภคินี (พี่สาว) ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ซึ่งทั้งสี่พระองค์ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

รัชกาลที่ 4 ทรงรักใคร่เจ้าฟ้าจันทรมณฑลอย่างมาก ทรงมักพาเจ้าฟ้าจันทรมณฑลตามเสด็จพระราชดำเนินด้วยหลายครา และโปรดให้ประทับบนตักของพระองค์โดยเสมอ ทรงป้อนพระกระยาหารให้พระราชธิดาด้วยพระองค์เอง และตรัสเรียกเจ้าฟ้าจันทรมณฑลว่า “นางหนูลูกรำเพย” (รำเพยคือพระนามของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี)

แอนนา เลียวโนเวนส์ “ครูแหม่ม” ที่เข้ามาสอนภาษาอังกฤษสมัยรัชกาลที่ 4 บันทึกไว้ว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงองค์น้อยผู้งดงามราวเทพธิดา ทรงเป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระองค์หญิงละม่อมและสมเด็จพระราชบิดามาก ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระราชบิดามักโปรดให้ประทับอยู่ใกล้ ๆ เมื่อเวลาเสวยพระกระยาหาร โปรดให้ประทับบนพระเพลา และโปรดให้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปไกล ๆ ถึงอยุธยา”

หนังสือของแอนนาน่าจะเป็นหนังสือเพียงไม่กี่เล่มที่บันทึกเรื่องราวของเจ้าฟ้าจันทรมณฑลไว้ค่อนข้างละเอียด เธออธิบายว่า เจ้าฟ้าจันทรมณฑลมีสิริโฉมงดงาม พระเนตรดำขลับมีแววอ่อนโยน พระฉวีขาวสอะอาด พระปรางบางใสแดงระเรื่อ มีพระอุปนิสัยเห็นอกเห็นใจคนทั่วไป ร่าเริง แจ่มใส แม้จะมีคนพะเน้าพะนอเอาพระทัย แต่พระองค์มิได้เอาแต่พระทัยพระองค์เอง

พระองค์ทรงเป็นที่โปรดปรานมากที่สุดในบรรดาพระเจ้าลูกเธอทั้งหลาย เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ที่เธอให้ความสนใจเช่นเดียวกับรัชกาลที่ 5 เพราะทั้งสองพระองค์มีพระสติปัญญาดีและเฉลียวฉลาด โดยเจ้าฟ้าจันทรมณฑลเริ่มเรียนภาษาอังกฤษกับแอนนาเมื่อมีพระชนมายุเพียง 7 พรรษาเท่านั้น

รัชกาลที่ 4 ทรงอุ้มเจ้าฟ้าจันทรมณฑล

เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โปรดให้แอนนาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ไบเบิลให้ฟัง พระองค์ยังได้สิทธิพิเศษเรียนวาดรูปกับแอนนา ในขณะที่เจ้านายเล็ก ๆ พระองค์อื่น ๆ เรียนภาษาสันสกฤต เพราะเจ้าฟ้าจันทรมณฑลโปรดการวาดรูปและระบายสี

ทว่า เมื่อเกิดอหิวาตกโรคระบาดใน พ.ศ. 2406 แอนนาได้รับพระราชหัตถเลขาด่วนจากรัชกาลที่ 4 มาถึงที่บ้านของเธอว่า

แหม่มที่นับถือ

ลูกสาวสุดที่รักของเราและนักเรียนที่แหม่มรักป่วยเป็นอหิวาตกโรค เธอปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นแหม่มและเรียกหาแหม่มอยู่ตลอดเวลา เราขอร้องให้แหม่มรีบมาพบเธอ เราเกรงว่าการป่วยครั้งนี้จะร้ายแรงถึงแก่ชีวิต เพราะเมื่อเช้ามีคนในวังตายไปแล้วสองคน เธอเป็นลูกที่เรารักที่สุด

จากมิตรที่กำลังมีความทุกข์ของแหม่ม
ส.พ.ป.ม. มหามงกุฎ

แอนนารีบร้อนเดินทางมายังพระบรมมหาราชวัง เธอไปถึงห้องประทับของเจ้าฟ้าจันทรมณฑลที่มีพระอาการไม่สู้ดีนัก นายแพทย์แคมพ์เบล สั่นศีรษะให้แอนนา และทำปากขมุบขมิบ แต่ไม่เปล่งเสียงบอกเธอว่า “ท่านกำลังสิ้นพระชนม์” แอนนาคลานเข้าไปเข้าเฝ้าใกล้ที่ประทับเจ้าฟ้าจันทรมณฑล ไม่นานพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ แอนนา พระองค์เจ้าละม่อม และข้าทาสบริวารต่างร่ำไห้โศกเศร้า

ไม่มีผู้ใดกล้านำเรื่องนี้ไปกราบทูลรัชกาลที่ 4 จึงได้ขอร้องให้แอนนานำความขึ้นกราบบังคมทูล

“พวกนางข้าหลวงได้พาแอนนาเข้าไปเฝ้าในห้องทรงพระอักษร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงฉลองพระองค์ชุดสีขาวที่ทรงสวมใส่ในงานถวายพระเพลิงพระราชโอรส พระองค์พึ่งเสด็จกลับจากการพระราชทานเพลิงศพ ขณะที่แอนนาเดินเข้าไปในห้อง เธอพยายามที่จะนึกหาคำพูดที่นุ่มนวลในการเพ็ดทูลข่าวร้ายแต่นึกไม่ออก

แต่แล้วแอนนาก็ไม่จำเป็นต้องกราบบังคมทูล เพราะพระองค์ท่านอ่านสีหน้าของเธอออก ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นปิดพระพักตร์แล้วกันแสงอย่างโทมนัส น้ำพระเนตรไหลนองไม่ขาดสาย ดุจหลั่งออกมาจากดวงพระราชหฤทัยที่เคยเข้มแข็งทรงอำนาจไม่ยอมพ่ายแพ้แก่สิ่งใด…สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงซบพระพักตร์ลงกับพระหัตถ์กันแสงโศกเศร้าถึงพระราชธิดา ทรงเอ่ยพระนามของเจ้าฟ้าหญิงอย่างอ่อนโยน ราวกับว่าพระราชธิดาองค์น้อยกำลังประทับอยู่บนพระเพลาเช่นเคย…”

แอนนาได้ฟังเรื่องราวจากทาสที่มารับตอนออกจากบ้านว่า เจ้าฟ้าจันทรมณฑลเสด็จออกไปดูละครและดอกไม้เพลิง ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร แต่อหิวาตกโรคระบาดมาราว 2-3 สัปดาห์ก่อนแล้ว เป็นโรคที่ระบาดทุกปี แต่ไม่ใคร่มีใครสนใจ เพราะยังระบาดไม่ร้ายแรง ซึ่งเป็นไปได้ว่าทรงติดโรคระบาด เนื่องด้วยเหตุเสด็จออกไปในคราวนี้

เจ้าฟ้าจันทรมณฑล สิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2406 พระชนมายุ 8 พรรษา กระทั่งล่วงมาถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอัฐิขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

มากาเร็ต แบนดอน. แปลโดย กัณหา แก้วไทย. (2529). แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม ANNA AND THE KING OF SIAM. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บีเอส พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิเคชั่น.

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2558). ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน

กรมศิลปากร. (2548). ประชุมภาพประวัติศาสตร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2563