รู้จักนักสืบไวรัส ลุยหาศพผู้ติดเชื้อสภาพแช่แข็งในอลาสกา ช่วยไขรหัสไข้หวัดใหญ่สเปน

ภาพประกอบเนื้อหา - นักจุลชีววิทยาจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐฯ (CDC) ตรวจสอบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สเปน 1918 ที่ถูกจัดสร้างขึ้นใหม่ (ภาพจาก James Gathany / CDC -public domain) ฉากหลังคือทหารจาก Fort Riley, Kansas ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่สเปน เมื่อปี ค.ศ.1918/ พ.ศ. 2461 ที่หอผู้ป่วยที่ Camp Funston (ภาพจาก Otis Historical Archives Nat'l Museum of Health & Medicine) ภาพจาก Jacopo Werther (CC BY 2.0)

ไข้หวัดใหญ่สเปนที่ระบาดหนักในช่วงค.ศ. 1918-19 (พ.ศ. 2461) ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกบรรจุในรายชื่อเหตุการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ซึ่งคร่าชีวิตประชากรทั่วโลกรวมแล้วแตะหลักสิบล้านรายภายในระยะเวลาประมาณ 18 เดือน

การระบาดครั้งนั้นยังไม่มีผู้เข้าใจเชื้อที่ก่อโรคไข้หวัดใหญ่ กระทั่งอีกเกือบ 2 ทศวรรษต่อมา ซึ่งเริ่มมีผู้ศึกษาไวรัส นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงเรื่องการศึกษาไวรัสไข้หวัดใหญ่สเปนนี้ ชื่อที่แพร่หลายในวงการคือโยฮัน ฮัลทิน (Johan Hultin) นักพยาธิวิทยาซึ่งพยายามขุดค้นหาร่างของผู้เสียชีวิตที่อยู่ในสภาพดีเพื่อเก็บตัวอย่างมาศึกษาถอดรหัสเชื้อไวรัส

Advertisement

ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดครั้งใหญ่ในโลกก่อนหน้าปี 2019 ปรากฏขึ้น 4 ครั้ง ครั้งแรกคือ Spanish flu จากไวรัส A(H1N1) เป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุด ประชากรทั่วโลกป่วยร้อยละ 50 และเสียชีวิตถึง 20 ล้านคน ชื่อของไข้หวัดใหญ่ครั้งนั้นมักเรียกกันว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” แม้ว่าแหล่งเริ่มต้นไม่ได้เกิดที่สเปน และยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดพอว่า โรคเริ่มระบาดจากไหน แต่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญทางไวรัสวิทยา อธิบายไว้ว่า “เวลานั้น ประเทศอื่นกำลังมีศึกสงครามจึงต้องปิดข่าวการระบาดของโรค สเปนไม่ได้เข้าสงครามก็เลยมีข่าวออกจากประเทศนั้น เขาก็เลยเหมาเอาว่าเป็น Spanish flu”

“ไข้หวัดใหญ่สเปน” ระบาด 100 ปีก่อน สมัยร.6 ผู้ป่วยเสียชีวิต 20-40 ล้านคน

ขณะที่การระบาดในครั้งนั้นแตกต่างจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่แต่เดิมซึ่งผู้เสียชีวิตมักมาจากอาการปอดบวม ผู้เสียชีวิตมักอยู่ในกลุ่มผู้สูงวัย หรือผู้มีปัญหาสุขภาพอย่างโรคหัวใจ โรคปอดอยู่ก่อนแล้ว และหญิงตั้งครรภ์ แต่ในปี 1918 คนหนุ่มสาวที่เสียชีวิตอยู่ในอัตราสูงมาก เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน

ช่วงเวลาที่ไข้หวัดใหญ่สเปนระบาดหนักย่อมปรากฏมาตรการระงับการเดินทางและพื้นที่กักกัน อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดยังคงรุนแรงและกระจายไปพื้นที่ห่างไกลถึงอลาสก้า ในโซนที่เรียกว่าเบรวิก มิชชั่น (Brevig Mission) รายงานจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขสหรัฐฯ เผยว่า หมู่บ้านเล็กๆ ตรงจุดในสมัยนั้นมีประชากรอาศัย 80 ราย

โรคระบาดในช่วง 1918 ทำให้หมู่บ้านเล็กๆ มีผู้รอดชีวิตเพียง 8 รายเท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า โรคระบาดไปถึงพื้นที่นี้อย่างไร มีข้อสันนิษฐานทั้งเรื่องมาพร้อมกลุ่มพ่อค้าจากเมืองใกล้เคียงที่เดินทางด้วยสุนัขลากเลื่อน หรือมาจากคนท้องถิ่นที่ประกอบอาชีพจัดส่งพัสดุ แต่บันทึกหลักฐานมีปรากฏเพียงแค่ว่า ช่วงเวลาเพียง 5 วัน ระหว่าง 15-20 พฤศจิกายน 1918 มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ 72 ราย ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ (CDC) เผยว่า ปัจจุบัน (2019) พื้นที่นี้มีผู้อยู่อาศัยไม่เกิน 400 ราย

ภายหลังจากนั้น มีคำสั่งจากฝ่ายปกครองท้องถิ่นให้สร้างจุดกลบฝัง บริเวณนั้นมีเพียงไม้กางเขนสีขาวตั้งอยู่บนเนินเขาข้างหมู่บ้าน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า หลุมฝังศพอยู่ในสภาพถูกแช่แข็งภายในชั้นดินเยือกแข็งที่คงตัวแล้ว (permafrost) โดยไม่มีใครสัมผัสแตะต้องจนถึงปี 1951

ดังที่กล่าวแล้วว่า ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีผู้เข้าใจตัวเชื้อไข้หวัดใหญ่อันเป็นต้นเหตุให้มีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตจำนวนมหาศาล กระทั่งเวลาผ่านไปนับทศวรรษ ตัวเชื้อไวรัสก็สาบสูญไปพร้อมกาลเวลา และที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากว่า องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการติดเชื้อไวรัส และเครื่องมือที่จะใช้ศึกษาในเวลานั้นยังไม่ได้ถูกพัฒนาสมบูรณ์

ภายหลังเหตุการณ์ในปี 1918 นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขมีหลักฐานที่สามารถเข้าถึงได้เพียงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับความรุนแรงและผลกระทบต่อประชากรโลกเท่านั้น แต่หมู่บ้านแห่งเล็กๆ ในอลาสก้าที่เป็นแหล่งโรคระบาดเข้าถึงจนมีผู้เสียชีวิต ในด้านหนึ่งยังถือเป็นแหล่งเก็บหลักฐานที่สำคัญสำหรับศึกษาเชื้อไวรัสที่ระบาดในช่วง 1918 อย่างมาก

ปี 1951 นั้นเอง โยฮัน ฮัลทิน นักศึกษาชาวสวีดิชวัย 25 ปีจากมหาวิทยาลัยไอโอว่า (เดิมทีเป็นนักศึกษาแพทย์จากสวีเดนและย้ายมาสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาด้านชีววิทยา) เขาเดินทางไปที่เบรวิก มิชชั่น โดยหวังว่าจะเก็บตัวอย่างเพื่อนำมาศึกษาเชื้อไวรัสอันเป็นเหตุให้ผู้คนล้มตายจำนวนมาก ฮัลทิน เล่าว่า เขาได้ไอเดียนี้ภายหลังจากสนทนากับนักชีววิทยาเกี่ยวกับเรื่องไวรัสเมื่อปี 1918

ตอนท้ายของบทสนทนาอีกฝ่ายหนึ่งเปรยว่าควรมีใครสักคนเดินทางไปดินแดนตอนเหนือของโลกแล้วพยายามหาเหยื่อที่เสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้ซึ่งยังถูกฝังอยู่ในดินเยือกแข็งที่คงตัวแล้ว (permafrost) นับตั้งแต่โรคระบาดแพร่เข้ามาในพื้นที่เมื่อ 1918 แล้วเก็บตัวอย่างไวรัสมาศึกษา

ฮัลทิน ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงเวลา 15 วินาทีนั้นเองที่เป็นไอเดียให้เขาไปถามอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อสอบถามว่า ประเด็นนี้เป็นหัวข้อเพื่อเสนอจบการศึกษาได้ไหมจากนั้นก็เดินทางลงพื้นที่

ฮัลทิน โชคดีที่ได้รับอนุญาตจากผู้อาวุโสของหมู่บ้านให้ขุดค้นหลุมฝังศพได้ หลังจากทีมงานขุดไปหลายวันก็พบกับร่างของเด็กสาว รายงานเผยว่า บนร่างของเธอยังสวมเดรสสีฟ้าอยู่ มีริบบิ้นสีแดงติดอยู่บนผม ฮัลทิน สามารถเก็บตัวอย่างจากปอดจากอีก 4 ร่างที่ถูกฝังในหลุมได้ด้วย แต่กลับมาติดปัญหาเรื่องระยะเวลาการขนส่งและข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยีในการจัดเก็บ

เมื่อเดินทางกลับถึงมหาวิทยาลัยไอโอว่า ฮัลทิน พยายามฉีดเนื้อเยื่อปอดที่เก็บตัวอย่างมาได้ใส่ในไข่ไก่เพื่อเพาะเลี้ยงไวรัส แต่ก็ล้มเหลว ฮัลทิน ไม่สามารถนำเชื้อไวรัสกลับมาเพื่อศึกษาในภารกิจครั้งแรกได้

ภาพถ่ายจากรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ (CDC) ยังแสดงให้เห็นกระบวนการที่ฮัลทิน พยายามเพาะไวรัสจากตัวอย่างที่เก็บมา ภาพแสดงการใช้หลอดดูดตัวอย่าง ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งหากเปรียบเทียบกับองค์ความรู้สมัยใหม่ และแน่นอนว่า ความปลอดภัยในแล็บยุคใหม่พัฒนาขึ้นมากตั้งแต่ยุคที่ฮัลทินไปทำภารกิจ

บทบาท Wu Lien-teh และกำเนิด หน้ากากป้องกันโรคระบาด ยุคจีนเผชิญโรคระบาดแมนจูเรีย

กระทั่งอีก 46 ปีต่อมา เมื่อค.ศ. 1997 ฮัลทิน มีโอกาสไปเก็บตัวอย่างไวรัสอีกครั้งโดยได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านผลงานทดลองทางวิทยาศาสตร์ของ Jeffery Taubenberger ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science โดย Taubenberger สามารถสกัด RNA จากร่างของชายวัย 21 ปีเหยื่อที่เสียชีวิตในปี 1918 ได้ ฮัลทิน โทรศัพท์หาเจ้าของการทดลองและถามว่าเขาสนใจร่วมงานไหม หากฮัลทิน จะเดินทางไปเก็บตัวอย่างที่เบรวิก มิชชั่น อีกครั้ง ซึ่งเจ้าของการทดลองรายนี้ตอบตกลง

และแล้ว ฮัลทิน เดินทางกลับไปเบรวิก อีกครั้ง รายงานจาก CDC อธิบายว่า การเดินทางครั้งนั้นก็ไปโดยอุปกรณ์ที่ไม่พร้อมเท่าใด ฮัลทิน ยังต้องยืมอุปกรณ์ทำสวนของภรรยาไปใช้ในภารกิจด้วยซ้ำ

ฮัลทิน เดินทางไปทำภารกิจเมื่อปี 1997 เขามีอายุถึง 72 ปีแล้วในขณะนั้น และต้องออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางเองรวมแล้วประมาณ 3,200 ดอลลาร์สหรัฐ การขุดค้นใช้เวลา 5 วัน และคราวนี้ผลลัพธ์ก็ออกมาสำเร็จเกินคาด

ฮัลทิน ค้นพบร่างหญิงสาวทรงท้วมรายหนึ่ง คาดว่าเสียชีวิตในวัยประมาณ 20 ปี จากเชื้อไวรัสเมื่อปี 1918 ปอดของเธอถูกแช่แข็งในสภาพสมบูรณ์เนื่องจากถูกฝังอยู่ในดินเยือกแข็งที่คงตัวแล้ว (permafrost) ในแถบอลาสก้า ฮัลทิน ตั้งชื่อให้เธอว่า “ลูซีย์”

เขานำปอดออกจากร่างและเก็บรักษาในของเหลวรักษาสภาพ จากนั้นฝังร่างของเธอไว้ดังเดิม จัดการแยกตัวอย่างส่งไปให้ Taubenberger และทีมร่วมงาน เวลาผ่านไปอีก 10 วัน ฮัลทิน ได้รับโทรศัพท์แจ้งว่า ชิ้นส่วนเชิงพันธุกรรมของไวรัสถูกคัดแยกจากปอดของ “ลูซีย์” ได้

เวลาต่อมา Taubenberger และทีมของเขาสามารถเรียงลำดับยีนของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สเปนได้แบบสมบูรณ์ เวลาผ่านไปจนถึงปี 2005 ก็สามารถเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสได้สำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความวิตกกังวลในแง่ความปลอดภัยและจรรยาบรรณอย่างมาก เนื่องจากไวรัสชนิดนี้เป็นที่รับรู้กันว่าอันตรายกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 25 เท่า และอาจถูกนำมาดัดแปลงใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ความผิดพลาดเล็กน้อยก็อาจทำให้ไวรัสแพร่กระจายหลุดออกมาได้ แต่ Taubenberger และทีมของเขาเชื่อว่า ความสำคัญของการศึกษาไวรัสชนิดนี้มีน้ำหนักเหนือกว่าเรื่องความเสี่ยงอันตราย

วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าเข็มแรกโดยหลุยส์ ปาสเตอร์ กับปริศนาห้วงสุดท้ายของผู้ฉีดรายแรก

แน่นอนว่า การศึกษาการทำงานของเชื้อไวรัสย่อมเปิดประตูไปสู่องค์ความรู้อื่นๆ และทำให้รู้ว่ามันเจริญเติบโตอย่างไร หรือจะมีภาวะกลายพันธุ์ แพร่กระจายจากสัตว์สู่สัตว์ได้อย่างไร ที่สำคัญคือ ศึกษาว่ามันส่งผลต่อร่างที่ไวรัสอาศัยอยู่อย่างไร

การวิจัยภายหลังที่สืบเนื่องมาจากการเก็บตัวอย่างจากปอดของ “ลูซีย์” มีส่วนช่วยพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (CDC ระบุว่า ถึงจะมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่วัคซีนในปัจจุบันยังต้องเจอกับปัญหาท้าทายหลายประการ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่ได้ผลระดับบานปลาง แม้ว่ามันจะสอดคล้องกับรูปแบบของตัวไวรัสแล้วก็ตาม) ไปจนถึงพัฒนาการป้องกันการระบาดของโรค และเชื่อกันว่า วันหนึ่งจะมีนักวิทยาศาสตร์ที่มาต่อยอดงานของฮัลทิน และทีมเพื่อหาจุดอ่อนทางพันธุกรรมของเชื้อเพื่อกำจัดมันให้หมดไป

การค้นพบของฮัลทิน ถูกมองว่านำมาสู่ข้อมูลที่ประเมินค่ามิได้ ในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์มักเรียกเขาด้วยหลายฉายานาม อาทิ “อินเดียน่า โจนส์ แห่งวิทยาศาสตร์” หรือ “นักสืบไวรัส”


อ้างอิง:

Carroll, Andrew. “An Alaskan Village Holds the Key to Understanding the 1918 Spanish Flu”. History Net. Online. Published OCT 2013. Access 18 MAR 2020.  <https://www.historynet.com/alaskan-village-holds-key-understanding-1918-spanish-flu.htm>

Jordan, Douglas. Dr. Terrence Tumpey and Barbara Jester. “The Deadliest Flu: The Complete Story of the Discovery and Reconstruction of the 1918 Pandemic Virus”. Centers for Disease Control and Prevention, National Center for Immunization and Respiratory Diseases (NCIRD). Online. Reviewed 17 DEC 2019. Access 18 MAR 2020. <https://www.cdc.gov/flu/pandemic-resources/reconstruction-1918-virus.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มีนาคม 2563